ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน

โดย : นายแผน สุขเกษม วันที่ : 2017-05-09-19:04:34

ที่อยู่ : 126/1 ม.9 ต.หัวถนน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

มีเวลาเหลือจากช่วงฤดูหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และทำไม่ยาก

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อเป็นอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

โรงเรือนเพาะเห็ด

ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐาน

ชั้นวางก้อนเห็ดนางฟ้าภูฐาน

อุปกรณ์ ->

บัวรดน้ำ มีด ช้อนสแตนเลส

กระบวนการ/ขั้นตอน->

        น้ำที่ใช้การรดน้ำเห็ดนางฟ้าให้ได้ผลดีนั้นควรเป็นน้ำที่สะอาดไม่มีสารเคมีและสิ่งสกปรกเจือปนไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำบ่อหรือน้ำคลอง แต่ไม่ควรเป็นน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำที่เป็นกรด หรือด่าง ถ้าเป็นน้ำประปาควรจะกักไว้ในภาชนะปากกว้างทิ้งไว้ให้คลอรีนระเหยก่อนจึงจะนำไปรดได้ การรดน้ำในโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้านั้นควรรดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ได้นานที่สุด สังเกตดูว่าถ้าอากาศแห้งก็สามารถเพิ่มจำนวนครั้งในการรดได้อีก การรดน้ำนอกจากจะเป็นการรักษาความชื้นแล้ว ยังเป็นการรักษาอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 20 – 30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเห็ดนางฟ้า

                เครื่องมือที่ใช้รดน้ำเห็ดใช้ได้ทั้งบัวรดน้ำฝอยละเอียด สายยางธรรมดาติดปลายด้วยฝักบัวฝอยละเอียด หรือใช้สเปรย์ฝอยละเอียดด้วยเครื่องพ่นยาก็ได้ การรดน้ำเห็ดนางฟ้าไม่ควรรดจนโชกหรือมีน้ำขัง ให้พยายามรดน้อย แต่รดบ่อยครั้ง เพื่อเป็นการรักษาโรงเรือนให้มีสภาพชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา การรดน้ำต้องระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าในก้อนเชื้อเพาะเห็ดนางฟ้า จำหลักการง่าย ๆ คือ ควรรดน้ำให้ภายในโรงเรือนชื้น เย็น แต่ต้องไม่เข้าในก้อนเชื้อ ถ้ามีน้ำเข้าในก้อนต้องกรีดถุงเพื่อให้น้ำไหลออก มิฉะนั้นก้อนเชื้อจะเน่าเสียได้

ข้อพึงระวัง ->

        เห็ดนางฟ้ามีคุณสมบัติทางกลิ่นจึงทำให้เป็นที่ดึงดูดของโรคและแมลงซึ่งเป็นศัตรูของเห็ดนางฟ้าได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมีศัตรูเห็ดรบกวนหลายชนิดด้วยกัน คือ

                1.หนูและแมลงสาบ ควรกำจัดโดยใช้ยาเบื่อ หรือ กับดัก ไม่ควรใช้สารเคมีฉีดที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเพราะอาจจะทำให้เห็ดเป็นพิษและทำให้เห็ดเน่าได้

        2.ไร ตัวไรจะดูดกินน้ำเลี้ยงระยะก้อนเชื้อ และดอกเห็ดทำให้ผลผลิตลดลง ไรจะระบาดเมื่อความชื้นในโรงเรือนต่ำ ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมม และ การป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า โดยการรักษาความสะอาดโรงเรือนอยู่เสมอ การใช้สารเคมีกำจัด ไม่ควรทำเพราะจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

                3.แมลงหวี่ จะเกิดกับดอกเห็ดที่มีอายุมาก แมลงหวี่จะมาตอมและวางไข่และขยายพันธุ์ควรย้ายก้อนเหล่านั้นออกจากโรงเรือนแล้วทำลายทิ้งเพื่อป้องการการแผ่ขยายไปยังก้อนเชื้ออื่น ๆ

                4.โรคจุดเหลือง เกิดกับดอกเห็ดที่มีอายุมากที่ตกค้างในการเก็บ หรือเพราะน้ำที่รดนั้นสกปรก ไม่สะอาด ควรแยกเห็ดที่เป็นโรคออกแล้วนำไปทำลาย

                5.ราเมือก ลักษณะเป็นสีเหลือง กลิ่นคาวจัด สามารถระบาดโดยสปอร์ได้ ควรป้องกันโดยเอาก้อนที่หมดอายุแล้วและเศษวัสดุในโรงเรือนออกอย่าให้หมักหมม

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครสวรรค์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา