เทคนิคส่งเสริมสัมมาชีพ

ปุ๋ยหมัก เลี้ยงสัตว์

โดย : นายสริน ทาแกง ตำแหน่ง : เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน วันที่ : 2017-08-16-14:53:05

ที่อยู่ : 31 ม.2 ต.ทุ่งก่อ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

มนุษย์รู้จักการทำปุ๋ยหมักตอนไหนอาจระบุให้ชัดเจนได้ยาก แต่จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในสมัยจักรวรรดิ์อัคคาเดียน บริเวณที่ราบลุ่มเมโสโปเมียมีบันทึกเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกพืช จนมาถึงสมัยโรมัน และกรีกก็มีหลักฐานบันทึกไว้เช่นกัน โดยมีการใช้สารอินทรียใส่ในแปลงปลูกพืช และมีการพัฒนาการนำอินทรีย์วัตถุมากองรวมกันก่อนที่จะนำไปใช้คล้ายกับวิธีการทำปุ๋ยหมักด้วยการกองในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ ->

ปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นวิธีการทำปุ๋ยหมักที่มีการพัฒนาขึ้น เพื่อให้การย่อยสลายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือ EM เพื่อเร่งกระบวนการหมัก ทำให้เกิดปุ๋ยจากอินทรีย์วัตถุที่มีการปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เร็วขึ้น แบ่งเป็นชนิดต่างๆ ได้แก่

1. ปุ๋ยหมักจากปุ๋ยคอก
วัสดุ และส่วนผสม
– ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ประมาณ 10 ปี๊ป
– แกลบเผา/แกลบดำ 1 ส่วน
– รำละเอียด 1 ส่วน
– เชื้อ EM 20 ซีซี
– กากน้ำตาล 100 ซีซี
– น้ำ 10 ลิตร

วิธีทำ
– ผสมปุ๋ยคอก แกลบดำ และวัสดุทุกอย่างให้เข้ากัน
– นำไปกองบนพื้นซีเมนต์ แล้วใช้ผ้าคลุมหรือหากทำปริมาณน้อย ให้บรรจุใส่ถังหรือถุงกระสอบ
– หมักทิ้งไว้ 30 วัน ก่อนนำใส่ต้นไม้หรือแปลงผัก

2. ปุ๋ยหมักจากพืช
1. ปุ๋ยหมักฟางข้าว
วัสดุ และส่วนผสม
– ฟางแห้งสับละเอียด 1 ส่วน ประมาณ 10 กก.
– แกลบดิบ/แกลบเผา 1 ส่วน
– ปุ๋ยยูเรีย 200 กรัม
– กากน้ำตาล 100 ซีซี
– เชื้อ EM 20 ซีซี
– น้ำ 10 ลิตร

วิธีทำ
– คลุกผสมฟาง และแกลบให้เข้ากัน หากมีจำนวนมากให้แยกคลุก แล้วค่อยมารวมกันเป็นกองเดียวอีกครั้ง
– ผสมเชื้อ EM และกากน้ำตาลร่วมกับน้ำ หลังจากนั้น ใช้เทราด และคลุกให้เข้ากันกับวัสดุอื่นๆ
– นำไปหมักในถัง ถุงกระสอบ หรือ บ่อซีเมนต์ นาน 1-2 เดือน ก็สามารถนำไปใช้ได้

3. ปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษอาหาร และขยะ
ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร หากมีเฉพาะเศษอาหารที่เป็นพืชมักจะไม่มีปัญหา เพราะเวลาเน่าจะมีกลิ่นเหม็นไม่รุนแรง เราสามารถนำไปคลุกกับปุ๋ยคอกในรางทำปุ๋ยหมักได้เลย แต่หากมีเนื้อสัตว์จะมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

สำหรับบางครัวเรือนที่มีข้อจำกัดปริมาณเศษอาหารที่เกิดน้อย หากต้องการทำปุ๋ยหมักจำเป็นต้องทำรางหมักหรือหลุมหมัก แต่หากจะหมักในถังจะมีข้อจำกัดที่เต็มเร็ว

การทำรางหมัก ควรหาพื้นที่ว่างบริเวณหลังบ้าน ขนาดพื้นที่ประมาณ 1 เมตร x 1 เมตร ลึกประมาณ 20-40 เซนติเมตร หรืออาจน้อยกว่า หรืออาจมากกว่าตามความต้องการ แต่ควรให้รองรับเศษอาหารให้ได้ประมาณ 1 เดือน และควรทำ 2 ชุด พร้อมฉาบด้านข้างด้วยปูนซีเมนต์ แต่หากไม่มีปัญหาเรื่องน้ำฝนหรือน้ำไหลเข้า ก็อาจขุดเป็นบ่อดินก็เพียงพอ ทั้งนี้ ควรทำร่องด้านข้าง เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้า และควรเตรียมผ้าใบคลุมเมื่อฝนตก

วัสดุ และส่วนผสม
– ปุ๋ยคอก 1 ใน 4 ส่วนของรางหมัก
– แกลบดำ 2 ถัง หรือไม่ใส่ก็ได้
– น้ำผสมหัวเชื้อเชื้อ EM 1 ลิตร
– กากน้ำตาล 1 ลิตร

วิธีทำ
– หลังจากที่เตรียมรางหมักแล้ว ให้เทปุ๋ยคอก และแกลบดำรองในรางไว้
– เมื่อมีเศษอาหาร ให้นำมาใส่ในราง พร้อมใช้จอบคลุกผสมกับปุ๋ยคอก
– รดด้วยน้ำหัวเชื้อชีวภาพ และกากน้ำตาลบริเวณที่ใส่เศษอาหารเล็กน้อย
– หากมีเศษอาหารเกิดขึ้นอีก ก็นำมาคลุก และใส่น้ำหัวเชื้อ ตามด้วยกากน้ำตาลเรื่อยๆจนเต็มบ่อ
– หากเต็มบ่อแล้ว ให้นำผ้าคลุกมาปิดไว้ และทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ก่อนตักออกนำไปใช้ประโยชน์
– ระหว่างที่หมักทิ้ง ให้นำเศษอาหารที่เกิดในแต่ละวันมาหมักในอีกบ่อ ซึ่งจะเวียนกันพอดีในรอบเดือน
– ทั้งนี้ บางครัวเรือนอาจไม่สะดวกในการหาซื้อหัวเชื้อหรือกากน้ำตาล ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้ก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีปุ๋ยคอก หรือใช้ปุ๋ยอื่น เช่น ปุ๋ยมูลไก่ ซึ่งส่วนนีี้จำเป็นต้องใช้

นอกจาก การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักแล้ว ปัจจุบันยังนิยมนำเศษอาหารทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งก็ง่าย และสะดวกไปอีกแบบ อ่านเพิ่มเติม น้ำหมักชีวภาพ

หลักพิจารณาปุ๋ยหมักพร้อมใช้
1. ปุ๋ยหมักจะมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ
2. อุณหภูมิทั่วกองปุ๋ยหมักมีค่าใกล้เคียงกัน เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาการหมักเกือบหมดแล้ว
3. หากใช้นิ้วมือบี้ ก้อนปุ๋ยหมักจะแตกยุ่ยออกจากกันง่าย
4. พบเห็ด เส้นใยรา หรือ พืชอื่นขึ้น
5. กลิ่นของกองปุ๋ยหมักจะมีกลิ่นฉุนที่เกิดจากการหมัก
6. หากนำปุ๋ยหมักไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการจะพบอัตราส่วนของคาร์บอน และไนโตรเจนประมาณ 20:1 หรือคาร์บอนมีค่าน้อยกว่า 20 (ไนโตรเจนยังคงเป็น 1)

การนำปุ๋ยหมักไปใช้
1. ใช้ในขั้นตอนเตรียมดิน/เตรียมแปลง ด้วยการนำปุ๋ยหมักชีวภาพโรยบนแปลง 2-3 กำมือ/ตารางเมตร ก่อนจะทำการไถพรวนดินรอบ 2 หรือ ก่อนการไถยกร่อง
2. ใช้ในแปลงผัก และสวนผลไม้ ด้วยการนำปุ๋ยหมักชีวภาพ 1-2 กำมือ โรยรอบโคนต้น

ธาตุอาหารในปุ๋ยหมัก
• ปุ๋ยหมักจากขยะเทศบาล :
– N = 1.52
– P2O5 = 0.22
– K2O = 0.18
• ปุ๋ยหมักจากหญ้าแห้ง :
– N = 1.23
– P2O5 = 1.26
– K2O = 0.76
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลกระบือ :
– N = 0.82
– P2O5 = 1.43
– K2O = 0.59
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลโค :
– N = 2.33
– P2O5 = 1.78
– K2O = 0.46
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลแพะ :
– N = 1.11
– P2O5 = 4.04
– K2O = 0.48
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลม้า :
– N = 0.82
– P2O5 = 2.83
– K2O = 0.33
• ปุ๋ยหมักจากใบจามจุรี :
– N = 1.45
– P2O5 = 0.19
– K2O = 0.49
• ปุ๋ยหมักจากฟางข้าว :
– N = 0.85
– P2O5 = 0.11
– K2O = 0.76
• ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลไก่ :
– N = 1.07
– P2O5 = 0.46
– K2O = 0.94
• ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลโค :
– N = 1.51
– P2O5 = 0.26
– K2O = 0.98
• ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลเป็ด :
– N = 0.91
– P2O5 = 1.30
– K2O = 0.79
• ปุ๋ยหมักจากผักตบชวา :
– N = 1.43
– P2O5 = 0.48
– K2O = 0.47
• ปุ๋ยหมักผักตบชวา+มูลสุกร :
– N = 1.85
– P2O5 = 4.81
– K2O = 0.79
• ปุ๋ยอินทรีย์ (เทศบาล) ชนิดอ่อน :
– N = 0.95
– P2O5 = 3.19
– K2O = 0.91
• ปุ๋ยอินทรีย์ (เทศบาล) ชนิดปานกลาง :
– N = 1.34
– P2O5 = 2.44
– K2O = 1.12
• ปุ๋ยอินทรีย์ (เทศบาล) ชนิดแรง :
– N = 1.48
– P2O5 = 2.96
– K2O = 1.15

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

กระบวนการหมักของปุ๋ยหมัก
1. การหมักแบบใช้ออกซิเจน
เมื่อวัสดุหมักเกิดการย่อยสลายจนได้สารอินทรีย์ตั้งต้น ได้แก่ ไขมัน โปรตีนคาร์โบไฮเดรต เซลลูโลส ลิกนิน ฯลฯ สารเหล่านี้ จะถูกจุลินทรีย์จำพวกที่ใช้ออกซิเจนย่อยสลายด้วยการดึงออกซิเจนมาใช้ในกระบวนการ และสุดท้ายจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นฮิวมัส น้ำ ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แอมโมเนีย (NH3) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และพลังงานความร้อน

2. การหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน
สารอินทรีย์จะถูกย่อยสลายในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน โดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์จำพวกที่ไม่ใช้ออกซิเจน 2 กลุ่ม คือ จุลินทรีย์สร้างกรด และจุลินทรีย์สร้างมีเธน ซึ่งจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สุดท้าย ได้แก่ ก๊าซมีเธน (CH4) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แอมโมเนีย (NH3) และพลังงานความร้อน

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงราย
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา