ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การเพาะเห็ดนางฟ้า

โดย : นายสาธิต ต่วนกลาง วันที่ : 2017-06-12-15:47:20

ที่อยู่ : 276 หมู่ 6 ตำบลท่าตะคร้อ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เห็ดนางฟ้า จัดเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่สำคัญที่นิยมรับประทานมากไม่แพ้กว่าเห็ดอื่น  เนื่องจาก เห็ดชนิดนี้สามารถเพาะได้ง่าย มีเวลาในการเพาะสั้น ดอกเห็ดออกจำนวนมาก ดอกเห็ดให้เนื้อนุ่ม สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด  เห็ดนางฟ้านิยมนำดอกเห็ดสดมาประกอบอาหาร   เช่น เห็ดนางฟ้าชุบแป้งทอด ต้มยำเห็ดนางฟ้า และห่อหมกเห็ดนางฟ้า เป็นต้น

                   ประชาชนบ้านพุบอน  มีหลายครัวเรือนประกอบอาชีพการเพาะเห็ดนางฟ้า  เห็ดหูหนู  แต่มีประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีทุนในการลงทุนจึงรับจ้างตีเห็ด  เรียนรู้จากปราชญ์ชุมชน ก็คือ  นายสาธิต  ต่วนกลาง  โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพาะเห็ดของหมู่บ้านเป็นจุดฝึกปฏิบัติ  แล้วรวมกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าขึ้นมา

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน  

2. เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

3. เพื่อจัดตั้งกลุ่มอาชีพของผู้สนใจเข้ามาร่วมกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดนางฟ้า

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

                   1. ขี้เลื่อย  1,000 กก.                      2. รำแป้ง(รำละเอียด) 30-50 กก.

                    3. ดีเกลือ  1 กก.                             4. ปูนขาว  10 กก.

                    5. อาหารเสริมเห็ด  3 กก.                   6. หัวเชื้อเห็ด  35 ขวด

อุปกรณ์ ->

1. ถุงขนาด 4*6 นิ้ว                         2. ยางวง

                    3. ปลอกคอ                                   4. กระดาษ

                    5. สำลี                                        6. ตะแกรงเหล็ก

                    7. เตานึ่งเห็ด                                 8. โรงเพาะชำ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. นำน้ำรดขี้เลื่อยหมักไว้ 1 คืน  โดยใช้น้ำประมาณ 60 %  ให้ขี้เลื่อยพอหมาดๆ

                    2. นำขี้เลื่อยที่ผ่านการหมักแล้วกองผสมกับรำแป้ง ดีเกลือ ปูนขาว อาหารเสริมเห็ด ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้  คลุกเคล้าให้เข้ากัน

                    3. นำมาบรรจุใส่ถุงและกระแทกให้แน่น ใส่ปลอกคอพร้อมรัดยาง ใช้สำลีอุดพอประมาณไม่ต้องแน่นมาก

                    4. นำมาใส่ตะแกรงเหล็ก เพื่อนำไปเข้าเตานึ่งเห็ด

                    5. การนึ่งเห็ดใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 3 ชั่วโมง  นับช่วงเวลาตั้งแต่น้ำเดือด

                    6. นำมาพักไว้เพื่อให้เย็น  5  ชั่วโมง

                    7. เปิดสำลี  แล้วนำหัวเชื้อเห็ดพร้อมใช้งานหยอดใส่ประมาณ 1 ฝาขวดแม่โขง  (หัวเชื้อ 1 ขวด หยอดได้ประมาณ  35-40 ก้อน) แล้วปิดด้วยสำลี  นำกระดาษมาปิดทับแล้วรัดด้วยยางอีกครั้ง

                    8. นำก้อนเห็ดไปบ่มในโรงเรือนเพาะเห็ด ระยะเวลา 1 เดือน  เมื่อครบ 1 เดือน  ให้แกะกระดาษ สำลี  ออก  

                    9. พอเห็ดเริ่มออกดอกจึงรดน้ำ  แต่ห้ามให้น้ำเข้าก้อนเห็ดเพราะว่าจะเกิดเชื้อรา

                    10. รอเก็บเห็ด

ข้อพึงระวัง ->

อากาศจะส่งผลถึงการออกดอกเห็ด

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเพชรบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา