ความรู้สัมมาชีพชุมชน

จักสานตาข่ายดักปลา

โดย : นายบุญธรรม ปิ่นทอง วันที่ : 2017-06-02-15:54:34

ที่อยู่ : 62 หมู่ 6 บ้านเค็ง ตำบลกุดขาคีม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทำ “มอง” ตาข่ายดักปลา เนื่องจากสภาพพื้นที่บ้านเค็งอยู่ติดกับแม่น้ำมูลส่งผลทำให้วิถีชีวิตของคนบ้านเค็งมีความผูกพันกับแม่น้ำมูลโดยชาวบ้านพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูลเป็นหลัก  เป็นทั้งแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารพร้อมยังเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้กับคนบ้านเค็งมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่ชาวบ้านนำความรู้และประสบการณ์มาใช้แก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับวิถีชุมชน ซึ่งในการจับปลาของชาวบ้านนั้นจะเห็นว่า ชาวบ้านเค็งมีเทคนิคและวิธีการมากมายในการจับปลา เช่น คนจับปลาต้องรู้จักปลา ไม่ใช่รู้จักเพียงรูปร่าง ลวดลาย เพื่อแยกชนิดปลาเท่านั้น คนหาปลาต้องรู้พฤติกรรมของปลา ฤดูกาลอพยพของปลา แหล่งที่อยู่ของปลาว่าปลาชอบอยู่ตรงไหน ชอบอยู่ตามผิวน้ำ หรือใต้ท้องน้ำ จึงจะสามารถจับปลานั้นได้ ขนาดของปลาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รู้ว่าควรใช้ “มอง” ตาข่ายดักปลาในการดักปลาขนาดความยาวกี่ตา กี่เซนติเมตร จากสภาพพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำมูล ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีความรู้และความชำนาญในการหาปลาและทำเครื่องมือในการหาปลาที่เรียกว่า “มอง” ซึ่งความรู้เหล่านี้เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์จากรุ่นต่อรุ่นในการพัฒนาฝีมือในการทำ “มอง” จนถึงทุกวันนี้

วัตถุประสงค์ ->

สำหรับจับปลา

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

วัสดุอุปกรณ์การทำ “มอง” ประกอบด้วย

1.  ตาข่ายสำเร็จรูป

2.  ด้ายเอ็นเบอร์ 25-30 ใช้สานพานตีน

          3.  จีมขาดต่างๆ ใช้ในการเก็บด้ายนำมาสานพานตีนและติทุ่น

          4.  ปานขนาดต่างๆใช้กำหนดขนาดตาของตาข่าย

          5.  ตะกั่วเส้นใช้ตัดทำลูกตะกั่วเพื่อถ่วงตาข่ายดักปลา

          6.   เหล็กงัดใช้พับเส้นตะกั่ว

          7.   กรรไกรตัดลูกตะกั่ว ใช้ตัดเส้นตะกั่ว

          8.   ถุงมือ ใช้ปิดจมูกขณะตัดและติดลูกตะกั่ว

          9.   ผ้าปิดจมูก ใช้ปิดจมูกขณะตัดและติดลูกตะกั่ว

          10.  เครื่องชั่งลูกตะกั่ว

          11.  คีมใช้หนีบลูกตะกั่ว

          12.  ทุ่นฟองน้ำ ติดตาข่ายเพื่อพยุงตาข่ายให้ลอยน้ำ

          13.  มีดบาง/คัตเตอร์ ใช้ตัดทุ่นฟองน้ำ

          14.  ไม้รองตัดทุ่น/เขียง ใช้รองตัดทุ่นฟองน้ำ

          15.  เชือกไนล่อนเบอร์ 9-12 ใช้มัดติดทุ่นฟองน้ำ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการทำมอง

          1.  เตรียมวัสดุอุปกรณ์

          2.  นำด้ายเอ็นเข้าจีม

          3.  การสานพานตีน

          4.  การตัดลูกตะกั่ว

          5.  การติดลูกตะกั่ว

          6.  การตัดทุ่นฟองน้ำ

          7.  การติดทุ่นฟองน้ำ

          ในแต่ละขั้นตอนการทำตาข่ายดักปลาทั้ง 7 ขั้นตอนมีความยากง่ายแตกต่างกันโดยจะขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล

วิธีการทำ

1. การนำด้ายเอ็นเข้าจีม  หมายถึง  การเตรียมด้ายเอ็นให้อยู่ภายในจีม เพื่อนำไปสานพานตีน ก่อนเตรียมต้องดูให้ดีก่อนว่าจะใช้สานตาข่ายดักปลาขนาดใด แถวที่เท่าไหร่ ควรใช้ด้ายเอ็นเบอร์ใด

วิธีการนำด้ายเข้าจีม  เกาะด้ายเอ็นไว้ที่หลักจีมแล้วดึงด้ายเอ็นไปเกาะไว้ที่ท้ายจีมข้างบนแล้วดึงลงมาเกาะด้านล่างสลับด้านหน้าหลังทำลักษณะเดียวกันจนด้ายเอ็นเต็มจีม

2. การสานพานตีน  หมายถึง  การสานด้ายเอ็นต่อจากส่วนท้ายของตาข่ายสำเร็จ 2-3 รอบ รอบที่ 1 ใช้ด้ายเอ็นเส้นเล็ก รอบที่ 2 ใช้ด้ายเอ็นเส้นใหญ่ รอบที่ 3 ใช้ด้ายเอ็นเส้นใหญ่ขึ้นอีกเพื่อไม่ให้ตาข่ายดักปลาติดพันกัน การสานจะใช้ด้ายเอ็นตามขนาดของตาข่ายดักปลา

          3. การตัดลูกตะกั่ว  การทำ “มอง” จำเป็นต้องใช้ลูกตะกั่วถ่วงให้ตาข่ายจมลงไปในน้ำ ตะกั่วเป็นสารอันตรายต่อร่างกาย ควรใส่ถุงมือและใช้ผ้าปิดจมูกขณะติดลูกตะกั่ว เมื่อตัดลูกตะกั่วแล้วควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด

          วิธีการตัด ใช้มือซ้ายจับเหล็กงัด มือขวาจับแผ่นตะกั่ว นำแผ่นตะกั่วสอดเข้าช่องเหล็กงัด แล้วงัดให้แผ่นตะกั่วพับเข้า ใช้กรรไกรตัดตามขอบพับ เมื่อได้ลูกตะกั่วที่ตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วนำไปติดตาข่ายในขั้นต่อไป

4. การติดลูกตะกั่ว  หมายถึง  การนำลูกตะกั่วที่ตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วมาติดตาข่ายบริเวณเส้นพานตีนรอบที่ 3 และให้เว้นระยะห่างตามขนาดของตาข่าย

          5. การตัดทุ่นฟองน้ำ  ทุ่นฟองน้ำมีสำหรับยุงตาข่ายให้ลอยปิ่มอยู่เสมอน้ำ ก่อนนำทุ่นฟองน้ำมัดติดตาข่ายควรตัดให้ได้ขนาดพอเหมาะ  ประมาณยาว 1 นิ้ว กว้าง 1 เซนติเมตร หนา 1 เซนติเมตร และให้ตัดหลบเหลี่ยมทั้งสี่เหลียมออก ปัจจุบันจะมีทุ่นฟองน้ำสำเร็จเพียงตัดให้ได้ขนาดความกว้างก็สามารถนำไปใช้ได้เลย

          6. การติดทุ่นฟองน้ำ ( ซู “มอง” ) เป็นขันสุดท้ายของการทำตาข่ายดักปลา สำหรับการดักปลาให้ได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเทคนิคการติดทุ่นฟองน้ำด้วย

          วิธีการติดทุ่นฟองน้ำ  ให้นำด้ายไนล่อนเข้าจีม ทำเช่นเดียวกับการนำด้ายเอ็นเข้าจีมแล้วนำตาข่ายที่ติดลูกตะกั่วเสร็จเรียบร้อยแล้วมาคลี่หัวตาข่ายออก มัดด้ายไนล่อนเบอร์ 9-12 เข้ากับด้ายหัวตาข่าย แล้วร้อยเข้าไปในช่องตาข่ายด้านบนทุกช่อง มัดเชือกไนล่อนจากจีมติดกับเชือกไนล่อนหัวตาข่าย แล้วดึงให้ได้ความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ก่อนติดฟองน้ำที่ตาแรกใช้เชือกที่หัวตาข่ายทำบ่วงดึงรัดปลายทุ่น ดึงด้ายไนล่อนจากจีมให้ตึงขนานกับหัวตาข่าย มัดทุ่นด้วยเงื่อนตะกุดเบ็ดแล้วมัดเชือกจีมด้วยเงื่อนขัดสมาธิ จากนั้นใช้เชือกหัวตาข่ายทำบ่วงดึงรัดปลายทุ่นฟองน้ำอีกด้านหนึ่ง แล้วใช้เชือกจากจีมมัดด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ดก็จะได้ทุ่นฟองน้ำอันแรก วัดระยะห่างจากทุ่นแรกประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วติดทุ่นที่ 2 ให้ทำในลักษณะเดียวกันกับทุ่นแรกตามลำดับจนเต็มตาข่ายจะได้ตาข่ายดักปลาที่เสร็จสมบูรณ์

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสุรินทร์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา