เทคนิคส่งเสริมสัมมาชีพ

image1

การปลูกแตงกวาน้ำหยด

โดย : นายรัก ผลรุก ตำแหน่ง : เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน วันที่ : 2017-05-09-19:56:00

ที่อยู่ : 91/4 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านนา

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

แตงกวาสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาลถ้ามีแหล่งน้ำดี เพราะแตงกวาเป็นพืชชอบน้ำ แต่ต้องไม่ขังแฉ 

เมื่อแปลงปลูกขังแฉะก็จะเสี่ยงต่อโรคจากเชื้อรา แต่ช่วงเวลาที่ปลูกง่าย ปัญหาน้อย คือช่วงเดือนมิถุนายน เพราะต้นแตงกวาได้รับน้ำฝนด้วย ทำให้แตงกวาโตดี งาม การปลูกแตงกวามีความยากง่ายต่างกันไปตามฤดูกาล  ช่วงหน้าร้อน แตงกวาจะปลูกยากกว่าฤดูอื่น เพราะแมลงระบาดเยอะ ส่วนช่วงฤดูฝนจะค่อนข้างปลูกแตงกวาง่าย โตไว แตงกวาติดผลดี เพราะต้นแตงกวาได้รับน้ำฝน แมลงศัตรูมีไม่มากนัก จะมีโรคเชื้อราบ้าง แต่ถ้าเราเตรียมแปลงดีก็ไม่มีปัญหามากนัก แต่โดยรวมก็ปลูกได้ทั้งปี ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย

วัตถุประสงค์ ->

การเตรียมแปลงปลูก

ต้องเน้นการเตรียมแปลงปลูกให้ดี เน้นการระบายน้ำดี ส่วนความยาวของแปลง ก็ตามสะดวก แต่ให้คำนึงถึงว่าเราสามารถเดินดูแลและฉีดยาได้สะดวก และให้เหมาะสมสอดคล้องกับอุปกรณ์ระบบน้ำที่เรามีด้วย การเตรียม

แปลงหลังจากไถพรวนและตากดินเรียบร้อยแล้ว จะใช้รถไถขึ้นแปลงยกร่องลูกฟูก หรือแปลงปลูกผัก ให้แปลงมีความสูง ประมาณ 20-30 เซนติเมตร เพื่อให้มีการระบายน้ำดี  แปลงปลูกกว้าง 50 เซนติเมตร เว้นทางเดินหรือทางฉีดยา ประมาณ 1 เมตร ถ้าเราปลูกระยะห่างเกินไป ผลผลิตจะน้อยไป เสียพื้นที่ในการปลูก จำนวนต้นน้อยเกินจะทำให้เสียโอกาส

ระบบน้ำหยดแตงกวา

หลังการเตรียมแปลงปลูกเสร็จ ก็ต้องมีการวางระบบน้ำ วางสายน้ำหยด 2 เส้น ต่อแปลง โรยสายน้ำหยดผ่านหลุมปลูก ซึ่งเป็นสายน้ำหยดแบบเจาะรูสำเร็จมาแล้ว การให้น้ำแปลงปลูกแตงกวา ให้สังเกตจากผิวดินร่วมด้วย โดยไม่ให้ดินแฉะหรือแห้งจนเกินไป เมื่อต้นแตงกวาเริ่มเจริญเติบโตแล้วจึงปรับช่วงเวลาการให้น้ำให้นานขึ้น ข้อควรคำนึงสำหรับการให้น้ำนั้นคือ ต้องกระจายในพื้นที่สม่ำเสมอตลอดแปลง และตรวจดูความชื้นในดินไม่ให้สูงเกินไปจนกลายเป็นแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่าได้

เมล็ดพันธุ์แตงกวา

 ควรเลือกสายพันธุ์ที่เกาะขึ้นค้างเองได้ดี และต้องเน้นผิวสีเขียว เพราะจะดูน่าซื้อ น่ารับประทานกว่าเมื่อวางบนแผงแม่ค้า

การปลูกแตงกวา

ใช้วิธีการหยอดเมล็ดปลูกที่แปลงเลย เพื่อความรวดเร็วและประหยัดเวลา และไม่ทำให้แตงกวาชะงักตอนย้ายกล้า ใช้ระยะปลูก หลุมละ 30 เซนติเมตร โดยก่อนหยอดเมล็ดให้คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราและแมลง  ซึ่งก่อนการหยอดเมล็ดลงแปลงนั้น จะต้องเปิดน้ำให้แปลงปลูกไปล่วงหน้า 1 วัน จากนั้นวันปลูกเราก็จะหยอดเมล็ด โดยใช้ไม้กระทุ้งดินให้เป็นหลุมแล้วจึงหยอดเมล็ด หลุมละ 2 เมล็ด ปลูกเสร็จยังไม่ต้องให้น้ำเพราะดินยังมีความชื้นพอสมควร ทิ้งไว้ 1 วัน วันที่ 2 จึงจะเริ่มให้น้ำแตงกวาทุกวัน

หลังปลูก พอต้นแตงกวามีใบจริงสัก 2-3 ใบ ก็จะเริ่มปักไม้ไผ่เพื่อทำค้าง การปักค้าง ใช้ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-2.50 เมตร ปักไม้ไผ่เว้นระยะพอประมาณ ไม่จำเป็นต้องปักไม้ไผ่ทุกหลุมปลูก ผูกไม้ไผ่เข้าหากัน ทำเป็นลักษณะของกระโจม ด้วยไม้ยาว ราว 2.50 เมตร ปักตลอดทั้งแนว  จากนั้นใช้เชือกฟางเดินเชื่อมไม้กระโจม แล้วเอาเชือกมัด เดินมัดเชือก 4 แถว คือ ด้านล่าง ด้านบน และตรงกลาง 2 แถว แบ่งระยะให้เท่าๆ กัน แล้วมัดตาข่าย พอขึ้นตาข่ายเสร็จก็ต้องจับต้นแตงกวามัดขึ้นค้างให้เลื้อยเกาะขึ้นตาข่าย การจับยอดแตงกวา โดยเฉพาะช่วงที่ต้นกำลังแตกยอด ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ต้องดูแลจับยอดแตงกวาให้ดี โดยต้องช่วยจับยอดแตงกวาให้เลื้อยขึ้นตามค้าง อย่าปล่อยให้ยอดแตงกวาเลื้อยไปตามพื้นดิน เพราะการช่วยจับยอดแตงกวานั้น จะทำให้แตงกวาออกดอกมาก ทำให้ผลดก

การใส่ปุ๋ยแตงกวา

จะแบ่งออกเป็นระยะตามการเจริญเติบโต การใส่ปุ๋ยแตงกวาครั้งแรก จะใส่ปุ๋ยรองพื้นเคมีสูตรเสมอ โดยการใส่สูตร 15-15-15 การใส่ปุ๋ยรอบแรก จะเลือกใส่ระหว่างหลุมปลูกต้นแตงกวา คือใช้ไม้ไผ่ปักให้เป็นหลุม แล้วหยอดปุ๋ยลงหลุม พอให้น้ำปุ๋ยก็จะละลาย แต่การปลูกแตงกวาจะเน้นการให้ปุ๋ยผ่านน้ำเป็นหลัก โดยให้ปุ๋ยเคมีผ่านทางระบบน้ำ

การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ จะได้ผลค่อนข้างดีมาก แต่การนำปุ๋ยเคมีแบบเม็ดหรือเราเรียกปุ๋ยทางดิน มาให้ผ่านระบบน้ำหยดนั้น จะมีวิธีการใช้คือ นำปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ คือ 50 กิโลกรัม มาแบ่งใส่ถัง 200 ลิตร    จำนวน 4 ถัง (เฉลี่ยปุ๋ย 12-13 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร) ใส่น้ำให้เต็มถัง แล้วใช้ไม้คน คนน้ำให้ปุ๋ยเคมีละลายในถัง น้ำสะอาด 200 ลิตร ไว้ก่อน 1 คืน ซึ่งเช้าขึ้นมา ปุ๋ยเคมีที่เราละลายทิ้งไว้จะแยกชั้น ซึ่งกากปุ๋ยจะตกตะกอนอยู่ด้านล่าง ส่วนน้ำปุ๋ยใสๆ เราจะนำไปใช้นั่นเอง เราก็จะเอาสายยางจากปั๊มน้ำดูดปุ๋ย เพื่อให้น้ำปุ๋ยผ่านระบบน้ำไป อีกวันก็จะเติมน้ำลงไปใช้ต่อจนปุ๋ยเจือจางไปเรื่อยๆ (ปุ๋ยน้ำรอง) ก็จะใช้ได้ราว 4-5 วัน ต่อการนำปุ๋ยเคมีมาผสมน้ำแบบนี้ แล้วจะให้ปุ๋ยเคมีไปเรื่อยๆ ตามความงามของต้น

แตงกวา และเปลี่ยนสูตรปุ๋ยตามการเจริญเติบโต เช่น พอต้นแตงกวาเริ่มเป็นดอกก็จะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 แล้วพอแตงกวาอยู่ในระยะขยายขนาด ก็จะเปลี่ยนปุ๋ยเคมีเป็นสูตร 13-13-21 เพื่อให้แตงกวามีน้ำหนักดี

ในการปลูกแตงกวาแต่ละรุ่นบางรุ่น หากมีปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพก็ให้ไปพร้อมกับระบบน้ำเช่นกัน เพื่อเสริมความสมบูรณ์และลดต้นทุน

ถ้าแตงกวาเริ่มมีดอกก็จะเน้นพวกแคลเซียม-โบรอน เพื่อให้ดอกดี สมบูรณ์ โดยจะฉีดพ่นพร้อมสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง ทุกๆ 7-10 วัน การให้น้ำแตงกวาในช่วงเริ่มให้ผลผลิต ไม่ควรให้เกิดการขาดน้ำ ไม่ควรให้น้ำช่วงเย็น จะทำให้เกิดโรคทางใบได้ง่าย

การเก็บแตงกวา

อายุการเก็บเกี่ยวของแตงกวานับจากวันปลูก ประมาณ 30-32 วัน (แล้วแต่สายพันธุ์) พันธุ์แตงกวาสำหรับบริโภคสด ควรเลือกเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ เนื้อแน่น กรอบ และสังเกตได้จากมีนวลสีขาวเกาะ และยังมีหนามอยู่บ้าง ถ้าผลแก่ นวลสีขาวจะจางหาย สีผลเริ่มเป็นสีเหลือง และไม่มีหนาม การเก็บแตงกวาควรทยอยเก็บวันเว้นวัน ไม่ปล่อยให้แก่คาต้น เพราะจะทำให้ผลผลิตทั้งหมดลดลง โดยปกติจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 25-30 วัน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

       1.เรียนรู้และรักษาวิธีการปลูก การดูแลแบบดั้งเดิม และรักษามาตรฐานของผลผลิตให้มีคุณภาพดีอย่างสม่ำเสมอ

       2.แตงกวาเป็นพืชที่สามารถช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกายและช่วยทำให้ร่างกาย   สดชื่น ช่วยขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด กระหายน้ำ สดชื่น แก้ร้อนในบรรเทาอาการเจ็บคอและช่วยขจัดของเสียตกค้างในร่างกาย ส่วนรากแตงกวาสามารถนำเอามาแก้อาการท้องเสีย บิด ได้

       3.แตงกวาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีและเป็นที่เป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก ดังนั้นแตงกวาสามารถ สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชนอย่างตอเนื่อง

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา