ความรู้สัมมาชีพชุมชน

หมอทำขวัญ

โดย : นายสำเริง จิ๋วน็อต วันที่ : 2017-03-17-14:01:08

ที่อยู่ : 132 ม.14ต.โตนด

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ความเป็นมาของการทำขวัญนาคสืบเนื่องมาจากเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ มีพญานาคตนหนึ่งได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ในรูปของพราหมณ์ เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ และได้พักอาศัยอยู่ในวิหารท้ายวัดกับภิกษุรูปหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งใกล้สว่าง พระภิกษุรูปนั้นเมื่อตื่นนอนแล้วจะออกไปเดินจงกรมอยู่ด้านนอกวิหาร พอภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พญานาคก็วางใจเผลอนอนหลับ ร่างจึงกลับกลายเป็นพญานาคดังเดิม เมื่อภิกษุรูปนั้นกลับมาวิหาร ได้เห็นพญานาคก็ตกใจร้องเอะอะขึ้น ภิกษุรูปอื่นจึงเข้าไปดูเมื่อพบเข้าก็เกิดความหวาดกลัว และนำเรื่องไปบอกพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าจึงสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์และเรียกพญานาคมาถาม ได้ความว่าเพราะเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงปลอมตัวมาบวช พระพุทธเจ้าบอกแก่พญานาคว่าเจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่อยู่ในฐานะควรจะบวช จึงให้สึก แต่พญานาคนั้นมีความอาลัย ก่อนไปจึงขอฝากชื่อนาคไว้ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีคำเรียกขานคนที่ต้องการจะบวชว่า "นาค" สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน                                                                                                       

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อทำขวัญนาค

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

-

อุปกรณ์ ->

-

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. ก่อนเริ่มพิธีต้องนำเครื่องอัฐบริขารทั้งหมดมาวางเรียงไว้หน้าบายศรี หมอทำขวัญจะแต่งตัวแบบพราหมณ์ คือนุ่งขาวห่มขาว
2. เริ่มพิธีด้วยการกล่าวบทอัญเชิญเทวดา โดยหมอทำขวัญจะสวดนะโม 3 จบ และตามด้วย นะโมแปลจล แล้วว่าด้วยเรื่องของสังขาร กล่าวถึงพระนามของพระพุทธเจ้า จนถึงการน้อมกายถวายบูชา และเชิดชูในบุญกุศลของผู้ที่จะบวชในการสละความสุขส่วนตัวเข้าสู่เพศบรรพชิต แล้วกล่าวอัญเชิญเทพยดามาเป็นสักขีพยานและปกป้องคุ้มครองนาค เพื่อเป็นศิริมงคลให้กับนาคที่จะบวช
3. กล่าวนามนาค เป็นบทที่กล่าวถึงที่มาของคำว่า นาค โดยจะมีการเล่าถึงเรื่องเล่าของพญานาคที่แปลงกายเป็นมนุษย์ เพื่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
4. แล้วกล่าวคำปฎิสนธิ กล่าวถึงกำเนิด การเกิดมาของคนเรา โดยจะเริ่มตั้งแต่พ่อ แม่อยู่ร่วมกัน จนกระทั่งได้ฤกษ์ จึงลงมาเกิดในครรภ์ของแม่ แม่มีอาการแพ้ท้อง อยากกินของที่หายาก ฝ่ายพ่อ ก็พยายามที่จะหาเอามาให้ คอยดูแลทั้งแม่และลูกในครรภ์จนครบกำหนดคลอด เพื่อให้นาคระลึกถึงคุณบิดามารดา หลังจากนั้นจะเป็นการสอนนาคให้รู้จักเพศบรรพชิต กล่าวเสร็จรดน้ำมนต์แล้วเปิดบายศรี
5. สอนนาคว่าเป็นทำนองแหล่เตือนใจนาค เพื่อให้นาคที่จะบวชได้รู้จักวิธีดำรงตน ให้มีการประพฤติปฎิบัติตนในเพศบรรพชิตที่ถูกต้องเหมาะสม อยู่ในศีลธรรมอันดี เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้ที่น่าเคารพศรัทธา
6. เรียกขวัญนาค คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อกันว่า บุคคลที่จะบวช ได้ถูกปลงผมโกนคิ้วออกไป บางคนอาจจะยังรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ตนเคยมี เมื่อบวชเป็นพระไปแล้ว ไม่สามารถที่อยู่ในความสงบได้ ท่องหนังสือ หรือตำรับตำราก็ไม่ได้ มัวแต่ว้าวุ่นหัวใจกระเจิงอยู่ เขาจึงได้ให้ผู้ที่เรียนรู้คัมภีร์ทางศาสนา มาเรียกมิ่งเชิญขวัญให้ผู้ที่จะบวช จึงเรียกกันว่า “ทำขวัญนาค” หมอทำขวัญนาคเอาผ้าม้วนใบตองมอบให้นาค นาคส่งให้บิดา มารดานำไปเก็บไว้ในเรือน ถือเป็นมิ่งขวัญ กล่าวกันว่ามิ่งขวัญอยู่ที่ยอดตอง
7. หลังจากเปิดบายศรีแล้ว ผู้ทำพิธีจะจุดเทียน 9 เล่ม ทำพิธีทักษิณาวรรตรอบบายศรี 3 รอบ
8. นำไข่ กล้วย ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ใส่ลงไปในมะพร้าวอ่อน ซึ่งปัจจุบันจะมีการปรับให้เป็นการตักหลอก แล้วป้อนนาค 3 ช้อน
9. นำแป้ง เครื่อง หอม พลู ใส่รวมกันเจิมที่หน้านาคเพื่อเป็นสิริมงคล โดยเขียนเป็นเลขอุนาโลมหรือเลขเก้าไทย

 

ข้อพึงระวัง ->

-

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสุโขทัย
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา