an image
an image
an image
an image

Video

1. บทนำ
                    โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ   ที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ ภายใต้ 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ใน 3 กรอบการดำเนินงาน 8 กิจกรรมหลัก ดังนี้
                   กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร
                   กิจกรรมที่ ๑. กิจกรรมปกปักทรัพยากร
                   กิจกรรมที่ ๒. กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร
                   กิจกรรมที่ ๓. กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร
                   กรอบการใช้ประโยชน์
                   กิจกรรมที่ ๔. กิจกรรมอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากร
                   กิจกรรมที่ ๕. กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร
                   กิจกรรมที่ ๖. กิจกรรมวางแผนพัฒนาทรัพยากร
                   กรอบการสร้างจิตสำนึก
                   กิจกรรมที่ ๗. กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร
                   กิจกรรมที่ ๘. กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร
                   กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2560 กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับทราบจากคุณพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่มาพบที่กรมการพัฒนาชุมชน เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบทอดงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และมีความศรัทธา    ในพระราชดำริที่ทรงทำเพื่อผลประโยชน์แก่มหาชนชาวไทย
                   กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดทำหนังสือขอพระราชทานพระราชานุญาต เข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมนำพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ที่สอดคล้องกับภารกิจและอำนาจหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อจะรักษาภูมิปัญญาและอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ให้คงอยู่สืบไป     ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2560 กรมการพัฒนาชุมชนก็ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต ให้เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

ต่อมาโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องการพระราชทานพระราชานุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชนเข้าร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564) ตามหนังสือ อพ.สธ. ที่ พว0001/(อพ.) 7847/2560 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 พร้อมทั้งได้มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กรมการพัฒนาชุมชน โดยพระราชานุญาตสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รายละเอียดตามประกาศ ที่ อพ.สธ. 67/2560 โดยมีอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานกรรมการ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (ที่กำกับดูแลสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน) และเลขานุการคณะกรรมการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นรองประธานกรรมการ มีผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนทุกคน ผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์ฯ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่จัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานที่มีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่างและจัดทำแผนแม่บท/แผนปฏิบัติการรายปี ของหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของ อพ.สธ. รวมถึงการดำเนินงานและติดตามงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ และให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงาน   ตามแผนแม่บท อพ.สธ. ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการฯ จัดทำรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานทุก ๆ 6 เดือน และรายงานประจำปีงบประมาณ และแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินงานตามแนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ.
เพื่อให้การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นไป ด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยมีรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (ที่กำกับดูแลสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน) เป็นประธานคณะทำงาน หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ผู้อำนวยการกลุ่มและหัวหน้ากลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง     เป็นคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาทุนชุมชนตามแนวพระราชดำริ สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน เป็นคณะทำงานและเลขานุการ ทำหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564) ประสานการดำเนินงานการจัดทำแผนงานและการดำเนินโครงการกับสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กรมการพัฒนาชุมชน
2. แนวทางพระราชทาน
แผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ ๕ ปีที่หก (1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระบุถึงการพระราชทานแนวทางการดำเนินงานไว้ ดังนี้
          ๒.๑ การปกปักพันธุกรรมพืช
เป็นการสำรวจทำขอบเขตพื้นที่ปกปัก สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ การสำรวจและทำรหัสประจำตัวต้นของพรรณไม้ต่าง ๆ การศึกษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

๒.๒ การสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
เป็นการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่าง ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา พื้นที่เป้าหมายบริเวณรัศมี ๕๐ กิโลเมตร ของเขตพื้นที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนา

๒.๓ การปลูกรักษาพันธุกรรรมพืช
เป็นการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ จากผลการสำรวจและศึกษาฐานทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ภายในเขตพื้นที่ งานขยายพันธุ์พืช งานปลูกพันธุกรรมและบันทึกผลการเจริญเติบโต งานจัดทำแผนที่พันธุกรรมและทำพิกัดต้นพันธุกรรมพืช การเก็บรักษาในรูปแบบต่าง ๆ
๒.๔ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช โดยการพัฒนาเส้นทางการศึกษาธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ ศึกษาด้านชีวภาพ ด้านโภชนาการ ด้านการขยายพันธุ์ ด้านการเพาะปลูก ด้านการจำแนกสายพันธุ์
๒.๕ ศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
เป็นการจัดระบบการรวบรวมข้อมูลพันธุกรรมพืชในรูปแบบและสื่อต่าง ๆ ที่สะดวกต่อการสืบค้นและนำไปใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์ สะดวกต่อการเรียนรู้ การต่อยอดการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย อาหาร สมุนไพร ฯลฯ
๒.๖ การสร้างจิตสำนึก
เป็นการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ งานจัดฝึกอบรม
๒.๗ การดำเนินงานเฉพาะพื้นที่
๑. การดำเนินงานบริเวณเกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง
๒. การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
          ๒.๘ การบริหารจัดการและอื่น ๆ
บูรณาการการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ อพ.สธ. ของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
3. ความเชื่อมโยงของแผนแม่บท อพ.สธ.-พช.
กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579)
วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ความมั่งคั่ง
— ความสมบูรณ์ในทุนที่จะสามารถสร้างการพัฒนาต่อเนื่อง ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญา ทุนทางการเงิน ทุนที่เป็นเครื่องมือเครื่องจักร ทุนทางสังคม และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ซึ่งมีกรอบแนวคิดและหลักการในการวางแผนที่สำคัญ ได้แก่
1. การน้อมนำและประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม
3. การสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดการปฏิรูปประเทศ
4. การพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

          แผนการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศ ตามกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ 20 ปี ทั้ง 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. ด้านความมั่นคง
2. ด้านการเกษตร
3. ด้านอุตสาหกรรม
4. ด้านสังคม
5. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
6. ด้านพลังงาน
7. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          นโยบายรัฐบาล : การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
          ภารกิจและอำนาจหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน (ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2552)
กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำและ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
แผนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน (พ.ศ. 2560 - 2564) มุ่งขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2564” ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างทุนชุมชนให้มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล
4. แผนภาพแผนแม่บท อพ.สธ.-พช.
 

5. วัตถุประสงค์ อพ.สธ.-พช.
1. สร้างจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น
2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น
3. สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้
6. กรอบแนวคิดการดำเนินงาน อพ.สธ.-พช.
สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากร โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน       ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากร ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช           ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้
7. ขอบเขตการดำเนินงาน อพ.สธ.-พช.
กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร
กรอบการใช้ประโยชน์
กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร
กรอบการสร้างจิตสำนึก
กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร
8. เป้าหมายการดำเนินงาน
ประชาชนรู้จักอนุรักษ์และนำไปใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช และภูมิปัญญาท้องถิ่น
9. ประเด็นยุทธศาสตร์ อพ.สธ.-พช.
1. ส่งเสริมการเรียนรู้ทรัพยากร
กลยุทธ์ : ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
2. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์
กลยุทธ์ : การจัดการฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น
3. สร้างจิตสำนึก
กลยุทธ์ : สนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น
10. ตัวชี้วัดการดำเนินงาน อพ.สธ.-พช.
1. จำนวนโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สนองพระราชดำริโครงการ อพ.สธ.
2. ร้อยละ 80 ของประชาชน ที่ผ่านการฝึกอบรม มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
11. การบริหารแผนแม่บท อพ.สธ.-พช. ไปสู่การปฏิบัติ
การเข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กรมการพัฒนาชุมชน มุ่งใช้ แผนแม่บท อพ.สธ.-พช. เป็นเครื่องมือและกลไกการดำเนินงาน เพื่อให้การดำเนินงานโดยใช้พื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน เกิดผลสัมฤทธิ์ และได้กำหนดระบบและกลไกการบริหารแผนแม่บท อพ.สธ.-พช. ดังนี้

 

 

          1. แผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2564
กำหนดให้มีการจัดทำ แผนปฏิบัติการ ในลักษณะของแผนปฏิบัติราชการประจำปี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน ส่งเสริม สนับสนุน ประสาน และจัดสรรทรัพยากรดำเนินงาน ควบคุม กำกับดูแล และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บท อพ.สธ.-พช. โดยมีการวัดผลการดำเนินงานในลักษณะของตัวชี้วัด
2. การอำนวยการกำกับดูแล
คณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กรมการพัฒนาชุมชน มีหน้าที่ประการหนึ่ง คือ อำนวยการ สนับสนุนให้การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในพื้นที่และเขตความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์
3. การติดตามประเมินผล  
การรายงานผล กำหนดให้มีการรายงานผลตามแผนแม่บท อพ.สธ.-พช. โดยจัดทำรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานทุก ๆ 6 เดือน และรายงานประจำปีงบประมาณ โดยกลุ่มงานพัฒนาทุนชุมชนตามแนวพระราชดำริ สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน เป็นหน่วยรวบรวมผลการดำเนินงานโครงการ อพ.สธ.-พช. ในพื้นที่และเขตความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน เสนอต่อโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
4. การติดตามผล
กำหนดให้มีการติดตามผลความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานตามแผนแม่บท อพ.สธ.-พช. โดยคณะทำงานดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กรมการพัฒนาชุมชน
5. การประชาสัมพันธ์
กำหนดให้มีการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ต่อกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทุกระดับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และผลการดำเนินงาน อพ.สธ.-พช. ผ่านทาง cddata.cdd.go.th/apps/rspg1/

 

 

 

--------------------------------------------