ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะพันธุ์ปลาสวาย

โดย : นางกัลยา พงษ์ประสิทธิ์ วันที่ : 2017-06-27-16:22:31

ที่อยู่ : 84 ม.8 ต.เกรียงไกร อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลา และผสมเทียมพันธุ์ปลาจำหน่าย จึงได้รับการสืบทอดความรู้มาประกอบเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

แม่พันธุ์ปลาสวาย  แท้งค์เพาะปลา เครื่องทำออกซิเจน 

อุปกรณ์ ->

อุปกรณ์ผสมเทียม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
    หลังจากที่เลี้ยงพ่อแม่ปลาให้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ต้องทำการคัดเลือกปลาตัวเมียที่มีไข่แก่เต็มที่ โดยสังเกตจากลักษณะของพ่อแม่พันธุ์ดังนี้
ตัวผู้ มีลักษณะท้องเรียบ ไม่นูน พื้นท้องแข็งกว่าตัวเมีย ลักษณะช่องเพศเป็นรูปวงรี แคบขนาดเล็ก สีแดงอ่อน และเมื่อใช้มือบีบบริเวณช่องเพศเหนือรูก้นเบาๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา
ตัวเมีย มีส่วนท้องอูมเป่ง กลม นูน พื้นท้องนิ่มมาก ลักษณะช่องเพศเป็นรูปวงรี กว้างใหญ่กว่าตัวผู้ มีสีชมพู ถ้าไข่สุกเต็มที่เมื่อจับปลาขึ้นมาจากน้ำแล้วตรวจดูช่องเพศจะเห็นเมล็ดไข่สีเหลืองไหลออกมาจากช่องเพศ ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะสังเกตได้จากลักษณะภายนอกของปลาคือ ปลาตัวเมียจะมีส่วนท้องสีขาวเงิน วิธีทดสอบอีกวิธีหนึ่งก็คือ ใช้ท่อยางขนาดเล็กสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของปลาตัวเมียแล้วดูดไข่ออกมาใส่ในชามแก้ว ส่องดูด้วยตา ไข่ที่ดีจะมีสีเหลืองอ่อน กลมใส แม่ปลาที่คัดเลือกแล้วนำมาขังในอวนเปล ซึ่งมีน้ำพ่นให้อากาศตลอดเวลา

ปริมาณฮอร์โมนที่ใช้
     ใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลาสวาย ปลาไน โดยทำการฉีด 2 ครั้ง ระยะเวลาระหว่างครั้งแรก และครั้งที่ 2 ห่างกัน 8-12 ชม.ครั้งแรกใช้ปริมาณ 1 โดส ครั้งที่ 2 ใช้ปริมาณ 3 หรือ 4 โดส ใช้เวลาห่างกันครั้งละ 10 ชม.

วิธีการฉีดและวิธีที่ฉีด
     หลังจากคัดแม่ปลาได้แล้วก็ทำการชั่งน้ำหลักปลา เพื่อจะได้ใช้ต่อมได้ถูกต้อง จากนั้นจึงบดต่อมให้ละเอียด แล้วผสมน้ำกลั่นลงไป 1 ซีซี. บดให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จึงดูดสารละลายขึ้นมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของปลา ตำแหน่งที่นิยม คือ เข้ากล้ามเนื้อ เหนือเส้นข้างลำตัว ใต้ครีบหลังหรือตำแหน่งโคนครีบหู

การตรวจสอบก่อนการรีดไข่
     หลังจากฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 8 ชม. ควรที่จะได้ทำการตรวจสอบแม่ปลาว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์หรือไม่ โดยการจับแม่ปลาขึ้นมาแล้วเอามือแตะหรือบีบเบาๆ ที่บริเวณท้อง ถ้าแม่ปลาที่พร้อมจะวางๆไข่ได้ จะเห็นมีไข่ลักษณะสีเหลืองไหลออกมา จากความชำนาญหรือประสบการณ์ บางครั้งไม่จำเป็นที่จะต้องเอามือแตะหรือกด เพียงแค่จับปลาดูก็พอจะทราบว่าพร้อมที่จะรีดได้หรือไม่ โดยสังเกตดูก็รู้ เพระว่าปลาที่พร้อมที่จะรีดไข่ได้ จะสั่น หรือเกร็งคล้ายกับจะบอกว่าเต็มที่แล้ว

การรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อ
     เมื่อตรวจสอบดูว่าแม่ปลาพร้อมที่จะรีดไข่ได้แล้ว ให้จับแม่ปลาขึ้นมาเอาผ้าเช็ดตัวให้แห้ง จับปลาให้ส่วนหัวสูงและให้ส่วนท้องคว่ำลง จับให้กระชับกับลำตัว แล้วใช้มือรีดไล่จากส่วนบนของปลาทางด้านท้องลงมาทางส่วนหาง ไข่จะหลุดออกสู่ภาชนะที่รองรับ จากนั้นจึงจับปลาเพศผู้ขึ้นมาเช็ดตัวให้แห้ง กระทำวิธีการเดียวกัน รีดน้ำเชื้อลงผสม แล้วใช้ขนไก่คนประมาณ 1-2 นาที ใส่น้ำลงไป เนื่องจากไข่ปลาสวายเป็นไข่ติด จึงจำเป็นต้องคนอยู่ตลอดเวลาอีกประมาณ 1-2 นาที รินน้ำทิ้ง เพิ่มน้ำใหม่เข้าไป และคนอยู่ตลอดเวลา นำไข่ที่ได้จากการผสมน้ำเชื้อไปเพาะฟักต่อไปการฟักไข่ปลา

การฟักไข่ปลาสวายอาจจะกระทำได้สองวิธีด้วยกันคือ 
     1. ฟักไข่ในอวนเปลโอล่อนแก้ว โดยการขึงกระชังในบ่อ แล้วนำไข่ปลาสวายที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อและล้างสะอาดแล้วไปเทลาดในกระชัง เนื่องจากไข่ปลาสวายเป็นไข่ติดและเพื่อให้ไข่ติดทุกด้านของกระชัง ให้ใช้มือตีหรือกวนน้ำขณะที่ลาดไข่ ไข่จะกระจายไปติดทุกด้านของกระชัง และปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 24-30 ชม. ไข่ที่ติดกับกระชังก็จะฟักออกเป็นตัว การสังเกตว่าไข่ดีหรือไม่นั้น ให้สังเกตจากสีของไข่ ไข่ดีจะใส ไข่ที่ไม่ดีจะมีสีขาวขุ่น
     2. ฟักไข่ในกรวยเพาะฟัก การฟักไข่ในกรวยเพาะฟัก กระทำได้โดยการทำให้ไข่เป็นไข่ติดเสียก่อน วิธีการง่ายๆก็คือ แทนที่จะใช้น้ำใสล้างไข่ปลาหลังจากการผสมน้ำเชื้อแล้วให้ใช้น้ำโคลนล้างแทน โดยใช้โคลนประมาณ 1-2 กำมือ ละลายน้ำ 10 ลิตร ปล่อยให้ตกตะกอน นำน้ำที่ได้จากการตกตะกอนมาล้างไข่ปลา วิธีการง่ายๆดังกล่าวทำให้ไข่ปลาที่ตามธรรมชาติเป็นไข่ติด กลายเป็นไข่ไม่ติด ปล่อยไข่ทิ้งไว้ในกรวยซึ่งมีน้ำไหลวนอยู่ประมาณ 24-30 ชม. ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัว

การอนุบาลลูกปลา
     หลังจากที่ไข่ฟักออกเป็นตัวหมดแล้ว ให้ย้ายลูกปลาวัยอ่อนออกจากที่เพาะฟัก เพราะมิฉะนั้นแล้วเปลือกไข่ที่แตกจะย่อยสลาย ทำให้น้ำเน่าเสีย และอาจทำให้ลูกปลาวัยอ่อนตายหรือเกิดโรครา ลูกปลาที่เกิดใหม่ๆจะยังไม่กินอาหาร ทั้งนี้เพราะใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดอยู่กับตัวปลา เมื่อลูกปลาอายุ 1 วัน ถุงไข่แดงจะยุบ จึงเริ่มให้อาหารสมทบ

การอนุบาลลูกปลามีหลายวิธีด้วยกันคือ
     1. อนุบาลในตู้กระจก
     2. อนุบาลในอวนเปลที่แขวนลอยในบ่อ
     3. อนุบาลในถังซีเมนต์กลม
     4. อนุบาลในบ่อดิน
     การอนุบาลลูกปลาทั้ง 4 วิธีการนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสะดวกของผู้ทำการ อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายของการอนุบาลก็คือ ต้องการให้ได้ลูกปลามีอัตราการรอดสูง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการอนุบาลก็คือ เรื่องอาหารซึ่งจะต้องเป็นอาหารที่มีความละเอียดอ่อน และมีปริมาณเพียงพอ ตลอดจนความสะอาดซึ่งถ้าหากทำการอนุบาลโดยวิธีที่ 1,2 และ 3 แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถ่ายเทน้ำอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้อาหารตกค้าง อันอาจจะทำให้น้ำเน่าเสีย ปลาเป็นโรคและถึงตาย อาหารที่ให้นั้นให้พวกไข่แดงต้มบดให้ละเอียดสลับกับการให้ลูกไร โดยเฉพาะไรแดง ซึ่งปลาสวายต้องการมาก การให้อาหารไข่แดงนั้นมีหลักอยู่ว่าให้แต่ละครั้ง น้อยๆแต่ให้บ่อยครั้งประมาณ 2 ชม. ครั้ง

ข้อพึงระวัง ->

 -น้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาสวาย จะต้องเป็นน้ำที่จืดสนิท ถ้าเป็นน้ำกร่อยหรือมีรสเฝื่อน ปลาจะไม่เติบโตเท่าที่ควร

 -พันธุ์ปลา การเลือกพันธุ์ปลาที่จะนำมาเพาะเลี้ยง ควรคัดปลาที่ไม่มีแผล ตาไม่บอด ไม่เป็นปลาที่แคระพิการ ปลาที่มีแผลนั้น หากปล่อยลงเลี้ยงอาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคระบาดติดต่อตัวอื่น ๆ ได้ ส่วนปลาที่ตาบอด (สังเกตตรงตามีจุดฝ้าขาว) ก็จะมองไม่เห็นอาหารที่ผู้เลี้ยงให้ ปลาจะได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง ทำให้ไม่เจริญเติบโต และอาจเจ็บตาย

 ที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การคัดพันธุ์ปลาลงเลี้ยงในบ่อต้องคัดปลาที่มีขนาดโตไล่เลี่ยกัน ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อเดียวกัน เพราะหากปลามีขนาดตัวแตกต่างกันมาก ปลาที่มีขนาดโตกว่าจะแย่งกินอาหารจากปลาตัวเล็กเสมอ

 อนึ่ง การเลี้ยงปลาสวายในบ่อนี้ ผู้เลี้ยงสามารถที่จะเลี้ยงปลาดุกในบ่อเดียวกันกับปลาสวายได้ เพราะไม่มีอันตรายต่อกัน อกจากนี้ปลาดุกยังช่วยกินเศษอาหารที่เหลือจากปลาสวายได้อีกด้วย แต่การเลี้ยงปลาดุกปนกับปลาสวาย จะต้องกำหนดอัตรา คือปลาดุก 1 ตัว ต่อปลาสวาย 2 ตัว

 -อัตราการปล่อยปลา การเลี้ยงปลาสวายในบ่อ ควรปล่อยปลาสวายอัตรา 1 ตัว ต่อเนื้อที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตร

 -อาหาร ปลาสวายเป็นปลาที่ไม่เลือกอาหาร กินอาหารง่าย กินได้ทั้งเนื้อสัตว์และพืชผัก จากการสังเกตของผู้เลี้ยงหลายราย      ปรากฏว่าปลาสวายชอบกินอาหารพวกเนื้อสัตว์มากว่าพืชผัก อาหารที่ว่านี้ ได้แก่พวกปลาเล็ก ๆ เช่น ปลาสร้อย หรือปลาไส้ตัน ทั้งสดและที่ตายแล้ว โดยวิธีสับหรือบดให้ละเอียดเสียก่อน นอกจากนี้ปลาสวายยังชอบกินพวกรำผสมปนกับผักบุ้งอีกด้วย

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครสวรรค์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา