ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน

โดย : นายจักรกริศ หมั่นเขตกรณ์ วันที่ : 2017-08-07-01:12:04

ที่อยู่ : 106/3 หมู่ 3 ต.ลาดยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

โดยทั่วไปไก่พื้นเมืองจะมีความแข็งแรงหากินเก่ง มีความต้านทานต่อโรคระบาดสูง เติบโตและขยายพันธุ์ได้ดี ตลาดมีความต้องการสูง สามารถเป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อเป็นอาชีพรอง สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

2.เป็นแหล่งอาหารหลักของครัวเรือน

3.เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างงานให้แก่คนในครอบครัว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.พันธุ์ไก่ลูกผสมพื้นเมือง หรือลูกผสม 3 สายเลือด

2.อาหารไก่ อาหารเสริม และวัคซินป้องกันโรค

อุปกรณ์ ->

1.โรงเรือน ที่มีความเหมาะสมกับจำนวนไก่ที่จะเลี้ยง ควรมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร อากาศถ่ายเทได้ดี ห่างไกลชุมชนพอสมควร เพื่อไม่ให้มีเสียงและมลภาวะจากชุมชนมารบกวนไก่ และเสียง,มลภาวะจากเล้าไก่ไปรบกวนชุมชน

2.อุปกรณ์การให้อาหารและน้ำสำหรับไก่

3.พื้นที่ที่จะเลี้ยงไก่ควรเป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง มีการคมนาคมสะดวก ปลอดภัยจากสัตว์ที่จะมารบกวนไก่ 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1.เตรียมโรงเรือน ให้มีความเหมาะสมกับจำนวนไก่ที่จะเลี้ยง มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับไก่ได้อยู่อย่างธรรมชาติ สามารถสร้างแบบง่าย ๆ ประหยัดต้นทุน จัดทำคอนนอนให้เพียงพอสำหรับจำนวนไก่ไว้มุมใดมุมหนึ่ง และต้องจัดทำรังสำหรับไก่ไข่โดยอาจใช้ลังกระดาษเก่า ตะกร้า กระบุง รังสำหรับไก่ไข่จะต้องรองด้วยวัสดุ เศษหญ้า ฟางข้าว หรือพืชสมุนไพรที่ต่อต้านหรือหมัด/ไรไก่

2.เลือกซื้อพันธุ์ไก่ที่มีความเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และความต้องการของตลาด แหล่งที่ซื้อควรเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้

3.ให้วัคซินตามกำหนดระยะเวลา เช่น โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบ โรคฝีดาษ และโรคอหิวาห์เป็ดไก่  และควรถ่ายพยาธิทุก 6 เดือน

4.สถานที่เลี้ยง ควรเป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง หากเป็นชายป่า หรือใกล้ทุ่งนาก็จะเป็นการดี เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติต่อไก่ที่จะเลี้ยง และตัวไก่สามารถเดินออกกำลังได้

5.สำหรับรางใส่น้ำและอาหารสำหรับไก่ควรจัดทำเองจากวัสดุในพื้นที่

6.อัตราการเลี้ยง ไก่ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ไก่ตัวเมีย 5 - 7  ตัว ไก่ตัวเมีย 1 ตัวจะให้ลูกไก่ประมาณ 25 - 30 ตัว ควรให้แม่ไก่เลี้ยงลูกไก่ชุดละไม่เกิน 8 ตัว ปีละ 3 - 4 ชุด โดยเลี้ยงแม่ไก่และลูกไก่ในสุ่มอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้อัตราการรอดของลูกไก่สูงขึ้น และถ้าต้องการให้แม่ไก่ไข่เร็วขึ้นก็ให้แยกลูกไก่ออกมาอนุบาลต่างหาก

7.อาหารไก่ควรให้ไก่หากินเองตามธรรมชาติ และให้อาหารเสริมที่หาได้ในท้องถิ่น ผลิตเองหรือซื้อหาจากในท้องถิ่น เช่น ข้าวเปลือก ปลายข้าว รำละเอียด รำหยาบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอาหารสำหรับลูกไก่ระยะแรกเกิดถึง 1 เดือนควรให้หัวอาหารสำหรับไก่เนื้อจะได้ผลดีกว่า

8.อัตราการจำหน่ายไก่พันธุ์พื้นเมือง อายุ 4 เดือนขึ้นไป น้ำหนักตัวจะอยู่ประมาณ 1.5 - 1.8 กิโลกรัม ราคาทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 80 - 100 บาท ต้นทุนและผลตอบแทนอาจเปลี่ยนแปลงหรือมีราคาสูงตามภาวะตลาด เช่น ตรงกับเทศกาล ตรุษจีน สารทจีน เป็นต้น

ข้อพึงระวัง ->

1.ควรซื้อพันธุ์ไก่จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และให้วัคซินครบตามระยะะเวลาและอายุของไก่

2.สถานที่เลี้ยงควรห่างไกลจากชุมชนพอสมควร เพื่อไม่ให้ไก่มีภาวะเครียดจากเสียงและมลภาวะจากชุมชน

3.โรงเรือนควรปลอดภัยจากสัตว์ที่เป็นศัตรูของไก่ เช่น สุนัข แมว หรือ งู เป็นต้น

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครสวรรค์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา