เทคนิคส่งเสริมสัมมาชีพ

การทอผ้าไหมมัดหมี่

โดย : นางพิสมัย สีกันหา ตำแหน่ง : ปราชญ์ชุมชน วันที่ : 2017-07-03-15:32:49

ที่อยู่ : 83 หมู่ 5 ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ผ้ามัดหมี่ เป็นการทอผ้าอย่างหนึ่งที่มีการสร้างลวดลายก่อนที่จะทำการย้อมสี การทำลายผ้ามัดหมี่เป็นการเอาเชือกมามัดด้ายหรือมัดเส้นไหมตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ การมัดและย้อมลายจะมีการทำทั้งเส้นทางแนวยืน และแนวนอนหรือที่เรียกว่าแนวพุ่ง มีการสันนิษฐานว่าการมัดลายในแนวยืนน่าจะมีมาก่อนในแนวพุ่ง และจากการสืบค้นมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากประเทศอินเดีย โดยในสมัยโบราณที่มีการค้าขายกันและติดมากับสินค้าอื่น

การทอผ้ามัดหมี่โบราณนิยมการย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีแดงจากครั่ง สีน้ำเงินจากคราม เป็นต้น ส่วนผ้าไหมมัดหมี่จะนิยมทำในกลุ่มไท-ลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเส้นทางการรับแบบอย่างของผ้ามัดหมี่ คือจากอินเดีย ผ่านมาทางอินโดนีเซียและกัมพูชาหรือเขมร ดังที่เราจะเห็นได้ว่าผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ จะเป็นวัฒนธรรมที่เป็นแบบเขมรอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันผ้ามัดหมี่มีการทำกันอย่างแพร่หลาย สามารถทำได้ดีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าไหมจะมีความสวยงามมาก นอกจากตัวผ้าไหมเองแล้ว ลวดลายและสีสันยังเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความสวยงามให้มากยิ่งขึ้น การอนุรักษ์ลวดลายโบราณ และนำมาประยุกต์ใช้ จึงเป็นสิ่งที่น่าจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การเก็บรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติเพื่อการถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ดีและควรให้การสนับสนุน

สำหรับลวดลายต่างๆที่มีการสร้างสรรค์มาแต่โบราณ จึงเป็นงานศิลป์ที่ควรแก่คุณค่าให้เป็นสินทรัพย์ของแผ่นดินไทยตลอดไป

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี)

(1) เส้นไหม ใช้เส้นไหมคุณภาพมาตรฐาน ประกอบด้วยเส้นไหมยืน และเส้นไหมพุ่ง

อุปกรณ์

(2) หลักเฝือ คือ อุปกรณ์ในการค้นเส้นยืน เพื่อทำการเตรียมเส้นยืน ก่อนที่จะนำไปติดตั้งกี่ทอผ้า

(3) กง คือ อุปกรณ์สำหรับใส่เส้นไหมเพื่อการกรอเส้นไหมเข้าอัก

(4) อัก คือ อุปกรณ์สำหรับการม้วนเก็บเส้นไหมที่ทำการกรอจากกง

(5) ไน/หลา คืออุปกรณ์สำหรับการกรอเส้นไหมเข้าหลอด หรือ เป็นอุปกรณ์ในการตีเกลียวเส้นไหม และควบตีเกลียวเส้นไหม

(6) หลอด คือ อุปกรณ์สำหรับการม้วนเก็บเส้นไหมเพื่อนำไปในกระสวยเพื่อการพุ่งเส้นพุ่งในการทอผ้ามัดหมี่

(7) กระสวย คือ อุปกรณ์สำหรับใส่หลอดม้วนเส้นไหมพุ่งเพื่อพุ่งนำหลอดเส้นพุ่งในการทอผ้า

(8) ฟืม คือ อุปกรณ์สำหรับการจัดเรียงเส้นไหมยืนก่อนที่จะนำไปเส้นยืนไปกลางตั้งขึ้นบนกี่ทอผ้า

(9) กี่ทอผ้า คือ อุปกรณ์สำหรับการทอผ้า

(10) ไม้เหยียบหูก คือ อุปกรณ์ที่เป็นท่อนไม้ที่อยู่ด้านล่างของกี่ทอผ้า มีเชือดโยงติดกับตะกอฟืม เพื่อใช้เท้าเหยียบให้เส้นยืนสลับขึ้นและลง เพื่อการสอดเส้นพุ่งในการทอผ้า

(11) แปรงทาแป้งบนเส้นยืน คือ อุปกรณ์สำหรับใช้ทาน้ำแป้งบนเส้นยืนเพื่อป้องกันเส้นยืนแตกในขณะที่ทอผ้า

(12) ไม้คันผัง คือ อุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ค้ำยันขอบริมผ้าหน้ากว้างทั้งสองด้านของหน้ากว้างผืนผ้าให้ตึงและตรงตลอดทั้งแนวความยาว

 

กระบวนการ/ขั้นตอน

1. การลอกกาวเส้นไหมทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง

1.1 ทำการเลือกเส้นไหม ทั้งส่วนที่ใช้ทำเป็นเส้นยืน และเส้นพุ่ง โดยเลือกใช้เส้นไหมที่มีมาตรฐานคุณภาพ คือมีการสานเส้นไหมเป็นลักษณะตาข่าย ขนาดเส้นรอบวงไจไหม น้ำหนักไจไหม การทำไพไหม เพื่อการง่ายและสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงาน

1.2. ทำการเตรียมสารลอกกาวธรรมชาติ โดยใช้ผักโขมมาตากแดด แล้วนำมาเผาให้เป็นขี้เถ้านำขี้เถ้าที่เผาได้มาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำมากรองด้วยผ้าบาง ก็จะได้น้ำด่างธรรมชาติเพื่อการลอกกาว

1.3 นำเส้นไหมที่เตรียมไว้มาทำการต้มลอกกาวด้วยสารลอกกาวธรรมชาติที่เตรียมไว้ โดยใช้อัตราส่วนระหว่างสารลอกกาวกับเส้นไหมเท่ากับ 50 ลิตรต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัม แล้วทำการต้มลอกกาวในระดับอุณหภูมิที่ 95 องศาเซลเซียส นานประมาณ 45 นาที แล้วให้ทดสอบโดยการใช้มือสัมผัสว่ากาวได้ถูกต้มออกหมดแล้ว นำเส้นไหมมาล้างด้วยน้ำร้อนที่ไม่น้อยกว่า 90 องศาเซลเซียส แล้วล้างด้วยน้ำอุ่น และน้ำธรรมดา จากนั้นบีบน้ำออกจากเส้นไหม แล้วทำการกระตุกเส้นไหมก่อน นำไปผึ่งตากแห้ง

2. การเตรียมฟืมทอผ้า

ทำการค้นเส้นด้ายลักษณะเดียวกับการค้นเส้นยืน จากนั้นนำเส้นด้ายมาร้อยเข้ากับฟืม โดยการร้อยผ่านช่องฟันหวีแต่ละช่องทุกช่องๆละ2เส้น แล้วใช้ท่อนไม้ไผ่เล็กๆสอดเข้าในห่วงเส้นด้ายที่ร้อยเข้าช่องฟันหวีเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงและจัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อย

ส่วนด้านหน้าของฟืมก็จะมีท่อนไม้ไผ่เช่นเดียวกับด้านหลังเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงเช่นเดียวกับด้านหลังของฟืมที่กล่าวมาแล้ว จากนั้นให้ทำการเก็บตะกอฟืมแบบ2ตะกอ เราก็จะได้ชุดฟืมทอผ้าที่พร้อมสำหรับการทอผ้า

3. การย้อมสีเส้นยืน

การย้อมสี เทคนิคการย้อมเส้นยืน ให้ทำการเตรียมสีธรรมชาติตามสีที่ต้องการย้อมสี ซึ่งลายโบราณที่ทำในครั้งนี้จะเป็นลายมัดหมี่ลวดลายหมี่ข้อ ซึ่งในสมัยโบราณจะทอผ้ามัดหมี่ที่มีหมี่ข้อและตกแต่งด้วยการทอสอดเส้นไหมคั่นโดยทำการทอแบบค้ำเพลาทำให้เส้นไหมที่ทอสอดคั่นฟูสวยงาม เป็นลวดลายที่คนในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าเป็นมงคลแก่ผู้สวมใส่คือ แสดงถึงความมั่นคง เฟื่องฟู มีการค้ำจุนความมั่นคงของชีวิต และสีที่ใช้จะมีสีแดง สีเขียว เหลือง

สีแดงจะได้มาจากครั่ง ทำการเตรียมโดยเลือกครั่งที่มีคุณภาพเพื่อให้ได้ระดับความเข้มของสีแดงที่สด โดยใช้อัตราส่วนครั่ง 4 กิโลกรัมต่อน้ำหนักเส้นไหม 1 กิโลกรัม นำครั่งมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปแช่น้ำค้างไว้ 1 คืน แล้วให้นำน้ำแช่ครั่งมากรองเพื่อแยกส่วนกากของครั่งออกจากน้ำสีย้อมก็จะได้น้ำย้อมสีแดงที่ได้จากครั่ง

จากนั้นให้นำสารมอร์เดนธรรมชาติ หรือสารช่วยตัดสีธรรมชาติที่เตรียมมาจากการนำใบเหมือดผสมกับใบส้มโมง ในสัดส่วนที่เท่ากัน แล้วทำการต้มนาน 1 ชม.

ทำการกรองใส แล้วทำการผสมกันระหว่างน้ำย้อมสีแดงจากครั่งกับน้ำสารช่วยตัดสีธรรมชาติในอัตราส่วน 6:1 เพื่อปรับสภาพให้น้ำย้อมสีมีความเป็นกรดอยู่ที่ระดับ 3.5 โดยประมาณ

นำไหมยืนที่ทำการลอกกาวไว้เรียบร้อยแล้วมาทำการย้อมสีแดงที่ผสมกับสารช่วยตัดสีแล้วโดยวิธีการย้อมใช้การย้อมเย็นก่อน เพื่อให้น้ำย้อมสีค่อยกระจายเข้าสู่เส้นได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ

จากนั้นจึงยกวางบนเตาไฟเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ ประมาณ 90-95 องศาเซลเซียส ย้อมนาน ประมาณ 30 นาที ในระหว่างการย้อมสีให้ทำการกลับเส้นไหมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการย้อมสีที่ดี

จากนั้นทำการล้างเส้นไหมจนกระทั่งน้ำล้างเส้นไหมใสสะอาดไม่มีสีเจือปนอยู่ในน้ำล้างเส้นไหม บีบน้ำออก แล้วตากพึ่งแห้ง ก็จะได้เส้นยืนที่สมบูรณ์แบบ

 4. การค้นเครือเส้นยืนและการสืบหูก

นำไจเส้นไหมยืนมาสวมใส่เข้ากงเพื่อกรอเส้นไหมเข้าอัก นำอักที่กรอเส้นไหมแล้วไปทำการค้นเครือเส้นยืน หรือที่เรียกว่า การเดินเส้นยืน

นำเครือเส้นยืนที่ค้นเสร็จเรียบร้อยแล้วไปทำการสืบหูกหรือการต่อเส้นยืนกับฟืมทอผ้าที่ได้เตรียมไว้

การต่อเส้นยืน คือ การนำเส้นไหมเส้นยืนมาผูกต่อกับเส้นด้ายในซี่ฟันหวีโดยทำการต่อที่ละเส้นจนหมดจำนวนเส้นยืน เช่น หากหน้ากว้างของผ้าเท่ากับ 22 หลบ ก็จะต้องทำการต่อเส้นยืนเท่ากับ 1,760 เส้น

เมื่อต่อเส้นไหมเข้ากับเส้นด้ายที่อยู่ในซี่ฟันหวี่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการม้วนเส้นยืนด้วยแผ่นไม้ในกรณีที่เดินเส้นยืนไว้ยาว แต่หากเส้นยืนที่เดินไว้ไม่ยาวมากก็ให้นำไปขึ้นกี่ทอผ้าได้เลย แล้วทำการจัดเรียงระเบียบของเส้นไหมตามช่องฟันฟืมให้เป็นระเบียบของเส้นไหมตามช่องฟันฟืม ทำการขึงตึงเส้นไหมด้วยไม้ม้วนผ้าที่ติดอยู่กับกี่ทอผ้า แล้วค่อยๆผลักฟืมพร้อมตะกอออกจากรอยต่อของเส้นไหมกับเส้นด้าย

ทำการทอผ้าลายขัดคั่นระหว่างรอยต่อกับชุดฟืมและตะกอ เพื่อให้เส้นไหมตึง แน่น และแข็งแรง

 

จากนั้นให้ใช้น้ำที่ได้จากนำข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วมาบี้จนได้น้ำเหนียวที่เป็นน้ำใสๆหรือแป้งมันสำประหลังใสทาให้ทั่วเส้นยืน ใช้น้ำพรมให้เปียกชุ่มทั่วเส้นไหมใช้หวีเส้นยืน ปล่อยให้แห้งหมาดแล้วเคลือบด้วยขี้ผึ้งหรือไขสัตว์

สำหรับสมัยนี้ใช้ครีมนวดผมแทน เส้นยืนที่เตรียมได้ก็จะมีลักษณะเส้นกลม แข็งแรง เส้นไหมจะมีความลื่นทำให้ไม่แตกเป็นขนจากการเสียดสีกับช่องฟันฟืมเวลาทอผ้า

 5. การเตรียมเส้นพุ่ง

5.1 การค้นเส้นพุ่ง

ใช้โฮงมัดหมี่แบบโบราณที่เป็นไม้มีหลัก 2 หลัก ขนาดของโฮงหมี่ หน้ากว้างของผืนผ้า และขนาดของฟืมทอผ้า จะมีความสัมพันธ์กัน นำเส้นไหมที่ลอกกาวแล้ว มาค้นเส้นพุ่ง การค้นแต่ละลายจะมีจำนวนลำไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับลาย เช่น ลายหมี่ข้อโบราณ ที่กำลังจะกล่าวในรายละเอียด ประกอบด้วยลายต่างๆ คือ ลายหมากจับ ลายขอ ลายขาเปีย ลายปราสาท จะมีจำนวนลำเท่ากับ 41 แต่ละลำมี 4 เส้น ทำการค้นเส้นพุ่งโดยการค้น 2 รอบต่อลำ แต่ละลำทำไพคั่นไว้โดยไพที่บริเวณกึ่งกลางของโฮงหมี่ เมื่อค้นเส้นพุ่งไปจนลำสุดท้าย คือลำที่ 41 ก็ให้ทำการค้นหมี่ย้อนถอยจากลำที่ 40 กลับมาสุดที่ลำที่ 1 การค้นครบ 1 รอบ คือ เท่ากับ 1 ขีน ในลายหมี่ข้อโบราณนี้ ทำการค้นหมี่ประมาณ 7 ขีน ทอผ้าได้ 1 ผืน ขนาดเส้นไหมที่ใช้คือ 150/200 ดีเนียร์ หรือประมาณเส้นไหมหนึ่ง(น้อย) ที่เกษตรกรสาวได้

เนื่องจากจำนวนชิ้นจะเปลี่ยนไปตามขนาดของเส้นไหมที่ใช้ ดังเช่นลายหมี่ข้อโบราณที่กล่าวมาแล้วใช้ขนาดเส้นไหม 150/200 ดีเนียร์ ค้นเส้นพุ่ง 7 ขีน ได้ผ้าไหม 1 ผืน หากใช้เส้นไหมขนาดเล็กกว่าจำนวนขีนก็จะเพิ่มขึ้น และหากเส้นไหมที่ใช้ขนาดใหญ่กว่าจำนวนขีนก็จะลดลง ทั้งนี้เนื่องจากขนาดของเส้นไหมจะมีความสัมพันธ์กับความยาวของของเส้นไหมโดยตรง เมื่อทำการค้นหมี่เสร็จเรียบร้อยแล้ว มัดหัวหมี่ทั้ง 2 ด้านตามลำที่ทำไพไว้ เพื่อเป็นการแบ่งเรียงเส้นไหมแต่ละลำให้เป็นระเบียบและให้ลายที่มัดไว้ต่อเนื่องและถูกต้อง

5.2 การมัดลวดลาย

ทำการมัดลายตามที่ออกแบบไว้ ส่วนใหญ่ลวดลายมัดหมี่โบราณจะประกอบด้วย 2 สีหลัก คือสีแดงและสีขาว แต่จะมีการเพิ่มสีสันในกระบวนการทอด้วยการทอสอดเส้นไหมแบบค้ำเพลาในการคั่นลวดลายบนผืนผ้า ปัจจุบันการมัดลายหมี่จะใช้เชือกฟาง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนการผลิต

ในสมัยโบราณการทำผ้าไหมมัดหมี่จะมีความพิถีพิถันและเป็นธรรมชาติจริงๆ การมัดลายจะใช้เชือกจากกาบต้นกล้วยพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า พันธุ์กล้วยนวล ลักษณะพิเศษ คือโคนลำต้นใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยหน่อได้ ปัจจุบันยังคงมีตามหมู่บ้านที่มีการทอผ้า

ในสมัยโบราณผู้ทอผ้าไหมมัดหมี่ จะต้องทำเชือกกล้วยนวลโดยการนำเอากาบของต้นมาลอกแต่ส่วนที่เป็นเปลือกด้านนอก ทำการฉีกเป็นเส้นเล็ก นำไปตากแดดจนแห้งเชือกกล้วยที่ได้มีความเหนียวมาก จึงทำให้นำมามัดลายหมี่ได้ การมัดลายเริ่มต้นด้วยการมัดเก็บสีขาว ด้วยลวดลายหมากจับ ซึ่งเป็นที่นิยมมากเพราะเป็นลวดลายเล็กๆ จากนั้นจึงมัดลายหมี่ข้อเป็นระยะๆ มัดลายขอ ตามด้วยลายขาเปีย และลายปราสาทหรือเรียกอีกชื่อว่าลายเสา รวมเป็น 5 ลาย ซึ่งในการมัดลายสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การมัดลายทุกลายในหัวหมี่เดียวกัน หรือทำการมัดแยกแต่ละลายในแต่ละหัวหมี่ก็ได้ แล้วมาต่อลายในขั้นตอนการทอผ้า

5.3 การย้อมสีหัวหมี่ที่มัดลายเรียบร้อยแล้ว

นำหัวหมี่ที่มัดลายไปย้อมสีด้วยสีแดงจากครั่งที่ได้เตรียมไว้แล้ว โดยทำการย้อมเย็นก่อนเพื่อให้น้ำสีแทรกซึมเข้าไปในเส้นไหมอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งหัวหมี่ แล้วนำไปตั้งเตาเพิ่มความร้อนให้น้ำย้อมสีจนกระทั่ง 90 องศาเซลเซียส ประมาณ 30 นาที แล้วจึงมาล้างสีด้วยน้ำสะอาดจนน้ำที่ใช้ล้างสีใส ไม่มีสีเจือปนอยู่ บีบให้แห้ง นำไปตากผึ่งให้แห้ง ทำการแกะเชือกมัดลายออก ก็จะได้ลวดลายมัดหมี่จำนวน 2 สี คือ สีแดง กับ สีขาว

5.4 การปั่นเส้นไหมจากเข้าหลอด

ให้นำหัวหมี่ที่แกะเชือดฟางออกเรียบร้อยแล้วใส่ในกง ทำการกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นจึงทำการปั่นเส้นไหมจากอักเข้าหลอดด้วยไน นำหลอดเส้นไหมไปร้อยเรียงใส่ในเชือดตามลำดับเพื่อให้การเรียงลวดลายถูกต้อง

6. การทอผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ

นำหลอดด้ายไหมออกจากเชือกที่เรียงร้อยไว้มาทีละหลอด เพื่อนำไปใส่ในกระสวย แล้วเริ่มทำการทอผ้าไหมมัดหมี่ด้วยกี่ทอผ้าแบบพื้นบ้านตามลวดลายที่ได้ออกแบบ โดยทอสลับกับการทอสอดเส้นไหมสีต่างๆเพื่อคั่นลายและเพิ่มสีสันให้เกิดสวยงามในลวดลายบนผืนผ้าโดยใช้วิธีการทอแบบทอค้ำเพลา ขั้นตอนการทอสอดเส้นไหมจะต้องมีการทอสลับกับทอขัดเพื่อช่วยทำให้ผ้าแน่น เส้นไหมไม่หลุดลุ่ย ส่วนขั้นตอนการทอแบบค้ำเพลาจะทอสลับกับลายบนผืนผ้าเพื่อเพิ่มสีสัน และความสวยงาม เมื่อทอจนหลอดด้ายไหมที่เรียงร้อยไว้หมดก็จะได้ผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ 1 ผืน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

การมัดหมี่ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง

กระบวนการ/ขั้นตอน->

พัฒนาการแปรรูปและหาช่องทางการตลาดมากขึ้น

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา