ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว

โดย : นายกุหลาบ เกิดสวัสดิ์ วันที่ : 2017-06-25-18:41:09

ที่อยู่ : 53/1 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าไม้

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีอาชีพหลัก คือ อาชีพทำนา แต่เกิดปัญหาจากในหมู่บ้านไม่มีเมล็ดพันธ์ข้าว เวลาถึงฤดูทำนาต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากอำเภอใกล้เคียงทำให้ต้นทุนในการทำนาสูง อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มานั้นยังด้อยคุณภาพไม่สามารถงอกได้ตามเวลาและบางทีก็ไม่ใช่พันธุ์ที่ประชาชนในหมู่บ้านปลูก ชาวนาบางคนในหมู่บ้านได้เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ตรงตามความต้องการในการปลูก ซึ่งถ้าเมล็ดพันธุ์ข้าวดีจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการผลิตข้าว  ทำให้เกิดความสนใจการคัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อมาใช้ในการปลูก และอีกทั้งยังลดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ นอกจากจะลดต้นทุนการผลิตลงได้ส่วนหนึ่งแล้ว ยังสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับหมู่บ้านในระยะยาวได้ต่อไปด้วย และเข้าร่วมกลุ่มผู้ผลิตข้าวจังหวัดนครสวรรค์ โดยศูนย์พันธุ์ข้าวของหมู่บ้านได้รับการประกวดระดับภาค     และตัวข้าพเจ้าเองจึงได้ทำการค้นคว้าและสามารถเป็นวิทยากรใน

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีและให้ผลผลิตดี

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เมล็ดพันธุ์ข้าว

อุปกรณ์ ->

  1. รถปั่นนามีไว้เพื่อเตรียมดิน

  2. รถไถเดินตาม มีไว้ย่ำเทือกและหน้าดินให้เสมอกัน

กระบวนการ/ขั้นตอน->

กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว

                   1.การคัดเลือกพื้นที่ทำแปลงขยายพันธุ์ข้าว ควรเลือกพื้นที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ติดต่อกันหรืออยู่ใกล้เคียงกัน สะดวกในการดูแล และติดตามงาน ติดถนน การคมนาคมสะดวก มีแหล่งน้ำใช้พอเพียงตลอดฤดูการผลิต ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ใกล้คอกสัตว์ และบ่อเลี้ยงปลา ไม่เป็นดินกรดจัด หรือด่างจัด และอยู่ใกล้แหล่งรับซื้อและโรงงานปรับปรุงสภาพ

                   2.การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่จะผลิต ควรเลือกพันธุ์ข้าวเหมาะสมกับพื้นที่ปลูกและระดับน้ำ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรสนใจและนิยมปลูก มีความต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญในพื้นที่ หลีกเลี่ยงพันธุ์ที่ไม่ทนทานต่อสภาพอากาศในบางฤดู และเป็นพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ

                   3.การเตรียมดิน จะต้องจัดข้าวเรื้อก่อนเปลี่ยนพันธุ์ข้าวหรือเริ่มทำแปลงขยายพันธุ์ครั้งแรก โดยตากหน้าดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วใช้โรตารี่ย่ำกลบตอซัง จากนั้นระบายน้ำออกให้หน้าดินแห้ง 2 สัปดาห์ จนข้าวเรื้องอก จึงใช้ขลุบย่ำ กลบข้าวเรื้อ หมักไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนคราด ทำเทือก ปลูก และปรับพื้นนาให้เรียบสม่ำเสมอ ทำร่อง ระบายน้ำทุก 4 เมตร และต้องไม่เผาฟาง เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จควรใส่น้ำทันทีเพื่อปั่นฟางสดจะไม่พ้นโลตารี่ ประโยชน์ของการไม่เผาฟางจะทำให้ดินมีความสมบูรณ์มีอินทรียวัตถุมากขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมีวัชพืชในแปลงนาจะลดลง

                  

 

4.การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว ควร ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ทำการสุ่มเมล็ดพันธุ์เพื่อตรวจสอบ ข้าวปน และความงอกก่อนปลูก ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับปลูกแบบหว่านน้ำตม และ 5 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับปลูกแบบปักดำด้วยคน และ 10 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับปักดำด้วยเครื่องปักดำ ควรปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าเราปลูกตลอดเวลาจะมี 1 ฤดูที่ได้ผลผลิตน้อยและโรคแมลงระบาดจะเกิดการขาดทุน

                   5.วิธีการปลูกข้าว  การปลูกแบบหว่านน้ำตม เหมาะสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำชลประทานที่ขาดแคลนแรงงาน ทำนาหลายครั้งต่อปี ไม่มีการเปลี่ยนพันธุ์ โดยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่ในน้ำสะอาด นาน 12-24 ชั่วโมง นำขึ้นหุ้มอีก 14 - 36 ชั่วโมง จนเมล็ดงอกเป็นตุ่มตา ค่อยนำไปหว่านในนาด้วยมือหรือเครื่องหว่านเมล็ด ส่วนการปลูกแบบปักดำ เหมาะสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำฝน หรือมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เพื่อป้องกันปัญหาข้าวเรื้อ และกรณีที่มีเมล็ดพันธุ์จำกัด แต่ต้องการขยายปริมาณมาก การตกกล้าในนาและปักดำด้วยคนต้องกำจัดข้าวเรื้อในแปลงที่จะใช้ตกกล้า นำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่และหุ้มเช่นเดียวกับวิธีหว่านน้ำตมจนเมล็ดงอกเป็นตุ่ม ตาจึงนำเมล็ดไปหว่านในนารอจนกล้าอายุ 20- 30 วัน จึงถอนกล้าแล้วนำไปปักดำในนา ที่มีระดับน้ำไม่เกิน 10 เซนติเมตร สำหรับการตกกล้าและปักดำด้วยรถดำนา จะต้องร่อนทำความสะอาดวัสดุเพาะกล้าก่อนนำมาใช้เพื่อป้องกันเมล็ดข้าวที่ติด มากับวัสดุเพาะ (ขี้เถ้าแกลบ) นำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่และหุ้มเช่นเดียวกับวิธีหว่านน้ำตม แต่ลดระยะเวลาหุ้มลงเหลือ 24 ชั่วโมง จึงนำเมล็ดข้าวงอกไปโรยในกะบะอัตรา 200-250 กรัม (ข้าวแห้ง) ต่อถาด   แล้วหุ้มเมล็ดต่ออีก 24 ชั่วโมง จึงนำกะบะไปเรียงในนาหรือลานเพาะกล้า คลุมกะบะด้วยซาแรนต่ออีก 3 วันจึงเปิดซาแรนออก พอกล้าอายุได้ 15 – 22 วัน จึงนำกล้าออกจากถาดไปปักดำในนาที่ระบายน้ำออกหมด

                   6.การควบคุมวัชพืช ควรใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชให้ถูกต้อง ถูกกับชนิดของวัชพืช (ใบแคบ ใบกว้าง กก) ถูกกับเวลาที่ใช้แล้วได้ผลดี (โดยนับจากวันหว่านข้าว) ถูกอัตราที่สารนั้นกำหนด ต้องเปิดน้ำเข้านาหลังพ่นสารเคมี 3 วัน และรักษาระดับน้ำ 5 - 10 เซนติเมตร หลังกำจัดวัชพืช เพื่อป้องกันวัชพืชงอกอีกครั้ง

                   7.การจัดการน้ำในนาข้าว ต้องรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับอายุข้าว เช่น ระยะกล้าควรให้น้ำอยู่ที่ระดับ 5 เซนติเมตร ระยะแตกกอควรให้น้ำอยู่ที่ระดับ 5 - 10 เซนติเมตร ระยะตั้งท้อง-ออกดอกควรให้น้ำอยู่ที่ระดับ 10 เซนติเมตร และต้องระบายน้ำก่อนเก็บเกี่ยวโดยนาดินเหนียวต้องระบายน้ำก่อน 10 - 14 วัน ส่วนนาดินทรายต้องระบายน้ำก่อน 7 วัน

                   7.การใส่ปุ๋ยในนาข้าว ควรกำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ย ระดับน้ำขณะใส่ปุ๋ยควรอยู่ที่ 5 - 10 เซนติเมตร ควรใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับชนิดของดิน และระยะการเจริญเติบโตข้าว

                   8.การกำจัดข้าวปน เป็น การรักษาพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์ มีลักษณะถูกต้องตรงตามลักษณะพันธุ์ จึงมีความจำเป็นมากที่ต้องหมั่นตรวจแปลง เพื่อกำจัดข้าวเรื้อ ข้าวปน หรือข้าวกลายพันธุ์ เพราะการเกิดการปะปนของเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงเมล็ดเดียว หรือข้าวเรื้อเพียงกอเดียว จะทำให้เมล็ดข้าวที่ผลิตได้ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ได้ ฉะนั้น การตรวจและกำจัดข้าวปนควรทำในระยะต่างๆ ดังนี้

ระยะต้นอ่อน ดูสีของต้นว่าจะมีสีตรงตามลักษณะพันธุ์หรือไม่ และผิดแปลกไปจากต้นอื่น ๆ หรือไม่

ระยะเจริญเติบโตหรือระยะแตกกอ ดูลักษณะทรงกอ การแตกกอ ความสูง สีต้นกาบใบ และใบ

ระยะออกดอก กำจัดต้นที่ออกดอกไม่พร้อมกับต้นข้าวส่วนใหญ่

ระยะข้าวแก่ ดูลักษณะเมล็ด สีของเปลือกให้ตรงตามพันธุ์

 

 

 

 

                   9.การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว  การปลูกข้าวในพื้นที่เขตร้อน ปัญหาโรคและแมลงรบกวนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแต่ละปี ปัญหาศัตรูข้าวที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึงร้อยละ 20 ศัตรูข้าวที่สำคัญ

                                10.การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าว  ต้องระบายน้ำก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 7 - 10 วัน เก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ระยะสุกแก่พอดี ประมาณ 30 วันหลังข้าวออกดอก

11.การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว  ประกอบด้วยการลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ข้าวและการทำ

ความสะอาดและคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว

ข้อพึงระวัง ->

1.โรคทั่วไปและแมลงที่จะมาเกาะกินข้าว

  2.ต้องระวังพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานปะปนมากับพันธุ์ที่ใช้ เช่น ข้าวแดง และข้าวต่างสายพันธุ์

 3.ต้องดูแลแปลงที่ทำให้สะอาดอยู่เสมอ ต้นข้าวที่ขึ้นนอกแถวนอกกอต้องถอนออกให้หมด

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครสวรรค์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา