เทคนิคส่งเสริมสัมมาชีพ

เทคนิคการเลี้ยงสุกร

โดย : นางอุ่น สีแดด ตำแหน่ง : เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน วันที่ : 2017-04-05-12:12:59

ที่อยู่ : 2 หมู่ที่ 2 ตำบลสุขสวัสดิ์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่สุจริต และต้องใช้ความใส่ใจในการเลี้ยง  และสามารถเป็นอาชีพเสริมให้ครอบครัวได้

วัตถุประสงค์ ->

การเลี้ยง และการดูแลลูกหมู ตั้งแต่หลังคลอด ไปจนถึงหย่านม นับได้ว่า เป็นช่วงที่มีความยุ่งยากมากกว่าช่วงอื่นๆ เป็นช่วงที่มีการสูญเสียลูกหมูมากที่สุด โดยเฉลี่ยประมาณ ๒ ตัวต่อครอก ซึ่งอาจเกิดเนื่องจากถูกแม่ทับตาย ท้องร่วงอย่างแรง อดอาหาร โลหิตจาง และเสียเลือดมากทางสายสะดือเมื่อคลอด อย่างไรก็ตามการสูญเสียลูกหมูในช่วงนี้ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการดูแลไม่ดี มากกว่าสาเหตุอื่นๆ ดังนั้น เพื่อลดการสูญเสีย ลูกหมูในช่วงนี้ ผู้เลี้ยงควรเตรียมการดูแลลูกหมู ดังนี้ 

๑. การให้ความอบอุ่น 

หมูที่มีอายุต่ำกว่า ๓ วัน กลไกที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายยังไม่ทำงาน จึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความผันแปรของอุณหภูมิภายนอกได้ ลูกหมูแรกเกิดที่ถูกความหนาวเย็นมากๆ หรือเป็นเวลานานๆ อุณหภูมิของร่างกายจะลดลง จะเป็นผลให้ลูกหมูตัวนั้นตายได้

๒. การป้องกันลมโกรก 

ไม่ควรปล่อยให้ลูกหมูถูกลมโกรก เช่น ให้ลูกหมูอยู่ในคอกที่โปร่งมาก หรือมีพื้นเป็นไม้ระแนง เพราะจะทำให้ลูกหมูเจ็บป่วยได้ง่าย บริเวณสำหรับลูกหมูแรกคลอดหลับนอน ควรมีที่กำบังลมไว้ประมาณ ๓-๔ วัน จะช่วยให้ลูกหมูไม่ถูกลมโกรกมากนัก อย่างไรก็ตาม คอกลูกหมูก็ไม่ควรปิดทึบ เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เวลาคอกเปียกชื้น จะแห้งยาก ทำให้เกิดเชื้อโรค ลูกหมูจะเจ็บป่วยได้ง่ายเช่นกัน 

๓. การรักษาความสะอาดคอก 

คอกที่ ใช้เลี้ยงลูกหมูควรทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ พื้นคอกตลอดจนบริเวณที่ลูกหมูนอน ควรจะแห้งและสะอาดอยู่เสมอ ถ้าจำเป็นที่จะต้องล้างทำความสะอาด เนื่องจากคอกสกปรก ควรขังลูกหมูเอาไว้ก่อน อย่าปล่อยออกมาให้ตัวเปียกน้ำ ลูกหมูอาจจะหนาวสั่น และเจ็บป่วยได้ เมื่อเห็นว่า คอกแห้งพอสมควรดีแล้ว จึงปล่อยลูกหมูตามเดิม 

๔. การตัดสายสะดือ 

ก่อนอื่นควรมัดสายสะดือ เพื่อป้องกันเลือดออกหลังตัด ควรตัดให้เหลือสายสะดือยาวประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร เมื่อลูกหมูยืนขึ้นสายสะดือจะได้ไม่ติดพื้นคอก จากนั้นเช็ดแผลที่ตัดแล้วด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน สายสะดือเป็นส่วนสำคัญ ที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ตัวลูกหมูได้ การเจ็บป่วย เช่น ลูกหมูขาเจ็บหรือตาย อาจจะมาจากการละเลยการปฏิบัติดังกล่าว 

๕. การตัดฟันและการตัดหาง 

ควรตัดภายหลังที่ลูกหมูคลอดได้ไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง การตัดฟันและหางนี้ ควรทำพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการจับต้องลูกหมูหลายๆ ครั้ง 
 

  • การตัดฟัน ลูกหมูแรกคลอดมีฟันที่แหลมคมอยู่ ๔ คู่ ๒ คู่อยู่ที่ขากรรไกรบน อีก ๒ คู่อยู่ที่ขากรรไกรล่าง ฟัน ๔ คู่นี้ไม่มีประโยชนต่อลูกหมู แต่จะทำให้ระคายเคืองต่อเต้านมแม่ ขณะที่ลูกหมูดูดนม จึงควรตัดให้เรียบสั้นหลังคลอด การตัดต้องระมัดระวังอย่าให้ฐานของฟันเสีย หรือเหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้ หรือเป็นสาเหตุที่เป็นอันตรายต่อเหงือก (การตัดฟันลูกหมู โดยไม่ระมัดระวัง ก็จะทำให้เหงือกได้รับอันตราย จากเครื่องมือที่ใช้ได้ เช่น ไปตัดโดนเหงือก เครื่องมือที่ใช้ตัดฟัน ถ้าไม่คมก็จะตัดฟันได้ไม่เรียบ ฐานฟันอาจเสีย และทำให้เหงือกได้รับอันตราย บางครั้งก็เหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้เหมือนขวดแก้วแตก ฟันเช่นนี้ เมื่อไปกัดหัวนมแม่ จะคมยิ่งกว่าฟันธรรมดาที่ไม่ได้ถูกตัด)
  • การตัดหาง ปัญหาเรื่องลูกหมูกัดหางกัน มักจะเนื่องมาจากการเลี้ยงหมูแบบขังคอก และเลี้ยงไว้คอกละจำนวนมาก ผู้เลี้ยงอาจจะตัดหางลูกหมูทิ้งเสียตั้งแต่ยังเล็กก็ได้ ควรตัดให้เหลือ เพียง ๑/๔ นิ้ว ไม่ควรทำกับหมูที่โตแล้ว ในกรณีที่เกิดปัญหาการกัดหางกัน ก็สามารถแก้ไขได้โดยการผูกโซ่หรือยาง ห้อยไว้ในคอก เพื่อให้หมูได้กัดเล่น 

๖. การป้องกันโรคโลหิตจาง 

โรคโลหิตจางในลูกหมูมักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ทั้งนี้ เพราะลูกหมูมีความต้องการธาตุเหล็กมากเกินกว่าที่ได้รับจากน้ำนมแม่ เนื่องจากลูกหมูมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และธาตุเหล็กที่เก็บสำรองในตัวลูกหมูที่เกิดใหม่ มีอยู่จำนวนน้อย เพื่อป้องกันโรคนี้ ผู้เลี้ยงควรฉีดธาตุเหล็กให้ลูกหมูประมาณ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อลูกหมูอายุได้ ๓ วัน ครั้งถัดไปเมื่อลูกหมูมีอายุได้ ๒-๓ สัปดาห์ 

๗. การตอนลูกหมูตัวผู้ 

ลูกหมูตัวผู้ที่ไม่เก็บไว้ทำพันธุ์จะตอนเมื่ออายุเท่าใดก็ได้ แต่ที่เหมาะคือ เมื่ออายุได้ ๒ หรือ ๓ สัปดาห์ ในช่วงนี้อันตรายจากการตอนมีน้อยกว่าช่วงที่ลูกหมูโตแล้ว เพราะจับลูกหมูได้ง่ายกว่า และแผลก็จะหายเร็วกว่าด้วย

๘. การหัดให้กินอาหารแห้ง 

ก่อนลูกหมูหย่านมอย่างสมบูรณ์ เมื่อลูกหมูมีอายุได้ ๑ หรือ ๒ สัปดาห์ ควรหัดให้กินอาหารบ้าง ลูกหมูที่เคยหัดให้กินอาหารตั้งแต่เล็ก โดยทั่วไปเมื่อหย่านม จะเรียนรู้การกินอาหารได้เร็วกว่าพวกที่ไม่เคยหัดเลย

 

 

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.ความตั้งใจ

2.การเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ

อุปกรณ์ ->

-

กระบวนการ/ขั้นตอน->

-

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา