ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การสีข้าวกล้องหอมมะลิ

โดย : นายจำลอง สังข์กรม วันที่ : 2017-03-24-17:39:59

ที่อยู่ : 127 ม. 8 ต. ห้วยร่วม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

นายจำลอง สังข์กรมเป็นวิทยากรสัมมาชีพชุมชนบ้านจิกใหญ่ ม.8 ต.ห้วยร่วม อ.หนองบัว  เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านห้วยร่วม และเป็นประธานกลุ่มโรงสีชุมชนบ้านจิกใหญ่ และมีองค์ความรู้ด้านการแปรรูปข้าวหอมมะลิ 105 ด้านการสีข้าว การขัดขาว การสีข้าวกล้อง การบรรจุถุงแบบสูญญากาศ การจำหน่าย  รวมทั้งการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ  การใช้เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีรวมทั้งสามารถเป้นวิทยากรภายนอกได้  การประกอบอาชีพสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และสามรถลดรายจ่ายได้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการสีข้าวกล้องหอมมะลิ 105 และ การบรรจุข้าวแบบสูญญากาศ รววมทั้งการทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้กับผู้ที่สนใจ และบุคคลทั่วไปได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ 105

2. ข้าวกล้องหอมมะลิ 105 

อุปกรณ์ ->

1. เครื่องบรรจุข้าวแบบสูญญากาศ

2. บล็อคอะคริลิก

3. เครื่องสีข้าวของโรงสีข้าวชุมชน

4. ถุงบรรจุข้าว

5. เครื่องซีลถุงข้าว

6. ตราชั่ง

กระบวนการ/ขั้นตอน->

กรรมวิธีการสีข้าว เป็นกระบวนการในการกะเทาะเปลือกออกจากข้าวเปลือก เพื่อให้ได้ข้าวสำหรับการบริโภค ซึ่งกระบวนการสีข้าวอาจใช้เครื่องทุ่นแรงง่าย ๆ เช่น ครกตำข้าว ไปจนถึงการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในการสีข้าว การใช้เครื่องจักรในการสีข้าว จำเป็นต้องออกแบบให้มีความเหมาะสม ปริมาณข้าวสารที่ได้จากกระบวนการสี รวมทั้งคุณภาพของข้าวสาร จะขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของเครื่องจักรที่ใช้ โรงสีข้าวที่ใช้เครื่องจักรที่มีความทันสมัย จะได้ปริมาณข้าวสารมากกว่า โรงสีข้าวที่ใช้เครื่องจักรแบบดั้งเดิม ประมาณ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกัน จะได้ปริมาณข้าวสารเต็มเมล็ด (Head Yield) มากกว่า และมีความเสียหายน้อยกว่าด้วย ลักษณะการทำงานของโรงสีที่ดี จะประกอบด้วย


           - สีข้าวเปลือกได้ปริมาณข้าวสารสูง (Produce the maximum yield of edible rice)
           - ข้าวสารที่ได้มีคุณภาพสูง (Obtain the best possible quality)
           - มีความสูญเสียข้าวเปลือกน้อย (Minimize losses)


          การนำเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูงเข้ามาใช้ในการสีข้าวจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของข้าว เช่นความชื้นของข้าวเปลือก คุณภาพของข้าวเปลือก เป็นต้น ในการเก็บเกี่ยว ควรเริ่มทำการเก็บเกี่ยว เมื่อข้าวสุกสม่ำเสมอ และความชื้นของข้าวขณะเก็บเกี่ยว ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และในกระบวนการลดความชื้น ควรเป็นไปอย่างเหมาะสม ความชื้นในการเก็บรักษาข้าวเปลือก ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 13 – 14 เปอร์เซ็นต์ (มาตรฐานเปียก)

 

1. การทำความสะอาด และการคัดแยก (Paddy Cleaner and Sorting)

โดยปกติข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่โรงสีได้รับ จะมีสิ่งอื่นๆเจือปนอยู่ เช่น เศษดิน หิน เศษฟางข้าว แกลบ วัชพืช เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องทำความสะอาด ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการกะเทาะเปลือก ซึ่งจะทำให้คุณภาพของข้าวสารที่กะเทาะได้ดีขึ้น สิ่งเจือปนที่มีน้ำหนักเบากว่า ข้าวเปลือกสามารถคัดแยกโดยใช้พัดลมทำความสะอาด ในขณะที่วัสดุเจือปนที่มีน้ำหนักมากกว่าข้าวเปลือกจะคัดแยกโดยการใช้ตะแกรง โยก สิ่งปลอมปนที่มีขนาดท่ากับเมล็ดข้าวเปลือก แต่มีน้ำหนักมากกว่าจะใช้วิธีการแยกด้วยความโน้มถ่วง (Specific gravity separator) ในขณะที่เศษเหล็กที่เจือปนในข้าวเปลือก จะใช้คุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กในการคัดแยก (Magnetic separtor) เมล็ดวัชพืช หรือสิ่งเจือปนอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถคัดแยกได้ในขั้นตอนนี้ จะถูกคัดแยกในขั้นตอนต่อไป เครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการทำความสะอาด ได้แก่ ตะแกรงโยกคู่ ( Double – sieve cleaner) ตะแกรงทำความสะอาดตัวเอง ( Self – cleaning sieve) เครื่องทำความสะอาดแบบพัดลมดูดจังหวะเดียว (Single action aspirator) เครื่องทำความสะอาดแบบพัดลมดูดสองจังหวะ (Double-action aspirator) เครื่องทำความสะอาดแบบทรงกระบอกคู่ (Double – drum precleaner) เครื่องทำความสะอาดแบบทรงกระบอกเดียว (Single – drum precleaner) เครื่องทำความสะอาดแบบแม่เหล็ก ( Magnetic separator)

เมื่อข้าวเปลือกที่รับมาจากเกษตรกร ผ่านอุปกรณ์นี้ จะทำให้ข้าวเปลือกสะอาด แต่อาจมีวัสดุอื่นเจือปนเพียงเล็กน้อย ซึ่งปริมาณการเจือปนนี้ มีผลทำให้ปริมาณข้าวสารที่ได้ลดลง การทำงานของเครื่อง พัดลมจะทำหน้าที่แยกวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเช่น แกลบ ฝุ่น ส่วนสิ่งเจือปนที่มีขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จะถูกคัดแยกโดยตะแกรงหมุนทรงกระบอก ซึ่งระบบการทำงานนี้ ได้รับการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น ลักษณะรูปร่างของรูตะแกรงทรงกระบอกแบ่งได้หลายประเภท เช่น สี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangular) กลม (Round) รี (Oblong) และสามเหลี่ยม (Triangular) เป็นต้น โดยปกติ เครื่องทำความสะอาดข้าวเปลือก จะมีข้อจำกัดในการทำความสะอาด ไม่สามารถทำความสะอาดข้าวเปลือกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การทำความสะอาดขั้นต้น (Precleaning) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นก่อนที่นำข้าวเปลือกเข้าเครื่องทำความสะอาด มิฉะนั้นอาจเกิดการอุดตันของแกลบ และฝุ่นผงในขณะทำงานได้

ตะแกรงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ตะแกรงทรงกระบอกหมุน (Rotating screen) และตะแกรงโยก (Oscillating screen) เนื่องจากข้าวเปลือกจะเคลื่อนที่ตามทิศทางของการสั่นตะแกรงโยก ดังนั้น การออกแบบตะแกรงที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องลดลง

          เครื่องทำความสะอาดบางประเภท จะมีอุปกรณ์พิเศษ สำหรับคัดแยกสิ่งเจือปนที่มีขนาดเดียวกับข้าวเปลือก แต่มีน้ำหนักต่างกัน โดยมีหลักการทำงาน คือ ลมจะไหลผ่านที่ด้านล่างของตะแกรงโยก ที่มีรูขนาดเล็ก สิ่งเจือปนที่มีน้ำหนักมากกว่า (เศษหิน) จะเคลื่อนตัวลงล่าง ในขณะที่ข้าวเปลือกที่มีน้ำหนักน้อยกว่า จะเคลื่อนที่ขึ้นข้างบนตามแนวเอียงของตะแกรง ดังนั้นเศษหินจึงถูกแยกออกจากเมล็ดข้าวเปลือกได้

สำหรับ การคัดแยกสิ่งเจือปนที่เป็นเหล็ก ตะแกรงทำความสะอาดจะยึดติดด้วยแม่เหล็กคัดแยกจากนั้นพวกเศษเหล็กจะถูกนำออกจากเครื่องเป็นช่วง ๆ ด้วยคน


          การคัดแยก หมายถึง การคัดเอาวัสดุที่มีลักษณะเฉพาะเหมือนกัน ออกจากวัสดุที่มีคุณลักษณะต่างกัน ตัวอย่างเช่น การทำความสะอาดข้าวเปลือก ซึ่งจะทำการแยกวัสดุสิ่งเจือปน เช่น เศษฟางออกจากข้าวเปลือก วัสดุพวกเศษฟางนี้เรียกว่า สิ่งเจือปน (Contaminations) ในขณะที่ข้าวเปลือกหรือวัสดุส่วนใหญ่ เรียกว่า ส่วนบริสุทธิ์ (Purity) คุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดและการคัดแยกเมล็ดข้าว ได้แก่:
          • ขนาด (Size)
          • รูปร่างหรือลักษณะทางเรขาคณิตของผลผลิต (Shape or geometry of product)
          • ความหนาแน่น (Density)
          • ลักษณะของผิวสัมผัส (Surface texture)
          • คุณสมบัติทางกลของวัสดุ (Mechanical properties)
          • คุณลักษณะทางไฟฟ้าของวัสดุ (Electrical properties)
          • คุณลักษณะอื่น ๆ เช่น น้ำหนัก สี สัมประสิทธิ์ความเสียดทาน เป็นต้น

 

2. เครื่องกะเทาะข้าวเปลือก (The hulling of paddy)

           โดยให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดต่อเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นรำ และไม่ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกเกิดการแตกหักซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบเครื่อง การบำรุงรักษา และการปรับแต่งเครื่องจักร รวมทั้งคุณสมบัติของข้าวก่อนที่จะกะเทาะ เช่น การแตกร้าวภายในเมล็ด ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็บเกี่ยวที่ล่าช้า หรือการเก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือกไม่ดี


     การออกแบบเครื่องกะเทาะในปัจจุบัน สามารถแบ่งแยกได้ออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
          • อาศัยแรงกดและแรงเฉือน ทำให้แกลบหลุดออกจากเมล็ดข้าวเปลือก
          • อาศัยแรงเหวี่ยงกระทบ ทำให้แกลบหลุด เนื่องจากการกระทบกับผิวสัมผัสที่เป็นพื้นยาง
          • อาศัยแรงเสียดทาน ที่เกิดขึ้นที่ผิวสัมผัส ทำให้แกลบหลุดจากข้าวเปลือก

 

2.1 เครื่องกระทบแบบลูกยาง (Rubber roll huller)

สำหรับเมล็ดธัญพืช ซึ่งเปลือกไม่ได้ยึดติดกับส่วนที่เป็นเมล็ด การทำให้เปลือกแยกออกจากเมล็ด โดยใช้แรงเฉือน หรือแรงกดก็เพียงพอ โดยทั่วไปนิยมใช้พื้นผิวสัมผัสที่เป็นยางในการกะเทาะ


          หลักการทำงาน : สำหรับเครื่องกะเทาะแบบลูกยางจะประกอบด้วยลูกยางกะเทาะ 2 ลูก ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน หมุนในทิศทางที่ตรงข้ามกัน และออกแบบให้ความเร็วในการหมุนแตกต่างกัน ลูกยางกะเทาะซึ่งมีความเร็วรอบสูงกว่า จะยึดติดกับแบริ่งที่อยู่กับที่ ในขณะที่ลูกยางอีกลูกหนึ่งที่หมุนด้วยความเร็วรอบที่ต่ำกว่า จะยึดติดกับแบริ่งที่สามารถเลื่อนเข้า – ออก ได้ ดังนั้น ระยะห่างระหว่างลูกยางทั้งสองจึงสามารถปรับตั้งได้


          ในโรงสีข้าว ความเร็วในแนวสัมผัส (Peripheral speed) ของลูกยางลูกที่มีความเร็วรอบสูงจะมีค่าอยู่ระหว่าง 15 – 17.5 เมตรต่อวินาที ในขณะที่ลูกยางที่มีความเร็วรอบต่ำกว่า จะมีความเร็วในแนวสัมผัสอยู่ระหว่าง 12.5 – 15 เมตรต่อวินาที ถ้าเพิ่มความเร็วสัมผัสให้มากขึ้น จะทำให้อัตราการกะเทาะสูงขึ้น แต่อาจทำให้ผิวสัมผัสหน้ายางสึกหรอเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนในระหว่างการทำงาน ทำให้การตั้งระยะห่างระหว่างลูกยางทั้งสองเกิดการผิดพลาดได้ โดยทั่วไปค่าความแตกต่างระหว่างความเร็วสัมผัสของลูกยางทั้งสอง ไม่ควรเกิน 2.5 เมตร ต่อวินาที ถ้าเกินจากค่านี้ จะทำให้ประสิทธิภาพการกะเทาะลดลง เมื่อลูกยางที่หมุนด้วยความเร็วรอบสูงกว่า เกิดการสึกหรอทำให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าลูกยางอีกลูกหนึ่ง ทำให้ค่าความเร็วสัมผัสของลูกยางทั้งสอง แตกต่างกันน้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพการกะเทาะลดลง ความแข็งของลูกยาง จะขึ้นกับอุณหภูมิของลูกยางขณะทำงาน ยิ่งอุณหภูมิขณะทำงานมีค่าสูง จะทำให้ยางอ่อนนุ่มลง การออกแบบระบบที่มีลมระบายความร้อนให้กับลูกยาง จะทำให้อัตราการสึกหรอลดลง


          การกะเทาะเปลือกโดยใช้ลูกยาง ง่ายต่อการบำรุงรักษา เพราะเครื่องมือขนาดเล็ก ให้อัตราการกะเทาะสูง และมีประสิทธิภาพในการกะเทาะสูงเมล็ดเสียหายน้อย ในขณะที่ข้อเสียของเครื่อง กะเทาะชนิดนี้ คือ ลูกยางมีอัตราการสึกหรอสูง โดยเฉพาะเมื่อทำงานในฤดูร้อน อีกทั้ง ราคาของลูกยางสูง ประสิทธิภาพในการกะเทาะของเครื่องชนิดนี้ จะขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของความเร็วรอบของลูกยางทั้งสอง ระยะห่างระหว่างลูกยาง ความแข็งของผิวสัมผัสหน้ายาง รวมทั้งความชื้นของเมล็ดข้าวเปลือก

2.2 เครื่องกะเทาะแบบโม่หินแนวนอน (Disc huller or Under – Runner disc huller)

หลักการทำงาน : เครื่องกะเทาะชนิดนี้ใช้สำหรับการกะเทาะข้าวเปลือกและข้าวโอต และยังสามารถใช้กับข้าวฟ่างได้ด้วย ในระบบการทำงานนี้ ข้าวเปลือกจะไหลผ่านระหว่างแผ่นจานทั้งสอง ซึ่งระยะห่างระหว่างจานทั้งสองสามารถปรับตั้งได้ ที่ผิวของจานบนจะเคลือบด้วยวัสดุที่มีลักษณะหยาบ เช่น หินกากเพชร จานที่อยู่ด้านบนจะถูกยึดอยู่กับที่ ในขณะที่จานที่อยู่ด้านล่างจะขนานกับจานบน และสามารถหมุนได้ โดยอาศัยการถ่ายทอดกำลังจากเพลาที่หมุนข้าวเปลือกจะถูกป้อนเข้าที่ตรงกลางของจานด้านบนที่เป็นช่องป้อน เมล็ดที่ร่วงผ่านสู่จานล่าง จะถูกตั้งขึ้นด้วยแรงหมุน และเคลื่อนออกจากจุดศูนย์กลางด้วยแรงเหวี่ยง ผ่านส่วนของหินขัด ส่วนยอดของเมล็ดจะสัมผัสกับจานด้านบน ซึ่งจะกดเปลือกให้หลุดจากเมล็ดข้าวได้ ถ้าระยะห่างระหว่างจานบนและจานล่าง มากเกินกว่าความยาวของเมล็ด ทำให้เมล็ดข้าวเปลือก เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ จะไม่ก่อให้เกิดการกะเทาะ

2.3 เครื่องกะเทาะแบบแรงเหวี่ยงกระทบ (Impact huller or Centrifugal husker)

          เครื่องกะเทาะเปลือกแบบอาศัยแรงเหวี่ยงกระทบ ทำให้เปลือกหลุดออกจากเมล็ดได้ประกอบด้วย ถังป้อน จานหมุน เป้ากระทบ และฝาครอบ ข้าวเปลือกจะถูกป้อนเข้าที่ตำแหน่งตรงกลางของจานหมุน ข้าวเปลือกจะหมุนไปตามทิศทางการหมุนของจาน และไปกระทบกับเป้ากระทบที่ทำจากยาง ทำให้เปลือกหลุดออกจากเมล็ดข้าวได้ มุมการกระทบของข้าวเปลือก อยู่ระหว่าง 30-45 องศา กับแนวระดับของจานหมุน ข้าวที่กะเทาะเปลือกออกแล้ว จะเคลื่อนที่โดยความเร็วของลมที่เกิดจากจานหมุน

ข้าวเปลือกเมื่อผ่านกระบวนการกะเทาะเปลือกออกแล้ว จะได้ส่วนผสมของข้าวกล้องกับข้าวเปลือก แกลบ ฝุ่น รำ และเมล็ดข้าวที่แตกหัก ส่วนประกอบที่สำคัญของระบบแยกแกลบได้แก่ พัดลม ซึ่งสร้างอัตราการไหลของอากาศให้สามารถแยกแกลบออกจาก ส่วนผสมของข้าวเปลือกกับข้าวกล้องได้ดังภาพ ความหนาแน่นของข้าวเปลือกที่ต้องการแยก จะมีความสัมพันธ์กับความเร็วของอากาศที่ใช้ในการคัดแยก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องควบคุมการไหลของข้าวและอัตราการไหลของอากาศ เพื่อให้ประสิทธิภาพการคัดแยกสูงสุด เมื่อแกลบ ข้าวกล้องและข้าวเปลือกตกมายังบริเวณที่มีลมดูดผ่าน จะมีการแยกตัวเกิดขึ้น เนื่องจากแรงต้านการปะทะของลม ซึ่งแรงต้านของวัสดุส่วนผสมต่างๆเหล่านี้ จะแปรผันตาม ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก ลักษณะของผิวสัมผัส รวมทั้งตำแหน่งของวัสดุ เมื่อความเร็วของลม มีค่ามากกว่า ความเร็วของแกลบ จะทำให้แกลบถูกดูดไปตามทิศทางของลม ในขณะที่วัสดุที่มีความเร็วมากกว่าความเร็วลม จะเคลื่อนที่ตกลงมา

4. การแยกข้าวกล้องออกจากข้าวเปลือก ( Paddy separator)

          วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องคัดแยก คือ เพื่อทำการแยกข้าวกล้องออกจากข้าวเปลือก จากส่วนผสมระหว่างข้าวกล้องและข้าวเปลือกที่ได้จากเครื่องกะเทาะ หลักการในการคัดแยก คือ อาศัยคุณสมบัติความแตกต่างระหว่างข้าวกล้อง และข้าวเปลือก เช่น น้ำหนักจำเพาะ แรงลอยตัว ขนาดและผิวสัมผัส
 

ชนิดของเครื่องคัดแยก
     • Try type paddy separator Compartment type paddy separator
     • Compartment type paddy separator

ภาพแสดงหลักการทำงานของเครื่องคัดแยกข้าวเปลือก แบบถาด (Tray type paddy separator) ซึ่งระบบนี้จะประกอบด้วยถาดจำนวน 4-7 ถาด วางในตำแหน่งเอียง ความเอียงด้านหน้าจะยึดอยู่กับที่ แต่ถาดด้านหลังสามารถปรับตำแหน่งความเอียงของถาดได้ เพลาขับแบบเยื้องศูนย์ (Essentric driving crank) จะถ่ายทอดกำลังมายังถาดคัดแยก ดังนั้น ถาดคัดแยกจะเคลื่อนที่แบบกลับไปกลับมา โดยอาศัยความแตกต่างของน้ำหนักจำเพาะของข้าวเปลือกและข้าวกล้อง ข้าวกล้องมีน้ำหนักเบากว่า จะเคลื่อนที่ขึ้นข้างบน ในขณะที่ข้าวเปลือกที่มีน้ำหนักจำเพาะสูงกว่าจะเคลื่อนที่ลงด้านล่าง ข้าวกล้องที่รวบรวมที่ด้านบนของถาด จะถูกส่งต่อไปยังเครื่องขัดขาวต่อไป ในขณะที่ข้าวเปลือก จะถูกลำเลียงไปกะเทาะเปลือกใหม่อีกครั้งหนึ่ง ภาพด้านล่างแสดงเครื่องคัดแยกแบบ Compartment separator type paddy machine

5. เครื่องขัดขาวและขัดเงา (The whitening and polishing of rice)

Whitening : การขัดขาว หมายถึง การขัดเอาชั้นของรำ ( Bran) ออกจากข้าวกล้อง
          Polishing : การขัดมัน หมายถึง ขัดส่วนของรำที่ยังเกาะติดกับข้าวให้หลุดออกจากข้าว จนมีลักษณะใส

5.1 หลักการทำงานของเครื่องขัดขาว ( Principles of whitening)

•  ความหยาบของพื้นผิวสัมผัส (Abrasive action): อาศัยหลักการนี้ ชั้นของรำจะถูกขัดออกโดยการเสียดสีของพื้นผิวที่มีลักษณะหยาบ (Abrasive surface)
           •  ความเสียดทาน (Friction action): เมล็ดข้าวจะเสียดสีกันเอง ทำให้เกิดความดันขึ้นประมาณ 2 นิวตันต่อตารางเซนติเมตร

 

 

ข้อพึงระวัง ->

  เครื่องสีข้าว เป็นเครื่องจักรกลเกษตรประเภทหนึ่งใช้สำหรับการแปรรูปข้าวเปลือกเพื่อการบริโภคจัดเป็นเครื่องจักกลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เป็นเครื่องจักรกลเกษตรที่มีมูลค่าของการส่งออกเครื่องจักรกลเกษตรคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของมูลค่าทั้งหมดของการส่งออกเครื่องจักรกลเกษตรของประเทศจัดอยู่ในระดับต้น ๆ ที่สำคัญของการส่งออกเครื่องจักรกลเกษตร ซึ่งในภาพรวมแล้วประเทศไทยยังต้องการการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรอีกมาก เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างครบวงจรของการผลิตการเกษตรและลดภาวะของการขาดดุลการค้าเครื่องจักรกลเกษตร ในปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรโดยทั่วไปจะเป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) และมีเป้าประสงค์ให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสม (Appropriate Machinery) ต่อสภาพพื้นที่และการผลิตของเกษตรกรไทย เป็นเครื่องจักรกลเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีศักยภาพผลิตเชิงพาณิชย์ได้

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครสวรรค์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา