ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ทำนาน้ำตม

โดย : นายประจวบ กลิ่นบุหงา วันที่ : 2017-03-28-11:06:36

ที่อยู่ : 64/4 ม.7 ต.หัวตะพาน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทำนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยการหว่านเมล็ดลงไปในนาที่เตรียมพื้นที่ไว้แล้วโดยตรง เป็นวิธีการที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากประหยัดแรงงานและเวลา

หว่านน้ำตมหรือหว่านข้าวงอก เป็นวิธีที่แพร่หลายที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเนื่องจากสามารถระบายน้ำเข้าออกเพื่อควบคุมการงอกของเมล็ดข้าวและวัชพืชได้ นาหว่านน้ำตมทำได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง แต่ในฤดูนาปีอาจเสี่ยงต่อการมีฝนตกมากจนเมล็ดข้าวถูกฝนชะไหลไปรวมกันอยู่ขอบแปลง หรืออาจระบายน้ำออกไม่ทันทำให้ต้นอ่อนจมน้ำอยู่หลายวันและเน่าก่อนที่จะงอกยอดพ้นระดับน้ำ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการทำนาหว่านน้ำตมที่เรียกว่า การทำนาหว่านน้ำตมแผนใหม่ซึ่งใช้หลักการเดียวกับวิธีเดิมแต่เน้นการปรับแปลงให้เรียบสม่ำเสมอพร้อมทั้งทำร่องระบายน้ำเล็กๆ ภายในแปลงนาเพื่อระบายน้ำที่อาจขังอยู่ในจุดต่ำบางจุดออกก่อนที่จะหว่านทำให้เมล็ดข้าวงอกได้อย่างสม่ำเสมอไม่ถูกน้ำท่วมขังจนเมล็ดเน่าเสีย

ปัจจุบันเกษตรกรมีการทำนาติดต่อกันปีละไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง หรือ 2 ปี 5 ครั้ง  หรือเรียกว่าการทำนาหว่านน้ำตม โดยเกษตรกรหว่านข้าวที่งอกแล้ว มีการเตรียมแปลงปลูกอย่างประณีต วางแผนการจัดการเป็นอย่างดี ตั้งแต่การหาเมล็ดพันธุ์ข้าว การเตรียมแปลง การหว่าน การจัดการน้ำเข้า น้ำออก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว จนกระทั่งถึงการจำหน่าย ซึ่งต่างจากสมัยในอดีต มักจะอาศัยน้ำฝนในการทำนา ปีละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งเท่านั้น และไม่มีราคาที่จูงใจเหมือนปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีการแข่งขัน มุ่งหวังเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด เท่านั้น แต่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้ปัจจัยการผลิตไม่ก่อให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูง ตามมา ผู้ผลิตจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิต โดยการรวบรวมข้อมูล และวางที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด ก่อให้เกิดกำไรสูงสุด นั่นเอง

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ก่อให้เกิดกำไรเพิ่มขึ้น

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เมล็ดพันธุ์

ยาคุม–ฆ่า  วัชพืช

ฮอร์โมน

น้ำมันสูบน้ำ

ปุ๋ย

อุปกรณ์ ->

รถตีเทือก                                   

รถลูบเทือก 

เครื่องหว่านปุ๋ย/พ่นยา
รถเกี่ยว/รถขนข้าว

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ารเตรียมเมล็ดพันธุ์

- ตรวจความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ พิจารณาว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นหรือเมล็ดวัชพืชปนหรือไม่ ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย รูปร่างเมล็ดมีความสม่ำเสมอ ถ้าพบว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นหรือเมล็ดวัชพืชปน หรือมีโรค แมลงทำลายก็ไม่ควรนำมาใช้ทำพันธุ์ 

- การทดสอบความงอก โดยการนำเมล็ดข้าว จำนวน 100 เมล็ด มาเพาะเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ ความงอก อาจทำ 3-4 ซ้ำ เพื่อความแน่นอน เมื่อรู้ว่าเมล็ดงอกกี่เปอร์เซ็นต์จะได้กะปริมาณพันธุ์ข้าวที่ใช้ได้ถูกต้อง 

- คัดเมล็ดพันธุ์ให้ได้เมล็ดที่แข็งแรง มีน้ำหนักเมล็ดดีที่เรียกว่าข้าวเต็มเมล็ด จะได้ต้นข้าวที่เจริญเติบโตแข็งแรง

อัตราเมล็ดพันธุ์
        อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการทำนาหว่านน้ำตม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ
ถ้ามีการเตรียมดินไว้ดี มีเทือกอ่อนนุ่ม พื้นดินปรับได้ระดับ เมล็ดที่ใช้เพียง 7-8 กิโลกรัมหรือ 1 ถังต่อไร่ ก็เพียงพอที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง แต่ถ้าพื้นที่ปรับได้ไม่ดี การระบายน้ำทำได้ยาก รวมถึงอาจมีการทำลายของนก หนู หลังจากหว่าน เมล็ดที่ใช้หว่านควรมากขึ้น เพื่อชดเชยการสูญเสีย ดังนั้นเมล็ดที่ใช้ควรเป็นไร่ละ 15-20 กิโลกรัม

การหว่าน 
        ควรหว่านให้สม่ำเสมอทั่วแปลง ข้าวจะได้รับธาตุอาหาร แสงแดด และเจริญเติบโตสม่ำเสมอกัน ทำให้ได้ผลผลิตสูง โดยเดินหว่านในร่องแคบๆ ที่ทำไว้ เมล็ดพันธุ์ที่ใช้หว่านแต่ละแปลงย่อย ควรแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามขนาดและจำนวนแปลงย่อย เพื่อเมล็ดข้าวที่หว่านลงไปจะได้สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง ในนาที่เป็นดินทรายมีตะกอนน้อยหลังจากทำเทือกแล้วควรหว่านทันที กักน้ำไว้หนึ่งคืนแล้วจึงระบายออก จะทำให้ข้าวงอกและจับดินดียิ่งขึ้น

การดูแลรักษา
        การทำนาหว่านน้ำตม จะต้องมีการดูแลให้ต้นข้าวงอกดีโดยพิจารณาถึง

        1. พันธุ์ข้าว การใช้พันธุ์ข้าวนาปีซึ่งมีลำต้นสูง ควรจะทำการหว่านข้าวให้ล่า ให้อายุข้าวจากหว่านถึงออกดอกประมาณ 70-80 วัน เนื่องจากความยาวแสงจะลดลง จะทำให้ต้นข้าวเตี้ยลง เนื่องจากถูกจำกัดเวลาในการเจริญเติบโตทางต้นและทางใบ ทำให้ต้นข้าวแข็งขึ้นและไม่ล้มง่าย สำหรับข้าวที่ไม่ไวแสงหรือข้าวนาปรังไม่มีปัญหา เพียงแต่กะระยะให้เก็บเกี่ยวในระยะฝนทิ้งช่วง หรือหมดฝน หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้าวบางพันธุ์ เช่น ปทุมธานี 1 ออกดอกในฤดูหนาวเป็นต้น

        2. ระดับน้ำ การจะผลผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตสูงการควบคุมระดับน้ำเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มหว่านจนข้าวแตกกอ ระดับน้ำไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร เมื่อข้าวแตกกอเต็มที่ ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องสูบน้ำบ่อยๆ แต่ไม่ควรเกิน 10 เซนติเมตร เพราะถ้าระดับน้ำสูงจะทำให้ต้นข้าวที่แตกกอเต็มที่แล้ว เพิ่มความสูงของต้น และความยาวของใบ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นเหตุให้ต้นข้าวล้ม เกิดการทำลายของโรคและแมลงได้ง่าย

 3. การใส่ปุ๋ย ต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่ข้าวต้องการ จำนวนที่พอเหมาะ จึงจะให้ผลคุ้มค่า 

        4. การควบคุมวัชพืช วัชพืชเป็นปัญหาใหญ่ในการทำนาหว่าน้ำตม การปรับระดับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอและการควบคุมระดับน้ำจะช่วยลดประชากรวัชพืชได้ส่วนหนึ่ง ถ้ายังมีวัชพืชในปริมาณสูงจำเป็นต้องใช้สารเคมี 

    

ข้อพึงระวัง ->

 1. ควรปล่อยให้ดินนามีโอกาสแห้งสนิท เป็นระยะเวลานานพอสมควร และถ้าสามารถไถพลิกดินล่างขึ้นมาตากให้แห้งได้ก็จะดียิ่งขึ้น ถ้าดินเปียกน้ำติดต่อกันโดยไม่มีโอกาสแห้ง จะเกิดการสะสมของสารพิษ เช่นแก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) และกรดอินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งถ้าสารเหล่านี้มีปริมาณมากก็จะเป็นอันตรายต่อรากข้าวได้ 

        2. ควรมีการหมักฟาง หญ้ารวมทั้งอินทรียวัตถุเพื่อให้สลายตัวสมบูรณ์ ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังการไถเตรียมดิน เพื่อให้ ดินปรับตัวอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าว และสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นออกมาให้แก่ต้นข้าว

        3. ดินกรดจัดหรือดินเปรี้ยวจัด มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำ (pH ต่ำกว่า4.0) ควรขังน้ำไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนปักดำข้าว เพื่อให้ปฏิกิริยาต่างๆ ตลอดจนความเป็นกรดของดินลดลงสู่สภาวะปกติ และค่อนข้างเป็นกลางเสียก่อน ดินกลุ่มนี้ถ้ามีการขังน้ำตลอดปี หรือมีการทำนาปีละ 2 ครั้ง ก็จะเป็นการลดสภาวะความเป็นกรดของดิน และการเกิดสารพิษลงได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของข้าวสูงขึ้

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดอ่างทอง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา