an image
an image
an image
an image

Video

แนวทางการดำเนินกิจกรรมปกปักทรัพยากรในพื้นที่ปกปักทรัพยากร

1. การทำขอบเขตพื้นที่ปกปักทรัพยากร

2. การสำรวจ ทำรหัสประจำต้นไม้ ทำรหัสพิกัด เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในพื้นที่ ของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ

3. การสำรวจ ทำรหัสพิกัด และค่าพิกัดของทรัพยากรชีวภาพอื่นๆ นอกเหนือจาก พันธุกรรมพืช เช่น สัตว์ จุลินทรีย์

4. การสำรวจ ทำรหัสพิกัด และค่าพิกัดของทรัพยากรกายภาพ เช่น ดิน หิน แร่ธาตุต่างๆ คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ เป็นต้น

5. การสำรวจเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร กายภาพและทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่

6. สนับสนุนให้มีอาสาสมัครปกปักรักษาทรัพยากรในพื้นที่สถานศึกษา เช่น นักศึกษาใน มหาวิทยาลัย ในระดับหมู่บ้าน ตำบล สนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่รอบๆ พื้นที่ปกปักทรัพยากร เช่น มีกิจกรรมป้องกันไฟป่า กิจกรรมร่วมมือร่วมใจรักษาทรัพยากรในพื้นที่ปกปักทรัพยากร เป็นต้น

ข้อมูลที่ได้นำมารวบรวมเป็นฐานข้อมูลในพื้นที่ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ราชการ หรือเอกชนที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

แนวทางการดำเนินกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร
1. การสำรวจเก็บรวบรวมตัวอย่าง ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากร วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ในบริเวณรัศมีอย่างน้อย 50 กิโลเมตร ของหน่วยงานนั้นๆ ทั้งพื้นที่ แต่อาจเริ่มต้นในพื้นที่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาหรือล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงก่อน เช่น พื้นที่กำลังจะสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างศูนย์การค้า พื้นที่สร้างถนน การขยายทางหลวงหรือเส้นทางต่างๆ พื้นที่สร้างสายไฟฟ้าแรงสูง พื้นที่ที่กำลังถูกบุกรุก และในพื้นที่อื่นๆ ที่จะถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิม

2. การเก็บรวบรวมทรัพยากรชีวภาพเพื่อเป็นตัวอย่างแห้ง และตัวอย่างดอง รวมถึงการเก็บตัวอย่าง ทรัพยากรกายภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษาหรือเก็บในพิพิธภัณฑ์พืช พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
3. การเก็บพันธุกรรมทรัพยากร สำหรับพืชสามารถเก็บเพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา หรือมีการเก็บในรูปเมล็ดในห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การเก็บต้นพืชมีชีวิตเพื่อไปปลูก ในที่ปลอดภัย การเก็บ ชิ้นส่วนพืชที่มีชีวิต (เพื่อนำมาเก็บรักษาในสภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ) และสำหรับทรัพยากรอื่นๆ(สัตว์ จุลินทรีย์ เห็ด รา ฯลฯ) สามารถเก็บตัวอย่างมาศึกษาและ ขยายพันธุ์ต่อไปได้ ในกิจกรรมที่ 3 กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร

แนวทางการดำเนินกิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร

ทรัพยากรพันธุกรรมพืช

1. การปลูกรักษาต้นพันธุกรรมพืชในแปลงปลูก การปลูกรักษาต้นพืช มีชีวิตลักษณะป่าพันธุกรรมพืชมีแนวทางดำเนินงานคือ สำรวจสภาพพื้นที่ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน งานขยายพันธุ์พืช งานปลูก พันธุกรรมพืชและบันทึกผลการเจริญเติบโต งานจัดทำแผนที่ต้นพันธุกรรมและ ทำพิกัดต้นพันธุกรรม

2. การตรวจสอบพืชปราศจากโรคก่อนการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชในรูปแบบต่างๆ

3. การเก็บรักษาทั้งในรูปของเมล็ด ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในรูปของธนาคาร พันธุกรรม ศึกษาหาวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ และทดสอบการงอกของเมล็ดพันธุ์

4. การเก็บรักษาโดยศึกษาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชแต่ละชนิด ศึกษาการฟอกฆ่าเชื้อ ศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสม ศึกษาการเก็บรักษาโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และในไนโตรเจนเหลว (cryopreservation) และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

5. การเก็บรักษาในรูปสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การวิเคราะห์ ลายพิมพ์ดีเอ็นเอการปรับปรุงพันธุ์พืช เป็นต้น

6. การดำเนินงานในรูปของสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ สวนสาธารณะต่างๆ การปลูกพืชในสถานศึกษา โดยมีระบบฐานข้อมูล ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์และทรัพยากรพันธุกรรมอื่นๆ ให้ดำเนินการให้มีสถานที่เพาะเลี้ยงหรือห้องปฏิบัติการที่จะเก็บรักษา เพาะพันธุ์/ขยายพันธุ์ ตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีแนวทางการดำเนินงานคล้ายคลึงกับการดำเนินงาน ในทรัพยากรพันธุกรรมพืชข้างต้น

แนวทางการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร

1. การวิเคราะห์ทางกายภาพ เช่น แร่ธาตุในดิน คุณสมบัติของน้ำ ฯลฯ จากแหล่งกำเนิดพันธุกรรมดั้งเดิมของพืชนั้นๆ

2. การศึกษาทางด้านชีววิทยา สัณฐานวิทยา สรีรวิทยา ชีวเคมี พันธุศาสตร์ ฯลฯ ของทรัพยากรชีวภาพที่คัดเลือกมาศึกษา

3. การศึกษาด้านโภชนาการ องค์ประกอบของสารสำคัญ เช่น รงควัตถุ กลิ่น สารสำคัญต่างๆ ในพันธุกรรมพืชและทรัพยากรชีวภาพอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมาย

4. การศึกษาการปลูก การเขตกรรมและขยายพันธุ์พืชด้วยการขยายพันธุ์ตามปกติ ในพันธุกรรมพืชที่ไม่เคยศึกษามาก่อน และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในพันธุกรรมพืชที่ไม่เคยศึกษามาก่อน รวมถึงการศึกษาการเลี้ยงและการขยายพันธุ์ ทรัพยากรชีวภาพอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ

5. การศึกษาการจำแนกสายพันธุ์โดยวิธีทางชีวโมเลกุล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพันธุ์พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ เพื่อเก็บเป็นลายพิมพ์ดีเอ็นเอของทรัพยากรชนิดนั้นๆ ไว้เพื่อนำไป ใช้ประโยชน์ต่อไป

6. การจัดการพื้นที่ที่กำหนดเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา เช่น ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ซึ่งเป็น ศูนย์ฯ ตัวอย่าง เพื่อการเรียนรู้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งศูนย์ฯ เหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมของ อพ.สธ. สนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ ของ อพ.สธ.

ศูนย์เรียนรู้ อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง ของ อพ.สธ.

1. ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

2. ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. อ.วังม่วง จ.สระบุรี

3. ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์

4. ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี (พื้นที่สนองพระราชดำริ ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย)

5. ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันตก (พื้นที่สนองพระราชดำริ ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย)

6. ศูนย์วิจัย อนุรักษ์ พัฒนา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเล อพ.สธ. เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (พื้นที่สนองพระราชดำริของมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และพื้นที่สนองพระราชดำริของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

แนวทางการดำเนินกิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร

1. อพ.สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ จัดทำฐานข้อมูลระบบดิจิตอล และพัฒนาโปรแกรมสำหรับระบบศูนย์ข้อมูลทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน

2. นำข้อมูลของตัวอย่างพืชที่เก็บรวบรวมไว้เดิมโดยหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ เข้าเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลทรัพยากร อพ.สธ.

3. นำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช และทรัพยากรต่างๆ เข้าเก็บไว้ ในศูนย์ข้อมูลทรัพยากร เพื่อการประเมินคุณค่าและนำไปสู่การวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช และทรัพยากรอื่นๆ

4. พัฒนาการบริหารจัดการฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลทรัพยากร อพ.สธ. ให้มีเอกภาพ มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยมี อพ.สธ. เป็นศูนย์กลางและวางแผนดำเนินงานพัฒนาเครือข่ายระบบข้อมูลสารสนเทศ อพ.สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและใช้ร่วมกัน อาจผ่านทางเว็บไซต์ที่มีระบบป้องกันการเข้าถึงฐานข้อมูล

5. หน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ มีความประสงค์ที่จะดำเนินการแบ่งปันหรือเผยแพร่ ข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องในงาน อพ.สธ. จำเป็นต้องขออนุญาตผ่านทาง อพ.สธ. ก่อน เพื่อขอพระราชทาน ข้อมูลนั้นๆ และขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (การขอพระราชทานพระราชานุญาต ให้ดำเนินการทำหนังสือแจ้งความประสงค์มายัง ผู้อำนวยการ อพ.สธ. ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน)

แนวทางการดำเนินกิจกรรมวางแผนพัฒนาทรัพยากร

ทรัพยากรพันธุกรรมพืช

1. จัดประชุมคณะทำงานทรัพยากรต่างๆ คัดเลือกพันธุ์พืชที่ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา แล้วว่าควรมีการวางแผนพัฒนาพันธุ์เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

2. ดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายแผนการพัฒนาทรัพยากรที่คัดเลือกแล้ว เพื่อให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชวินิจฉัยและพระราชทาน ให้กับหน่วยงาน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมทรัพยากรชนิดนั้นๆ ให้เป็นไป ตามเป้าหมาย

3. ประสานงานเพื่อให้หน่วยงานที่มีความพร้อมในการพัฒนาพันธุ์ทรัพยากรต่างๆ เช่น พัฒนาพันธุกรรมพืช ดำเนินการพัฒนาพันธุ์พืช และนำออกไปสู่ประชาชน และอาจนำไปปลูก เพื่อเป็นการค้าต่อไป

4. ดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืชใหม่ที่ได้มาจากการพัฒนาพันธุ์พืชดั้งเดิม เพื่อประโยชน์ของมหาชนชาวไทย

การวางแผนพัฒนาพันธุ์ว่านสี่ทิศ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การพัฒนาพันธุ์หงส์เหินลูกผสมดอกสีม่วง “หังสรัตน์” โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์และทรัพยากรพันธุกรรมอื่นๆ มีแนวทางการดำเนินงานคล้ายคลึงกับการดำเนินงานในทรัพยากรพันธุกรรมพืชข้างต้น

แนวทางการดำเนินกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร

1. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เป็นนวัตกรรมของการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้าง จิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของประเทศไทย นำไปสู่การพัฒนาคนให้เข้มแข็งรู้เท่าทันพร้อมรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สถาบันการศึกษาสามารถสมัครเป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนโดยตรงมาที่ อพ.สธ. โดยสามารถติดต่อขอใบสมัครและตัวอย่างการสมัครได้ที่

อพ.สธ. กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยให้สถานศึกษาสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ครู/อาจารย์ นำพรรณไม้ที่มีอยู่ในโรงเรียนไปเป็นสื่อในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ที่มีอยู่ในหลักสูตร ใช้พืชเป็นปัจจัยหลักในการเรียนรู้ สนับสนุนให้สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนร่วมกับองค์การ บริหารส่วนท้องถิ่นและชุมชน ร่วมกันสำรวจจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น นำไปสู่การจัดทำ หลักสูตรท้องถิ่น

สมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มีการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานที่ทำอยู่เดิม ให้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่ อพ.สธ. กำหนด นำไปสู่การประเมินเพื่อรับป้ายพระราชทาน และเกียรติบัตรฯ ส่วนสมาชิกใหม่ ควรดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของ อพ.สธ. และรับคำแนะนำจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษา อพ.สธ. ในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

2. งานพิพิธภัณฑ์ งานพิพิธภัณฑ์เป็นการขยายผลการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ ไปสู่ประชาชน กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยใช้การนำเสนอในรูปของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสื่อเข้าถึง ประชาชนทั่วไป ตัวอย่างเช่น

1. งานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และจังหวัดต่างๆ

2. งานพิพิธภัณฑ์พืช ดำเนินการโดยหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ นักพฤกษศาสตร์ ดูแลอยู่

3. งานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ดำเนินการโดยหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราช ดำริ เช่น มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น เป็นต้น

4. งานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เช่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สนองพระราชดำริ อพ.สธ. โดยกองทัพเรือ

5. งานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หอศิลปวัฒนธรรม ของจังหวัดและหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ

6. นิทรรศการถาวรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรต่างๆ

7. ศูนย์การเรียนรู้

3. งานอบรม อพ.สธ. ดำเนินงานอบรมเรื่องงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, งานฝึกอบรมปฏิบัติการสำรวจและ จัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร โดย อาจจัด ณ ศูนย์ฝึกอบรมของ อพ.สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ตาม ภูมิภาคต่างๆ ตัวอย่างเช่น

1. ศูนย์เรียนรู้ฯ สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

2. ศูนย์เรียนรู้ฯ สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

3. ศูนย์เรียนรู้ฯ สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์

4. ศูนย์เรียนรู้ฯ สู่เศรษฐกิจพอเพียง อพ.สธ. อ.วังม่วง จ.สระบุรี

5. ศูนย์ฝึกอบรม อพ.สธ. ลำตะคอง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

6. ศูนย์ฝึกอบรม อพ.สธ. เขาหมาจอ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย) โดย อพ.สธ.-ทร.

7. ศูนย์ฝึกอบรม อพ.สธ. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดย อพ.สธ.-อสส.

8. ศูนย์วิจัย อนุรักษ์ พัฒนา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเล อพ.สธ. เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (พื้นที่สนองพระราชดำริของมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และพื้นที่สนองพระราชดำริของ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

9. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โดย อพ.สธ.-มจ.

10. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี โดย อพ.สธ.-มอ.

11. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.ตรัง โดย อพ.สธ.-มทร.ศ.

12. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคกลางตอนบน ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี โดย อพ.สธ.-จฬ.

13. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม โดย อพ.สธ.-ม.มหิดล

14. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดย อพ.สธ.-ม.มหิดล

15. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา โดย อพ.สธ.-มทร.อ.

16. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น โดย อพ.สธ.-มข.

17. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี โดย อพ.สธ.-มอบ.

18. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี โดย อพ.สธ.- มรภ.อบ.

19. ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ โดย อพ.สธ.-มรอ.

แนวทางการดำเนินกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร

1. อพ.สธ. เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริในการจัดการ ประชุมวิชาการและนิทรรศการ อพ.สธ. ทุกๆ 2 ปี โดยมีการร่วมจัดแสดงนิทรรศการ กับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริทุกหน่วยงาน และการจัดการประชุมวิชาการ และนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค

2. อพ.สธ. สนับสนุนให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยของเจ้าหน้าที่และนักวิจัย อพ.สธ. รวมถึงงานของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ ในงานประชุมวิชาการต่างๆ ระดับประเทศและต่างประเทศ และให้มีการขออนุญาตในการนำเสนอผลงานทุกครั้ง

3. หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนเงินทุนให้ อพ.สธ. (โดยการ ทูลเกล้าฯถวาย โดยผ่านทางมูลนิธิ อพ.สธ. เพื่อใช้ในกิจกรรม อพ.สธ.)

4. ชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ. และชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. ดำเนินงาน สนับสนุนงานในกิจกรรมที่ 1-7 โดยที่ อพ.สธ. สนับสนุนให้มีผู้สมัครเป็นสมาชิกชมรมฯ ตามเงื่อนไขของชมรมฯ

5. หน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ สามารถดำเนินการฝึกอบรมในการสร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนองพระราชดำริตามแผนแม่บท อพ.สธ. โดยอาจมีการฝึกอบรมตามสถานที่ของหน่วยงานเอง หรือ ขอใช้สถานที่ของ อพ.สธ. ร่วมกับ วิทยากรของ อพ.สธ. หรือเป็นวิทยากรของหน่วยงานเอง แต่ผ่านการวางแผนและเห็นชอบจาก อพ.สธ. และอบรมให้กับเครือข่าย อพ.สธ. เช่น สมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และสมาชิก งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น

6. การทำหลักสูตร ท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามแผนแม่บทของ อพ.สธ.

7. การเผยแพร่โดยสื่อต่างๆ เช่น การทำหนังสือ วีดีทัศน์ เอกสารเผยแพร่ เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก อพ.สธ. เพื่อสนับสนุนงานกิจกรรมต่างๆ ของ อพ.สธ. สามารถใช้ สัญลักษณ์ของ อพ.สธ. ได้เมื่อได้รับการพิจารณาและเห็นชอบจาก อพ.สธ.

8. การจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการต่างๆ ของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ ในส่วนที่ เผยแพร่งานของ อพ.สธ. และได้รับความเห็นชอบจาก อพ.สธ.

9. หน่วยงานเอกชนหรือบุคคลทั่วไป สมัครเป็นอาสาสมัครในการร่วมงานกับ อพ.สธ.

10. การดำเนินงานอื่นๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนงานตามกรอบแผนแม่บทของ อพ.สธ.

11. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมัครเข้ามางานฐานทรัพยากรท้องถิ่น

งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง สามารถสนองพระราชดำริ โดยการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกและดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นโดยตรงกับ อพ.สธ. โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ.-ตำบลที่ร่วม สนองพระราชดำริ มีการจัดทำแผนแม่บทและนำไปสู่การประเมินเพื่อรับการประเมิน รับป้ายพระราชทานในการสนองพระราชดำริในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น

ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น

1. สนับสนุนงานปกติที่องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ต้องทราบในเรื่องข้อมูลทางกายภาพ ข้อมูลชีวภาพ เศรษฐกิจสังคม ศักยภาพชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำภูมิปัญญานั้นไปพัฒนาต่อยอด เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้เป็นมาตรฐานสากล
2. สนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล ทำงานร่วมกับสถานศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่ประสานกับชุมชนและโรงเรียน ร่วมกันสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น เพราะสถานศึกษามีหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ.2551 ซึ่งบ่งชี้ว่าในสาระ วิทยาศาสตร์ นักเรียนจะต้องทราบในเรื่องทรัพยากรในท้องถิ่นและการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น
3. องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล ได้ขึ้นทะเบียนทรัพยากรท้องถิ่นตามรูปแบบ การทำทะเบียนทรัพยากรต่างๆ ของ อพ.สธ. ให้กับท้องถิ่นของตนเอง เพื่อนำไปสู่การ ยืนยันสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพยากร เตรียมพร้อมสำหรับการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ จากการใช้ทรัพยากรนั้นๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ตามพิธีสารนาโงย่า (Nagoya protocol)