เทคนิคส่งเสริมสัมมาชีพ

ปลูกผักปลอดสารพิษ

โดย : นายประสิทธิ์ แทบท้าว ตำแหน่ง : ปราชญ์ชุมชน วันที่ : 2017-06-28-11:48:29

ที่อยู่ : 16 หมู่ 5 ตำบลหนองเรือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

            บ้านนาสีนวล เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองเรือ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ซื้ออาหาร ผักผลไม้จากรถจำหน่ายอาหาร(รถพุ่มพวง)  ที่มีบริการถึงภายในหมู่บ้าน  ซึ่งผักสดที่นำมาจำหน่ายนั้นมักจะเป็นผักไม่ปลอดสารพิษ เมื่อบริโภคเป็นเวลานานย่อมจะเป็นการสะสมสารพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นชาวบ้านจึงรวมตัวกันอยากปลูกผักไว้รับประทานเอง  เหลือเอาไว้จำหน่ายเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน

วัตถุประสงค์ ->

1. การรวมตัวจัดตั้งกลุ่มสัมมาชีพชุมชน โดยรับสมัครชาวบ้านที่มีความต้องการปลูกผักปลอดสารพิษในหมู่บ้าน

2. การปลูกผักโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน

3. ใช้วิธีการปลูกผักแบบปลอดสารพิษ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

1) การเตรียมดิน

          การเตรียมดินให้ถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้พืชผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการลดปัญหาจากศัตรูพืช ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงการผลิตพืชผักเป็นอย่างดี วิธีเตรียมพื้นที่และการเตรียมดินปลูกที่ถูกต้องควรดำเนินการดังนี้

                   1. ปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ

                   2. จัดทำคูระบายน้ำ

                   3. ขุดปรับทำลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งหลบอาศัยของหนูและสัตว์ศัตรูพืชต่างๆ

                   4. กำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่เดิมไม่ให้แข่งกับพืชที่ปลูก

                   5. ไถเตรียมดินด้วยการไถดะ ตากดินไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช โรค-แมลง

                   6. ไถพรวนดินอีก 1 ครั้ง หลังจากไถดะ แล้วตากดินไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ดินมีเนื้อละเอียดร่วนซุยเหมาะแก่การปลูกพืช

2) การเตรียมแปลงปลูก

           หลังจากการปรับปรุงดินและการเตรียมดินอย่างถูกวิธีแล้ว ท าการปรับดินให้สม่ำเสมอยกแปลงปลูกขนาด 1-2 เมตร ยาวตามความต้องการ คลุมแปลงปลูกด้วยเศษวัชพืช หรือใบหญ้าแฝก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและควบคุมวัชพืช

3) การคัดเลือกพันธุ์

           ควรเลือกพันธุ์ผักที่ต้านทานต่อโรคและแมลง มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการเหมาะสมกับฤดูปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศ และก่อนนำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกทุกครั้งควรแช่เมล็ดพันธุ์ผักในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิ      50-55 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 10-15 นาที เพื่อกำจัดเชื้อราและยังเป็นการกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์ผักงอกอย่างสม่ำเสมอ

4) การปลูกด้วยเมล็ดหรือต้นกล้าตามแต่ชนิดของพืช

          การเพาะกล้า แช่เมล็ดพันธุ์ผักในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10-15 นาที เพื่อกำจัดเชื้อรา และยังเป็นการกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์งอกได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 15-20 วัน ถอนแยกต้นกล้า โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10-15 ซม. ต้นกล้าที่ถอนแยก สามารถนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ (ควรปลูกในตอนเย็น)

5) การให้น้ำ

          การให้น้ำมีหลายระบบ ซึ่งในแต่ละระบบก็มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันออกไปตามสภาพต้นพืช ดังนั้นระบบการให้น้ำในการผลิตผักแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

                   1. การให้น้ำแบบพ่นฝอย พืชกินใบที่บอบบาง เช่น ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ต้นหอม หัวไชเท้า กะหล่ำ เป็นพืชผักที่มีใบบอบบาง ไม่ชอบความร้อนสูงนักจึงจำเป็นต้องให้น้ำเป็นละอองฝอย

                   2. การให้น้ำเฉพาะพื้น เหมาะแก่การปลูกมะเขือเทศ พริก พืชตระกูลแตง มีลักษณะ

การให้น้ำ ดังนี้

                   2.1 การให้น้ำซึมเข้าแปลง โดยการขุดร่องระหว่างแปลงปลูกแล้วปล่อยน้ำให้ซึมเข้าแปลง

                   2.2 การให้ระบบท่อ โดยการใช้ท่อพลาสติกเจาะรูติดตั้งหัวจ่ายน้ำขนาดต่างๆ ควรเลือกใช้ให้

เหมาะสมกับผักแต่ละชนิด รดน้ำทุกวัน เช้า -เย็น รดน้ำให้ชุ่มพอประมาณอย่าให้แฉะจนเกินไป จะทำให้ต้นเน่า

6) การจัดสภาพแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ เนื่องจากการปลูกพืชหลายชนิดจะทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารที่หลากหลายของแมลงจึงมีแมลงหลายชนิดมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ในจำนวนแมลงเหล่านี้จะมีทั้งแมลงที่เป็นศัตรูพืชและแมลงที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติในป่าที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง มีหลายวิธีได้แก่ ปลูกดาวเรืองเพื่อไล่ไส้เดือนในดิน ปลูกผักหลายชนิด

   6.1) การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นการไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันหรือตระกูลเดียวกัน ติดต่อกันบนพื้นที่เดิม การปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคและแมลง และเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงดิน

   6.2) การปลูกพืชแซม การเลือกพืชมาปลูกร่วมกัน หรือแซมกันนั้นพืชที่เลือกมานั้นต้องเกื้อกูลกัน เช่น ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้อีกชนิดหนึ่ง ช่วยคลุมดิน ช่วยเพิ่มรายได้ก่อนเก็บเกี่ยวพืชหลัก       

7) หลักการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูผักโดยไม่ใช้สารเคมี
              7.1) การป้องกันและกำจัดโดยวิธีกล โดยไม่ใช้สารเคมี เช่น การใช้มือจับแมลงมาทำลาย การใช้มุ้งตาข่าย การใช้กับดักแสงไฟ การใช้กับดักกาวเหนียวเป็นต้น

              7.2) การใช้ตาข่ายไนล่อนสีขาว หรือสีฟ้าคลุมแปลงผัก เพื่อป้องกันผีเสื้อกลางคืนมาวางไข่ที่ใบพืชผักสามารถป้องกันแมลงประเภทหนอนใยผัก หนอนกระทู้ และหนอนผีเสื้ออื่นๆ ได้ แต่ด้วงหมัดผักกาดและเพลี้ยอ่อนยังเข้าไปทำลายพืชผักได้ ให้ใช้สารควบคุมแมลงจากดอกไพรีทรินฉีดพ่น การปลูกผักในมุ้งมีข้อเสียตรงที่ไม่มีต้นไม้บังลม เมื่อมีลมพายุขนาดย่อมพัดมาอย่างรุนแรงในฤดูแล้ง มุ้งไนล่อนซึ่งใหญ่มากจะถูกลมตีแตกเสียหายทั้งหลัง การใช้มุ้งตาขายครอบแปลงขนาดเล็ก หรือขนาดผ้าคลุมแปลงเพาะกล้าจะไม่เกิดปัญหามุ้งแตกเพราะลมแต่อย่างใด

 

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. สมาชิกกลุ่มดำเนินกิจกรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2. ใช้หลัก 5 ก ซึ่งประกอบด้วย

          1. ก : กลุ่มสมาชิก สมาชิกกลุ่มต้องมีความสามัคคี และให้ความร่วมมือกับกรรมการ

          2. ก : กรรมการ จะต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส เสียสละ รับผิดชอบ ตรวจสอบได้

          3. ก : กิจกรรม กลุ่มต้องมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

          4. ก : กติกา กลุ่มต้องมีกฎ กติกา ที่ดี มีความเป็นธรรมกับสมาชิกทุกคน

          5. ก : กองทุน กลุ่มต้องมีกองทุนไว้ใช้จ่ายในการดำเนินงาน และจัดสวัสดิการแก่สมาชิก

3. การประสานงานระหว่างกลุ่มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากลุ่ม พัฒนาผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดยโสธร
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา