ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การจักสานอุปกรณ์จับปลาไหล(อีจู้)

โดย : นายณัฐพล กลิ่นสี วันที่ : 2017-06-27-16:50:51

ที่อยู่ : 137 ม.3 ต.เกรียงไกร อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ติดกับบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธ์ปลามากมาย ทางครอบครัวประกอบอาชีพประมง โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการทำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ (อีจู้) จากบิดา โดยสมัยก่อนนั้นอุปกรณ์จะผลิตจากไม้ไผ่ แต่ในปัจจุบันนี้เนื่องจากไม้ไผ่เริ่มมีน้อย หายาก จึงได้ดัดแปลงมาใช้เส้นพลาสติกมาสานเป็นอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ซึ่งหาง่าย ต้นทุนต่ำ ทนทาน อายุการใช้งานนานกว่า 

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

สายรัดพลาสติก เชือกโพลี ไม้ไผ่

อุปกรณ์ ->

กรรไกร

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การสานตัวอีจู้  เริ่มจากการสานก้นให้มีขนาดกว้าง  ๒๐  เซนติเมตร   จากนั้นตั้งเส้นพลาสติกสานเป็นตัวอีจู้ด้วยเส้นนอนให้มีลักษณะกลมป่องตอนกลาง  แล้วเรียวคอดคล้ายคอขวดตรงคอ  จากนั้นนำกะลามาวางเป็นแม่แบบเพื่อสานส่วนปากให้บานออก  ความสูงจากส่วนก้นถึงส่วนปากของตัวอีจู้  ประมาณ  ๑  เมตร
    การสานงาแซง หรืองาข้าง  โดยนำเส้นพลาสติกขดเป็นวงกลม  เรียกว่าตั้งวงงา  จากนั้นนำตอกไม้เสียบตั้งเรียงรอบวงให้ปลายสอบเข้าหากันเป็นรูปกรวย   เรียกขั้นตอนนี้ว่าเสียบงา  แล้วจึงนำเส้นตอกสานแนวนอนรัดร้อยไม้ตอกแนวตั้งเข้าด้วยกันให้เหลือปลายกรวยไว้เป็นทางเข้าของปลา  ขั้นตอนนี้คือการสานงา
    การสานรองหรือกะพล้อ   เริ่มจากการสานก้นขนาด  ๘ เซนติเมตร  แล้วตั้งเส้นตอก  สานขัดกันเป็นรูปทรงกระบอก  จากนั้นนำกะลามาวางเป็นแม่แบบเพื่อสานส่วนปากให้บานออก  ความสูงจากส่วนก้นถึงส่วนปากของรอง  หรือกะพล้อ  ประมาณ  ๕๐  เซนติเมตร
    เมื่อสานเสร็จก็เจาะริมก้นตัวอีจู้  ยัดงาแซงใส่เข้าไป  แล้วใช้ไม้เหลาเสียบยึดกับตัว  แล้วเอารองหรือกะพล้อใส่ลงไปทางปาก  แล้วเสียบยึดไว้  

ข้อพึงระวัง ->

การดักปลาไหลจะดักในน้ำนิ่งตามริมหนอง คลอง บึง หรือตามแปลงนา ความลึกของน้ำไม่มากนัก ต้องให้ส่วนปลายปากอีจู้โผล่พ้นน้ำเพราะปาลไหลจะได้ขึ้นมาไม่ได้ ใช้ใบหญ้าคลุมอีจู้แต่งช่องทางให้ปลาไหลเข้าไปทางงาแซงได้สะดวก ช่องงาแซงอยู่ในระดับพื้นดินใต้น้ำพอดี ปลาไหลซึ่งชองอาศัยอยู่ในโคลนเลน เมื่อได้กลิ่นเหยื่อจะหาทางเข้าไปกิน จนกระทั่งเข้าช่องงาแซงนั้น แต่ก็ไม่สามารถกินเหยื่อได้เพราะใส่ไว้ในกะพล้ออีชั้นหนึ่ง ทำให้เหยื่อไม่หมด ปลาไหลตัวอื่น ๆ จะเข้าไปอีก การกู้อีจู้อาจกู้วันละครั้ง หรือดักไว้หลาย ๆ วันก่อนจึงมากู้ก็ได้

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครสวรรค์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา