ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกพืชต่างๆ

โดย : นายล้อ ผิวศิริ วันที่ : 2017-08-10-11:41:21

ที่อยู่ : ๑๖ บ้านท่าวังแคน หมู่ที่ ๙ ตำบลศรีสองรัก

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ปัจจัยที่ต้องคำนึงในการปลูกด้วยเมล็ด มีดังต่อไปนี้

    1) ความลึกของการปลูก (depth of planting) โดยปกติแล้วขนาดของเมล็ดจะมีความสัมพันธ์กับความลึกในการปลูกด้วย คือเมล็ดขนาดใหญ่มีอาหารสำรองมากกว่าเมล็ดขนาดเล็ก ดังนั้นต้นกล้าที่งอกออกมาย่อมมีสมรรถภาพในการยืดตัวได้ดีกว่า และสามารถงอกแทงโผล่ผิวดินออกมาได้ดีกว่าเมล็ดขนาดเล็ก นอกจากนี้ชนิดของการงอกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความลึกในการปลูกด้วย คือเมล็ดที่มีการงอกแบบไฮโปจีล (hypogeal) สามารถปลูกได้ลึกกว่าเมล็ดที่มีการงอกแบบอีปิจีล (epigeal) เพราะการงอกแบบอีปิจีลนั้นต้นกล้าต้องชูใบเลี้ยง (cotyledon) ขึ้นมาเหนือดิน นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้วลักษณะของดินก็มีส่วนในการพิจารณาถึงความลึกในการปลูกด้วย คือถ้าดินร่วนโปร่งสามารถหยอดเมล็ดได้ลึกกว่าในสภาพดินแน่น

    2) การสัมผัสของเมล็ดกับดิน (seed-soil contact) นับว่าเกี่ยวข้องกับการเตรียมดิน และสำคัญมากกับการปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง คือต้องพยายามทำให้เมล็ดได้สัมผัสกับดินเพื่อสามารถดูดน้ำจากดินมาใช้ในการงอกได้ นั่นคือต้องอย่าทำให้ดินเกาะกันเป็นก้อนใหญ่ ต้องพยายามย่อยดินให้ร่วนซุย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ดินแน่นด้วย

    3) อัตราปลูกและการกระจายตัวของต้นพืชที่เหมาะสม (proper rate and distribution) ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราปลูกและการกระจายตัวของพืชมีดังต่อไปนี้

        3.1) เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกและความบริสุทธิ์สูงจะเป็นตัวที่ช่วยให้จำนวนต้นกล้าที่งอกขึ้นมาต่อหน่วยพื้นที่เป็นไปตามที่ต้องการ

        3.2) ความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม พืชที่มีทรงพุ่มใหญ่การปลูกจะใช้อัตราปลูกต่ำ เช่นเดียวกับพืชที่มีการแตกกอหรือมีทรงพุ่มแผ่ออกก็ใช้อัตราปลูกต่ำเช่นกัน ยกเว้นในบางพืชเช่น ปอแก้ว ปอกระเจา ที่ต้องปลูกให้ถี่เพื่อลดการแตกกิ่งแขนงตามลำต้น

        3.3) อิทธิพลของสภาพแวดล้อม นับว่ามีส่วนสำคัญมากโดยเฉพาะชนิดของดินที่แตกต่างกัน ในสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์และอุ้มน้ำได้ดีจะช่วยให้พืชเจริญได้เป็นปกติได้อัตราปลูกที่ต้องการ ไม่ควรสูงนัก แต่ในกรณีที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและอุ้มน้ำได้ไม่ดีจะมีผลทำให้พืชแคระแกรนการแตกกอน้อย ดังนั้นในสภาพเช่นนี้ควรเพิ่มอัตราปลูกให้สูงขึ้นเพื่อให้พืชขึ้นคลุมทั่วพื้นที่และได้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูง นอกจากนี้ลักษณะของดินและลมฟ้าอากาศ และวันปลูก (planting date) นับว่ามีอิทธิพลมาก เกษตรกรในประเทศไทยปลูกพืชโดยอาศัยน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการกำหนดวันปลูกให้เหมาะสมกับฤดูกาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะจะมีผลถึงการใช้อัตราปลูกและผลผลิตที่จะได้รับ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดที่ปลูกเร็วในช่วงฤดูฝน และปลูกด้วยอัตราปลูกสูงให้ผลผลิตสูงกว่าและมีจำนวนต้นที่ปราศจากฝักน้อยกว่าการปลูกล่าออกไป

    4) เวลาในการปลูก การปลูกพืชตามปกติแล้วควรให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะพืชต้องการการเจริญเติบโตช่วงหนึ่งทางลำต้น คือมีการแตกกิ่งก้านและสร้างใบให้มากที่สุดเพื่อสังเคราะห์แสงและสะสมอาหารได้เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการให้ผลผลิตที่สูงขึ้นต่อไปด้วย ดังนั้นการปลูกพืชจึงไม่ควรปลูกให้ช้ากว่าช่วงการปลูกที่เหมาะสม

วัตถุประสงค์ ->

ให้ความรุ้แนวคิดการปลูกพืช

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การปลูกโดยวิธีย้ายกล้าปลูก

    การปลูกโดยวิธีย้ายกล้าปลูกประกอบด้วยขั้นตอน 2 ขั้นตอนที่สำคัญคือ การเตรียมกล้าและการย้ายปลูก

    1) การเตรียมกล้า

    การเตรียมกล้าเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป็นการทำให้ต้นกล้าแข็งแรงเมื่อย้ายปลูกไปในแปลงปลูกและทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี มีการเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็ว การเตรียมกล้าจำเป็นต้องเพาะเมล็ดก่อน ซึ่งมี 2 วิธีใหญ่ๆ คือ

        1.1) การเพาะกล้าในแปลงเพาะ (seedbed method) เป็นการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะที่เตรียมไว้อย่างดี ซึ่งวิธีการเตรียมแปลงเพาะขึ้นอยู่กับชนิดของพืช เช่น การตกกล้าสำหรับปลูกข้าวนาดำ ก็ต้องเตรียมที่สำหรับการหว่านเมล็ดข้าวโดยเฉพาะ ซึ่งผิดกับการปลูกยาสูบซึ่งต้องยกแปลงเพาะขึ้นมาเป็นรูปแปลง แต่ทั้งนี้แปลงที่เพาะกล้าควรจะมีความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง ปราศจากเชื้อ เมื่อเตรียมแปลงเพาะให้เรียบร้อยแล้วจึงนำเมล็ดมาหว่านหรือโรยเป็นแถว จากนั้นจึงรดน้ำแล้วหาวัสดุมาคลุมหรือพลางแสง ถ้าต้นกล้าที่งอกขึ้นมาแน่นเกินไป ควรทำการถอนแยกออกบ้าง

        1.2) การเพาะกล้าในกระบะ (seedbox method) วิธีนี้ใช้กับพืชที่ไม่ทนทานต่อสภาพ การถอนย้ายกล้าแบบล้างราก (bare root) เช่น ไม้ดอกและพืชผักบางชนิด การเพาะโดยวิธีนี้ใช้กระบะขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 7 เซนติเมตร สำหรับขนาดของกระบะขึ้นกับความสะดวกในการขนย้าย ที่ก้นกระบะต้องมีช่องระบายน้ำ วัสดุที่ใช้เพาะควรเป็นส่วนผสมของทรายหยาบ ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักเก่า ในอัตราส่วน 1:1:1 และต้องฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำไปเพาะกล้า การเพาะกล้าในกระบะเพาะนี้มักจะโรยเมล็ดเป็นแถวให้ช่วงแถวห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร และกลบผิวหน้าดินบาง ๆ นอกจากการเพาะในกระบะนี้แล้วอาจเพาะในถ้วยกระดาษหรือกระทงก็ได้ วิธีนี้จะทำให้รากของต้นกล้าไม่กระทบกระเทือนเวลาย้ายลงปลูกในแปลงปลูก

    การเตรียมต้นกล้าก่อนการย้ายปลูก เป็นสิ่งจำเป็นทั้งนี้เพราะหลังจากเมล็ดเริ่มงอกขึ้นมาแล้วต้องมีการดูแลรักษาอย่างดี ต้องมีการรดน้ำให้พอเหมาะ โดยพิจารณาจากความชื้นของดินในแปลงเพาะ เพราะถ้ารดน้ำมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคได้ง่าย เมื่อต้นกล้าโตได้ขนาดแล้ว ก่อนที่จะย้ายปลูกต้องทำให้ต้นกล้าอยู่ในสภาพพร้อมที่จะย้ายปลูก ซึ่งเรียกว่าการทำ ให้ต้นกล้าแข็งแรง (hardening) ควรทำในระยะ 7-10 วันก่อนการย้ายปลูก โดยรดน้ำให้น้อยลงและให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเต็มที่

    2) การย้ายปลูก

    โดยขนย้ายกล้ามายังแปลงปลูก สำหรับต้นกล้าที่ถอนจากแปลงเพาะพยายามอย่าให้ต้นกล้ากระทบกระเทือนมาก จากนั้นนำกล้าลงปลูกตามหลุมที่ได้เตรียมไว้ในแถวปลูก การปลูกเราจะใช้ช้อนปลูกขุดหลุมให้ลึกพอควร แล้วนำต้นกล้าลงปลูกไม่ควรให้ต้นกล้าอยู่ลึกหรือตื้นเกินไป จากนั้นเอาดินกลบโคนต้นกล้า ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางสอดไประหว่างโคนต้นกล้าแล้วกดดินที่โคนต้นกล้าให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่มพอควร ปกติการย้ายปลูกต้นกล้าควรทำในตอนเย็นเพื่อลดปัญหาแสงแดดจัดในเวลากลางวัน และต้นกล้าจะตั้งตัวได้ในวันรุ่งขึ้น หากต้นกล้ายังเหี่ยวอยู่ควรหาวัสดุคลุมกันแสงแดดเพื่อช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเลย
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา