ความรู้สัมมาชีพชุมชน

โฆษก / พิธีกรศาสนพิธี

โดย : นายสอน สุริยันต์ วันที่ : 2017-03-13-09:09:27

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 10 ตำบล หนองสรวง อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

      ผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสนพิธีดีแล้วย่อมเป็นผู้ฉลาดในการจัดทำพิธีกรรมต่างๆ ในทางศาสนา เป็นผู้สามารถในการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ ได้ถูกต้องตามแบบแผนที่นิยมกันทั่วไป เป็นเหตุให้ผู้ได้พบเห็นเกิดศรัทธาในผู้นั้นว่าเป็นผู้ช่ำชองได้รับการฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ไม่มีความเคอะเขินในการจัดทำเป็นการเพิ่มเสน่ห์และบุคลิกภาพให้แก่ตัวเองอย่างหนึ่ง และนอกจากนั้นยังได้ชื่อว่าช่วยสืบต่ออายุพระศาสนาโดยปริยายด้วยเพราะแบบอย่างหรือธรรมเนียมที่ดีงามมีเหตุมีผลเป็นพิธีกรรมนั้นๆ เมื่อยังรักษากันไว้ได้เพียงใด ตัวศาสนาก็ยังชื่อว่าได้รับการรักษาอยู่เพียงนั้น เหมือนเปลือกกระพี้ของต้นไม้ยังคงสดอยู่ตราบใดต้นไม้นั้นก็จะยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ระเบียบปฏิบัติศาสนพิธี 
การจัดสถานที่งานพิธีทำบุญ 
การจัดสถานที่งานพิธีทำบุญในทางพระพุทธศาสนาทุกอย่าง ทั้งงานมงคล และงานอวมงคลนั้น เบื้องต้น เจ้าภาพ หรือ เจ้าของงาน จะต้องคำนึงถึงสถานที่ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางเพียงพอ และเหมาะสมจะจัดให้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลทางพระพุทธศาสนา สำหรับจัดเป็นห้องพิธี อันประกอบด้วยสถานที่สำคัญ ๓ ประการ คือ :- 
๑. สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย 
๒. สถานที่จัดเป็นอาสน์สงฆ์ และ 
๓. สถานที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน 
สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย 
- โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยนั้น นิยมจัดตั้งไว้ด้านขวาของอาสน์สงฆ์ ตั้งไว้สูงกว่าอาสน์สงฆ์พอสมควร และนิยมตั้ง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพราะเป็นทิศที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็น พระพุทธเจ้า ถ้าขัดข้องเพราะสถานที่ไม่อำนวย ก็นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือทิศใต้ ทิศใดทิศหนึ่ง แต่ไม่นิยมตั้ง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพราะถือกันว่าทิศตะวันตกเป็นทิศอัสดงคตแห่งพระอาทิตย์ เป็นทิศแห่งความเสื่อม ไม่เจริญ รุ่งเรือง 
- โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยนั้น โดยมาก นิยมตั้งไว้บนอาสน์สงฆ์ ทางต้นอาสน์สงฆ์ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ๕ ประการ คือ .- 


๑. พระพุทธรูป ๑ องค์ (นิยมพระปางมารวิชัย) 
๒. กระถางธูป ๑ ลูก พร้อมทั้งธูป ๓ ดอก เป็นอย่างน้อย 
๓. เขิงเทียน ๑ คู่ พร้อมทั้งเทียน ๒ เล่ม เป็นอย่างน้อย 
๔ .แจกัน ๑ คู่ พร้อมทั้งดอกไม้ประดับ และนิยมมีพานดอกไม้ตั้งบูชาด้วย 
๕. โต๊ะหมู่ ๑ หมู่ 
เครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยนั้น นิยมจัดหาสิ่งของที่ดีที่สุด ประณีตที่สุด เท่าที่จะสามารถหามาจัดได้กล่าวคือ 
๑. ธูป นิยมใช้ธูปหอมอย่างดี 
๒. เทียน นิยมใช้เทียนเล่มใหญ่พอสมควรแก่เชิงเทียน 
๓. ดอกไม้ นิยมใช้ดอกไม้ที่เพียบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ มีสีสวย มีกลิ่นหอม และ กำลังสดชื่น 
สถานที่จัดเป็นอาสน์สงฆ์ 
อาสน์สงฆ์ คือ สถานที่สำหรับพระสงฆ์นั่งนั้น นิยมจัดตั้งไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย และนิยมจัดแยกออกเป็นเอกเทศส่วนหนึ่งต่างหากจากที่นั่งของคฤหัสถ์ชายหญิง ประกอบด้วยเครื่องรับรองพระสงฆ์ ดังนี้ 
๑. พรมเล็ก สำหรับปูเป็นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์แต่ละรูป 
๒. กระโถน (ตั้งไว้ด้านในสุด) 
๓. ภาชนะน้ำเย็น (ตั้งไว้ถัดออกมา) 
๔. พานหมากพลู- บุหรี่ (ตั้งไว้ข้างหน้า) 
๕. ภาชนะน้ำร้อน (นิยมนำมาถวาย เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว) 
เครื่องรับรองพระภิกษุสงฆ์นั้น นิยมจัดตั้งไว้ด้านขวามือของพระภิกษุสงฆ์แต่ละรูป โดยจัดตั้งกระโถนไว้ด้านในสุด จัดตั้ง ภาชนะน้ำเย็นไว้ถัดออกมา จัดตั้งพานหมากพลู- บุหรี่ ไว้ถัดออกมาข้างนอก ส่วนภาชนะน้ำร้อนนั้น นิยมจัดมาถวายภายหลัง เมื่อพระภิกษุสงฆ์มานั่งเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้านำมาตั้งไว้ก่อน น้ำร้อนจะเย็นเสียก่อน ทำให้เสียรสน้ำชา ถ้าสถานที่ห้องประกอบพิธีสงฆ์นั้นคับแคบ หรือสิ่งของเครื่องรับรองมีไม่เพียงพอที่จะจัดถวายให้ได้ครบทั้ง ๙ ที่ สำหรับพระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๙ รูป ก็นิยมจัดเครื่องรับรองเพียง ๕ ที่ ก็เพียงพอ คือ 
๑. สำหรับพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ จัดตั้งไว้ด้านขวามือของท่านหนึ่งที่ 
๒. จัดตั้งไว้ระหว่างพระภิกษุรูปที่ ๒ กับพระภิกษุรูปที่ ๓ หนึ่งที่ 
๓. จัดตั้งไว้ระหว่างพระภิกษุรูปที่ ๔ กับพระภิกษุรูปที่ ๕ หนึ่งที่ 
๔. จัดตั้งไว้ระหว่างพระภิกษุรูปที่ ๖ กับพระภิกษุรูปที่ ๗ หนึ่งที่ 
๕. จัดตั้งไว้ระหว่างพระภิกษุรูปที่ ๘ กับพระภิกษุรูปที่ ๙ หนึ่งที่ 
สถานที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน 
สถานที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน นั้น นิยมจัดไว้ด้านหน้าของอาสน์สงฆ์ และนิยมจัดแยกออกเป็น เป็นเอกเทศส่วนหนึ่งต่างหากจากอาสน์สงฆ์ เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องอาบัติโทษ เพราะนั่งอาสนะเดียวกับสตรีเพศ ถ้าสถานที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงานนั้น ปูลาดเนื่องเป็นอันเดียวกันกับอาสน์สงฆ์ โดยปูเสื่อหรือ พรมเชื่อมเป็นอันเดียวกัน นิยมปูเสื่อหรือพรมผืนที่เป็นอาสน์สงฆ์ ทับผืนที่เป็นที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน โดย ปูลาดทับกันออกมาตามลำดับ และนิยมจัดปูลาดพรมเล็กสำหรับเป็นอาสนะที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์แต่ละรูปเพื่อให้สูงกว่าที่นั่ง ของคฤหัสถ์อีกด้วย 
สถานที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงานนั้น นิยมกันทั่วไปว่า จะต้องไม่ดีกว่า ไม่ประณีตกว่า และไม่อยู่ ณ ที่สูงกว่าอาสน์สงฆ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพคารวะแก่พระสงฆ์ การปูลาดอาสน์สงฆ์ และอาสนะที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงานนั้น โดยทั่วไป นิยมจัดแยกออกจากกัน คนละส่วน เพื่อความสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย 
การจัดตั้งภาชนะน้ำมนต์ 
การจัดตั้งภาชนะน้ำมนต์งานพิธีทำบุญในพระพุทธศาสนานั้น นิยมจัดตั้งภาชนะน้ำมนต์เฉพาะพิธีทำบุญงาน มงคลทุกชนิด เช่น งานทำบุญมงคลสมรส งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญฉลองต่าง ๆ เป็นต้น และนิยมจัดตั้งภาชนะ น้ำมนต์นี้ไว้ข้างโต๊ะหมู่บูชา ด้านพระเถระประธานสงฆ์นั่ง ส่วนพิธีทำบุญงานอวมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับศพ เช่น งานทำบุญสัตตมวาร (ทำบุญ ๗ วัน) งานทำบุญ ปัญญาสมวาร(ทำบุญ ๕๐ วัน) งานทำบุญสตมวาร (ทำบุญ ๑๐๐ วัน) เป็นต้น ไม่นิยมจัดตั้งภาชนะน้ำมนต์ เพราะพิธีทำบุญ งานศพนั้น เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น ไม่ใช่จัดทำเพื่อความเป็นศิริมงคลแก ่เจ้าของงาน 
ภาชนะน้ำมนต์ 
- ภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์นั้น นิยมใช้หม้อน้ำมนต์โดยเฉพาะ หรือใช้บาตรพระสงฆ์แทนก็ได้ แต่ไม่นิยมใช้ ขันเงินแทน เพราะเป็นวัตถุอนามาสที่พระภิกษุสงฆ์ไม่ควรจับต้อง เพราะเกิดอาบัติโทษแก่พระสงฆ์ผู้จับต้อง 
- น้ำสำหรับทำน้ำมนต์นั้น นิยมใช้น้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ใส่น้ำขนาดเกือบเต็มภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์นั้น และมีวัตถุที่นิยมกันว่าเป็นมงคล ตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ ใส่ในภาชนะน้ำมนต์นั้นด้วย 
เทียนสำหรับทำน้ำมนต์ 
- เทียนสำหรับทำน้ำมนต์นั้น นิยมใช้เทียนขี้ผึ้งแท้ มีขนาดเล่มใหญ่พอสมควร ขนาดอย่างเล็ก นิยมมีน้ำหนัก ๑ บาทขึ้นไป และนิยมใช้เทียนที่มีไส้ใหญ่ ๆ เพื่อป้องกันมิให้ไฟดับง่าย เมื่อถูกลมพัด 
การมอบเทียนชนวนแก่ผู้ใหญ่ 
- ผู้เป็นพิธีกรทำหน้าที่มอบเทียนชนวนแก่ผู้ใหญ่ ผู้เป็นประธานพิธีงานนั้น ๆ หรือมอบให้แก่ท่านเจ้าภาพ งานทำบุญต่าง ๆ จะต้องเตรียมจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ไว้ให้มีพร้อม ดังนี้ 
๑. เชิงเทียนขนาดกลาง ๑ ที่ (ควรเป็นเชิงเทียนทองเหลือง เพราะติดเทียนได้มั่นคงดี) 
๒. เทียนขี้ผึ้ง มีขนาดใหญ่พอสมควร ๑ เล่ม (ควรหาเทียนที่มีไส้ใหญ่ ๆ เพื่อไฟไม่ดับง่าย) 
๓. น้ำมันยาง น้ำมันก๊าด หรือ น้ำมันเบนซิน พร้อมทั้งสำลีสำหรับใช้เป็นชนวนติดไว้ที่ธูป และเทียน เพื่อสะดวกแก่การจุดไฟติดได้ง่าย 
วิธีการถือเชิงเทียนชนวน 
- การถือเชิงเทียนชนวนมอบให้แก่ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นประธานพิธีงานนั้น ๆ หรือ ให้แก่ท่านเจ้าภาพงานทำบุญนั้น ๆ นิยมถือด้วยมือขวา โดยหงายฝ่ามือ นิ้วมือทั้ง ๔ นิ้ว รองรับเชิงเทียน หัวแม่มือจับอยู่บนเชิงเทียน 
- ไม่นิยมจับกึ่งกลางเชิงเทียนเพราะจะทำให้ผู้ใหญ่รับเชิงเทียนชนวนไม่สะดวกหรือจะทำให้ผู้ใหญ่ต้องเสียภูมิ เพราะจับเชิงเทียนขนวนภายใต้มือของพิธีกรผู้ส่งให้ แสดงว่าไม่รู้ระเบียบ 
วิธีการมอบเชิงเทียนชนวน 
- เมื่อถึงเวลาตามกำหนดการแล้ว พิธีกรพึงจุดเทียนชนวน ถือด้วยมือขวา มือซ้ายควรถือไม้ขีดไฟติดมือไปด้วย (เมื่อเทียนชนวนดับ จะได้จุดได้ทันท่วงที) เดินเข้าไปหา ท่านผู้เป็นประธานพิธี หรือท่านเจ้าภาพงานทำบุญ ยืนตรงโค้งคำนับท่าน (สำหรับพิธีกร และประธานพิธีเป็นคฤหัสถ์) ถ้าประธานพิธีเป็นพระเถระผู้ใหญ่ พิธีกรพึงนั่งคุกเข่าลง กราบเรียนให้ท่านทราบ หรือ 
- เมื่อพิธีกรเริ่มจุดเทียนชนวน ท่านผู้เป็นประธานพิธี หรือท่านเจ้าภาพงานเห็นแล้ว ลุกจากที่นั่ง เดินไปที่โต๊ะ หมู่บูชาพระรัตนตรัยเอง พิธีกรพึงเดินตามหลังท่านไป โดยเดินตามไปทางด้านซ้ายมือของท่าน 
- ถ้าประธานพิธี หรือ เจ้าภาพงาน หยุดยืนที่ข้างหน้าที่บูชา พิธีกรพึงนั่งชันเข่า ถ้าท่านนั่งคุกเข่า พิธีกรพึง นั่งคุกเข่าทางด้านซ้ายมือของท่าน ยื่นมือขวาส่งเชิงเทียนชนวนมอบให้ท่าน ส่วนมือซ้ายห้อยอยู่ข้างตัว 
- เมื่อมอบเชิงเทียนชนวนให้ท่านแล้ว พิธีกรพึงถอยหลังออกมาให้ห่างจากท่านพอสมควร เพื่อไม่ให้ขัดขวาง การถ่ายรูปของช่างภาพ โดยถอยห่างออกมานั่งชันเข่า หรือนั่งคุกเข่า ตามควรแก่กรณีพร้อมกับคอยสังเกตดู ถ้าเทียนขนวนดับพึงรีบเข้าไปจุดได้ทันที วิธีการรับเชิงเทียนชนวนจากผู้ใหญ่ 
- เมื่อท่านผู้ใหญ่จุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว พิธีกรพึงเข้าไปทางด้านซ้ายมือของท่าน ถ้าท่านยืนจุด พิธีกรพึงนั่งชันเข่ารับ ถ้าท่านนั่งคุกเข่าจุด พิธีกรพึงนั่งคุกเข่ารับเชิงเทียนชนวน 
- การรับเชิงเทียนชนวนจากผู้ใหญ่นั้น นิยมยื่นมือขวาแบมือเข้าไปรองรับเชิงเทียนชนวนจากท่าน เมื่อรับเชิงเทียนชนวนแล้ว นิยมถอยหลังห่างออกไปเล็กน้อยแล้วเดินกลับไปได้ 
ข้อควรสังวรระวัง 
- พิธีกรอย่าจับเชิงเทียนชนวนเหนือมือท่านผู้ใหญ่ที่ท่านจับอยู่ ถือว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพท่าน ทั้งเป็นการแสดงว่า ตนเป็นคนไม่รู้ระเบียบอีกด้วย 
- ขณะส่งเชิงเทียนชนวนมอบให้ท่านผู้ใหญ่ อย่าถือกึ่งกลางเชิงเทียนส่งมอบให้ท่าน เพราะจะทำให้ท่าน รับเชิงเทียนไม่สะดวก 
- ต้องเตรียมไม้ขีดไฟ เป็นต้น ติดมือไปด้วย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะจุดได้ทันที เมื่อไฟเทียนชนวนดับลง และต้องกำหนดดูทิศทางของลมที่พัดมา โดยเฉพาะ คือ ทิศทางลมที่เกิดจากพัดลม จะทำให้ไฟเทียนชนวนดับ หรือจะทำให้การจุดไฟเครื่องสักการบูชาไม่ติด หรือ จุดไฟติดได้ยาก 
- ถ้าเป็นงานมงคลที่มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทมงคลสูตรว่า “อะเสวะนา จะ พาลานัง” พิธีกรพึงจุดเทียนชนวนเข้าไปเชิญท่านผู้เป็นประธานพิธี หรือ ท่านเจ้าภาพงานทำบุญ ให้ท่านมาจุดเทียนน้ำมนต์ อีกครั้งหนึ่ง โดยมีวิธีการปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั้น 
ระเบียบปฏิบัติศาสนพิธีการทำบุญ (๒) 
การจุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย 
- เมื่อถึงเวลาตามกำหนดการแล้ว และพิธีกรถือเชิงเทียนชนวนเข้ามาเชิญไปจุดเครื่องสักการบูชา พระรัตนตรัย ผู้เป็นประธานพิธี หรือเจ้าภาพงาน นิยมปฏิบัติดังนี้ 
- ลุกขึ้นจากที่นั่ง เดินไปที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย ถ้าโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่ที่สูง นิยมยืน ถ้าโต๊ะหมู่บูชา ตั้งอยู่ที่ไม่สูงนัก พอนั่งคุกเข่าจุดถึง ก็นิยมนั่งคุกเข่าลงแล้วรับเชิงเทียนชนวนมาจากพิธีกร แต่ไม่นิยมรับเขิงเทียนชนวนจากพิธีกรมาก่อนที่ยังไม่ถึงหน้าโต๊ะหมู่บูชา 
- นิยมจุดเทียนเล่มขวาของพระพุทธรูปก่อน แล้วจุดเทียนเล่มซ้ายต่อไป ถ้ามีเทียนตั้งอยู่หลายคู่ นิยมจุดเทียน คู่บนก่อน แล้วจึงจุดเทียนคู่ล่าง ๆ ลงมาตามลำดับจนครบทุกคู่ แล้วจึงจุดธูป 
- ถ้ามีสายชนวนเชื่อมโยงจากธูปไปยังเทียนทุกคู่แล้ว ก็นิยมจุดธูปเป็นอันดับแรก ถ้าธูปมิได้จุ่มน้ำมันเตรียมไว้ นิยมถอนธูปมาจุดกับเทียนชนวน ถ้าธูปจุ่มน้ำมันเตรียมไว้แล้ว ก็จุดโดยไม่ต้องถอนธูปมาจุดกับเทียนชนวน 
- เมื่อจุดธูปเสร็จแล้ว ก็ส่งเทียนชนวนคืนให้แก่พิธีกร แล้วปักธูปไว้ตามเดิม วิธีการปักธูปนั้น นิยมปักเรียงหนึ่ง เป็นแถวเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างเท่า ๆ กัน ให้ธูปแต่ละดอกสูงต่ำพอ ๆ กัน หรือ 
- นิยมปักธูปเป็นสามเส้าก็ได้ และนิยมปักธูปไว้กึ่งกลางกระถางธูป โดยปักธูปทุกดอกให้ตั้งตรง อันเป็นการ แสดงถึงนิสัยอัธยาศัยของผู้นั้นว่า เป็นคนซื่อตรง เป็นคนมีระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่คนมักง่าย 
คำบูชาพระรัตนตรัย 
- เมื่อปักธูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว นิยมตั้งใจบูชาพระรัตนตรัย โดยนั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย (เพียงแต่นึกในใจ) ว่า 
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ// ฯ 
อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ// 
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ// 
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ// ฯ 
การกราบพระรัตนตรัย 
- เมื่อกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยจบแล้ว นิยมกราบพระรัตนตรัยแบบเบญจางคประดิษฐ์ (คือการตั้งหน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง และเข่าทั้งสอง ลงจรดพื้น) ๓ ครั้ง และในขณะที่หมอบกราบแต่ละครั้งนั้น นิยมระลึกถึงพระรัตนตรัย ดังนี้
กราบครั้งที่ ๑ ระลึกว่า “พุทโธ เม นาโถ” พระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า/ 
กราบครั้งที่ ๒ ระลึกว่า “ธัมโม เม นาโถ” พระธรรม เป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า/ 
กราบครั้งที่ ๓ ระลึกว่า “สังโฆ เม นาโถ” พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า// 
- กิริยาอาการที่กราบนั้น นิยมไม่เร็ว หรือ ช้าเกินไป และนิยมกราบให้ถูกต้อง ตามแบบเบญจางคประดิษฐ์ จริง ๆ ทุกครั้งที่กราบพระรัตนตรัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นทิฏฐานุคติ แก่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ถือเป็นแบบอย่างปฏิบัติตามได้ถูกต้องสืบไป 


การอาราธนาศีล 
- ในพิธีทำบุญงานมงคลทุกชนิด นิยมกล่าวคำอาราธนาศีลก่อน แล้วจึงกล่าวคำอาราธนาพระปริตร ในภายหลังจากรับศีลเสร็จแล้ว 
- เมื่อประธานพิธี หรือ เจ้าภาพงาน จุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีกรพึงกล่าวคำ อาราธนาศีลเป็นอันดับแรก 
วิธีปฏิบัติในการอาราธนาศีล 
พิธีกรผู้ทำหน้าที่อาราธนาศีลและพระปริตรนั้น นิยมปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานที่ของงานพิธีนั้น ๆ ดังนี้ 
- ถ้าเขาจัดปูลาดอาสน์สงฆ์อยู่กับพื้น และผู้มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลทั้งหมดก็นั่งกับพื้น ในกรณีเช่นนี้ พิธีกรก็นิยมนั่งคุกเข่าประนมมือกราบพระรัตนตรัยแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำอาราธนาศีล 
- ถ้าเขาจัดอาสน์สงฆ์ยกขึ้นสูงจากพื้น แต่เจ้าภาพ หรือประธานพิธีและผู้มาร่วมงานทั้งหลายนั่งอยู่กับพื้น ในกรณีเช่นนี้ พิธีกรก็นิยมนั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำอาราธนาศีลเหมือนกัน 
- ถ้าเขาจัดอาสน์สงฆ์ยกขึ้นสูงจากพื้น เจ้าภาพ หรือประธานพิธีและผู้มาร่วมงานทั้งหลายนั่งเก้าอี้ ในกรณีเช่นนี้พิธีกรนิยมยืนทางท้ายอาสน์สงฆ์ประมาณข้างหน้า พระสงฆ์รูปที่ ๔- ๕ ท้ายแถว หันหน้าไปทางพระเถระประธานสงฆ์ ประนมมือกล่าวคำอาราธนาศีล 
- ลักษณะการกล่าวคำอาราธนาศีลนั้น นิยมกล่าวคำอาราธนาอย่างชัดถ้อยชัดคำ จังหวะที่กล่าวไม่เร็ว หรือ ช้าเกินไป นิยมหยุดทอดเสียงเป็นระยะ ๆ ดังนี้ 
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ// ติสะระเณนะ สะหะ// ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ// 
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ// ติสะระเณนะ สะหะ// ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ// 
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ// ติสะระเณนะ สะหะ// ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ// ฯ 
วิธีการรับศีล 
- การรับศีลนี้ คือ วิธีการประกาศสมาทานศีลว่า ตนจะเป็นผู้ตั้งใจงดเว้นจากการประพฤติทุจริตทางกาย และทางวาจาตามสิกขาบทนั้น ๆ ด้วยความสมัครใจ ของตนเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ท่านสั่งห้ามไม่ให้ประพฤติทุจริตเช่นนั้น 
- เพราะการสมาทานศีลนี้ เป็นเรื่องของความสมัครใจงดเว้นจากความชั่วของคฤหัสถ์แต่ละบุคคลโดยตรง ดังจะพิจารณารู้ได้จากคำสมาทานศีลแต่ละสิกขาบท ตัวอย่างเช่น ศีล ๕ สิกขาบทที่ ๑ ว่า 
“ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ” แปลความว่า “ข้าพเจ้าขอสมาทาน ซึ่งสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการยังสัตว์มีลมปราณให้ตกล่วงไป คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์” ดังนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านสมัครใจ ตั้งใจงดเว้นเอง ไม่ใช่เป็นคำสั่งห้ามของพระสงฆ์ ทั้งไม่ใช่วิสัยของพระสงฆ์ที่จะบังคับให้ชาวบ้านประพฤติเช่นนั้นได้ ถ้าเขาไม่สมัครใจที่จะประพฤติเช่นนั้น 
- แต่เพราะชาวบ้านไม่สามารถจะทรงจำคำประกาศสมาทานศีลได้ด้วยตนเอง จึงต้องขอร้องให้พระสงฆ์ท่านช่วยกล่าวนำให้ด้วย เช่นเดียวกับคำกล่าวถวายสังฆทาน โดยมากชาวบ้านผู้ถวายมักจำคำถวายไม่ได้ จึงต้องขอร้องให้ พระสงฆ์ท่านช่วยกล่าวนำให้ด้วย ฉะนั้น 
- เพราะเหตุนี้ บุคคลผู้รับศีล คือ บุคคลผู้สมาทานศีลทุกคน จึงนิยมต้องกล่าวคำประกาศสมาทานรับศีลให้พระสงฆ์ได้ยินอย่างชัดเจน เพื่อพระสงฆ์จะได้เป็นสักขีพยาน ในการที่ตนตั้งใจจะงดเว้นจากความชั่ว และตั้งใจจะประ กอบความดีต่อไป 
การให้ศีล ๕ 
เมื่อพิธิกรกล่าวคำอาราธนาศีล เริ่มครั้งที่ ๒ ว่า “ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ฯเปฯ” พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ พึงเริ่มจับพัดรองตั้งเตรียมให้ศีล เมื่อพิธิกรกล่าวคำอาราธนาศีลจบลงแล้ว พึงเริ่มตั้ง นะโม ทันทีโดยไม่ชักช้า การให้ศีลนั้น นิยมกล่าวนำตั้ง นะโม ๓ ชั้น ดังนี้:- 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ// 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ// 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ// 
การให้ศีล ๕ นั้น เมื่อกล่าวนำไตรสรณคมน์จบแล้ว ไม่นิยมบอกว่า “ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง” (แปลว่า การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกจบแล้ว) 
การกล่าวนำให้ศีลแต่ละสิกขาบทนั้น นิยมทอดเสียง ในระหว่างกลางทุกสิกขาบท ตัวอย่าง เช่น สิกขาบทที่ ๑ ว่า “ปาณาติปาตา” ทอดเสียงหน่อยหนึ่งแล้วจึงกล่าวต่อไป “เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ” แม้สิกขาบทต่อ ๆ ไป ก็นิยม ทอดเสียงหน่อยหนึ่ง อย่างนี้เหมือนกัน 
- การกล่าวสรุปท้ายบอกอานิสงส์ศีลนั้น นิยมหยุดเป็นตอน ๆ ดังนี้:- 
อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ// 
สีเลนะ สุคะติง ยันติ// สีเลนะ โภคะสัมปะทา// 
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ// ตัสมา สีลัง วิโสธะเย// ฯ 
การอาราธนาพระปริตร 
- เมื่อพระเถระประธานสงฆ์ให้ศีลจบแล้ว พิธีกรพึงกล่าวคำอาราธนาพระปริตรสืบต่อไป โดยการกล่าวหยุดทอดเสียงเป็นตอน ๆ ไป ดังนี้:- 
วิปัตติปะฏิพาหายะ// สัพพะสัมปัตติสิทธิยา// 
สัพพะทุกขะวินาสายะ// ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง// 
วิปัตติปะฏิพาหายะ// สัพพะสัมปัตติสิทธิยา// 
สัพพะภะยะวินาสายะ// ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง// 
วิปัตติปะฏิพาหายะ// สัพพะสัมปัตติสิทธิยา// 
สัพพะโรคะวินาสายะ// ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง// ฯ 
การกล่าวชุมนุมเทวดา 
- การกล่าวชุมนุมเทวดา คือ การกล่าวอัญเชิญเทวดาให้มาร่วมงานมงคลนี้ เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพงานมงคลนั้น ๆ จะต้องเป็นผู้กล่าวอัญเชิญด้วยตนเอง หาใช่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ไม่ แต่เนื่องจากเจ้าภาพงานนั้น ๆ ไม่สามารถจะกล่าวคำอัญเชิญได้ด้วยตนเอง จึงขอร้องให้พระสงฆ์ช่วยกล่าวอัญเชิญแทนตน ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันนี้ การกล่าวชุมนุมเทวดานี้ จึงกลายเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์โดยตรงทีเดียว 
- การกล่าวชุมนุมเทวดา และการขัดตำนาน ก่อนเจริญพระพุทธมนต์ในงานพิธีทำบุญทุกชนิด นิยมเป็นหน้าที่ของพระภิกษุรูปที่ ๓ เป็นผู้กล่าวชุมนุมเทวดาและกล่าวขัดตำนาน ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากพระเถระรูปที่ ๒ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ชราภาพมีเสียงเครือ หรือ อาจเนื่องมาจากพระเถระรูปที่ ๒ จะต้องคอยรับช่วงบทเจริญพระพุทธมนต์ต่อจากพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ ถ้าพระเถระรูปที่ ๒ ทำหน้าที่กล่าวชุมนุมเทวดา และกล่าวขัดตำนานเอง เมื่อกล่าวชุมนุมเทวดา หรือกล่าวขัดตำนานจบแล้วกว่าจะเก็บพัดรองไว้ที่เดิมเสร็จ มักจะรับช่วงบทเจริญพระพุทธมนต์จากพระเถระประธานสงฆ์ไม่ทัน ทำให้เสียระเบียบการเจริญพระพุทธมนต์ได้ จึงนิยมมอบหน้าที่การกล่าวชุมนุมเทวดาและกล่าวขัดตำนาน ให้เป็นภาระหน้าที่ของพระภิกษุรูปที่ ๓ สืบต่อกันมาจนปัจจุบันนี้ 
- ถ้าพระภิกษุรูปที่ ๓ มีความขัดข้อง ก็อาจมอบให้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุรูปที่ ๔ - ๕ ทำหน้าที่แทนตนก็ได้ หรือ อาจขอร้องให้พระเถระรูปที่ ๒ ขัดแทนก็ได้ ในเมื่อพิจารณาเห็นว่า พระเถระรูปที่ ๒ เป็นผู้มีเสียงดี และขัดได้ไพเราะดีซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไป 
- เมื่อพิธีกรกล่าวคำอาราธนาพระปริตร เริ่มครั้งที่ ๒ ว่า “วิปัตติปะฏิพาหายะ” พระภิกษุรูปที่ ๓ พึงเริ่มจับพัดตั้งเตรียมกล่าวชุมนุมเทวดา เมื่อพิธีกรกล่าวคำอาราธนาพระปริตรจบลงแล้ว นิยมเริ่มกล่าวชุมนุมเทวดาทันที โดยไม่ชักช้า 
การกล่าวชุมนุมเทวดางานพิธีมงคลทั่วไป 
- การกล่าวชุมนุมเทวดา ก่อนเจริญพระพุทธมนต์ ในงานพิธีมงคลทั้งหลายทั่วไป เช่น งานมงคลสมรส งานพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานพิธีทำบุญอายุ งานพิธีฉลองยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น นิยมกล่าวชุมนุมเทวดา ดังนี้:- 
ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา// 
อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ// 
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ// จันตะลิกเข วิมาเน// 
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน// เคหะวัตถุมหิ เขตเต// 
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม// ยักขะคันธัพพะนาคา// 
ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง// สาธะโว เม สะณันตุ// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// ฯ 
การกล่าวชุมนุมเทวดางานพิธีมงคลส่วนรวม 
- การกล่าวชุมนุมเทวดา ก่อนเจริญพระพุทธมนต์ ในงานพิธีมงคลส่วนรวม เช่น งานรัฐพิธีขึ้นปีใหม่ งานรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ งานรัฐพิธีสาบานธง งานพิธีฉลองวัด งานทำบุญกลางบ้าน เป็นต้น นิยมกล่าวชุมนุมเทวดา ดังนี้. 
สะมันตา จักกะวาเฬสุ อัตราคัจฉันตุ เทวะตา// 
สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ สุณันตุ สัคคะโมกขะทัง// 
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ// จันตะลิกเข วิมาเน// 
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน// เคหะวัตถุมหิ เขตเต// 
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม// ยักขะคันธัพพะนาคา// 
ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง// สาธะโว เม สุณันตุ// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// ฯ 
การกล่าวชุมนุมเทวดางานพระราชพิธี 
- การกล่าวชุมนุมเทวดา ก่อนเจริญพระพุทธมนต์ ในงานพระราชพิธีมงคลทุกประเภท เช่น งานพระราชพิธีมงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น นิยมกล่าวชุมนุมเทวดา ดังนี้. 
สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง// 
ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ// 
ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา// 
อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ// 
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ// จันตะลิกเข วิมาเน// 
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน// เคหะวัตถุมหิ เขตเต// 
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม// ยักขะคันธัพพะนาคา// 
ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง// สาธะโว เม สุณันตุ// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// 
ธัมมัสสะวะนะกาโล// อะยัมภะทันตา// 
การประนมมือในศาสนพิธีการทำบุญ 
- การประนมมือในการเจริญพระพุทธมนต์ หรือในการสวดพระพุทธมนต์นั้น เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธมนต์ที่กำลังกล่าวสวดอยู่นั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องกระทำด้วยความประณีตเรียบร้อย อันแสดงออกถึงกิริยาอาการที่ทำด้วยความเคารพ เอื้อเฟื้อเป็นอย่างดี ทั้งเป็นการแสดงตัวอย่างให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ยึดถือเป็นทิฏฐานุคติ ดำเนินรอยตามอีกด้วย 
- นิยมประนมมือ โดยยกมือทั้งสองขึ้นบรรจบกันระหว่างอก ให้นิ้วมือทั้งสิบแนบขิดสนิทกัน ตั้งปลายนิ้วมือขึ้นข้างบน ศอกทั้งสองข้างวางแนบชิดกับชายโครง 
- ไม่นิยมประนมมือแบบไม้ค้างถั่ว คือ เอานิ้วมือทั้งสองข้างวางประสานไขว้กัน ไม่นิยมประนมมือแบบแง่งขิงแง่งข่า คือ เอานิ้วมืองอเข้าหากัน ทำมือหงิกมืองอ ไม่นิยมประนมมือแบบฝ่ามือโก่งออกจากกันเป็นกระโปรง 
- ไม่นิยมยกกระพุ่มมือประนมขึ้นยันคาง หรือ ยกขึ้นปิดปาก หรือ ลดกระพุ่มมือประนมลงวางไว้ที่พุง หรือ ปล่อยให้กระพุ่มมือประนมหันปลายนิ้วลงเบื้องล่างซึ่งเป็นกิริยาอาการที่ไม่น่าเลื่อมใส 
การเจริญพระพุทธมนต์ 
- การเจริญพระพุทธมนต์ ในงานพิธีการทำบุญเพื่อความเป็นศิริมงคลต่างชนิดนั้น นิยมใช้บทพระพุทธมนต์เหมาะแก่งาน พอเหมาะแก่กาลเวลา และใช้จังหวะการสวดเหมาะแก่บุคคลผู้ฟัง คือ. 
- ถ้าผู้ฟังเป็นผู้ใหญ่ หรือ เป็นคนสูงอายุ นิยมสวดจังหวะช้าลง ไม่กระชั้นนัก 
- ถ้าผู้ฟังเป็นข้าราชการ นิยมใช้จังหวะปานกลาง ไม่เร็วนักและไม่ช้านัก 
- ถ้าผู้ฟังเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา นิยมสวดเร่งให้เร็วขึ้นหน่อย 
- เมื่อประธานพิธี หรือ เจ้าภาพ เริ่มจุดเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ พึงเริ่มหยิบกลุ่มด้ายสายสิญจน์คลี่ส่งให้พระภิกษุรูปที่ ๒ คลี่ส่งต่อ ๆ กันไปตามลำดับ 
- พระภิกษุรูปสุดท้าย พึงวางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้บนพานสำหรับรองรับ ถ้าไม่มีพานตั้งไว้สำหรับรองรับ ก็นิยมวางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้บนพานหมากพลู- บุหรี่ ถ้าไม่มีพานหมากพลู- บุหรี่ ก็นิยมวางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้ในย่ามของตน 
- เมื่อเจริญพระพุทธมนต์ถึงบทสุดท้าย คือ “ภะวุตุ สัพพะมังคะลัง” พระภิกษุรูปสุดท้ายพึงเริ่มม้วนเก็บด้ายสายสิญจน์ส่งกลับตืน 
- ด้ายสายสิญจน์ที่โยงมาจากพระพุทธรูปนั้น นิยมกันว่า ห้ามข้ามกราย ถ้ามีความจำเป็นจะต้องรับประเคนสิ่งของ ในขณะที่กำลังถือด้ายสายสิญจน์อยู่นั้น นิยมใช้มือสอดลอดใต้ด้ายสายสิญจน์รับประเคน 
การจุดเทียนน้ำมนต์ 
- ผู้เป็นประธานพิธี หรือ ผู้เป็นเจ้าภาพงานทำบุญนั้น นิยมรอคอยเวลาจุดเทียนน้ำมนต์ถวายพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง แม้จะมีธุระอย่างใด ก็ควรงดไว้ก่อน 
- เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ถึงบทมงคลสูตรว่า “อะเสวนา จะ พาลานัง” พิธีกรพึงจุดเทียนชนวนเข้าไปเชิญประธานพิธี หรือเจ้าภาพงานไปจุดเทียนน้ำมนต์ ซึ่งตั้งอยู่ข้างหน้าของพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ 
- เมื่อจะจุดเทียนน้ำมนต์นั้น นิยมหยดน้ำตาเทียนชนวนลงที่ไส้ของเทียนน้ำมนต์นั้นก่อน เพื่อจะทำให้การจุดไฟติดได้ง่าย และไส้เทียนน้ำมนต์นั้นจะไม่ถูกไฟไหม้หมดไปเสียก่อน 
- เมื่อจุดเทียนน้ำมนต์แล้ว ก็ส่งเทียนชนวนคืนให้แก่พิธีกร แล้วยกภาชนะน้ำมนต์นั้น ถวายแก่พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ เมื่อยกภาชนะน้ำมนต์ถวายแล้ว นิยมยกมือไหว้พระเถระประธานสงฆ์นั้น แล้วกลับไปนั่งที่เดิม 
- ต่อจากนั้น ถ้ามีธุระจำเป็น ก็พอปลีกตัวไปได้บ้าง แต่ตามความนิยมแล้วผู้เป็นประธานพิธี หรือ เจ้าภาพงาน ไม่นิยมปลีกตัวไปไหนในขณะที่พระสงฆ์กำลังเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ประธานพิธี หรือ แก่เจ้าภาพงานนั้น นิยมนั่งอยู่เป็นประธานจนกว่าจะเสร็จพิธี จึงจะเป็นการถูกต้องและเหมาะสมทุกประการ 

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสระบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา