กลับไปหน้าค้นหา

นายกิตติธร ทองใบ

  • Facebook ID: -
  • Line ID: -
  • Email: -

ที่อยู่ 57 หมู 1 ตำบล : หนองพลับ อำเภอ : เมืองเพชรบุรี จังหวัด: เพชรบุรี
โทรศัพท์ : -
การศึกษา : มัธยมศึกษาปีที่ 3
ประวัติ :

นายกิตติธร  ทองใบเป็นผู้นำชุมชนที่มีความรู้ด้านการช่าง ได้นำความรู้ที่มีประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต


ความสำเร็จ :

ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง หมั่นขยันศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองหรือจากหน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาส่งเสริม 


ความชำนาญ : ปูนปั้น


ข้อมูลปราชญ์ชาวบ้าน

  • นายกิตติธร  ทองใบเป็นผู้นำชุมชนที่มีความรู้ด้านการช่าง ได้นำความรู้ที่มีประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

  • ปูน เป็นวัสดุได้มาจากหินปูน หรือ เปลือกหอยทะเล เผาไหม้ทำให้เป็นผง ถ้าปูนทำขึ้นจากหินปูน เรียกว่า ปูนหิน ถ้าทำขึ้นจากเปลือกหอยเรียกว่า ปูนหอย ปูนทั้งสองชนิดนี้สีขาวจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปูนขาว”



    ปูนหิน ปูนหอย หรือปูนขาวนี้ ลักษณะเป็นผงสีขาว เมื่อนำมาแช่น้ำไว้สักพักหนึ่งแล้วนำมานวด หรือตำให้เนื้อปูนจับตัวเข้าด้วยกัน เนื้อปูนจะเหนียวเกาะกันแน่นพอสมควร ขณะที่เนื้อปูนยังอ่อนตัวอยู่นี้ เหมาะเป็นวัสดุดิบนำมาใช้ปั้น ทำเป็นรูปภาพ หรือ ทำเป็นลวดลายต่างๆ ใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่ต้องการ ภายหลังที่เนื้อปูนแห้งสนิทจะจับตัวแข็งคงรูป ดั่งที่ปั้นแต่งขึ้นไว้แต่แรก ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นวัสดุดิบที่มีคุณภาพแข็งถาวรอยู่ได้นานๆ ปี ดังนี้ ปูนขาว ซึ่งได้จากหินปูนก็ดี เปลือกหอยทะเลก็ดี จึงเป็นวัสดุดิบที่ช่างปั้น ได้นำมาใช้สร้างทำงานปั้นแต่โบราณกาลมากระทั่งปัจจุบัน



    งานปั้นปูน ซึ่งได้รับการสร้างขึ้น เป็นงานปั้นแบบไทยประเพณี เป็นความรู้ และ วิธีการเฉพาะงานของช่างปั้น แต่โบราณนั้น อาจลำดับวิธี และ กระบวนการปั้นงานปูนปั้นให้ทราบดังต่อไปนี้



    ปูน ที่เป็นวัสดุดิบนำมาใช้ทำงานปั้นปูน คือ ปูนขาว จะต้องได้รับการเตรียมการให้มีคุณภาพเหนียว และ จับตัวแข็งแกร่ง เมื่อภายหลังปูนปั้นนั้นแห้งสนิทแล้ว ด้วยการประสมน้ำยา และ วัสดุบางชนิด เพื่อเพิ่มคุณภาพ คือ น้ำกาว อย่างหนึ่ง กับน้ำมันพืชอย่างหนึ่ง ปูนขาวซึ่งเนื้อปูนพร้อมจะใช้ทำงานปั้น ได้เรียกว่า ปูนน้ำกาว ส่วนปูนขาว ซึ่งเนื้อปูนผสมด้วนน้ำมันขึ้นเป็นเนื้อปูนเรียกว่า ปูนน้ำมัน



    ปูนน้ำกาว ประกอบด้วย ปูนขาว ทรายแม่น้ำ กาวหนังสัตว์ น้ำตาลอ้อย และ กระดาษฟางเล็กน้อย เหตุที่ต้องใช้ กระดาษฟาง และ น้ำตาลอ้อยผสมร่วมกับเนื้อปูน เพราะกระดาษฟาง นั้นเป็นสิ่งช่วยเสริมโครงสร้าง ในเนื้อปูนให้ยึดกันมั่นคง และ ช่วยให้ปูนไม่แตกร้าว เมื่อเกิดการหด หรือ ขยายตัว ส่วนน้ำตาลอ้อย ที่นำมาใช้ผสมปูนก็เพื่ออาศัยเป็นตัวเร่งให้ปูนจับตัวแข็งแรงเร็วขึ้น อาจทรงตัวอยู่ได้ ในขณะที่ยังทำการปั้นไม่แล้วเสร็จ



    ปูนน้ำมันประกอบด้วย ปูนขาว ชัน น้ำมันตั้งอิ้ว ซึ่งเป็นน้ำมันพืช ที่สกัดมาจากเมล็ดในของผลไม้จากต้น “ทั้ง” หรือ “ทั่ง” (AleuritesFordii) น้ำมันชนิดนี้ทำมาแต่เมืองจีน เรียกว่า ทั้งอิ้ว แปลว่า น้ำมันจากต้นทั้ง คนไทยเรียกตาม ถนัดปากว่า “ตั้งอิ้ว” และ กระดาษฟางเล็กน้อย



    เครื่องมือ สำหรับงานปั้นปูน ของช่างปั้นแต่ละคน เมื่อสมัยก่อนก็ดี หรือ สำหรับช่างปั้นปูนปัจจุบันก็ดี มีเครื่องมือไม่มากชิ้น ทั้งนี้เป็นด้วยช่างปั้นปูน พอใจจะใช้ฝีมือของตัวเองมากกว่า จะใช้เครื่องมือช่วย ในการปั้นก็เฉพาะที่จำเป็น หรือ ในส่วนที่ใช้นิ้วมือปั้นทำส่วนย่อยๆ ในงานปั้นนั้นไม่ถนัด



    เครื่องมือ สำหรับงานปั้น ของช่างปั้นปูนมักทำขึ้นด้วยไม้ไผ่ โดยช่างปั้นปูนแต่ละคนจะทำขึ้นใช้เอง ตามความเหมาะสมแก่งาน และ ถนัดมือช่างเอง ที่พอยกขึ้นเป็นตัวอย่าง และอธิบายให้ทราบ มีดังต่อไปนี้




    1. เกรียง เกรียงสำหรับงานปั้นปูน มีหลายขนาด ใช้สำหรับตัก ป้าย ปาด แตะ แต่งปูนเพื่อขึ้นรูปประเภทต่างๆ หรือ ขูดแต่งผิวปูน

    2. ไม้กวด ทำด้วยไผ่เหลาเป็นชิ้นแบนๆ ใช้สำหรับปาดปูน แต่ง และ กวดผิวปูนให้เรียบเกลี้ยง

    3. ไม้เนียน ทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นชิ้นแบนอย่างท้องปลิง ปลายข้างหนึ่งปาดเฉียง ใช้สำหรับปั้นแต่งส่วนย่อยๆ ในงานปั้นปูน เช่นขีดทำเป็นเส้น ทำรอยบากขอบลวดลาย

    4. ไม้เล็บมือ ทำด้วยไม้ไผ่กิ่งเล็กๆ ช่างปั้นบางคนเรียกว่า ไม้แวว ใช้สำหรับกด ทำเป็นวงกลมล้อมลายตาไก่บ้าง ลายมุกบ้าง ไม้เล็บมือนี้ อาจทำขึ้นไว้หลายอัน และต่างขนาดกันเพื่อให้เหมาะสมแก่งานที่จะปั้น

    5. ขวาน ทำด้วยเหล็กใส่ด้ามไม้ ใช้สำหรับ ฟัน หรือ เฉาะพื้นปูนให้เป็นรอยถี่ๆ เพื่อช่วยให้ปูนที่จะปั้นทับลงบนฝา หรือ พื้นปูนเกาะ หรือ จับติดแน่น

    6. ตะลุมพุก ทำด้วยไม้รูปทรงกระบอกสั้นๆ ต่อด้ามไม้ยาวขนาดจับถนัด ใช้สำหรับตอก “ทอย” ลงบนพื้นปูน หรือพื้นไม้



    อุปกรณ์สำหรับงานปั้นปูน



    ในงานปั้นปูน ยังต้องการอุปกรณ์บางสิ่ง นำมาใช้ประกอบร่วมในการทำงานปั้นปูนให้มีคุณภาพ และ เป็นผลสำเร็จอย่างดี ได้แก่




    1. ทอย คือไม้ชิ้นเล็กๆ ยาวประมาณ ๒ ถึง ๓ นิ้ว เหลาปลายให้แหลม ใช้สำหรับตอกลงบนพื้นปูน หรือ พื้นไม้ เพื่อเป็นที่ให้ปูน ซึ่งจะปั้นติดบนพื้นชนิดนั้นๆ เกาะยึดพื้นได้มั่นคง

    2. อ่างดินเผา เป็นอ่างขนาดย่อม พอใช้ใส่น้ำสะอาด ไว้ชุบล้างเครื่องมือปั้น

    3. ผ้าขาว ผ้าผืนเล็ก ชุบน้ำให้ชุ่ม ใช้สำหรับลูบแต่งผิวปูน หรือ ลูบเครื่องมือปั้นให้เปียกอยู่เสมอระหว่างทำงานปั้น



    อนึ่ง เครื่องมือปั้น และ อุปกรณ์สำหรับงานปั้นนี้ อาจจะมีลักษณะต่างๆ กัน หรือ มีจำนวนมากน้อยตามความถนัด ความต้องการ และ กลวิธีทำงานของช่าง



    วิธีการและขั้นตอนการปั้น



    งานปั้นปูนน้ำกาว และ งานปั้นปูนน้ำมัน ดำเนินการวิธีการ และ ขั้นตอนในการปั้น ไม่แตกต่างกันมากนัก มีกระบวนการปั้น ตามขั้นตอนต่อไปนี้



    งานปั้นปูนบนพื้นราบ



    การร่างแบบ ช่างปั้นปูนซึ่งจะทำงานปั้นลวดลาย รูปภาพต่างๆ ลงบนพื้นชนิดที่เป็นฝาผนัง กำแพงถือปูน หรือ พื้นไม้ บางคนอาจร่างแบบลงบนกระดาษแผ่นเล็ก พอให้เห็นเค้าโครงความคิดของตน แล้วจึงนำไปขยายแบบร่าง ตามขนาดที่จะทำงานปั้นจริงลงบนพื้นที่นั้น แต่ช่างปั้นบางคน ที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ลึกซึ้งมีประสบการณ์มาก และ ฝีมือกล้าแข็ง มักทำการร่างแบบขนาดเท่าจริงลงบนพื้น ที่จะปั้นนั้นเลยทีเดียว



    งานร่างแบบ สำหรับปั้นนี้ ช่างปั้นจะใช้ถ่านไม้ชิ้นเล็กๆ ซึ่งทำจากต้นพริก เผาให้สุกเป็นถ่านเขียนเส้นร่างด้วย เส้นร่างถ่าน จนได้รูปร่างสมบูรณ์ ส่วนสัดถูกต้อง ช่องไฟงามเป็นเรื่องราวครบถ้วน ดังวัตถุประสงค์แล้ว จึงใช้พู่กันชนิดเขียนเส้นขนาดเขื่องๆ จุ่ม “สีครู” ลักษณะเป็นสีครามอมดำ (Indigo) ทำขึ้นจากเขม่าผสมกับยางรงฝนกับน้ำ ให้เข้ากันเขียนทับไปบนเส้นร่าง เพื่อเน้นเส้นร่างนั้นให้ชัด และ รูปรอยที่ร่างขึ้นไว้ไม่ลบเลือนไปก่อนจะทำงานปั้นให้เสร็จ แล้วจึงใช้ผ้าเนื้อนุ่มๆ ปัดเส้นร่างด้วยถ่านไม้นั้นออกให้หมด คงเหลืออยู่แต่เส้นสีครูเป็นโครงร่างที่ชัดเจน เป็นแบบร่างที่จะปั้นปูนทับในลำดับต่อไป



    การเตรียมพื้นสำหรับงานปั้นปูน



    พื้นชนิดก่ออิฐถือปูน มีการเตรียมพื้นดังนี้



    พื้นชนิดก่ออิฐถือปูน มักจะฉาบปูนผิวเรียบเกลี้ยง เป็นปรกติอยู่ก่อนแล้ว การจะปั้นปูนเป็นลวดลาย หรือรูปภาพต่างๆ ติดลงบนพื้นปูนฉาบเรียบเกลี้ยง ช่างปั้นปูนจะต้องทำผิวพื้นปูนฉาบ ให้เกิดเป็นผิวขรุขระขึ้น ในบริเวณที่ได้ร่างเส้นเป็นแบบร่างลวดลาย หรือ รูปภาพขึ้นก่อนนั้นโดยใช้ขวานเฉาะเบาๆ ผิวปูนฉาบที่เฉาะให้เป็นรอยนี้จะเป็นที่ปูนปั้น เกาะจับติดทนอยู่ได้นานปี ในกรณีงานปั้นปูนเป็นลวดลาย หรือ รูปภาพต่างๆ ที่ต้องการปั้นให้นูนสูงขึ้นจากพื้นมาก งานปั้นตรงส่วนนี้ จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นช่างปั้นปูน จะต้องตอก “ทอย” ซึ่งมักทำด้วยไม้ไผ่แก่ๆ เหลาทำเป็นลูกทอย ตอกลงที่พื้นปูนฉาบให้แน่น เหลือโคนทอยขึ้นมาตามขนาดที่ต้องการ ให้เป็นแกนสำหรับปูนปั้น ซึ่งช่างปั้นจะปั้นปูน พอกขึ้นเป็นลวดลาย หรือ รูปภาพต่างๆ ที่ต้องการให้นูนสูงนั้นต่อไป



    พื้นรองรับงานปั้นปูน ที่ใช้ไม้รองรับ พื้นชนิดนี้เมื่อผ่านการเขียนร่างแบบขึ้นไว้บนพื้นแล้ว ช่างปั้นก็จะนำ “น้ำเทือกปูน” คือ ปูนปั้นที่ทำให้เหลวโดยเติมน้ำกาว หรือ น้ำมันให้มากสักหน่อย ทาลงบนพื้นไม้บริเวณภายในลวดลาย หรือ รูปภาพที่ได้ร่างเป็นแบบไว้นั้นให้ทั่วกัน เมื่อปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ก็จะเป็นผิวหยาบๆ ซึ่งช่างปั้นจะได้ปั้นทับ ลงเป็นลวดลาย หรือ รูปภาพเกาะจับ และ ติดทนอยู่ได้นานปี



     วิธีการและขั้นตอนการปั้น



    งานขึ้นรูป คือ การก่อตัวด้วยปูนขึ้นเป็นรูปทรงเลาๆ พอเป็นเค้าโครงที่จะปั้นปูนพอกเพิ่มเติมขึ้นตามลำดับ จนเป็นงานปั้นที่สมบูรณ์ การขึ้นรูปด้วยปูน ขั้นแรกต้องใส่ปูนให้จับติดกับพื้นส่วนที่เฉาะทำผิวให้ขรุขระนั้นขึ้นเป็น “รูปโกลน” หรือ ใส่ปูน ที่ขึ้นรูปชั้นแรกนี้ทิ้งไว้ให้ปูนจับพื้น หรือ เกาะทอยติดแน่น จึงใส่ปูนเพิ่มเติมทับลงเป็นรูปโกลน หรือ รูปโครงร่างนั้น ปั้นขึ้นเป็นรูปทรง โดยรวมของเถา หรือ ตัวลาย หรือ รูปภาพในลักษณะที่เรียกว่า “หุ่น” คือ เป็นรูป ทรงพอให้รู้ว่า เป็นเค้าโครงของสิ่งที่จะปั้นทำให้ชัดเจนต่อไป



    งานปั้นรูป คือ การนำปูนมาปั้นเพิ่มเติม หรือ ต่อเติมขึ้นบนรูปโกลน หรือ รูปทรงโครงร่างของรูปภาพ ซึ่งได้ทำเป็นงานขึ้นรูปไว้ ให้ปรากฏเป็นรูปลักษณะที่ชัดเจน ได้ส่วนสัด พร้อมด้วยท่วงท่า ลีลาอาการต้องตามประสงค์ที่ต้อง การจะปั้นให้เป็นลวดลาย หรือ รูปภาพเช่นนั้นๆ



    งานปั้นส่วนละเอียด จะเป็นการปั้นแต่ง แสดงส่วนละเอียด ให้ชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำต่อเมื่อปูนที่ได้ปั้นรูปขึ้นไว้นั้นจับตัว และ หมาดพอสมควร จึงจัดการปั้นปูนเติมแต่ง และ ปั้นทำส่วนละเอียดแต่ละส่วนลำดับกันไป งานปั้น ส่วนละเอียดในงานปั้นปูน แบบไทยประเพณีมักนิยม “กวด” ผิวงานนั้นให้เรียบเกลี้ยง “กวด” คือ กด และ ลูบไล้เบาๆ บนผิวปูน เพื่อทำให้เนื้อแน่น และ เรียบตึงขณะที่ใช้เครื่องมือกวดผิวปูนนี้ ต้องหมั่นเช็ดเครื่องมือด้วยผ้าเปียกน้ำบ่อยๆ เพื่อกันมิให้ปูนติดเครื่องมือ และ ยังช่วยให้การใช้เครื่องมือลูบไล้กวดผิวปูนลื่นเรียบดีอีกด้วย แต่ในงานปั้นปูนน้ำมัน ไม่จำเป็นจะต้องชุบเครื่องมือปั้นให้เปียก หรือ ใช้ผ้าเปียกน้ำเช็ดเครื่องมือ เพื่อป้องกันมิให้ปูนเกาะ เพราะปูนน้ำมันมี เนื้อปูนละเอียดกว่าปูนน้ำกาว ขณะใช้เครื่องมือปั้นกวดผิวงานปั้น น้ำมันซึ่งผสมแทรกอยู่ในเนื้อปูนจะช่วยให้ เครื่องมือลื่นไล้ไปง่ายๆ บนผิวของงานปั้นนั้น



    งานปั้นปูนนั้น เมื่อชิ้นงานสำเร็จสมบูรณ์เรียบร้อย เป็นไปดังวัตถุประสงค์ของช่างปั้นแล้ว ปรกติมักปล่อยให้งานปั้นปูนนั้นแห้งไปเอง ซึ่งใช้เวลาไม่สู้นาน และ มักนิยมงานปั้นปูนเป็นสีขาวตามธรรมชาติของปูนขาว หากต้องการตกแต่งเพิ่มเติม ให้สวยงามแลดูมีคุณค่ายิ่งขึ้นอาจทำด้วยวัสดุ และ วิธีการมีดังต่อไปนี้



    การตกแต่งด้วยการปิดทองคำเปลว ในขั้นต้นต้องลง “สมุก” ทาเคลือบผิวงานปูนปั้นนั้นให้ทั่วเสียชั้นหนึ่งก่อน เพื่อทำให้ผิวงานปูนปั้นเรียบเกลี้ยง เมื่อสมุกแห้งแล้วจึงทา “รักน้ำเกลี้ยง” ให้ทั่วชิ้นงานปล่อยให้รักน้ำเกลี้ยง ที่ทาทิ้งไว้สักพักหนึ่ง พอรักหมาดได้ที่จึงปิดทองคำเปลวทับ ให้ทั่วงานปูนปั้นชิ้นนั้นๆ ก็จะมีผิวเป็นสีทองคำอร่ามไปทั้งหมด



    การตกแต่งด้วยการปิดกระจก มักเป็นงานที่ได้รับการตกแต่ง ต่อเนื่องจากการปิดทองคำเปลว เพิ่มเติมสีสันขึ้นแก่งานปูนปั้นนั้นอีก จึงนำกระจกแก้วบ้าง กระจกหุงบ้าง มาตัด เจียนตามรูปร่าง และ ขนาดที่ต้องการประดับ แต่งลงบนงานปูนปั้นทำเป็น แวว ไส้ลาย พื้นลวดลาย เป็นต้น



    การตกแต่งด้วยการเขียนระบายสี ขั้นต้นต้องจัดการเตรียมพื้นผิวชิ้นงานปูนปั้นให้เรียบ และ แน่นด้วยเลือดหมูสด ผสมกับน้ำปูนขาวกวนให้เข้ากัน ทำเป็นน้ำยารองพื้นลักษณะค่อนข้างข้น ใช้น้ำยานี้ทาให้ทั่วชิ้นงานปูนปั้น ผึ่งให้น้ำยาแห้งสนิท จึงใช้สีฝุ่นผสมน้ำกาว นำมาเขียนระบายตกแต่ง ลงบนผิวภายนอกงานปูนปั้นตามวรรณะ ที่ควรจะเป็น และ ตามความเห็นงามของช่าง ผู้ทำการเขียนระบายสีตกแต่งนั้น

  • ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง หมั่นขยันศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองหรือจากหน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาส่งเสริม 

  • -
  • -
  • -