ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การปลูกผักหวานป่า

โดย : นายรับ พรหมมา วันที่ : 2017-03-21-13:22:39

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 12/1 หมู่ที่ 7 ตำบล หนองบัว อำเภอ บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี รหัสไปรษณีย์ 18130

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

จากเดิมคนในชุมชนมีการปลูกผักหวานป่ากันอยู่แล้ว แต่มีจำนวนไม่มาก ชาวบ้านได้นำผักหวานป่าไปขาย  ตลาดนัด ซึ่งมีลูกค้าสนใจและซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ผักหวานมีจำนวนไม่มาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ประกอบกับมีแม่ค้ามารับซื้อไปขายที่อื่นเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการคิดที่จะขยายพันธุ์ผักหวานป่า และขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้น จึงได้ทำการทดลอง ผิด – ถูก อยู่หลายปี จึงประสบผลสำเร็จและสามารถใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักหวานป่าขยายผลให้แก่ผู้สนใจในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตตำบล อำเภอ และจังหวัดอื่น ๆ และเป็นวิทยากรพิเศษเกี่ยวกับการปลูกผักหวานป่าให้ได้ประสบผลสำเร็จของอำเภอบ้านหมอ

วัตถุประสงค์ ->

ขยายพันธุ์ผักหวานป่า

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

          ๑. ดิน   ๒. ปุ๋ยคอก /ปุ๋ยอินทรีย์  ๓.ต้นกล้าผักหวาน

อุปกรณ์ ->

                   ๑. อุปกรณ์ขุดดินจอบ/เสียม    ๒. ถุงดำขนาดเล็ก

กระบวนการ/ขั้นตอน->

            การปลูกขยายพันธุ์ผักหวานป่ามี 2 วิธี คือ การเพาะด้วยเมล็ดพันธุ์และการตอนกิ่ง ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้วิธีขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดมากกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง เพราะน้อยคนจะรู้จักวิธีการตอนกิ่งผักหวานป่า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและเทคนิคในการตอนและการปลูกจึงจะประสบผลสำเร็จ

                      ผักหวานป่าเป็นพืชที่มีอายุการให้ผลผลิตยาวนานหลายสิบปี และปราศจากศัตรูพืชรบกวนจึงเป็นพืชที่ปลอดสารพิษ ซึ่งผู้ปลูกไม่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพว่าจะได้รับสารพิษใดๆ เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่จะมารบกวนผักหวานป่า จึงมั่นใจได้ว่าผักหวานป่าเป็นพืชที่ปลอดสารพิษ 100% อย่างแน่นอน

 

 การปลูกและดูแลรักษาผักหวานป่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 อย่าง คือ

1. ดิน คำว่า “ดินดี” นั้นไม่ได้อยู่ที่สีของดิน ใช่ว่าดินดีต้องสีดำ ดินทรายไม่ดี แต่คำว่าดินดีนั้นคือ ดินที่มีอุดมไปด้วยแหล่งธาตุอาหารต่างๆที่พืชต้องการ ฉะนั้นจึงต้องปรับปรุงบำรุงดินให้ดีอยู่เสมอ

2. น้ำ ของเหลวที่พืชสามารถดูดซึมได้ นำธาตุอาหารต่างๆไปใช้เพื่อการเจริญเติบโต หากไม่มีน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดูดซึมนำธาตุอาหารต่างๆไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตไม่ได้ พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้

3. อุณหภูมิ อากาศ และสิ่งแวดล้อม คือมีสภาพอุณหภูมิที่เหมาะสมกับพืชชนิดต่างๆที่นำมาปลูก และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ให้กันหรือไม่ เช่นปลูกผักหวานป่าก็ควรจะปลูกป่า เพื่อเลียนแบบธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่ผักหวานป่าชอบอยู่อย่างนี้ เป็นต้น

 วิธีการปลูกและดูแลรักษา

              วิธีการปลูกและดูแลรักษาไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งมีเกษตรกรหลายคนเมื่อนำต้นกล้าพันธุ์ผักหวานป่าไปปลูกแล้วไม่ประสบผลสำเร็จจึงเข้าใจว่าเป็นเพราะดิน แต่ความจริงนั้นดินไม่ใช่สาเหตุ หากเป็นเพราะผู้ปลูกไม่เข้าใจธรรมชาติของผักหวานป่า ซึ่งเมื่อปลูกผักหวานป่าแล้วจะต้องมีพืชพี่เลี้ยงเพื่อให้ผักหวานป่าอาศัยร่มเงาเลียนแบบธรรมชาติที่ผักหวานป่าเกิดอยู่ในป่าตามธรรมชาติ โดยการปลูกป่าให้กับผักหวานป่าเท่ากับว่าภายในหมู่บ้านได้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อท่านคิดจะปลูกผักหวานป่า จะต้องคำนึงว่าในปีแรกของการปลูกจะทำอย่างไรให้ผักหวานป่ายืนต้นอยู่ได้ เพราะผักหวานป่าจะเจริญเติบโตในปีที่ 2 โดยปีแรกรากจะสะสมอาหารไว้เพื่อการเจริญเติบโต ในหน้าร้อนของปีถัดไปผักหวานป่าจะโตและเริ่มแตกยอด หากรดน้ำให้อย่างสม่ำเสมอก็จะเจริญเติบโตได้ดี ผักหวานป่าไม่ชอบดินที่มีน้ำแฉะ หรือขังเป็นเวลานาน หากปลูกในระยะแรกน้ำขังได้ไม่เกิน 7-10 วัน เมื่อโตอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้วสามารถทนน้ำแฉะขังได้ประมาณ 10-20 วันเท่านั้น ผักหวานป่าชอบอากาศร้อนอบอ้าว แต่พื้นดินชุ่มชื้น มีร่มเงาจากพืชพี่เลี้ยง ระยะแรกควรมีแสงแดดประมาณ 30% ของพื้นที่ปลูก แต่เมื่อให้ผลผลิตแล้วควรได้แสงแดดประมาณ 60-70% เพื่อให้ผักหวานแตกยอดได้ดี

สำหรับระยะการปลูกนั้น หากมีพื้นที่จำกัดสามารถปลูกในระยะระหว่างต้นคือ 1 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 1-50 เมตร หากมีพื้นที่มากให้ระยะห่างระหว่างต้นเป็น 1.50 เมตร และระหว่างแถว 2 เมตร หรือ 2X2 เมตรก็ได้ และให้ปลูกแค ตะขบ หรือทองหลางในระยะห่างระหว่างต้นสับหว่างกับผักหวานป่า โดยปลูก 1 ช่องเว้น 1 ช่องของต้นผักหวานป่า และเว้น 1 แถวระหว่างผักหวานป่า หรือจะปลูกถั่วเขียว ปอเทือง ข้าวโพด พริก กะเพรา หรือพืชอื่นๆเพื่อเก็บผลผลิตและให้ร่มเงาในระยะแรก โดยปลูกรอบๆหลุมผักหวานป่าก็ได้ ทำให้ไม่เสียพื้นที่ว่างเปล่าในปีแรก และมีรายได้เพื่อใช้จ่ายในปีแรกด้วย เพราะในปีแรกผักหวานป่ายังไม่ให้ผลผลิต

            การรดน้ำให้ปุ๋ยควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยน้ำชีวภาพ หลังจากปลูกแล้ว 6 เดือนขึ้นไป ให้โรยปุ๋ยคอกรอบโคนต้นห่างจากโคนประมาณ 20-30 ซม. ให้แต่น้อยแล้วรดน้ำตามให้ชุ่ม ในการรดน้ำครั้งต่อไปควรตรวจดูความชื้นของดินก่อน หากเห็นว่าดินแห้งเกินไปก็รดน้ำ หากดินยังชื้นอยู่ก็งดไป 2-3 วัน เพราะดินแต่ละพื้นที่จะมีอัตราการอุ้มน้ำที่ไม่เหมือนกัน การให้น้ำจึงมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตอีกด้วย เพราะบางพื้นที่รดน้ำ 1 ครั้งสามารถอยู่ได้ 5-10 วัน แต่บางพื้นที่รดน้ำ 1 ครั้งสามารถอยู่ได้เพียง 3-5 วัน จึงให้เกษตรกรดูความชื้นของดินในพื้นที่ที่ท่านปลูกเป็นหลัก

ท้ายสุดนี้ขั้นตอนสำคัญในการน้ำต้นกล้าผักหวานป่าลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้แล้วนั้น ก่อนนำไปปลูก

ให้ท่านงดการให้น้ำ 3-5 วันเพื่อให้ดินจับรากผักหวานป่าให้แน่น ก่อนนำลงหลุมให้ท่านใช้มีดตัดเฉพาะก้นถุงห่างจากก้นถุงขึ้นมาประมาณ 2-3 ซม. แล้วดึงก้นถุงออก นำกล้าผักหวานป่าลงปลูกพร้อมถุงดำในส่วนที่เหลือเพื่อป้องกันการแตกของดินในถุงที่จับรากผักหวานป่าอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการตาย เสร็จแล้วกดดินให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม และการรดน้ำครั้งต่อไปต้องดูว่าดินยังชุ่มชื้นอยู่หรือไม่ เพียงเท่านี้ท่านก็สามารถมีสวนผักหวานป่าเป็นของตัวเองได้แล้ว

การกระตุ้นยอดอ่อน

เมื่อผักหวานป่าเจริญเติบโตเต็มที่ให้ตัดแต่งกิ่งโดยใช้มือหักกิ่งแขนงทิ้ง ให้เหลือประมาณ 10-15 ซม. รูดใบแก่ให้เหลือติดกิ่งไว้ประมาณ 3-4 ใบ แล้วให้น้ำให้ดินที่โคนชื้นประมาณ 14 วันผักหวานป่าจะแตกยอดยาวประมาณ 15-25 ซม. สามารถเก็บยอดเพื่อรับประทานหรือนำไปจำหน่ายได้ หลังจากการเก็บยอดแต่ละครั้งควรใส่ปุ๋ยคอกต้นละประมาณ 5 กก.และควรให้น้ำบำรุงต้นให้สมบูรณ์ พร้อมที่จะเก็บยอดในครั้งต่อไป

ข้อพึงระวัง ->

         1.การเตรียมหลุมปลูก หากเกษตรกรเตรียมหลุมปลูกได้ดี โดยการผสมปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักก่อนปลูก 1-2 เดือนรดด้วยน้ำหมักพด.2เข้มข้น1ลิตรกลับหลุมทิ้งไว้1-2เดือนก่อนปลูกจะทำให้ผักหวานป่าเจริญเติบโตได้ดี
         2.ผักหวานป่าชอบความชื้นแต่ไม่ชอบน้ำขังการปลูกควรพูนดินเป็นรูปหลังเต่าเพื่อไม่ให้น้ำขังในหลุม
         3.ผักหวานป่าไม่ชอบแดดจัด โดยเฉพาะในปีแรก ควรปลูกไม้พี่เลี้ยงบังร่มเงา ได้แก่ แค ตะขบ มะขามเทศ หรือไม้ผลอื่นๆ หากไม่มีร่มเงาหรือพืชพี่เลี้ยง ควรบังแสงให้ได้มากที่สุด โดยใช้ที่บังแดด( สแลน) หรือทำไม้มาบังปิดให้ได้มากที่สุดในปีแรก
         4.ผักหวานหลังจากรากงอกจะยาวเร็วมาก ถ้าปลูกด้วยเมล็ดที่เพาะในกระบะทรายรากจะงอกเร็วดีมาก หรือถ้าเพาะกล้าลงถุงไม่ควรใช้กล้าที่มีอายุมากเพราะรากจะขดในถุงถ้านำไปปลูกจะโตช้าในปีแรกๆ
         5.ถ้ามีการใส่ปุ๋ยคอก มีเศษวัชพืช เช่น ฟางข้าว,เปลือกข้าว หรือ เปลือกถั่วคลุมดิน จะทำให้ผักหวานโตได้เร็วขึ้น
         6.ถ้ามีน้ำรดจะทำให้ผักหวานเจริญเติบโตเร็วขึ้น ถ้ามีน้ำหมักก็ควรรดด้วย เช่น น้ำหมัก พด.2 ก็จะทำให้พืชเจริญได้ดีขึ้น

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสระบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา