ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ทอผ้าย้อมคราม

โดย : นางเศรษฐ์ จันลาวงค์ วันที่ : 2017-03-17-16:19:25

ที่อยู่ : 46 หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงชุม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ความเป็นมา : เนื่องจากผ้าฝ้ายย้อมครามเป็นการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษจะมีความรู้

ความสามารถ ที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาแต่ครั้ง ปู ย่า ตา ยาย โดยการทอผ้าด้วยมือไว้ใช้เองและเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท เรียกว่าผ้าฝ้ายย้อมครามซึ่งแต่เดิมจะเย็บด้วยมือ เป็นเสื้อผ้าสวมใส่สำหรับผู้หญิงส่วนผู้ชายจะทอเป็นผ้าขาวม้าใส่นุ่งแบบโจง กะเบน หรือผ้าเตี่ยว การทอผ้าฝ้ายได้จากนวลของดอกฝ้ายที่บานเต็มที่นำมากรอหรือเข็นเป็นเส้นฝ้าย และย้อมน้ำคราม และนำมาทอเป็นผ้า สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันจึงเกิดการรวมกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติขึ้น เพื่อทอผ้าจำหน่ายเป็นรายได้เสริมจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่งได้แก่ ผ้าพื้นเมือง ผ้าคลุมไหล่ผ้าปูโต๊ะ ผ้าพันคอ ผ้ามัดหมี่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ สีครามเป็นสีย้อมธรรมชาติที่เก่าแก่มาก ซึ่งมนุษย์รู้จักกันมานานกว่า  6000 ปี  ประชากรที่อาศัยในเขตร้อนของโลกล้วนเคยทำสีคราม จากต้นไม้ชนิดต่างๆ ตามภูมิภาคนั้นๆ แต่สีครามคุณภาพดีผลิตจากเอเชีย  ดังเช่น  สีครามจากอินเดียเป็นที่นิยมของคนอังกฤษมากกว่าสีครามจากเยอรมันและฝรั่งเศส แต่การใช้สีครามลดลงเหลือเพียง 4 % ของทั่วโลกในปี  2457  ต่อมาประมาณปี พ.ศ.  2535 ประเทศของเราพบกับปัญหา มลพิษจากสิ่งแวดล้อม สาเหตุหนึ่ง เกิดจากสารเคมีสังเคราะห์ซึ่งรวมถึงสีย้อมด้วย สีย้อมผ้าส่วนใหญ่เป็นออกไซด์ของโลหะหนัก ซึ่งโลหะหนักหลายชนิดเป็นสารก่อมะเร็งใส่แล้วรู้สึกร้อน ดังนั้น จึงหันมานิยมสีย้อมธรรมชาติ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้นำภูมิปัญญาเก่า ๆ ที่ได้สืบทอดกันมาแต่สมัยโบราณจากเดิมเกือบเลือนหายไปแล้วนั้น กลับมาพัฒนาเป็นอาชีพหลักของลูกหลานในทุกวันนี้ ผ้าย้อมครามเป็นที่สนใจและต้องการมาก  แต่ผ้าย้อมครามคุณภาพดี ยังออกสู่ตลาดน้อย   ขณะที่ผ้าย้อมครามคุณภาพปานกลาง ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่วนผ้าย้อมครามหรือสีครามคุณภาพดี สีจะเข้มหรือจาง ก็ต้องสีสดใส  สะอาด  ติดทน สีไม่ตก ซึ่งคุณภาพเหล่านี้เป็นผลมาจาก คุณภาพของวัตถุดิบและความรู้ความชำนาญของผู้ผลิต การเตรียมสีครามและย้อมสีครามมีเทคนิคพิเศษกว่าการย้อมสีธรรมชาติอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกใบครามอายุพอดีและอยู่ในสภาพใบสด ดังนั้นจะต้องเก็บใบครามอายุประมาณ 3 – 4 เดือน ในตอนเช้ามืดก่อนน้ำค้างแห้ง และแช่น้ำปริมาณท่วมใบครามพอดีทันที  และแช่ประมาณ  18 – 24 ชั่วโมง หากใช้เวลาแช่มากหรือน้อยกว่านี้จะได้ปริมาณสีครามน้อยกว่า การแช่ใบครามสดในน้ำไม่ใช่แช่ให้สีครามละลายน้ำดังเช่นการต้มเปลือกไม้ แต่แช่ให้สารเคมี  2  ชนิดในใบครามสดทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสีครามที่ละลายน้ำได้ ถ้าใบครามแห้งสารเคมีชนิดหนึ่งในใบครามเสียสภาพธรรมชาติ ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยากับสารอีกชนิดหนึ่งได้ ดังนั้นถ้าปล่อยให้ใบครามแห้งก่อนแล้วนำมาแช่น้ำจะไม่ได้สีครามในน้ำแช่ เช่นเดียวกันกับการต้มใบครามก็ไม่ได้สีครามเช่นกัน เราสามารถย้อมผ้าในสีครามในน้ำแช่หรือที่เรียกว่าน้ำครามได้ แต่ต้องทำอย่างรวดเร็วแข่งกับอากาศ เพราะสีครามในน้ำแช่เป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับอากาศได้ดีกลายเป็นสีครามสี น้ำเงินซึ่งไม่ละลายน้ำ ไม่สามารถซึมเข้าเกาะจับเนื้อในของใยฝ้ายได้ พูดง่าย ๆ ก็คือสีครามสีน้ำเงินใช้ย้อมผ้าไม่ได้ แต่ถ้าเอาสีครามสีน้ำเงินไปหมักในน้ำขี้เถ้าในสัดส่วนที่พอเหมาะ และปรับความเป็นกรดเป็นด่าง  ให้พอเหมาะ สีครามสีน้ำเงินจะเปลี่ยนเป็นสีครามสีเหลืองละลายในน้ำขี้เถ้า ซึ่งสีครามสีเหลืองนี้ก็ทำปฏิกิริยาได้ดีกับอากาศกลาย เป็นสีคราม สีน้ำเงินเช่นกันกับสีครามในน้ำแช่ ผิวหน้าของน้ำย้อมจึงเป็นสีน้ำเงินแต่น้ำย้อมข้างล่างเป็นสีเหลือง สีครามที่ใช้ย้อมผ้าได้คือสีครามสีเหลือง ไม่ใช่สีครามสีน้ำเงิน

วัตถุประสงค์ ->

-

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

น้ำคราม  เส้นฝ้าย

อุปกรณ์ ->

กี่  หลา  อัก  กระสวย

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนและกระบวนการทำผ้าย้อมคราม

วิธีการปลูกและทำน้ำย้อม

๑. ไถพรวนยกร่อง

2. หยอดเมล็ด

          3. เก็บเกี่ยวเมื่ออายุต้นครามได้ 120 วัน

4. แช่ครามในน้ำให้พอจมในถังหมัก 10 ชั่วโมงและพลิกกลับด้านแช่ต่ออีก 10 ชั่วโมง

          5. เอาใบครามออกนำปูนแดงลงผสมในน้ำครามอัตราส่วนน้ำคราม : ปูนแดง  10 ลิตร : 1 กิโลกรัม จากนั้นทำการกวนและผสมให้ฟองหายไป

6. รินน้ำออกให้เหลือแต่เนื้อครามเพื่อนำไปก่อหม้อ

วิธีการก่อหม้อ

1. นำน้ำดั่งที่ได้จากน้ำขี้เถ้าผสมกับน้ำครามในอัตราส่วน  1 : 1

2. ใส่น้ำมะขามเปียกในอัตราส่วน 1 : 1

3. ทำการโจกครามทิ้งไว้จนน้ำครามเหลืองแสดงว่าใช้ได้ทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ก็จะนำไปย้อมได้

การปลูกฝ้ายและเตรียมเส้นฝ้าย

1. ไถพรวนยกร่องและหยอดเมล็ด

2. เก็บเกี่ยวผลผลิต

3. นำมาตากแดด 1 – 5 วัน

4. นำมาอิ้วเพื่อนำเม็ดฝ้ายออกจากนวนฝ้าย

5. นำมาดีด

6. นำมาตีล้อ

7. นำมาเข็นเป็นเส้นฝ้าย

กระบวนการย้อมและทอผ้า

1. ต้มฝ้ายที่ได้จากการเข็นด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำด่างก็ได้

2. ล้างเส้นฝ้ายด้วยน้ำสะอาด

3. นำฝ้ายมาย้อมในน้ำครามตามครามจาง – เข้มที่ต้องการ

4. นำมาล้างให้สะอาดผึ่งแดดให้แห้ง

5. นำมากวัก

6. นำมาสืบ

7. นำมาค้น ( เส้นยืน )

8. ปั่นหลอด ( เส้นพุ่ง )

9. นำเข้ากี่และทอตามลวดลายที่ได้มัดหมี่

ข้อพึงระวัง ->

ข้อแนะนำในการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมคราม

1. ไม่ควรซักด้วยผงซักฟอกชนิดแรง

2. ควรซักด้วยมือ

3. ไม่ควรแช่ค้างคืน

4. ตากในที่ร่มลมโกรก

5. รีดด้วยไฟปานกลาง

6. ไม่ควรให้ผ้าโดนกรดหรือน้ำมะนาว

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสกลนคร
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา