ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

ความรู้ชุมชนสัมมาชีพ (การจับผึ้ง)

โดย : นายสุพิษ แก้วพิทักษ์ วันที่ : 2017-03-26-16:32:39

ที่อยู่ : 34/7 ม.6 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

บ้านหินจอก มีพื้นที่เป็นป่าและสวนผลไม้จึงมีผึ้งป่าเป็นจำนวนมาก เหมาะแก่การเลี้ยงผึ้งเป็นอย่างดี เช่น สวนเงาะ ทุเรียน ลองกอง เป็นต้น

          เมื่อก่อนผึ้งโพรงจะอาศัยอยู่ตามป่าเขาในธรรมชาติ แต่พอมนุษย์ไปบุกรุกทำลายป่าทำลายธรรมชาติ จึงทำให้ผึ้งที่อยู่ในป่า เข้ามาทำรังอยู่ที่ที่อาศัยของมนุษย์ ชาวบ้านจึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ผึ้งมาทำรังที่บ้านชาวบ้าน โดยการทดลองเลี้ยงผึ้งโดยการใช้ลังปลาทูมาดัดแปลงทำเป็นที่อยู่อาศัยของผึ้ง ตอนแรกก็ทำรังเดียวหรือ ๒ รัง ปรากฏว่าผึ้งมาอยู่ที่รังผึ้งที่ชาวบ้านทำให้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

-

อุปกรณ์ ->

1. มีดตัดรังผึ้ง

2. เสื้อผ้าสวมใส่ที่มิดชิด

กระบวนการ/ขั้นตอน->

เมื่อเรามีสถานที่ที่เหมาะสมแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ การเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงผึ้ง ได้แก่ หีบเลี้ยงผึ้ง คอน แผ่นรังเทียม กล่องนางพญา หมวกคลุมศีรษะ ซึ่งมีผ้าตาข่ายข้างหน้ากันผึ้งต่อย เหล็กงัดรัง มีด ค้อน ตะปู และเลื่อย เป็นต้น
ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือ การจับผึ้งมาเลี้ยง ก่อนที่จะจับผึ้ง ต้องสำรวจดูว่า มีผึ้งอยู่ที่ใดบ้าง และจับได้ง่าย ไม่ควรอยู่สูงจนเกินไป การจับผึ้งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
๑. เตรียมอุปกรณ์จับผึ้ง ได้แก่ หีบจับผึ้ง ซึ่งมีถุงตาข่ายปลายเปิดติดอยู่ด้านล่าง หมวกตาข่ายกันผึ้งต่อย กาบมะพร้าว ไม้ขีดไฟ สิ่ว ค้อน และตะปู
๒. เมื่อพบรังผึ้ง ซึ่งอยู่ในโพรง สำรวจรูทางเข้าออกของผึ้ง ถ้ามี ๒ ทางให้ปิดเหลือเพียงรูเดียว จากนั้นเจาะรูทางเข้าออกให้กว้างพอสำหรับมือที่จะล้วงเข้าไปอย่างสะดวก ข้อควรระวังในขณะที่เจาะขยายทางเข้าออก ควรสวมหมวกตาข่าย และอุดรูทางเข้าออกไว้ด้วย เพราะแรงสั่นสะเทือนขณะที่เจาะ จะทำให้ผึ้งทหารที่เฝ้าหน้ารังเข้าโจมตีคนจับผึ้งได้
๓. ค่อยๆ เปิดรูทางเข้าออกที่เจาะไว้ จุดไฟที่กาบมะพร้าวให้มีแต่ควันไฟ เพื่อไล่ผึ้งให้ขึ้นไปอยู่เหนือโพรงให้หมด จากนั้นดึงรวงผึ้งออกมา พร้อมกับใช้ควันไล่ผึ้ง ถ้ามีผึ้งติดรวงรังออกมา ควรตรวจดูให้ดี อย่าให้นางพญาหลุดหนีออกไป ในขณะที่ดึงรวงผึ้งออกมาเป็นอันขาด ถ้านางพญาหนีหายไป การจับผึ้งรังนั้นเป็นอันไร้ผล เพราะการจับผึ้งไปโดยไม่มีนางพญา จะไม่สามารถเลี้ยงสำเร็จได้เลย ถ้าพบนางพญาให้จับใส่ในกล่องขังนางพญาทันที
๔. เมื่อดึงรวงผึ้งออกหมดแล้ว ใช้มือหรือไม้สอดเข้าไปในโพรง เพื่อวัดความสูงของโพรง แล้วเจาะรูเล็กๆ ประมาณ ๒x๒ ตารางนิ้ว ให้พอดีกับความสูงของโพรง จากนั้นเอาหีบจับผึ้งแขวนไว้เหนือรู โดยให้ถุงตาข่ายซึ่งติดอยู่ใต้หีบคลุมปิดปากรูอย่างมิดชิด
๕. ใช้ควันรมที่ปากรูใหญ่ทางด้านล่างอีกครั้ง ฝูงนี้จะหนีควันออกทางรูบน เข้าสู่หีบจับผึ้ง ตรวจดูในโพรงอีกครั้งว่า ไม่มีผึ้งหลงเหลืออยู่แล้ว จึงผูกปากถุงให้แน่น โดยที่ผึ้งทั้งรั้งอยู่ในหีบ
๖. นำหีบจับผึ้งกลับไป เพื่อย้ายเข้าสู่หีบเลี้ยงมาตรฐาน โดยนำรวงผึ้งที่ดึงออกมาจากรังเดิมมาตัดให้พอดีกับขนาดคอน พยายามเลือกรวงผึ้งที่มีหลอดรวงตัวอ่อนของผึ้งระยะดักแด้มากๆ เมื่อวัดและตัดรวงผึ้งได้ขนาดแล้ว นำคอนมาทาบ ให้เส้นลวดทับรวงผึ้ง จากนั้นใช้มีดคมๆ กรีดตามรอยเส้นลวด ให้ลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความหนาของรวงผึ้ง ตามรอยเส้นลวดทั้งสามเส้น ใช้มือกดเส้นลวดให้ฝังลึกลงไปในรวงผึ้ง ใช้เชือกเส้นเล็กๆ ผูกรวงผึ้งให้ติดกับคอน แล้วแก้เชือกออกในวันที่สาม นำกล่องที่ขังนางพญามาผูกติดกับคอน ในกรณีที่นางพญาอยู่ในหีบจับผึ้งอยู่แล้ว ให้ผ่านขั้นตอนนี้ไปได้เลย
๗. นำหีบจับผึ้งไปใส่ในหีบเลี้ยง เปิดปากถุง ให้ผึ้งออกไปหานางพญา และห่อหุ้มรวงรังปิดฝาหีบเลี้ยงทิ้งไว้ ๑ คืน และเปิดปากรังตอนเช้า ให้ผึ้งบินออกหาอาหารตามปกติ
อนึ่ง การจับผึ้งควรจับในตอนเย็นๆ เพราะมีประชากรผึ้งเกือบทั้งหมด เมื่อนำผึ้งไปใส่ในหีบเลี้ยงเป็นเวลามืดพอดี ตอนเช้าผึ้งก็จะออกหาอาหารตามปกติ แต่สถานที่เลี้ยงผึ้งควรห่างจากที่จับผึ้งอย่างน้อย ๓ - ๕ กิโลเมตร มิฉะนั้นผึ้งจะบินกลับไปรังเดิมอีก

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดตรัง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา