ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทอผ้าซิ่นตีนจก

โดย : นางสมจิตร ปราณีต วันที่ : 2017-04-11-11:37:37

ที่อยู่ : 59 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ผ้าทอตีนจก 9 ลาย บ้านหาดเสี้ยว

          การทอผ้าเป็นหัตถศิลป์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาที่เฉลียวฉลาดความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะนำเส้นใยจากวัสดุมาถักทอเป็นผืนผ้ามีลวดลายสีสันงามสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และส่งต่อมายังรุ่นลูก รุ่นหลาน บ่งบอกถึงชาติตระกูลที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา โดยเฉพาะการทอผ้าเป็นวิถีหนึ่งของชาวไทยพวนตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ในสมัยก่อนหญิงสาวไม่ได้เล่าเรียนหนังสือกันเมื่อเติบโตขึ้นพอที่จะช่วยพ่อ แม่ทำงานได้ ก็ช่วยทำงานทุกอย่าง ตามแต่พ่อ แม่จะมอบหมายให้ทำ เช่น ตักน้ำ ตำข้าว เลี้ยงน้อง เป็นต้นส่วนมากเวลากลางคืนก็ฝึกหัดทำฝ้ายซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะลงมือทอให้ได้ผ้าเป็นผืน ใครมีงานฝ้ายชนิดไหนทำก็นำฝ้ายพร้อมอุปกรณ์การทำฝ้ายมารวมกลุ่มทำกันเป็นพวกๆแต่ละพวกจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน วิธีการทำ คือ จุดไฟไว้ตรงกลาง แล้วนั่งล้อมวงกันทำมือก็ทำไป ปากก็คุยกันไปอย่างสนุกสนานถ้ามีชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมาเที่ยวและคุยด้วยก็ยิ่งเพิ่มความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น งานทำฝ้ายรู้สึกจะไม่ได้ผลเท่าไรดูเหมือนจะเอางานทำฝ้ายเป็นเครื่องบังหน้ามาทำร่วมกัน เพราะมุ่งหวังจะมาคุยเล่นกันเพื่อความสนุกสนานมากกว่า จึงไม่มีใครมาร่วมกันทำ เมื่อรับประทานอาหารเย็นเสร็จต่างคนต่างรีบมา ใครมาถึงก่อนก็จุดไฟไว้คอยเพื่อนไม่มีใครเกี่ยงงอนเอารัดเอาเปรียบกันส่วนฟืนสำหรับจุดไฟนั้นเขาก็พร้อมใจกันไปหาจากป่าในเวลากลางวัน เป็นไม้ไผ่แห้งตายซากเรียกว่า “หลัว”ไปเอามาคราวหนึ่งใช้ได้หลายวัน การทำฝ้ายร่วมกันเช่นนี้ เรียกว่า “ลงข่วง”ส่วนหญิงสาวรุ่นใหญ่ซึ่งมีความชำนาญในการทอผ้าแล้วจะทออยู่บนบ้านบ้างใต้ถุนบ้านบ้าง สุดแล้วแต่ตั้งกี่ทอผ้าไว้ที่ไหนก็ไปทอที่นั่นสำหรับผ้าที่ทอนั้นมีหลายประเภท เช่น ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าขาวผ้า ผ้าห่ม ในที่นี้จะกล่าวถึง“ผ้าซิ่นตีนจก” ผ้าซิ่นตีนจกของชาวพวนบ้านหาดเสี้ยวมีมานานนับศตวรรษแล้วลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากกลุ่มผ้าซิ่นของชาวไทยอื่นๆ คือรายละเอียดในการออกแบบโครงสร้างและลวดลายบนผืนผ้าซิ่น แม้แต่ในพื้นที่ตำบลหาดเสี้ยวเดียวกันความแตกต่างของโครงสร้างและลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าจะไม่เหมือนกันคำกล่าวของผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่า “ผ้าซิ่นตีนจกสามารถบอกแหล่งกำเนิดกลุ่มชนชาติพันธุ์ว่ามาจากกลุ่มใด หมู่บ้านใดได้เป็นอย่างดี”

            ในสมัยก่อนผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าซิ่นที่ทอขึ้นมาไว้ใช้ในโอกาสพิเศษ เกี่ยวกับความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพวนหาดเสี้ยว เช่น งานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์งานเทศกาลและพิธีการสำคัญ และในกระบวนการทอผ้าทั้งหมด ทุกประเภท ผ้าซิ่นตีนจกเป็นสิ่งที่ประณีตสวยงามที่สุดและยังแฝงไว้ด้วยความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวพวนหาดเสี้ยวไว้อีกด้วย 

           หญิงสาวส่วนมากอายุอยู่ในราว  16-17  ปี  ต้องได้ฝึกหัดทอผ้าตามกรรมวิธีข้างต้นนั้นต่อจากนี้ก็จะต้องเริ่มฝึกหัดทอ ผ้ากันอย่างเอาจริงเอาจังต่อไป  คือเริ่มฝึกหัดทำเชิงผ้าซึ่งมีลวดลายต่าง ๆ  “เรียกว่าซิ่นตีนจก”  ความจริงเริ่มฝึกหัดทอเฉพาะตีนจก  แต่เอาตัวผ้าซิ่นไปเรียกรวมเข้าด้วยจึงเรียกว่าซิ่นตีนจก  คำว่า “จก”  ในที่นี้  หมายถึงอาการที่ใช้ขนเม่นชนิดที่แข็งแยกเส้นได้ยืนของหูกสอดหรือล้วนลงไปตาม ด้ายยืนที่แยกนั้น ควักเอาด้ายหรือไหมซึ่งอยู่ข้างล่างขึ้นมาข้างบน แล้วแยกด้ายยืนที่อื่นกดเส้นด้ายหรือไหมซึ่งควักขึ้นมานั้นลงไปข้างล่างอีก  ทำเช่นนี้จนตลอดกว้างของด้ายยืนเพื่อให้เป็นลวดลายความต้อง  แล้วทอสลับกันไปจนกว่าจะเสร็จเป็นตีนผ้าซิ่น  เมื่อทอเสร็จแล้วก็ทอตัวผ้าซิ่นซึ่งมีสีและลวดลายเหมาะสมกันตามที่กำหนด กฎเกณฑ์ไว้เป็นคู่กันสำหรับตีนชนิดนั้น ๆ  เสร็จแล้วก็เอาตีนและตัวผ้าซิ่นมาเย็บติดต่อกันเข้าเป็นผ้าซิ่นสำเร็จรูป  ใช้นุ่งได้เลย  เรียกว่าผ้าซิ่นตีนจก  หญิงสาวจะต้องผ่านการฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกนี้ด้วยกันทุกคน  เป็นอันว่าหญิงสาวทุกคนจะต้องมีผ้าซิ่นตีนจก  แล้วเก็บไว้สำหรับนุ่งในเวลามีงานออกหน้าออกตาเป็นครั้งเป็นคราว  ไม่ใช่นุ่งพร่ำเพรื่อ  ส่วนมากจะใช้นุ่งในเวลาไปทำบุญที่วัด  ใครไม่มีผ้าซิ่นตีนจกนุ่งก็จะต้องอายเพื่อนฝูงเข้ากับเพื่อนฝูงไม่สนิท  เพราะส่อแสดงตนว่าเป็นคนขี้เกียจคร้านไม่เอาการเอางาน  แม้แต่บรรดาพวกหนุ่ม ๆ  ก็ไม่สนใจจะมองเขาอีกด้วย  เนื่องด้วยการทอผ้าซิ่นตีนจกนี้  ต้องใช้ความเพียรพยายามและความละเอียดลออมาก  ทั้งต้องใช้เวลาทอนานมากด้วย  ดังนั้น  ผ้าซิ่นตีนจกนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นุ่งว่า  เป็นคนขยันหมั่นเพียรได้  ฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกแล้วมีความรู้ความสามารถที่จะทอผ้าอย่างอื่น ๆ  ได้ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป  และมีความเป็นสาวโดยสมบูรณ์แล้วพร้อมที่จะแต่งงานมีเย้ามีเรือน  และจะเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีด้วย

           เมื่อหญิงสาวแต่งงานแล้วก็เลิกนุ่งผ้าซิ่นตีนจกไม่นุ่งต่อไปอีกเลยเมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นประเพณีอีกหนึ่งอย่าง  ซึ่งทำให้เราทราบว่าหญิงสาวที่นุ่งผ้าซิ่นตีจกนั้นยังไม่ได้แต่งงาน เหมือนการปักปิ่นและเป็นสาวโดยสมบูรณ์พร้อมที่จะแต่งงานได้  แต่ในสมัยปัจจุบันนี้จะถือเป็นกฎเกณฑ์เช่นนั้นไม่ได้แล้ว

 

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ การทอผ้าตีนจก

1.เสิง หมายถึง ตะแกรงสานด้วยไม้ไผ่ขนาดกลมเท่ากระด้งฝัดข้าว

2.อิ้ว หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้หีบเอาเมล็ดฝ้ายออก

3.กง หมายถึง อุปกรณ์ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ยิงฝ้าย

4.ตะลุ่ม หมายถึง อุปกรณ์ใช้ในขั้นตอนการยิงฝ้ายมีลักษณะเหมือนกระบุงใบใหญ่

5.หลา หมายถึง อุปกรณ์ใช้ปั่นด้าย

6.เปีย หมายถึง อุปกรณ์ทำด้วยไม้ใช้แยกฝ้ายออกเพื่อทำเป็นไจ

7.เผือ หมายถึง อุปกรณ์สำหรับค้นหูก เพื่อนำมาทำเป็นด้ายยืน

8.กี่ทอผ้า

9.ด้ายทอผ้า

อุปกรณ์ ->

 ส่วนประกอบของผ้าตีนจก 

ผ้าซิ่นตีนจก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1.หัวซิ่น คือ ส่วนบนของผ้าซิ่น

2.ตัวซิ่น คือ ส่วนกลางของผ้าซิ่น

3.ตีนซิ่น คือ ส่วนล่างของผ้าซิ่น

ซิ่น หมายถึง ผ้าที่ทอเป็นถุง ตีน หมายถึง โครงสร้างส่วนล่างที่ประกอบเป็นผ้าถุง จก หมายถึง ควักหรือล้วงด้วยมือ ในที่นี้หมายถึง อาการที่ใช้ขนเม่นชนิดที่แข็งแยกเส้นด้ายยืนของหูกสอดขึ้น หรือล้วงลงไปตามเส้นด้ายยืนที่แยกนั้นควักเอาด้ายหรือไหมซึ่งอยู่ข้างล่างขึ้นมาข้างบน แล้วแยกเส้นด้ายยืนที่อื่นอีกกดเส้นด้ายหรือไหมซึ่งควักขึ้นมานั้นลงไปข้างล่างอีกทำเช่นนี้จนตลอดความกว้างของด้ายยืน เพื่อให้ได้ลวดลายตามต้องการแล้วก็ทอสลับกันไปจนกว่าจะเสร็จเป็นตีนผ้าซิ่น เมื่อทอเสร็จแล้วก็ทอตัวผ้าซิ่นซึ่งมีสีและลวดลายเหมาะสมกันตามที่มีกำหนดกฏเกณฑ์ไว้เป็นคู่สำหรับตีนนั้นๆเสร็จแล้วก็เอาตีนและตัวผ้าซิ่นมาเย็บติดต่อกันเป็นผ้าซิ่นสำเร็จรูป ใช้นุ่งได้เลยเรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” หญิงสาวจะต้องผ่านการฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกด้วยกันทุกคนเป็นอันว่าหญิงสาวทุกคนจะต้องมีผ้าซิ่นตีนจกเก็บไว้นุ่งเวลามีงานออกหน้าออกตาเป็นครั้งคราวไม่ใช่นุ่งพร่ำเพรื่อ ส่วนมากจะนุ่งเวลาไปทำบุญที่วัดใครไม่มีผ้าซิ่นตีนจกนุ่งจะต้องอายเพื่อนฝูงเพราะส่อแสดงว่าตนเป็นคนเกียจคร้าน ไม่เอาการเอางาน แม้แต่บรรดาหนุ่มๆก็ไม่สนใจมอง เนื่องด้วยการทอผ้าซิ่นตีนจกนี้ต้องใช้ความเพียรพยายามและความละเอียดลออมาก ทั้งต้องใช้เวลาทอนานมาก ดังนั้นผ้าซิ่นตีนจกนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นุ่งว่า เป็นคนขยันหมั่นเพียรผู้ที่ได้ฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกแล้วทำให้มีความรู้ความสามารถที่จะทอผ้าอื่นๆ ได้มีความเป็นสาวโดยสมบูรณ์พร้อมที่จะแต่งงานมีเย้ามีเรือนได้และจะเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีด้วย

 

ลายของผ้าตีนจก 

ผ้าซิ่นตีนจกของชาวบ้านหาดเสี้ยว มีด้วยกันทั้งหมด 9 ลายหลัก คือ

1.ลายเครือน้อย หมายถึง มีเครื่องประดับตัวลายหลักน้อยและเป็นลายง่ายๆ ลายนี้สามารถให้เด็กฝึกหัดทำตั้งแต่ อายุ 13-14 ปีในโบราณกาลลายเครือน้อยนี้จะต้องต่อกับซิ่นมุก

2.ลายเครือกลาง หมายถึง ลายหลักที่มีความเหมือนกับลายเครือน้อยเพียงแต่มีความยากในการจกลายเพิ่มขึ้นต้องต่อกับซิ่นเข็น

3.ลายเครือใหญ่ หมายถึง ลายหลักที่มีดอกไม้อยู่ตรงกลางเครือซึ่ง 2 ลายแรกนั้นไม่มี และจะต้องต่อกับซิ่นมุก

4.ลายมนสิบหก หมายถึง ลายหลักที่มีมุม 16 มุมลายนี้จะเป็นลายที่สวยงามกว่าลายอื่นลายนี้ต้องต่อกับซิ่นตาเติบ

5.ลายสิบสองหน่วยตัด หมายถึง ลายหลักที่มีขอจำนวน 12 ขอ ประกอบกันเป็นดอกมีขาพันทำเป็นสามเหลี่ยมและยังมีนกคาบหรือหงส์ตัวเล็กอยู่ด้วย ลายนี้ต้องต่อกับซิ่นตาหว้า

6.ลายน้ำอ่าง หมายถึง ลายหลักที่มีนกหงส์ 2 ตัว คาบดอกไม้ร่วมกันคล้ายกันกับว่าหงส์ 2 ตัวนี้คาบดอกไม้ในอ่างน้ำนั่นเอง ลายนี้สตรีชาวพวนหาดเสี้ยวนิยมทอใส่กันมากที่สุดเนื่องจากเป็นลายที่มีความสะดุดตา และลายนี้จะต้องต่อกับซิ่นเข็น

7.ลายสองท้อง หมายถึง ลายหลักที่มีความแปลกกว่าลายอื่น คือ ครึ่งหนึ่งของลายจะเป็นสีดำอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นสีแดง เวลาทอจะพุ่งสวย 2 สีแต่จะไม่ปล่อยให้กระสวยพุ่งไปจนหมดของซิ่นเมื่อปล่อยสีดำมายังลายที่กำหนดแล้วจึงย้อนกลับ เพราะฉะนั้นสีดำจึงมีเพียงครึ่งเดียวแล้วจึงปล่อยกระสวยด้ายสีแดงมาด้วยวิธีเดียวกัน จึงต้องมีกระสวย 2อัน ในการทอผ้า 1 ผืน ลายนี้ต้องต่อกับซิ่นน้ำอ่อย

8.ลายแปดขอ หมายถึง ลายที่มีความเหมือนกับลายมนสิบหก แต่ย่อขนาดให้เล็กลงลายนี้ต่อด้วยซิ่นอ้อมแดง

9.ลายสี่ขอ หมายถึง ลายขนาดเล็ก มีเครื่องประกอบกระจุ๋มกระจิ๋มใช้สำหรับต่อผ้าซิ่นให้เด็กหญิงตัวเล็กๆใส่ ลายนี้ต่อด้วยซิ่นตาหว้า

ในลายของผ้าซิ่นตีนจกที่เป็นลายหลักของชาวบ้านหาดเสี้ยวทั้ง9 ลายแล้วยังมีลายเล้กๆที่ประกอบอยู่ภายในลายหลักอีก 6 ลาย คือ

1. ลายนกหมู่

2. ลายนกแถว

3. ลายนกคุ่ม

4. ลายฟันปลา

5. ลายเครือขอ

6. ลายโงะ

 

การทอผ้าตีนจก

การทอผ้าแบบโบราณของชาวไทยพวนแต่เดิมจะปลูกฝ้าย และนำฝ้ายมาปั่นด้วยมือ เรียกว่า ฝ้ายเข็นและย้อมสีธรรมชาติ ในการทอผ้า สีที่ใช้ในการทอผ้าส่วนมากจะเป็นสีแหล้( สีเข้ม ) ซึ่งปัจจุบัน การเข็นฝ้ายนั้นหาดูได้ยากเพราะส่วนใหญ่จะใช้ฝ้ายจากโรงงาน ทำให้กระบวนการบางอย่างในการทอผ้าค่อยๆหายไปดังนั้น เราเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญา ควรจะอนุรักษ์ไว้ซึ่งกรรมวิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมซึ่งขั้นตอนการทอผ้าแบบโบราณ สรุปไว้ 13 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การตูนฝ้าย (การตากดอกฝ้าย) คือ การนำปุยฝ้ายจากต้นฝ้ายมาผึ่งแดดโดยใช้เสิง เพื่อให้ปุยฝ้ายแห้งและเลือกเอาขยะออก

ขั้นตอนที่ 2 การอิ๊วฝ้าย คือการนำปุยฝ้ายที่เลือกขยะออกแล้ว มาหีบเอาเมล็ดออกโดยใช้อิ๊ว

ขั้นตอนที่ 3 การยิงฝ้าย คือการนำปุยฝ้ายที่ได้ มาดีดด้วยกงฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายละเอียดกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 4 การล้อมฝ้าย คือ การนำปุยฝ้ายที่ละเอียดแล้วมาล้อเป็นแท่งกลมยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรฝ้ายกลมแท่งนี้เรียกว่า ล้อมฝ้าย

ขั้นตอนที่ 5 การเข็นฝ้าย คือการนำล้อมฝ้ายมาเข็น เพื่อให้เป็นเส้นด้าย ด้วยหลา

ขั้นตอนที่ 6 การเปียฝ้าย คือการนำฝ้ายที่เข็นแล้วออกจากหลา ด้วยเปีย เพื่อทำฝ้ายให้เป็นกำ หรือ ใจ

ขั้นตอนที่ 7 การเฮ้าน้ำข้าวฝ้าย ( การลงน้ำข้าว ) คือ การนำฝ้ายที่เป็นกำหรือ ใจ ไปย้อมสี ก่อนนำไปลงน้ำข้าว ( น้ำที่รินจากหม้อหุงข้าว ) เพื่อให้เส้นฝ้ายเหนียวไม่ขาดง่าย

ขั้นตอนที่ 8 การตากฝ้าย คือ การนำฝ้ายที่ลงน้ำข้าวแล้วมาทำความสะอาดโดยใช้ไม้ตีผงข้าวสุกออก ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง

ขั้นตอนที่ 9 การกวักฝ้าย คือการนำฝ้ายที่แห้งแล้วมากวัก เพื่อจัดเรียงเส้นฝ้ายใหม่ให้ยาวติดต่อกัน

ขั้นตอนที่ 10 การค้นหูก คือการนำฝ้ายที่กวักแล้วไปค้นเป็นเครือ ด้วย เผือ เรียกว่าเครือหูก

ขั้นตอนที่ 11 การสืบหูก คือการนำเครือหูกมาสืบต่อใส่ฟืม เพื่อต่อฝ้ายยืน

ขั้นตอนที่ 12 การฮ้างหูก ( การแต่งเครือหูก )คือ การนำเครือหูกที่สืบต่อฝ้ายยืนแล้วมาขึงในกี่ เพื่อเตรียมทอขั้นตอนที่ 13 การปั่นหลอด คือการกรอด้ายใส่ไม้ก้อหลอด เรียกว่า กรอหลอดด้ายแล้วนำมาใส่กระสวย เพื่อเตรียมทอ เมื่อครบทั้ง13 ขั้นตอนแล้วก็สามารถทอผ้าได้ ซึ่งการทอผ้าตีนจก จะต้องใช้ขนเม่นในการจก การทอผ้ายกดอก ต้องมีการเก็บลายก่อน และขณะทอ จะใช้ไม้แป้นขิดยกตามลวดลาย เพื่อสอดด้ายพุ่ง ให้เกิดลวดลาย เป็นต้น ผ้าซิ่นตีนจกไทยพวนมีลักษณะที่แตกต่างจากผ้าตีนจกของที่อื่นๆคือ การใช้ขนเม่นในการจกฝ้ายจากด้านล่างขึ้นด้านบนบนเส้นยืน ให้เป็นไปตามลวดลายโดยมิได้มีการเก็บลวดลายไว้ล่วงหน้า ผู้ทอผ้าตีนจกจะต้องใช้ความชำนาญในการจดจำลวดลาย เพื่อให้การทอผ้าเป็นไปด้วยความรวดเร็วและการทอผ้าแต่ละแถว จะต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะเพราะต้องนับเส้นด้ายแต่ละเส้น เพื่อใส่ด้ายสีในการจกเข้าไปโดยใช้ขนเม่นในการสอดด้ายสีนั้นๆ ระยะเวลาในการทอผ้าตีนจกจึงต้องใช้เวลานานกว่าผ้าประเภทอื่นๆ แต่เมื่อแล้วเสร็จ ผ้าตีนจกจะเป็นผ้าที่มีความงดงาม ประณีต กว่าผ้าผืนใดๆ ของชาวไทยพวน

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสุโขทัย
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา