ความรู้สัมมาชีพชุมชน

จักสานตะกร้า

โดย : นายอำพันธ์ น่วมนุ่ม วันที่ : 2017-04-04-17:00:47

ที่อยู่ : ๑๕/๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

บ้านบางพึ่ง หมู่ที่ 1 ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ เป็นหมู่บ้านที่มีชุมชนเชื้อสายไทยลุ่มน้ำบางขามที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม  เลียบริมแม่น้ำบางขาม  เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับทำการเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร (ทำนา) เป็นหลัก

                   ตะกร้าหวาย เป็นภูมิปัญญาที่สืบสานจากบรรพบุรุษ ด้วยลวดลายวิจิตรบรรจงถักทอจากหวายเส้นเล็ก เกิดเป็นผลงานที่สวยงามสะดุดตา กลุ่มจักสานตะกร้าหวายเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในหมู่บ้านบางพึ่ง ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายายและมีความต้องการที่จะดำรงไว้เพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตคนไทยลุ่มแม่น้ำบางขาม

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อให้คนในชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดอาชีพ  และรายได้เสริมจากการทำนา

          2. เพื่อสืบสานภูมิปัญญาไทย

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

- หวายหอม และหวายหิน

- ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อน ลวดลายสวยงาม และทนทาน เหมาะที่จะใช้งานในการทำก้นตะกร้า

อุปกรณ์ ->

- ดิ้ว (ตอกตั้ง) ทำจากไม้ไผ่สีสุก

- พื้นไม้สัก

- มีดโต้ เป็นมีดที่ใช้สำหรับตัดไม้  มีขนาดใหญ่สันหนาน้ำหนักมาก ยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร มี 2 ชนิดคือ ชนิดสันโค้ง และสันตรง

- มีดตอกเป็นมีดทรงเรียวแหลม คมมีดโค้งมน เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานส่วนใหญ่ช่างจักสานมักต่อด้ามยาวออกไปประมาณ 60 ซ.ม. เพื่อสามารถสอดเข้าไปขัดไว้ในซอกแขนช่วยให้การบังคับคมมีดดีขึ้นมีดจักตอกมักมีน้ำหนักเบา ค่อนข้างบาง ใช้จักตอกให้เป็นเส้น ช่างจักสานมักใช้เป็นมีดประจำตัว

- เลื่อยลันดา เป็นเลื่อยใช้งานทั่วไปใช้สำหรับตัดหรือฝ่าไม้ตามความต้องการ ใช้งานเมื่อให้ปลายไม้ทั้งสองเรียบเสมอกัน เวลาใช้ควรวางเลื่อยให้ได้ 60 องศา กับงานในการใช้เลื่อยต้องใช้เลื่อยที่ฟันละเอียดคม

- เลียด คือ เครื่องมือชักหวายให้ได้เส้นตามขนาดที่ต้องการ หรืออาจทำขึ้นเองจากวัสดุที่ทำจาก สังกะสีหรืออลูมิเนียม เช่น จานกิโล จานสังกะสี บ้างเรียกว่า รูร้อยหวาย ทำด้วยเหล็ก นำมาเจาะรูขนาดต่างๆ ตามต้องการใช้สำหรับสอดร้อยหวายเข้าไป เพื่อลบความคมและช่วยให้หวายมีขนาดเท่ากัน

- หินลับมีด เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มีดคมอยู่เสมอ ซึ่งมีความสำคัญมากในการจักตอก

- กระดาษทราย เป็นแผ่นเนื้อคายเหมือนทราย ไว้สำหรับขัดตะกร้าไม้สักให้เรียบเป็นมันหรือขัดหวายที่เป็นขนให้หลุด เพื่อความสวยงามในการสาน

- ตะปูเข็ม คือตะปูตัวเล็กที่สุด เหมาะที่จะใช้งานตอกหวายติดกับไม้สักเพื่อใส่คิ้ว (ตอกตัว) ให้ติดแน่นไม่หลุดและมีอายุการใช้งานได้นาน

- เหล็กหมาด มีลักษณะเป็นเหล็กแหลมยาวประมาณ 4 นิ้ว มีด้ามขนาดเหมาะมือที่ทำหน้าที่เจาะรู และประกอบการจักสาน อาจจะทำจากเหล็กเส้น หรือลวดที่มีความแข็ง ซี่ล้อลวดจักรยานโครงร่ม ที่ใช้แล้ว นำมาฝนให้แหลม เหล็กหมาด 2 ชนิด คือ ชนิดปลายแหลมและชนิดปลายแบนชนิดปลายแหลมใช้เจาะเพื่อร้อยเส้นหวายส่วนชนิดปลายแบนใช้เจาะเพื่อร้อยเส้นตอก

- ค้อนหงอน ค้อนขนาดเล็กเหมาะสมสำหรับการจักสาน ใช้ตอกตะปูถอนตะปูหรือตอกไม้เวลาประกอบชิ้นงาน

 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการเตรียมการ

1. ดิ้ว (ตอกตั้ง) ทำด้วยไม้ไผ่ เหลาให้เล็กตามขนาดของหวายที่ใช้สานตะกร้า
2. เตรียมแบบตะกร้า (รองตะกร้า) สร้างขึ้นด้วยไม้ตามแบบที่เราต้องการ ถ้าทรงเหลี่ยมข้างในจะกลวงทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ถ้ารูปไข่ และทรงกลม ข้างในจะตันทำด้วยไม้ก้ามปูหรือไม้เนื้ออ่อนอื่นๆ

3. เตรียมเส้นหวายสำหรับสานถักและพันตามส่วนต่างๆ ของตะกร้า
4. เตรียมไม้สำหรับทำพื้นตะกร้าซึ่งจะใช้ไม้เนื้ออ่อน ส่วนใหญ่ใช้ไม้สัก
5. การทำขอบตะกร้าจะใช้ไม้ไผ่ เหลาตามขนาดของตะกร้าโค้งตามรูปทรง ใส่ขอบและมัดเพื่อให้อยู่ตัวไม่หลุดพังง่าย

6. งวงตะกร้า จะทำด้วยลวดเส้นใหญ่ตามขนาดของตะกร้า
7. มือจับตะกร้า (สำหรับใช้มือจับหิ้ว)

 

ขั้นตอนการผลิต

1. เหลาหวายเพื่อเป็นการทำให้หวายมีขนาดพอเหมาะที่จะใช้ในการสานตะกร้า หวายเหลาเป็นเส้นยาว เล็กและยาวเสมอกัน โดยนำเข้าเครื่องชักหวาย หรือเลียด เพื่อให้เป็นตามขนาดที่ต้องการ หรือใช้ ฝาหม้อ หรือจานสังกะสี นำมาเจาะรูไล่ขนาดเล็ก ใหญ่ ขนาดใหญ่เท่ากับเส้นหวาย ไล่ลำดับขนาด เล็กลงไปจนเท่ากับเส้นด้าย

2. นำไม้ไผ่สีสุก เหลาให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ (เรียกว่าดิ้ว) นำไปต้มเพื่อย้อมสี (สีที่ใช้เป็นสีจากธรรมชาติ) คือ ขมิ้น ผิวมะกรูด ประมาณ 1 ลูก ขมิ้นทุบรากยอ ให้สีเหลือง เปลือกลำต้นคาง (ต้ม) ให้สีน้ำตาลส่วนผสมของสี  เกลือ 1 กำมือมะกรูด 2-3 ลูก  น้ำประมาณ 2 ขัน ขมิ้นทุบ ประมาณ      ½ กก. ต้มให้เดือด น้ำสีจะออกมา ใส่เส้นดิ้วลงไปต้มประมาณ ½ ชั่วโมงนำเส้นดิ้วไปล้างให้สะอาด จนน้ำใสกันสีตก จากนั้นนำไปตากแห้ง จะได้เส้นดิ้วตามที่เราต้องการ

3. นำปั้นจั่น หรือ หลัก ทำขึ้นเอง ใช้ต่อกับแบบหรือรองเพื่อยึดรูปทรงตะกร้าตามแบบ

4. นำไม้สักขนาดที่เราต้องการหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร เลื่อยตามรูปทรงของตะกร้าทำเป็นพื้นตะกร้า จากนั้นนำเส้นหวายมาตอกตะปู ติดกันได้ก้นตะกร้าโดยรอบ

5. นำเส้นดิ้วมาเสียบกับก้นตะกร้าโดยรอบ

6. นำเส้นหวายมาจักสานตามลายที่เราต้องการ  ซึ่งการถักตะกร้าใช้หวาย 1 เส้นถัก มีหวายวางบนขอบตะกร้า 2 เส้น เพื่อให้ลายขอบบนนูนสวย มีขั้นตอนการทำ ดังนี้

6.1 หวายถักสอดระหว่างขอบนอกและขอบใน

6.2 แทงทะลุพัน 1 รอบ ข่มหวายกลมที่อยู่บนขอบเส้น 1 ยกเส้น 2 (2 ครั้ง)

6.3 นำไปสอดหลังหวายที่พัน 1 รอบมาทะลุหลังเส้นหน้า แล้วข่มเส้น 1 ยกเส้น 2

7. การใส่ขอบตะกร้า  เหลาไม้แล้ววัดเนื้อตะกร้าโดยใช้ดินสอขีดไว้ให้เท่ากันทุกด้านใส่ขอบในก่อนแล้ว  จึงเอาขอบนอกทาบนำคีมล็อคช่วยจับไว้ใช้ลวดเบอร์เล็กสุดมัดไว้ให้แน่น ทำโดยรอบก็สำเร็จเป็นรูปลายตะกร้า การใส่ขอบระวังอย่าให้ข้อไม้ไผ่ตรงกับมุมตะกร้า เมื่อใช้คีมบีบโค้งทำมุมจะทำให้ขอบหักได้ควรหลีกเหลี่ยงแต่ถ้าตะกร้าเป็นรูปไข่หรือทรงกลมต้องเหลาและโค้งไว้ก่อนเพื่อให้ใส่ขอบตะกร้าได้ง่ายขึ้น

8. การใส่งวงตะกร้า ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดของตะกร้า เลือกรูปแบบการทำงวงตะกร้าและขนาดลวดตามความเหมาะสม นำลวดไปขดกับแท่นสำหรับโค้งลวดตามต้องการ  นำปลายลวดไปตีด้วยค้อนหงอนกับแท่นเหล็กดันให้ลวดแบนใช้เหล็กหมุดเจาะรูที่ก้นตะกร้าเป็นจุดที่เราใส่ลวดงวงตะกร้าลงไปแล้วใช้คีมบีบลวดให้งอเข้าไปด้านในจะได้ไม่หลุด

9. การพันงวงตะกร้า คือ การนำหวายมาพันรอบเส้นลวด (งวงตะกร้า) พันงวงตรงเนื้อตะกร้า ประมาณ 3 ที่เป็นระยะจนพ้นเนื้อตะกร้า พันให้ครบทุกงวงพันเสร็จ 1 งวงนำกระดาษกาวติดไว้ไม่ให้หวายที่พันไว้หลุด การเหลาไม้ทำมือจับ ใช้ไม้ไผ่สีสุกที่เป็นไม้แก่ เพื่อความทนทาน เหลาไม้มีขนาดเหมาะสมกับตะกร้า วางทาบบนงวงที่กำหนดไว้ให้เป็นมือจับ นำหวายมาพันทับไม่ให้เห็นไม้แล้วถักหวายบนมือจับให้สวยงาม

 

 

10. การทาน้ำมันเคลือบ

 - การทาน้ำมันเคลือบครั้งที่ 1 เมื่อยังอยู่ในรอง เพื่อให้อยู่ทรงทาพอหมาดๆ ก็เอาออกจากรองแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ต้องรีบเหลาขอบและใส่ไว้เลยไม่ควรทิ้งไว้นาน จะทำให้เนื้อตะกร้าหลุดออกมาได้ แปรงที่ใช้ทาน้ำมันเมื่อใช้แล้วควรล้างด้วยทินเนอร์

 - การทาน้ำมันครั้งที่ 2 เมื่องานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำไปจำหน่ายการทาน้ำมันนอกจากจะทำให้อยู่ทรงแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อรา และมอดกัดแทะ ช่วยรักษาเนื้อไม้ และหวายให้มีความแข็งแรงทนทาน และสวยงามมากขึ้น

ข้อพึงระวัง ->

๑) การเหลาหวายหรือจักหวาย  ต้องเหลาหวายให้มีความบางและเสมอกันทุกเส้น เพราะถ้าเส้นหวายไม่บางและเสมอกัน เวลาสานตะกร้าลายจะไม่ละเอียดและเสมอกัน ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรก และเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด

๒) การสานลายตะกร้าแต่ละลาย ต้องใช้สมาธิสูง ช่องไฟต้องสนิทแน่นเสมอกัน ลายตะกร้าถึงจะออกมาสวยงาม

๓) การใส่หูและการเข้าขอบตะกร้า จะต้องเข้าขอบให้ตรง ใส่หูต้องไม่เบี้ยว

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดลพบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา