เทคนิคส่งเสริมสัมมาชีพ

การปลูกกล้วย

โดย : นายไพบูลย์ ไกรษรศรี ตำแหน่ง : เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน วันที่ : 2017-03-31-20:59:01

ที่อยู่ : 51 ม.3 ต.หนองใหญ่

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

กล้วยเป็นพืชที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะนำกล้วยมาใช้ในการทำพิธีสำคัญต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งการปลูกกล้วยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ทุกส่วนของกล้วยใช้ประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นใบ ปลี ต้นกล้วยทำกะทง ทำเป็นอาหารสัตว์ และต้องการสร้างอาชีพเสริมให้

วัตถุประสงค์ ->

1.1  การเตรียมดิน

·       วิเคราะห์ดิน เพื่อประเมินค่าความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชในดิน และความเป็นกรดด่างของดิน  ปรับสภาพดินตามคำแนะนำก่อนปลูก

·       ไถพรวน  ตากดินทิ้งไว้ ๑ เดือน เพื่อลดการระบาดของศัตรูพืช คราดเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง

1.2  ฤดูปลูก

·       ในเขตภาคเหนือตอนล่างปลูกเดือนกันยายน – พฤศจิกายน  เพื่อหลีกเลี่ยงผลผลิตด้อยคุณภาพ  กล้วยผลเล็ก  ก้านเครือแห้งและหักล้ม  เนื่องจากกล้วยขาดน้ำ  และประสบภาวะอุณหภูมิสูงในช่วงการพัฒนาการของผล  ในท้องที่ที่มีสภาพภูมิอากาศต่างไป  กำหนดฤดูปลูกโดยให้มีช่วงเวลาหลังปลูกประมาณ ๗ – ๘ เดือน  เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดน้ำและอุณหภูมิสูงในช่วงการพัฒนาการของผล

1.3  วิธีการปลูก

·       ใช้หน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ในระยะที่มีใบแคบ  ลำต้นสูง ๓๐ – ๕๐ เซนติเมตร

·       ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น ๒ x ๒ เมตร  หรือ  ๒.๕ x ๒.๕ เมตร

·       ขุดหลุมปลูกขนาด ๕๐ x ๕๐ x ๕๐ เซนติเมตร

·       รองก้นหลุมด้วยดินผสมกับปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว  อัตรา ๕ กิโลกรัมต่อหลุม  โดยสูงจากก้นหลุมประมาณ ๑ ใน ๓ ของหลุม  หากต้องการไว้ตอ ๒ – ๓ ปี  ควรเพิ่มหินฟอสเฟตอัตรา ๑๐๐ – ๒๐๐ กรัมต่อหลุม

·       วางหน่อพันธุ์ที่ก้นหลุมให้ลึกประมาณ ๒๕ เซนติเมตร  โดยจัดวางหน่อพันธุ์ให้ด้านที่ต้นแม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน  เพื่อให้มีการออกดอกไปในทิศทางเดียวกัน  สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา

·       กลบดินที่เหลือลงในหลุม  กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่นและคลุมด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง

·       รดน้ำให้ชุ่ม

2.      การดูแลรักษา

2.1  การให้ปุ๋ย

·       ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ๑ ครั้ง  เช่น  ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก่อนปลูก  อัตรา ๓ – ๕  กิโลกรัมต่อหลุม  ใส่ปุ๋ยเคมี ๔ ครั้ง

·       ใส่ปุ๋ยเคมี ครั้งที่ ๑ และ ๒ หลังจากปลูก ๑ เดือน และ ๓ เดือน เป็นระยะที่กล้วยมีการเจริญเติบโตทางลำต้น ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร ๒๐–๑๐-๑๐ หรือ ๑๕-๑๕-๑๕  อัตรา ๑๒๕ - ๒๕๐ กรัมต่อต้นต่อครั้ง

·       ใส่ปุ๋ยเคมี ครั้งที่ ๓ และครั้งที่ ๔ หลังจากปลูก ๕ เดือน และ ๗ เดือน  เป็นระยะที่กล้วยเริ่มให้ผลผลิต  ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๒-๑๒-๒๔ หรือ ๑๔-๑๔-๒๑  อัตรา ๑๒๕ - ๒๕๐ กรัมต่อต้นต่อครั้ง

·       ปุ๋ยเคมี  ใส่โดยโรยห่างต้นประมาณ ๓๐ เซนติเมตร หรือใส่ในหลุมลึกประมาณ ๑๐ เซนติเมตร  ทั้ง ๔ ด้าน  แล้วพรวนดินกลบ

2.2  การให้น้ำ

·       ในฤดูฝน  เมื่อฝนทิ้งช่วง  สังเกตหน้าดินแห้งและเริ่มแตก  ควรรีบให้น้ำ

·       ในฤดูแล้ง  เริ่มให้น้ำตั้งแต่หมดฝน  ประมาณปลายเดือนมกราคม – พฤษภาคม

·       วิธีการให้น้ำ  ชาวสวนนิยมปล่อยให้น้ำไหลเข้าไปในแปลงย่อยเป็นแปลง ๆ เมื่อดินมีความชุ่มชื้นดีแล้วจึงให้กับแปลงอื่นต่อไป

·       ปริมาณน้ำที่ให้  สังเกตดินในแปลงเปียกชื้น  แฉะเล็กน้อย  จึงหยุดให้

2.3  การตัดแต่งและดูแลต้นกล้วย

·       หลังปลูกกล้วย ๑ เดือน พรวนดินเพื่อให้ดินโปร่ง เก็บความชื้นได้มาก และดายหญ้าสม่ำเสมอ

·       การพูนโคน  ในขณะที่ดายหญ้าและพรวนดิน โดยดินเข้าหากอกล้วย ช่วยลดปัญหาโค่นล้มของต้นกล้วยและป้องกันรากของหน่อตาม  โดยเฉพาะกล้วยตอที่เกิดจากหน่อตาม ปีที่ ๒ และปีที่ ๓

·       การแต่งหน่อ  หลังจากปลูกกล้วยประมาณ ๕ เดือน  แต่งหน่อตามเพื่อให้ต้นแม่มีความสมบูรณ์  โดยใช้มีดยาวปลายขอ  เรียกว่า “มีดขอ” ปาดเป็นรอยเฉียงตัดขวางลำต้นเอียงทำมุม ๔๕ องศากับลำต้น  โดยรอยปาดด้านล่างอยู่สูงจากโคนต้น  ประมาณ ๑๐ – ๑๕ เซนติเมตร  หลังจากนั้นประมาณ ๒๐ – ๓๐ วัน  ทำการปาดหน่อครั้งที่ ๒  ให้รอยปาดอยู่ทิศทางตรงข้ามกับรอยปาดครั้งแรก และให้รอยปาดมุมล่างสุดอยู่สูงจากโคนต้นประมาณ ๒๐ – ๒๕ เซนติเมตร  ทำการแต่งหน่อเช่นนี้ต่อไปจนกว่าถึงเวลาเหมาะสม  จะปล่อยหน่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นกล้วย  หรืออาจขุดหน่อไว้สำหรับปลูกใหม่  หรือขายต่อไป

 3. ศัตรูของกล้วยน้ำว้าและการป้องกันกำจัด

   3.1 โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

3.1.1 โรคใบลาย

          สาเหตุ  เชื้อรา

ลักษณะอาการ   เชื้อราเข้าทำลายใบกล้วยตั้งแต่อายุ ๒ – ๓ เดือน จะเห็นอาการด้านบนของใบล่างมีลักษณะเป็นปื้นหรือแถบสีส้มปนน้ำตาล ส่วนด้านใต้ใบพบกลุ่มเส้นใยและสปอร์จำนวนมาก  ต่อมาใบที่เป็นโรคเปลี่ยนเป็นสีสนิมทั้งใบ และแห้งเป็นสีน้ำตาล

ช่วงเวลาระบาด ช่วงฝนตกชุก

การป้องกันกำจัด

·       ตัดแต่งใบกล้วยให้มีจำนวนใบต่อต้นที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีใบแน่นทึบ เกิดความชื้นสูง  ซึ่งเหมาะสมกับการระบาดของโรค

·       ใบที่เป็นโรคควรตัดออก  นำไปนอกแปลงปลูกและเผาทำลายเมื่อแห้ง

   3.2 แมลงศัตรูที่สำคัญ และการป้องกันกำจัด

          3.2.1 ด้วงงวงกล้วย

ลักษณะและการทำลาย   ตัวเต็มวัยทำความเสียหายได้บ้างเล็กน้อย  ระยะหนอนทำความเสียหายแก่ต้นกล้วยมากที่สุด  ตัวหนอนเจาะกัดกินและไชชอนอยู่ภายในเหง้าของกล้วยใต้ระดับผิวดินบริเวณโคนต้น  จึงไม่เห็นการทำลาย  หนอนสามารถทำลายต้นกล้วยได้ทุกระยะ

ช่วงเวลาระบาด ตลอดฤดูปลูก

การป้องกันกำจัด

·       เลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของแมลงศัตรูชนิดนี้

·       ขยายพันธุ์จากหน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากแมลงศัตรูและโรค

·       รักษาความสะอาดของแปลงปลูกอยู่เสมอ  หากพบกล้วยที่ตายควรเก็บรวบรวมเผาทำลาย

·       การปลูกพืชหมุนเวียนสลับ ๑ ปี หลังปลูกกล้วยติดต่อกันนานกว่า ๓ ปี จะช่วยลดปริมาณแมลงศัตรูชนิดต่าง ๆ ได้

3.2.2 ด้วงเจาะลำต้น

ลักษณะและการทำลาย   ตัวเต็มวัยวางไข่ตามบริเวณกาบกล้วย  ส่วนของลำต้นที่เหนือพื้นดินขึ้นไปจนถึงประมาณกลางต้น ตัวหนอนกัดกินเซลล์ต้นกล้วยเข้าไปถึงไส้กลางของต้น มองเห็นข้างนอกรอบต้นเป็นรูพรุนทั่วไป  ทำให้ต้นกล้วยตาย  หากเข้าทำลายในระยะใกล้ออกปลีจนถึงตกเครือ จะทำให้เครือหักพับกลางต้น หรือเหี่ยวเฉายืนต้นตาย

ช่วงเวลาระบาด ระยะกล้วยที่โตแล้วหรือระยะกล้วยออกปลีจนถึงตกเครือ

การป้องกันกำจัด

·       เลือกพื้นที่ปลูกกล้วย ที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคและแมลงศัตรู

·       ขยายพันธุ์จากหน่อที่สมบูรณ์  แข็งแรง  ปราศจากโรคและแมลงศัตรู  ไม่ควรวางหน่อกล้วยที่ขุดใหม่บนพื้นดินข้ามคืนเพราะแมลงจะเข้าวางไข่ได้

·       รักษาความสะอาดของแปลงปลูกเสมอ เก็บฝังหรือเผาทำลายต้นกล้วยหรือปลีที่เน่า

·       การปลูกพืชหมุนเวียนสลับ ๑ ปี หลังปลูกกล้วยติดต่อกันนานกว่า ๓ ปี จะช่วยลดปริมาณแมลงศัตรูชนิดต่าง ๆ ได้

3.2.3 หนอนม้วนใบกล้วย

ลักษณะและการทำลาย   หนอนวัยแรกจะกัดกินอยู่ใต้ใบ โดยเริ่มจากขอบใบก่อนและขยายเป็นแถบกว้างเพื่อใช้ม้วนห่อตัว  ระยะหนอน ๒๓ – ๒๕ วัน  เข้าดักแด้ภายในหลอดประมาณ ๑๐ วัน และเป็นผีเสื้อ  ใบกล้วยที่ถูกหนอนกัดกินมากทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากใบกล้วยได้

ช่วงเวลาระบาด ตลอดฤดูปลูก

การป้องกันกำจัด

·       เก็บทำลายตัวหนอนม้วนที่พบตามใบกล้วย

4. การเก็บเกี่ยว

   4.1 อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

·  เก็บเกี่ยวหลังตัดปลีประมาณ ๔๕ วัน

·   กล้วยที่ตกเครือช่วงฤดูหนาวผลจะแก่ช้า  อายุเก็บเกี่ยวประมาณ ๕๐ – ๕๕ วัน  หลังจากตัดปลี

   4.2 วิธีการเก็บเกี่ยว

·  ใช้มีดคมตัดเครือกล้วย

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

การเอาใจใส่ การให้น้ำกล้วย และการใส่ปุ๋ย จะทำให้กล้วยมีลูกที่โต เนื้อแน่น เป็นที่ต้องการของตลาด

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา