ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

เตาเผาถ่านโดยใช้ถังน้ำมัน 200ลิตร

โดย : นายวิรัตน์ ถัตษฎา วันที่ : 2017-03-25-15:17:44

ที่อยู่ : 74/1 หมู่ที 1 บ้านทุ่งไอ้ตุ่น ตำบลปางสวรรค์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เกิดจากการที่ได้ไปเรียนรู้ที่ศูนย์มาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี  เนื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา

เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย จึงได้เรียนรู้วิธีการเผาถ่านแบบประหยัดค่าใช้จ่าย และก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อลดค่าใช้จ่าย และก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ประกอบที่ใช้ในการติดตั้งเตาเผาถ่าน 200 ลิตร แบบนอน ประกอบด้วย
1)  ถัง 200 ลิตร
2)  ข้องอฉากใยหิน 90 องศา เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว
3)  ท่อตรงใยหิน เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 1 เมตร
4)  อิฐบล็อกจำนวน 5 ก้อน
6)  อิฐแดง
7)  ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ

อุปกรณ์ ->

1)  ถัง 200 ลิตร
2)  ข้องอฉากใยหิน 90 องศา เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว
3)  ท่อตรงใยหิน เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 1 เมตร
4)  อิฐบล็อกจำนวน 5 ก้อน
6)  อิฐแดง
7)  ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

 การก่อสร้างเตาเผาถ่านต้องเลือกสถานที่ในการสร้างเตา โดยควรเป็นที่ดอนและโล่ง ควรอยู่ห่างจากบ้านเรือนอย่างน้อย  50 เมตร  จะมีหลังคาคลุมก็ได้ อายุงานจะนานขึ้น อยู่ใกล้แหล่งไม้ฟืนหรือวัตถุดิบ ที่สำคัญคือต้องปล่อยควันออกสู่ที่โล่งได้สะดวก บริเวณรอบๆ ควรมีต้นไม้เยอะๆ เพื่อดูซับควัน
วัสดุ / ส่วนประกอบ
1.   ถังน้ำมัน  200  ลิตร 1  ถัง มีฝาเปิดด้านบนได้ก็ดี (สะดวกในการทำไม่ต้องตัดฝา)
2.   ท่อใยหิน  เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว  ยาว  1 – 1.5  เมตร 1 ท่อ (ใช้ทำเป็นปล่องควัน)
3.   ข้องอใยหิน 90 เส้นผ่านศูนย์กลาง  4  นิ้ว   (สำหรับเชื่อมต่อตัวเตา กับปล่อง)
4.   กระเบื้องหรือสังกะสี 4-5 แผ่น   (สำหรับทำผนังเตา ด้านข้างและด้านหลัง)
5.   อิฐบล็อก  5   ก้อน    (สำหรับทำปากเตา)
6.   ไม้ท่อนขนาดไม้ หน้าสาม ยาว 1 เมตร  8 ท่อน เสี้ยมปลายให้แหลม  (ไว้ทำเสาค้ำยังผนังเตา)
7.   ไม้ไผ่ลำตรง 1 ลำ  เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาวอย่างน้อย 5 เมตร (รองน้ำส้มควันไม้)
8.   ดินหรือทราย   (ทำฉนวนหุ้มรอบเตา)
9.   ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ  (ใช้เป็นยาแนวรอยต่อต่างๆ)
10.   ขวดน้ำตัดปากใส่น้ำส้มควันไม้  นำลวดร้อยเป็นหูหิ้วด้วย   เพราะน้ำส้มเป็นกรด   ถ้าภาชนะเป็นโลหะ  กรดจะกัดโลหะทำให้น้ำส้มควันไม้คุณภาพไม่ดี

ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์

ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ 
1.   นำถังน้ำมัน  200 ลิตร  ฝาเปิดด้านบน  เจาะเป็นรูสี่เหลี่ยม  20x20 เซนติเมตร  ส่วนด้านก้นถังให้เจาะรูกลม  เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า  4 นิ้วเล็กน้อย  เพื่อให้ใส่ข้องอได้สะดวก
2.   ข้องอให้เจาะรู 1 นิ้ว มุมฉากด้านนอกเพื่อใช้ระบายน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของควันในท่อใยหิน
3.   นำไม่ไผ่เจาะทะลุปล้อง ตัดปากเฉียง 45 องศา ด้านหนึ่ง  วัดห่างจากปากด้านป้านเจาะรูด้วยเลื่อย กว้าง 2 เซนติเมตร ไว้รองน้ำส้มควันไม้ 
4.   ผ้าหนา หรือกระสอบป่าน มาพันรอบไม้กระบอก ห่างจากรูไม้ขึ้นไป เล็กน้อย
5.   ผ้าทำเป็นลูกประคบใหญ่พอที่จะปิดปากท่อใยหินให้สนิท โดยใส่ทรายไว้ผูกปากให้แน่น  และเศษผ้าอีกผืนหนึ่งหนาพอประมาณ ไว้ปิดปากปล่องกับท่อไม้ไผ่ 
ขั้นตอนการประกอบเตา
1.   นำถังน้ำมันมาวางนอนให้รูกลมท้ายเตาอยู่ด้านล่าง และหาไม้หนุนด้านหน้าเตา (ฝาเปิดด้านบนถัง) สูงกว่าเล็กน้อยเพื่อช่วยเรื่องการระบายน้ำและการไหลเวียนของอากาศดีขึ้น
2.   วัดระยะห่างออกจากตัวถัง ข้างละ 20 เซนติเมตรเพื่อตอกเสาค้ำยันหลัก ด้านละ 2 ต้น หรือมากกว่าตามความเหมาะสม 
3.   ประกอบผนังเตาด้วยสังกะสี หรือกระเบื้อง โดยให้เสาค้ำอยู่ด้านนอกผนังอยู่ด้านใน 
4.   ตักดินหรือทรายเทใส่ระหว่างข้างถัง 2 ข้าง และผนังเตาพอควรไม่ให้ผนังล้ม
5.   ประกอบข้องอใยหินที่รูกลมด้านท้ายเตา เพื่อทำเป็นปล่องควัน ใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบผสานรอยต่อ ระหว่างข้องอกับถัง ได้ระดับแล้วก็ ตอกไม้หลักกั้นไม้ให้ข้องอถอยออก 
6.   นำท่อไยหินต่อบนข้องอท้ายเตาให้ตรงแล้วผสานรอยต่อด้วยดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบให้สนิท ควรใช้ลวดผูกท่อไยหินกับไม่หลักไว้ไม่ให้เคลื่อน ควรผสานรอยต่อด้านในถังกับข้องอใยหินด้วย 
7.   ปิดผนังด้านท้ายเตาด้วยการตอกหลักห่างจากท้ายเตา 10-15 เซนติเมตร 
8.   ตักดินหรือทรายถมระหว่างผนังทั้ง 3 ด้านให้เต็มเป็นฉนวนเตา 
9.   ตัดแผ่นสังกะสีหรือกระเบื้อง กว้างพอที่จะปิดผนังด้านข้างของหน้าเตา แล้วตอกหลักกั้นไว้ทั้งซ้ายและขวาป้องกันไม่ให้ดินฉนวนพังลงมา
เตาหลังหนึ่งเมื่อประกอบเสร็จแล้ว สามารถเผาถ่านได้เป็นร้อยครั้ง จนกว่าตัวถังน้ำมันจะผุ ซึ่งอาจนานกว่า 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งาน

 

     ก่อนเข้าสู่กระบวนการเผา สิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมคือไม้ ที่จะนำมาเผาเลือกไม้ขนาดไล่กัน (ไม้ที่นำมาเผาไม่ควรสด-แห้งจนเกินไป) ถ้าเป็นท่อนยาวควรตัดให้สั้น 80 เซนติเมตร ยาวพอจะใส่ในเตาได้พอดี (ถังน้ำมันยาว 90 เซนติเมตร) และคัดแยกไม้เป็นกลุ่ม 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อสะดวกในการเรียงไม้เข้าเตา 
     การเรียงไม้สำคัญมาก เริ่มจากวางไม้ท่อนเล็กยาว 1 ฟุตไว้ตามขวางประมาณ 3 ช่วงใช้เป็นหมอนหนุน (หรือเหล็กเส้นยาว 1 ฟุต หรือตะแกรงเหล็ก) ควรวางให้มีช่องว่างจากท้องเตาเพื่อหมุนเวียนความร้อนภายในเตา 
เริ่มเรียงไม้เข้าเตา โดยให้ไม้ขนาดเล็กสุดอยู่ด้านล่าง ขนาดใหญ่สุดอยู่บน (ธรรมชาติของความร้อนจะลอยอยู่ด้านบน อุณหภูมิด้านล่างจะต่ำกว่า เมื่ออุณหภูมิต่างกัน ไม้เล็ก ไม้ใหญ่จะเป็นถ่านพร้อมกันพอดี และใส่ไม้ควรเอาด้านเล็กกว่าเข้าไปในเตา เพราะอยู่ใกล้ช่องเชื้อเพลิงซึ่งอุณหภูมิจะสูงกว่าท้ายเตา) จนไม้เต็ม
     ปิดฝาเตา เอารูสี่เหลี่ยม ไว้ด้านล่างเป็นปากเตา (ปิดฝาถังให้สนิท) แล้วเอาดิน ทราย กลบหลังเตาและรอบตัวเตาให้มิด ประกอบช่องใส่ไฟด้วยการเอาอิฐบล็อก 2 ก้อนมาวางตั้งขนานกันตรงรูสี่เหลี่ยมหน้าเตา เว้นระยะให้พอดีกับช่องที่เจาะไว้ นำอิฐอีก 2 ก้อนวางนอนทับด้านบน แล้วยาแนวประสานระหว่างหน้าเตากับอิฐ รอยต่อของอิฐแต่ละก้อนทุกแนว ขอบฝาถังกับตัวถังก็ยาแนวให้สนิท 
เริ่มกระบวนการทำถ่าน 
     จุดไฟหน้าเตาบริเวณอิฐก้อนแรกสุด ใช้เชื้อเพลิงแห้ง เช่น เศษหญ้า กิ่งไม้เล็กๆ ใส่เชื้อเพลิงทีละน้อย ปล่อยให้ไอความร้อนค่อย ๆ เข้าไปสะสมในตัวเตา (ต้องระวังในการใส่เชื้อเพลิงเข้าไป ถ้าเร่งไฟมาก ความร้อนเข้าไปในเตาเร็วเกินไปจะทำให้ไม้กลายเป็นถ่านก่อนและที่สุดก็เป็นขี้เถ้า)
     
     ช่วงที่หนึ่ง  การไล่ความชื้น คือไล่ความชื้นออกจากเนื้อไม้ด้วยไอความร้อนจากเชื้อเพลิงที่ใส่หน้าเตา จะใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดไม่มาก (ใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง) อาจเร็วหรือช้ากว่านั้น ขึ้นอยู่กับ ไม้ ฉนวนดิน และตัวเตา จะมีความชื้นมากหรือน้อย  ช่วงแรกนี้ ควันจะมีสีขาวปนเทา เมื่อใส่เชื้อเพลิงไปเรื่อยๆ จนความชื้นใกล้หมด ควันจะเริ่มมากขึ้นพุ่งออกจากปล่องควันอย่างแรงจนเห็นได้ชัด ภาษาคนเผาถ่านเรียกว่า ควันบ้า แสดงว่าเตาติดแล้ว (ความร้อนที่อยู่ในเตาเพียงพอที่จะพยุงตัวเองได้แล้ว ระอุอยู่ในตัวเตา) ให้หยุดใส่เชื้อเพลิงที่หน้าเตา

     ช่วงที่สอง  เปลี่ยนจากไม้เป็นถ่าน คือเกิดปฏิกิริยาคายความร้อนในตัวเตา ทำให้ไม่ต้องพึ่งความร้อนจากหน้าเตามากนัก สามารถหรี่ไฟหน้าเตาลงได้ หยุดใส่เชื้อเพลิงแล้วนำอิฐอีกก้อนมาปิดเพื่อลดพื้นที่ อากาศเข้าที่หน้าเตาให้เหลือประมาณ ¼  หรือประมาณ 1 ฝ่ามือ เพียงพอที่จะเลี้ยงไม่ให้เตาดับ
     ช่วงนี้ไม้จะคายสารต่างๆ ที่มีประโยชน์ออกมา สังเกตโดยบริเวณปากปล่องควัน จะมีสารสีดำที่เรียกว่ายางไม้  หรือ  Tar  ติดอยู่  ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมที่จะเริ่มเก็บน้ำควันไม้ได้ดีที่สุด  (ใช้เวลาประมาณ  2 – 3 ชั่วโมง) คือ เอาไม้ไผ่ที่เจาะทะลุปล้อง  พันด้วยผ้าหรือกระสอบป่านพรมน้ำพอหมาด วางด้านตัดปากเฉียงต่อกับปากต่อใยหิน เอาไม้ค้ำปลายไม้ไผ่อีกด้านไว้สูงกว่าลักษณะ 45 องศา แล้วนำผ้าผืนหนาชุบน้ำมาพันปิดรอบรอยต่อระหว่างปากท่อใยหินกับไม้ไผ่ให้สนิท แขวนกระบอกรองน้ำส้มควันไม้ไว้ใต้รูที่เจาะ ควันที่อกจากปล่องควัน  จะเป็นไอร้อน  เมื่อกระทบกับอากาศเย็นในลำไม้ไผ่  จะเกิดการควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ  แล้วจะไหลย้อนกลับลงมาผ่านรูที่เจาะ  (ช่วงนี้ใช้เวลา  2–3 ชั่วโมง) จนกว่าน้ำส้มควันไม้เริ่มหนืดและมีสีเข้มขึ้น ก็เลิกรองน้ำส้ม เอาไม้ไผ่ออกจากปากปล่องท่อใยหิน ตอนนี้ควันจะเริ่มเป็นสีน้ำเงินปนออกมา แสดงว่าไม้ในเตาเป็นถ่านหมดแล้ว 

     ช่วงที่สาม  การทำถ่านให้บริสุทธิ์ เมื่อควันเป็นสีน้ำเงินให้เปิดหน้าเตาออก ประมาณ ½  หรือครึ่งหนึ่งเพื่อให้อากาศเข้ามากขึ้น เป็นการเพิ่มอุณหภูมิอย่างรวดเร็วเพื่อเอาออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยากับถ่านข้างใน ความร้อนในเตาจะสูงขึ้นอีกครั้ง เพื่อทำให้น้ำมันดิน Tar ในเนื้อถ่านถูกขับไล่ออกมาทางปล่องควัน (ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที มากหรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของไม้) คนเผาถ่านส่วนใหญ่จะไม่ไล่น้ำมันดินเพราะน้ำหนักถ่านจะลดลง 
      คอยสังเกตดูสีควันให้เป็นสีน้ำเงินนานที่สุด จนเมื่อควันเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอ่อนแสดงว่าถ่านจะเริ่มเป็นขี้เถ้าแล้ว ควรระวังเพราะถ้าเปิดให้อากาศเข้าในเตามากเกินไป ช่วงการทำถ่านให้บริสุทธิ์จะสั้นลง ถ่านจะกลายเป็นขี้เถ้าสูง และน้ำมันดิน Tar ในเนื้อถ่านจะออกไม่หมด (น้ำมันดิน Tar ในเนื้อไม้ เมื่อได้รับอุณหภูมิสูงกว่า 425 องศาเซลเซียส จากการเผาถ่าน จะเป็นสารก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในถ่าน เมื่อเรานำถ่านที่ไม่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ไปปิ้งย่างอาหารแล้วนำมาบริโภค ก็ได้รับสารก่อมะเร็งเข้าสะสมในร่างกายอย่างไม่มีทางเลี่ยง ดังนั้นข้อดีของเตาเผ่าถ่าน 200 ลิตร คือ การควบคุมปริมาณอากาศ ทำให้เกิดกระบวนการเผาไล่น้ำมันดิน ทำถ่านให้บริสุทธิ์ ปลอดภัยกับการนำไปใช้มากกว่าวิธีการเผาแบบดั้งเดิม)

     ช่วงที่สี่  การทำถ่านให้เย็นลง เมื่อถ่านบริสุทธิ์หมดแล้ว ควันสีฟ้าจะจางลงกลายเป็นควันใสมองทะลุผ่านได้ระยะ 10 เซนติเมตร เหนือปากปล่องจะมองไม่เห็นควันให้ดับเตา เริ่มปิดจากหน้าเตา โดยอิฐหน้าเตานั้นปิดให้สนิทประสานรูระหว่างอิฐให้หมดไม่ให้อากาศเข้าได้ จนสุดท้ายปิดที่ปากปล่องควัน ด้วยลูกประคบทรายชุบน้ำนิดหน่อยปิดที่ปากปล่องควันให้สนิท ตรวจดูหารอยรั่วอีกครั้ง เพราะถ้ารั่ว ถ่านข้างในจะกลายเป็นขี้เถ้าจนหมด
     จากนั้นเกลี่ยดินบนหลังเตาออกเพื่อช่วยระบายความร้อน ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้ถ่านดับสนิทและเย็นลง
     การเปิดเตาทุกครั้งให้เปิดที่ปากปล่องก่อนเพื่อไล่อากาศที่ค้างอยู่ในเตา แล้วจึงเปิดที่หน้าเตาแกะอิฐและฝาเตาออก ค่อยๆ ลำเลียงถ่านออกมาผึ่งในที่โล่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมงป้องกันไม่ให้ถ่านลุกติดไฟแล้วจึงค่อยนำไปบรรจุหรือเก็บรวมไว้ใช้ต่อไป
     ถ่านที่ได้จากเตา 200 ลิตร จะเป็นถ่านคุณภาพสูงดีต่อสุขภาพ มีสารก่อมะเร็งต่ำและมีปริมาณถ่านมากถึง 20-22 % โดยมวล เมื่อสังเกตจากภายนอกตรงรอยหัก ถ่านจะมีลักษณะมันวาว เวลาเคาะจะมีเสียงดังกังวาน เมื่อนำไปใช้จะให้ความร้อนสูง ไม่มีการแตกระเบิด ควันน้อย แกร่งทนใช้นานกว่าถ่านทั่วไป

ข้อพึงระวัง ->

คอยสังเกตดูสีควันให้เป็นสีน้ำเงินนานที่สุด จนเมื่อควันเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอ่อนแสดงว่าถ่านจะเริ่มเป็นขี้เถ้าแล้ว ควรระวังเพราะถ้าเปิดให้อากาศเข้าในเตามากเกินไป ช่วงการทำถ่านให้บริสุทธิ์จะสั้นลง ถ่านจะกลายเป็นขี้เถ้าสูง และน้ำมันดิน Tar ในเนื้อถ่านจะออกไม่หมด (น้ำมันดิน Tar ในเนื้อไม้ เมื่อได้รับอุณหภูมิสูงกว่า 425 องศาเซลเซียส จากการเผาถ่าน จะเป็นสารก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในถ่าน เมื่อเรานำถ่านที่ไม่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ไปปิ้งย่างอาหารแล้วนำมาบริโภค ก็ได้รับสารก่อมะเร็งเข้าสะสมในร่างกายอย่างไม่มีทางเลี่ยง ดังนั้นข้อดีของเตาเผ่าถ่าน 200 ลิตร คือ การควบคุมปริมาณอากาศ ทำให้เกิดกระบวนการเผาไล่น้ำมันดิน ทำถ่านให้บริสุทธิ์ ปลอดภัยกับการนำไปใช้มากกว่าวิธีการเผาแบบดั้งเดิม)
 

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครสวรรค์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา