ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

โดย : นายบุญเรือง ขวัญทับทิม วันที่ : 2017-04-19-16:27:37

ที่อยู่ : 58 หมู่ที่ 5 บ้านหนองกาว ต.นาเชือก

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในหมู่บ้านหนองกาว จะทำในลักษณะอาชีพเสริม ซึ่งเลี้ยงกันในครัวเรือน มาเป็นอาชีพรองหรืออาชีพหลัก เนื่องจากอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยง ไหมสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี และทำให้เกษตรกรมีงานทำตลอดทั้งปีเป็นการยกระดับการครองชีพของเกษตรกรให้ดีขึ้น

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเตรียมพื้นที่การปลูกหม่อน

- พื้นที่ปลูกหม่อนควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกในการให้น้ำแปลงหม่อนช่วงฤดูแล้ง

- ควรอยู่ใกล้กับห้องเลี้ยงไหม เพื่อสะดวกในการเก็บใบหม่อนมาเลี้ยงไหม

- หลีกเลี่ยงการปลูกหม่อนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง

- หลีกเลี่ยงพื้นที่มีการเกษตรพืชอื่นๆที่มีการใช้สารเคมี เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีที่ผิวใบหม่อนซึ่งอาจจะส่งผลเป็นพิษต่อหนอนไหมได้

- ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูกหม่อน คือ ช่วงฤดูฝน เพื่อให้เปอร์เซ็นต์การรอดของต้นหม่อนสูง โดยทั่วไปประมาณเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป  

- การเตรียมดินในพื้นที่ปลูกหม่อน ควรมีการสำรวจสภาพพื้นที่ว่าเป็นดินดานหรือไม่ หากใช่และไม่สามารถ หลีกเลี่ยงได้ ก็ควรที่จะทำการระเบิดดินดานก่อนการปลูก หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง การไถเตรียมดิน ควรที่จะลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และควรทำการไถอย่างน้อย 2 ครั้ง แล้วตามด้วยการไถพรวน ก็จะได้ แปลงที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกหม่อน

 

การเตรียมการปลูกหม่อน

1. การปลูกเป็นหลุม มีขนาด กว้าง x ยาว x ลึกประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยอินทรียวัตถุ  

2. ขุดเป็นร่องปลูกยาวตามแถวปลูก มีขนาด กว้าง x ลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร รองก้นร่องด้วยอินทรีย์วัตถุ

วิธีการปลูกหม่อน   การปลูกด้วยท่อนพันธุ์ นำท่อนพันธุ์ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 8 เดือน ที่ปลอดโรคและแมลง ขนาดท่อนพันธุ์ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร. หรือบนท่อนพันธุ์ มีตา 3 – 5 ตา การปลูกให้ท่อนพันธุ์ฝังลึกในดิน 3 ใน 4 ส่วน ของความยาวท่อนพันธุ์หรือให้มีตาอยู่เหนือพื้นดินอย่างน้อย 1 ตา ปลูกโดยตรงในแปลงที่เตรียมไว้

 

การเตรียมก่อนการเลี้ยงไหม

เกษตรกรจะต้องเตรียมการก่อนที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงไหมในแต่ละรุ่น ดังนี้

- อุปกรณ์การเลี้ยงไหม เช่น กระด้งเลี้ยงไหม มีด เขียง ตาข่ายถ่ายมูล จ่อ ตะแกรงร่อน ตะเกียบ ถังน้ำ เข่งหรือตะกร้าเก็บใบหม่อน รองเท้าแตะ สารโรยตัวไหม ปูนขาว เป็นต้น

- ห้องเลี้ยงไหม สำหรับในส่วนของอุปกรณ์และห้องเลี้ยงไหมจะต้องทำความสะอาดโดยการล้างด้วยผงซกฟอก และตากแดดให้แห้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันกำจัดโรคที่ดีที่สุด

- ไข่ไหมพันธุ์ดี

- แปลงหม่อนที่สมบูรณ์พร้อมที่จะเก็บใบมาเลี้ยงไหม

 

การจัดการไหมแรกฟัก

     นำแผ่นไข่ไหมที่ผ่านการกกมาเรียบร้อยแล้ว มาวางบนกระด้งเลี้ยงไหมเพื่อพร้อมเปิดเลี้ยงไหมในวันรุ่งขึ้น แผ่นไข่ไหมจะถูกห่อหุ้มด้วยกระแก้วขาวขุ่นอยู่ชั้นใน ส่วนชั้นนอกจะห่อด้วยกระดาษดำ ในช่วงเช้าตรู่ประมาณ05.00น. ให้ทำการแกะกระดาษดำออกเพื่อให้ไข่ไหมได้รับแสงสว่าง ไข่ไหมจะเริ่มแตกเพื่อให้ตัวอ่อนออกจากไข่ ปล่อยให้ได้รับแสงประมาณ5-6 ชั่วโมง คือเวลาประมาณ10.00-11.00 น. ก็ให้เปิดกระดาษห่อแผ่นไข่ไหมชั้นในออก ทำการโรยสารพาราฟอร์มาดีไฮด์ผงความเข้มข้นประมาณ3เปอร์เซนต์ ให้ทั่วตัวไหม ให้นำใบหม่อนที่หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5 x 0.5เซนติเมตร ประมาณ 40 กรัม ไปโรยให้หนอนไหมกิน ประมาณ 10-15 นาที แล้วทำการเคาะแผ่นไข่ไหมด้านตรงข้ามกับด้านที่มีตัวหนอนไหมอยู่ เพื่อให้หนอนไหมล่วงลงในกระด้งเลี้ยงไหมที่เตรียมไว้ จากนั้นใช้ขนไก่ปัดตัวหนอนไหมที่เหลืออยู่ที่แผ่นให้ไปอยู่รวมกันบนกระด้งเลี้ยงไหม พร้อมทั้งใช้ขนไก่เกลี่ยให้ตัวหนอนไหมกระจายอย่างสม่ำเสมอบนกระด้งเลี้ยงพร้อมกับขยายพื้นที่ให้ได้ประมาณ 2 เท่าของแผ่นไข่ไหม แล้วให้ใบหม่อนอีกครั้งประมาณ 80 กรัม จากนั้นก็คือมื้อเย็นเวลาประมาณ17.00น.เป็นการเสร็จสิ้นของการเลี้ยงไหมในวันแรก จากนั้นในการเลี้ยงไหมวันต่อๆมาก็จะมีการให้ใบหม่อนแก่หนอนไหมวันละ 3 มื้อ คือเวลา07.00-08.00 น. 11.00-12.00 น. 17.00-18.00 น. ยกเว้นวันไหมนอนเพราะหนอนไหมจะหยุดกินใบหม่อน

 

เทคนิคการเลี้ยงไหมวัยอ่อน

1. ไหมวัยอ่อน หมายถึง ตัวหนอนไหมตั้งแต่วัย1-วัย3 การเจริญเติบโตรวมประมาณ 10 วัน

2. การเก็บใบหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมวัย อ่อน จะทำการเก็บหม่อนจากใบที่ 3-4 นับจากยอดลงมา เนื่องจากไหมวัยอ่อนต้องการใบหม่อนที่มีความอ่อนนุ่ม

3. การให้ใบหม่อนและการจัดการสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม ทำการหั่นใบหม่อนให้มีความกว้าง 1.5-2.0 x 1.5-2.0 เซนติเมตร พอขึ้นวัย3 หั่นใบหม่อนให้ขนาดโตขึ้นได้ ในการขยายพื้นที่เลี้ยงให้ใช้ตะเกียบเพื่อป้องกันการติดแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากวัยอ่อนมีโอกาสในการติดเชื้อได้ง่าย พื้นที่ที่เหมาะสม คือขยายให้หนอนไหมไม่เกาะติดกันมากนัก เพื่อให้การระบายอากาศในกระด้งเลี้ยงมีการถ่ายเทอากาศดี เมื่อถึงวัย3พื้นที่เลี้ยงประมาณ 4.0 ตารางเมตร สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงไหมวัยอ่อน(วัย1-วัย3) คือ อุณหภูมิประมาณ 28, 27, 26 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90, 85, 80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ดังนั้นในการเลี้ยงไหมวัยอ่อนบางครั้งเจอสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งมากเกษตรกรจะนำวัสดุพื้นบ้าน เช่น กาบกล้วย มาใช้ในการควบคุมความชื้นภายในกระด้งเลี้ยงไหม หรือใช้ใบตองกล้วยมาปิดกระด้งเลี้ยงไหม เป็นการช่วยรักษาให้ใบหม่อนสดตลอดเวลา หรือทำการลาดน้ำที่พื้นห้องเลี้ยงเพื่อช่วยเพิ่มความชื้น ทั้งนี้ภายในห้องเลี้ยงไหมควรมีเทอร์โมมิเตอร์แบบกระเปาะเปียกและกระเปาะแห้งเพื่อวัดอุณหภูมิและความชื้นจดบันทึกรายละเอียดของอุณหภูมิและความชื้นตลอดทั้งรุ่นการเลี้ยง เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการเลี้ยงไหมที่ดี

 

เทคนิคการเลี้ยงไหมวัยแก่

1. ไหมวัยแก่ หมายถึง หนอนไหมที่เจริญเติบโตอยู่ในช่วงวัย4และวัย5 จะมีช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตอยู่ประมาณ 11-12 วัน

2. การเก็บใบหม่อนเลี้ยงไหมวัยแก่ ให้ทำการเก็บใบหม่อนที่แก่ คือ เริ่มเก็บใบหม่อนตั้งแต่ใบที่5ลงมา ยกเว้นการเลี้ยงแบบกิ่งก็จะทำการตัดกิ่งหม่อนทั้งกิ่งมาเลี้ยงไหม

3. การให้ใบหม่อนในการเลี้ยงไหมวัยแก่และการจัดสภาพการเลี้ยงที่เหมาะสม ให้ใช้ใบที่สมบูรณ์และมีคุณภาพดี ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งถัดจากใบที่เก็บไปเลี้ยงไหมวัยอ่อน คือประมาณใบที่5ลงมา ในมื้อแรกของหนอนไหมวัย4 ซึ่งหนอนไหมพึงตื่นนอนจากหนอนไหมวัย3 ใบหม่อนที่ใช้เลี้ยงไหมให้หั่นตัดเป็น2ส่วน หรือ3ส่วนเพื่อให้หนอนไหมกินได้ดีที่สุด กาจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงไหมวัยแก่ อุณหภูมิประมาณ 24- 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-75 เปอร์เซ็นต์ การเลี้ยงไหมวัยแก่หนอนไหมต้องการจัดระบบการหมุนเวียนอากาศดี เพราะทั้งขนาดตัวหนอนไหม ปริมาณใบหม่อน และมูลไหมเศษใบหม่อนจะเป็นแหล่งที่เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นการหมุนเวียนเพื่อระบายอากาศจึงมีความจำเป็น เพื่อให้หนอนไหมเจริญแข็งแรง

 

การเก็บไหมสุก

 

1. ไหมสุก หมายถึงหนอนไหมวัย5 ที่กินใบหม่อนเต็มที่แล้ว ก็จะเริ่มสุก พร้อมที่จะพ่นเส้นใย ในวัย5ใช้เวลาประมาณ 5-6วัน ไหมก็จะเริ่มสุก หยุดกินใบหม่อน หากเป็นไหมไทยก็จะสังเกตได้ง่าย คือลำตัวหนอนไหมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส เพราะ ภายของตัวหนอนไหมส่วนที่เป็นsilk-gland ก็จะเต็มไปด้วยสารพ่นใยไหม ซึ่งไหมไทยมีสีเหลืองจึงทำให้เห็นได้ชัด แต่หากเป็นไหมลูกผสมก็จะมีสีขาวใสโปร่งแสง ในระยะนี้หนอนไหมพร้อมที่จะพ่นใยไหมออกมาเพื่อห่อหุ้มตัว เรียกว่าไหมทำรัง แล้วหนอนไหมก็จะพัฒนาไปเป็นดักแด้อยู่ภายในรัง สภาพที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ ประมาณ 24 องศาเซลเซียส ความชื้นประมาณ 75 เปอร์เซนต์

2. การเก็บไหมสุกเข้าจ่อ ให้ทำการเก็บไหมสุกโดยการใช้มือ นำไปใส่ลงในจ่อ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับไหมทำรัง ปริมาณหนอนไหมต่อจ่อจะต้องมีความเหมาะสมไม่แน่นจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรังแฝด ซึ่งเป็นรังไหมชนิดหนึ่งของรังเสีย การเก็บไหมสุกเข้าจ่อจะต้องทำการเก็บให้ทันเวลา คือจะต้องเก็บไหมสุกเข้าจ่อก่อนที่ไหมสุกจะพ่นเส้นใยทำรัง เพราะจะกระทบต่อผลผลิตรังไหม

3. การเก็บเกี่ยวรังไหม ให้หนอนไหมทำรังอยู่ในจ่อประมาร 5-6 วัน จึงทำการเก็บรังไหมออกจากจ่อ จากนั้นก็นำรังไหมไปทำการสาวเส้นไหมต่อไป 

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา