ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การผลิตข้าวไรเบอรี่

โดย : นายประสิทธิ์ วงษ์สนอง วันที่ : 2017-03-24-23:13:20

ที่อยู่ : 35 ม.8 ต.ม่วงเตี้ย

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ( riceberry ) มีคุณประโยชน์  ข้าวไรซ์เบอร์รี่จัดเป็นข้าวสีม่วงที่สร้างความตื่นตัวในตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ เพราะข้าวพันธุ์มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง  จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคสมองเสื่อม และบำรุงร่างกายชะลอความแก่ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองข้าวไรซ์เบอรี่ จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ มุ่งเน้นในเรื่องของธรรมชาติเป็นสำคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ การรักษาสมดุลธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ  เพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน 

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดข้าวที่มีความต้องการบริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ

เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูความสมดุล และการผลิตอย่างยั่งยืน

เพื่อสร้างงาน  สร้างรายได้  ให้แก่ครอบครัว 

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

พันธุ์ข้าว  น้ำหมัก

อุปกรณ์ ->

เครื่องจักขนาดเล็ก เช่น รถไถเดินตาม รถตีนา 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเลือกพื้นที่ปลูก : เลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกัน และมีความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติค่อนข้างสูง 

2.การเลือกใช้พันธุ์ข้าว :เลือกพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่งก็คือข้าวไรซ์เบอร์รี่ จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ นำมาปลูกหมุนเวียนตลอดมาโดยไม่ใช้พันธุ์ซ้ำ ช้าวไรซ์เบอร์รี่ จากแปลงสะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากพันธุ์ปนอย่างแท้จริง

3.การเตรียมดิน : การเตรียมดินเพื่อปลูกข้าว ถ้าเตรียมดินไม่ดีพอจะส่งผลเสียมหาศาลในการผลิตคราวนั้นๆและคราวต่อๆไป  โดยการหมักดินด้วยจุลินทรีย์ที่ผลิตเองตามคำแนะนำของกรมการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้ช่วยควบคุมวัชพืช โรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าวบางชนิด จากนั้นจึงไถดะ ไถแปร คราด และทำเทือก

4. วิธีปลูก : การปลูกใช้วิธีปักดำ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตข้าวอินทรีย์ เพราะการเตรียมดิน ทำเทือก การควบคุมระดับน้ำในนาจะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้  และการปลูกกล้าข้าวลงดินจะช่วยให้ข้าวสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ ต้นกล้าที่ใช้ปักดำ มีอายุประมาณ 20 วัน เป็นต้นกล้าที่เจริญเติบโตแข็งแรงดี ปราศจากโรคและแมลงทำลาย   เพราะใช้เชื้อราไตโคเดอร์มาใช้แช่เมล็ดพันธุ์ก่อนทำการเพาะ      

5. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน

1) การจัดการดินเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมกับการใช้ปลูกข้าว  ไม่เผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุอินทรีย์ในแปลงนา เพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและ จุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์

2)น้ำหมักชีวภาพ หรือน้ำสกัดชีวภาพ (Bio Extract) ทำใช้เองจากวัสดุเหลือใช้ในไร่นา ในครัวเรือน นำมาหมักร่วมกับกากน้ำตาล(Mollass) ละลายน้ำน้ำสกัดจากพืช ผลไม้ได้แก่ผักต่างๆ ใบสะเดา ตะไคร้หอม พืชสมุนไพรต่างๆ มะม่วง สับปะรด กล้วย มะละกอ ฟักทอง   น้ำสกัดจากสัตว์ ได้แก่  หอยเชอรี่ เป็นต้น

วิธีใช้น้ำหมักในนาข้าวไรซ์เบอร์รี่

ครั้งที่ 1 หลังทำเทือก ใช้น้ำหมักพืชที่ทำขึ้น อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ ผสมน้ำเปล่า 10 เท่า ราดให้ทั่ว ก่อนการปักดำข้าว ครั้งที่ 2 ระยะข้าวแตกกอหรือหลังจากปักดำข้าวไปแล้ว 30 วัน ใช้น้ำหมักจากเนื้อ อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ผสมน้ำเปล่าเท่ากันกับครั้งที่ 1 ราดให้ทั่ว ครั้งที่ 3 ระยะข้าวเริ่มตั้งท้องใช้น้ำหมักผลไม้ อัตรา 250 ซีซีต่อไร่ ผสมน้ำเปล่า 50 เท่าพ่นทั่วแปลง ครั้งที่ 4 และ 5 ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักจากผลไม้ หลังจากครั้งที่ 3 เป็นเวลา 15 และ 30 วัน

 

ข้อพึงระวัง ->

การเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ย์ ถือเป็นหัวใจหลักของการผลิต เพราะถ้าเตรียมไม่ดีพอ จะส่งผลเสียมหาศาลในการผลิตคราวนั้นๆและคราวต่อๆไป จึงต้องปรับสภาพดินให้เหมาะสมที่สุดต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว 

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดอ่างทอง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา