ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ปลูกผักหวาน

โดย : นายศักดิ์ชาย เผ่าผม วันที่ : 2017-03-04-14:44:14

ที่อยู่ : 47/1 ม.7 ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ผักหวานป่าเป็นพืชสมุนไพรพืชผักพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมาก มีอายุยืนยาวนานเป็นร้อยๆ ปีใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบอ่อน ยอดอ่อน และช่อผล มาบริโภค เป็นเวลานานแล้ว เพราะ ผักหวานป่ามีรสชาติที่อร่อย หวาน มัน กรอบ ปลอดภัยจากสารพิษ สามารถนำไปประกอบอาหาร ได้เกือบทุกอย่างและจะอุดมด้วยคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ อาทิ สารเบต้า-แคโรทีน วิตามินซี และ วิตามินบี 2 เป็นต้น

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุประสงค์

          2.1 เพื่อให้สมาชิกสัมมาชีพได้มีความรู้ ความสามารถในการเลี้ยง และการจำหน่ายปลูกผักหวาน

          2.2 เพื่อให้สามาชิกสัมมาชีพได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผักหวาน

          2.3 เพื่อลดรายจากในครอบครัวจากการปลูกผักหวานไว้กินเอง

          2.4 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้จากการปลูกผักหวานแก่ชุมชน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ปุ๋ยคอก

อุปกรณ์ ->

จอบ เสียม อุปกรณ์สำหรับขุดหลุม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการเพาะเมล็ดผักหวานป่า

                             1.1. การเตรียมดินเพาะเมล็ด

                                   ถุงบรรจุสำหรับเพาะเมล็ด ควรเป็นถุงพลาสติกดำขนาด 4x4 นิ้ว ไม่เจาะรูระบายน้ำตรงก้นถุง เพื่อกันรากแทงลงดิน ดินเพาะควรประกอบด้วย ดินลูกรัง ทรายหยาบ และปุ๋ยคอกเก่าๆ หรือใบไม้ผุ ร่อนด้วยตะแกรงตาถี่ขนาดครึ่งเซนติเมตรผสมกันในอัตราส่วน 1:1:1 โดยปริมาตร นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วกรอกใส่ถุงเพาะ

                             1.2 การเตรียมแปลงเพาะเมล็ด

                                   วัสดุที่ใช้ในการเพาะเมล็ดผักหวานป่าควรเป็นทรายล้วนๆ ฝังเมล็ดเป็นแถวให้ลึกประมาณ 2 เซนติเมตร แปลงเพาะเมล็ดควรมีความชื้นพอประมาณ หลังจากทำการเพาะเมล็ดไปได้20-30 วัน รากของผักหวานป่าจะงอกออกมาจากเมล็ดก่อนแล้วจึงแตกใบอ่อน ใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน

                            

 

                     

 

 

                            1.3 ขั้นตอนการเตรียม คัดเลือกเมล็ดผักหวานป่า

                                   การคัดเลือกเมล็ดจากต้นที่มีอายุมากๆ ความสมบูรณ์ของเมล็ดรวมทั้งเปอร์เซ็นต์การงอกก็จะดีมากด้วย ธรรมชาติของผักหวานป่า จะออกดอกติดผลคือออกดอกตามลำต้น ผลเป็นพวง เมื่อสุกจะมีสีเหลือง ขั้นตอนการเตรียม คัดเลือกเมล็ด มีดังนี้

                                   1. คัดเลือกผลผักหวานป่าที่แก่สุกและสดเท่านั้นโดยดูจากผลจะออกสีเหลืองซึ่งปกติเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม เมื่อได้เมล็ดควรเพาะภายใน 7 วัน เนื่องจากเมล็ดต้นผักหวานป่าที่เก็บไว้นานเปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลงเรื่อยๆ

                                   2. แยกเนื้อหุ้มเมล็ดทิ้ง ควรใช้ถุงมือขณะทำงานเนื่องจากเนื้อหุ้มเมล็ดมีสารที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ขัดล้างเมล็ดให้สะอาดด้วยตะแกรงหรือภาชนะที่มีผิวหยาบ เช่น ในกระด้งหรือเข่งไม้ไผ่

                                   3. นำเมล็ดที่ขัดสะอาดแล้วแช่น้ำแยกเมล็ดที่สมบูรณ์ไว้เพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ จะจมน้ำ ส่วนเมล็ดที่ลอยน้ำควรแยกทิ้ง

                                   4. นำเมล็ดที่จมน้ำขึ้นผึ่งพอสะเด็ดน้ำ คลุกด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราให้ทั่ว แล้วเกลี่ยตากในกระด้งหรือตะแกรงเป็นชั้นหนาไม่เกิน 1 นิ้ว คลุมด้วยกระสอบป่านที่ชุบน้ำหมาดๆเก็บไว้ในร่ม 2-3 วัน

                                   5. นำเมล็ดมาบ่มเพาะให้เกิดการงอกก่อน โดยเฉพาะในวัตถุ เช่นขี้เถ้าแกลบดำจากนั้นโปรยเมล็ดผักหวานป่าให้ทั่ว แล้วนำขี้เถ้าแกลบกลบทับหนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำในชุ่มประมาณ 4-5 วัน มาคุ้ยดูเลือกเมล็ดที่กำลังงอก โดยสังเกตเปลือกเมล็ดจะเริ่มแตกร้าว ย้าย ต้นกล้าลงปลูกในถุงพลาสติกเพาะชำ หรือแปลงปลูก

                             1.4 การย้ายกล้าผักหวานป่าลงถุงชำ

                                   ผักหวานป่าเป็นพืชที่ไม่ทนทานต่อการเคลื่อนย้าย หากระบบรากกระทบกระเทือนหรือรากขาด จะตายโดยง่าย ดังนั้นการย้ายกล้าผักหวานป่าควรทำด้วยความระมัดระวัง ซึ่งวิธีการย้ายกล้าผักหวานป่าลงถุงชำ สามารถดำเนินการได้ 2 ระยะ คือ

                                   1. ระยะเวลาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดในการย้ายกล้าผักหวานป่าคือ 2-3 เดือนหลังจากทำการเพาะเมล็ด หรือหลังจากเห็นใบอ่อนของต้นผักหวานป่าแล้ว

                                   2. เมื่อเห็นรากเริ่มแทงออกมาเล็กน้อย และเห็นว่าเมล็ดนี้งอกแน่นอนก็สามารถย้ายกล้าลงถุงชำได้เช่นกัน แต่ถ้ารากงอกออกมามากแล้วไม่แนะนำให้ย้ายเด็ดขาด เพราะกล้าผักหวานจะตายเกือบหมด แต่ถ้าจะให้ได้ผลแน่นอน ควรให้เห็นใบอ่อนเสียก่อนแล้วจึงย้าย

                      1.5 การย้ายกล้าแบบล้างราก

                                   จำแนกต้นกล้าเพาะเมล็ดเป็นจำนวนมาก มีปัญหาในการขนส่ง เคลื่อนย้ายเนื่องจากน้ำหนักมากและเปลืองพื้นที่ จึงมีการทดลองหาแนวทางการส่งกล้าให้ได้จำนวนมาก และมีอัตรารอดตายสูง ดังนี้

                                   1. เพาะต้นกล้าในแปลงที่ทำด้วยอิฐก่อขนาด 1x5 เมตร ลึก 60 เซนติเมตร ใช้วัสดุเพาะดินลูกรัง ทรายหยาบ และปุ๋ยหมักอัตราส่วน 1:1:1 หรือ 1:1:2 โดยปริมาตร ร่อนตะแกรงที่ขนาดครึ่งเซนติเมตร ผสมกัน คลุมแปลงเพาะให้ได้รับแสงปริมาณ 40-50%

                                   2. เมื่อกล้าผักหวานป่า งอกสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตรหรือก่อนการส่งกล้าให้ลูกค้าประมาณ 2 อาทิตย์ ให้เสริมกระตุ้น ให้กล้าแข็งแรงเช่นเดียวกับ ก่อนย้ายปลูกลงหลุม

                                   3. เมื่อครบกำหนดให้ขุดต้นกล้าออกจากแปลง ระวังอย่าให้รากขาด ล้างดินออกจากรากให้สะอาด โดยใช้สายยางฉีดน้ำพร้อมกับตัดส่วนเหนือดินทิ้งให้เหลือตอ สูงประมาณ 5 เซนติเมตร

                                   4. นำต้นกล้าที่ล้างรากและตัดต้นทิ้งแล้วไปแช่ในน้ำยากันเชื้อรา ประมาณ 15-20 นาที นำขึ้น ผึ่งพอหมาด

                                   5. นำกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ซึมซับน้ำได้ดีมาแบ่งเป็นคู่ๆ ซ้อนกัน 2 ชั้น โรยด้วยขุยมะพร้าวชื้นหรือแกลบดำที่ปราศจากโรค (โดยผ่านการอบหรือนึ่ง หรือราดด้วยยากันรามาแล้ว) ให้เป็นแถบบางๆความยาวของแถบเท่ากับความยาวของรากต้นกล้า ต้องระมัดระวังวัสดุที่ใช้อย่าให้แฉะ

                                   6. นำกล้าผักหวานป่าประมาณ 50 กล้า วางเรียบบนแถบวัสดุรักษาความชื้น ระวังอย่าให้กล้าซ้อนกัน

                                   7. ม้วนกระดาษหนังสือพิมพ์ห่อต้นกล้าให้เป็นแท่งกลมพอหลวมๆ เหมือนห่อโรตีปิดหัวท้าย ฉีดด้วยยากันเชื้อราให้กระดาษเปียกพอหมาดๆ

                                   8. บรรจุในถุงพลาสติกที่เจาะระบายอากาศ ปิดปากหลวมๆ แล้วบรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งเจาะรูด้านข้างและกั้นเป็นช่องๆ ภายในกระดาษลูกฟูก โดยวางในแนวตั้งพอหลวมๆ

                                   9. ผนึกภายในลังตรงรอยต่อด้วยเทปกระดาษ โดยเว้นช่องระบายอากาศไว้ เสร็จพร้อมนำส่งทางไปรษณีย์

                                   10. การส่งแบบล้างรากเช่นนี้ ต้นกล้าจะทนทานได้นานประมาณ 8-10 วัน โดยมีอัตราการรอดตายสูง 80% ทั้งนี้เมื่อได้ต้นกล้าแล้วต้องรีบชำทันที และเลี้ยงในสภาพแสง 40-50%พร้อมกับให้ความชื้นอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาแรกๆ

                                   11. หลังย้ายชำแล้ว อาจราดด้วยสารสตาร์ทเตอร์ (B1) ซึ่งมีขายทั่วไปในท้องตลาด

                                   12. การส่งกล้าแบบนี้ จะต้องระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ และรากต้องไม่ขาดการห่อและการบรรจุต้องไม่แน่นเกินไปและต้องเจาะช่องระบายอากาศด้วย

การขยายพันธุ์ผักหวานป่านั้นทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อปลูกไปแล้วมักแกร็นไม่เติบโต และ

ตายในที่สุด จุดสำคัญอยู่ที่ระบบรากของผักหวานป่า ห้ามกระทบกระเทือน ดังนั้น กล้าผักหวานป่าเมื่อเวลานำไปปลูกจึงต้องระวังอย่าให้ตุ้มดินแตก ถ้าตุ้มดินแตกหรือรากขาดผักหวานป่าต้นนั้นจะไม่แข็งแรง เจริญเติบโตช้า ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนต้นเป็นร้อยปี เพียงแต่ต้นจะไม่ใหญ่เท่าไม้ยืนต้นอื่นๆ เพราะผักหวานป่าเติบโตช้าเช่นอายุ 1 ปี อาจสูงไม่เกิน 1 ฟุต เท่านั้น ผักหวานป่าในช่วงแรกจะมีการพัฒนาของระบบรากอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนที่ 2 จึงจะงอกขึ้นพ้นดินให้เห็นบ้างหลังจากเพาะได้ 2 เดือนครึ่ง ต้นผักหวานป่าจะเจริญงอกงามสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีข้อสังเกตว่า การเจริญเติบโตของลำต้นผักหวานป่าในปีแรกจะช้ามาก

ข้อพึงระวัง ->

โรคแมลงศัตรูผักหวานป่า และการป้องกันกำจัด

 

                      ผักหวานป่าเป็นพืชผักพื้นบ้านที่ดูแลรักษาง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ ปลูกเพียงครั้งเดียวก็สามารถเก็บผลผลิตได้ชั่วลูกชั่วหลาน บางต้นพบว่ามีอายุเป็นร้อยปี ผักหวานป่าจัดเป็นพืชผักปลอดภัยจากสารพิษชนิดหนึ่งเนื่องจากมีศัตรูโรคแมลงรบกวนน้อยมาก และไม่จำเป็น หรือต้องใช้สารเคมีในการปลูกผักหวานป่า หากมีร่องรอยการทำลายของโรคแมลง ควรปล่อยไว้สักพัก อาการที่ปรากฏก็จะหายหรือบรรเทาลงได้ ตามสภาพธรรมชาติ

โรคที่สำคัญ

                      1. โรคแอนแทรกโนส เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผลเน่า จะพบเห็นมีบ้างเล็กน้อยช่วงผลสุกแต่ที่ใบและยอดอ่อนยังไม่เคยพบ ถ้าผักหวานป่าแสดงอาการ จะไม่รุนแรงนัก ปล่อยทิ้งไว้สักระยะก็จะทุเลาและหายเอง

แมลงศัตรูที่สำคัญ

                      1. ด้วงปีกแข็งบางชนิด พบบ้างในบางท้องที่ โดยปรากฏร่องรอยการกัดแทะให้เห็น แต่ไม่ก่อให้เกิดการเสียหายกับผักหวานป่า

                      2. หนอน อาจพบเห็นกัดกินยอดอ่อนบางชนิดแต่ไม่พบบ่อยนัก

สัตว์ ศัตรูที่สำคัญ

                      1. พวกหนู ตัวตุ๋น มีพบบางพื้นที่ ขุดกัดกินรากผักหวานป่า

                      2. หอยทาก มีลักษณะเปลือกบางสีขาว อาศัยอยู่ตามพื้นดินที่มีความชุ่มชื้น จะเข้าไปกัดกินใบ ยอดอ่อนและต้นกล้าอ่อนในระยะต้นกล้าถ้ามีมากจะทำความเสียหายได้

การป้องกันกำจัดหอยทาก

                      1. ใช้ส่าเหล้ารดรอบๆ 2-3 วัน/ครั้ง

                      2. ใช้ปูนขาวโรยโดยรอบแปลงเพาะกล้า เพื่อป้องกันหอยเข้าทำลาย กัดกินต้นกล้าที่เพาะไว้

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

                      ผักหวานป่า มีโรคและแมลงศัตรูพืชน้อย จึงไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี ทุกชนิดในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ควรใช้สารสกัดจากธรรมชาติ หรือปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพ ในการดำเนินการปลูก เพื่อให้ผลผลิตผักหวานป่ามีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมี ควรค่าแก่การซื้อมาบริโภคและส่งเสริมการปลูก เชิงอนุรักษ์หรือในเชิงการค้า

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสกลนคร
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา