ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

ทอผ้าฝ้ายและมัดหมี่

โดย : นางนงค์รักษ์ จอมพิมูล วันที่ : 2017-03-09-09:52:09

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๖๘ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

 การทอผ้ามัดหมี่ซึ่งได้สืบทอดมาจาก ปุ่ย่า ตา ยาย แต่ปัจจุบันนี้ผืนผ้ามีการพัฒนาลวดลายที่ออกแบบมาแล้วให้ทันสมัย ตรงความต้องการของลูกค้า เพิ่มด้วยนวัตกรรมเคลือบน้ำยานาโน บนผืนผ้าทำให้ผ้ามีความทนทานไม่ขึ้นรา  การทอผ้ามัดหมี่มีกรรมวิธีการทอผ้าให้เกิดลวดลายโดยการมัดที่เส้นพุ่งหรือเส้นยืนด้วยเชือกก่อนนำไปย้อมสีเพื่อให้เกิดสีและลายตามที่กำหนด แล้วจึงนำมาทอเป็นผ้าผืน  มีการทำกันมากในภาคอีสานการทอผ้ามัดหมี่แต่ละผืนจะต้องใช้เวลาและความปราณีต จัดเรียงเส้นไหมและฝ้ายห้สม่ำเสมอคงที่และกรรมวิธีต้องเรียงลำดับก่อน-หลังเพื่อให้เกิดลวดลายสวยงามถูกต้อง ลวดลายจะเป็นลวดลายสืบต่อกันมา บางครั้งก็ได้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

วัตถุประสงค์ ->

๑) เพิ่มรายได้

๒) ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

๓) สามารถบริหารงานเป็นกลุ่มได้/เกิดความรัก ความสามัคคี

๔) มีคุณภาพชีวิตที่ดี

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

๑) ด้าย

๒) สีย้อมผ้า

อุปกรณ์ ->

๑) กี่

๒) ฟืม

๓) กระสวย

๔) อัก

๕)ไน

๖) หลอด

๗) กง

๘) กระละมัง

๙) เชือกฟาง

๑๐) มีด

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๑) การมัดหมี่ เป็นการทำลวดลายของผืนผ้า โดยการใช้วัสดุกันน้ำมัดกลุ่มเส้นฝ้ายเป็นลวดลายตามต้องการก่อนนำฝ้ายย้อมน้ำสี เมื่อแก้วัสดุกันน้ำออกจึงเกิดสีแตกต่างกันถ้าต้องการเพียง 2 สี จะแก้วัสดุมัดฝ้ายเพียงครั้งเดียวหากต้องการหลายสีจะมีการแก้มัดวัสดุหลายครั้ง ขั้นตอนการมัดหมี่ ดังนี้

-มัดกลุ่มฝ้ายแต่ละลูกหมี่ด้วยเชือกฟาง จนครบหลักหมี่ ทำเป็นเชิงผ้า

-การเริ่มต้นลายมัดหมี่ อาจมัดจากด้านบนไล่เรียงลงข้างล่าง หรือมัดข้างล่างก่อนจึงไล่เรียงขึ้นข้างบน บางคนอาจเริ่มมัดจากตรงกลางก่อน จึงขยายออกไปเต็มหลักหมี่

 -เริ่มมัดปลายเชือกด้านหนึ่งกับลูกหมี่ก่อน จึงพันอีกปลายหนึ่งซ้อนทับกันให้แน่นเพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยาวตามลายหมี่แล้ว มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกัน โดยเหลือปลายเชือกไว้เมื่อเวลาแก้ปอมัดจะทำได้ง่าย

 - เอาเชือกเส้นหนึ่งสอดเข้าไปในช่องหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มฝ้ายไว้เป็นวงไม่ให้หมี่ที่มัดลวดลายแล้วหลุดออกจากกัน และใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับเวลาย้อม ถอดฝ้ายมัดหมี่ออกจากหลักหมี่หลังจากนั้น เราก็จะนำไปย้อมสีเมื่อย้อมสีเสร็จก็จะนำมาแก้ปอมัดหมี่

 ๒) การแก้ปอมัดหมี่ หมี่ที่มัดเสร็จเรียบร้อยและถอดออกจากหลักหมี่แล้วนำไปแช่น้ำให้เปียก บิดให้หมาด นำไปย้อมสี ล้างสีให้สะอาด จึงนำมาแก้ปอมัดหมี่ พาดราวกระตุกให้เรียงเส้น ผึ่งให้แห้งได้ฝ้ายมัดหมี่

๓) การปั่นหลอดนำฝ้ายมัดหมี่คล้องใส่กงซึ่งวางอยู่ระหว่างตีนกง 1 คู่ หมุนกงคลายฝ้ายออกจากกงพันเข้าหลอดไม้ไผ่เล็กๆ ที่เสียบแน่นอยู่กับเหล็กไนของหลา ความยาวของหลอดไผ่สัมพันธ์กันกับกระสวยทอผ้า เมื่อหมุนกงล้อไม้ไผ่ของหลาเหล็กไนและหลอดจะหมุนเอาเส้นฝ้าย จากกงพันรอบแกนหลอดไม้ไผ่ ให้ได้จำนวนเส้นฝ้ายพอเหมาะกับขนาดองร่องกระสวยทอผ้า

๔)  การค้นหมี่ เส้นฝ้ายมีไขฉาบโดยธรรมชาติ ก่อนนำมาใช้ต้องชุบน้ำให้เปียกทั่วอณูของเส้นฝ้ายโดยชุบน้ำแล้วทุบด้วยท่อนไม้ผิวเรียบ เรียกว่า การฆ่าฝ้ายก่อนจะชุบฝ้ายหมาดน้ำในน้ำแป้งและตากให้แห้ง คล้องฝ้ายใส่กงแล้วถ่ายเส้นฝ้ายไปพันรอบอักนับจำนวนเส้นฝ้ายให้เป็นหมวดหมู่แต่ละหมู่มีจำนวนเส้นฝ้ายสัมพันธ์กับลายหมี่ มัดหมวดหมู่ฝ้ายด้วยเชือกฟาง

    ๕) การหวีเครือ เป็นการนำด้ายที่ค้นแล้วไปสอดใส่ในรูฟืมที่ใช้ในการทอแล้วใช้หวีเครือซึ่งทำจากขนหมูป่า หวีเส้นด้ายเพื่อทำให้จัดเรียงเป็นระเบียบ 

 ๖) สืบหูกเก็บเหา เป็นการต่อด้ายยืนหรือด้ายเครือเข้ากับเหาหรือตะกอ เพื่อแบ่งด้ายยืนออกเป็นหมู่ ๆ

 ๗) การค้นหมี่ หมายถึง การกำหนดด้ายทอเส้นพุ่งโดยเรียกเป็นลำ (1 ลำ หมายถึง ด้าย 4 เส้น)

 ๘) การกรอด้าย ด้ายที่มัดหมี่แล้วนำมากรอใส่หลอดเพื่อใส่กระสวย โดยใช้หลาปั่นด้ายและระวิง

 ๙) นำหลอดด้ายที่กรอแล้วมาใส่ในกระสวย

 ๑๐) การทอ ผู้ที่ทอผ้ามัดหมี่ต้องมีความชำนาญจึงจะได้ลวดลายที่ถูกต้องชัดเจน

 

ข้อพึงระวัง ->

-

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา