ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะเห็ดฟาง

โดย : นายคำพูล การุญ วันที่ : 2017-03-24-04:20:15

ที่อยู่ : 105 ม.21 ต.หนองสนม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เห็ดฟางหรือเห็ดบัวเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเพาะกันมากเนื่องจากเห็ดฟางเป็นเห็ดที่เพาะง่าย แถมรายได้ดีเสียด้วย ราคาในท้องตลาดกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 60 บาท เห็ดฟางชอบอากาศร้อนชื้นเหมาะกับอากาศในบ้านเรา การดูแลก็ไม่ยากนักหากเรียนรู้และเข้าใจและปรนนิบัติอย่างถูกวิธี ก็สามารถมีรายได้จากการเพาะเห็ดฟางไว้ตัวเองและครอบครัวได้อย่างสบาย เรามาเริ่มเพาะเห็ดฟางกันเลยดีไหม

วัตถุประสงค์ ->

มีรายได้จากการเพาะเห็ดฟางไว้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ขี้ฝ้าย 300 กก.ยิปซัม 3 กก.ปูนขาว 1 กก. ปูนเปลือกหอย 6 กก.รำละเอียด 6 กก.ปู๋ยยูเรีย 2 กก.ฟางก้อน 12 ก้อน ก้อนเชื้อเห็ดฟาง 4ลัง

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วันที่1 -นำฝ้ายมาแช่ในน้ำ ย่ำบนฝ้ายให้จมน้ำ หาผ้าใบหรือถุงปุ๋ยมาปิดทิ้งไว้ 1 คืน
วันที่2 -ถ่ายน้ำที่แช่ฝ้ายไว้ออกให้หมด แล้วกองสุมให้ฝ้ายสะเด็ดน้ำ ปิดกองฝ้ายทิ้งไว้ 1 คืน
วันที่3 -กลับกองฝ้ายที่สะเด็ดน้ำพร้อมกันนี้ให้โรยปุ๋ยยูเรียลงไปเคล้าให้ทั่วแล้วปิดกองทิ้งไว้ 1 คืน
-แช่ฟางข้าวในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน
วันที่4 -นำฟางข้าวขึ้นจากน้ำแล้วนำไปปูบนร้านไม้ในโรงเรือน
-กลับกองฝ้ายแล้วเติมส่วนผสมที่เตรียมไว้ลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วนำไปเทบนฟางที่ปูไว้ เกลี่ยฝ้ายหมักให้ทั่ว
และเสมอกัน โรงเรือนทิ้งไว้ 1 คืน
วันที่5-อบไอน้ำด้วยอุณหภูมิ 60 – 70 องศา ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง(เริ่มจับเวลาที่อุณหภูมิ 60 องศา เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆที่มีอยู่ในโรงเพาะเห็ดฟาง) หลังจากเสร็จแล้วให้ปิดโรงเรือนทิ้งไว้
วันที่6-เปิดโรงเรือนออกไล่อากาศในโรงเรือนออกให้หมดกลื่น
-ขยี้เชื้อเห็ดฟางใส่กาละมังหรือภาชนะที่สะอาด แล้วโรยบนชั้นเพาะเห็ดให้ทั่ว
-รดน้ำบนร้านเห็ดพอเปียกชุ่มแล้วปิดโรงเรือนทิ้งไว้
วันที่7-ล้างทำความสะอาดบริเวณพื้นโรงเรือน
-เปิดโรงเรือนออกจะมีกลิ่นแก๊สในโรงเรือนให้เปิดระบายอากาศออกให้หมด จะสังเกตเห็นใยเห็ดสีขาวขึ้นเต็มร้านเพาะเห็ดฟาง ให้สูบฉีดน้ำเป็นฝอยที่บนใยเห็ด เพื่อทำการตัดใยเห็ด
-เจาะหรือเปิดรูระบายอากาศเพื่อให้เห็ดได้ก๊าซออกซิเจน ปิดโรงเรือน ไว้ 3 คืน
วันที่10-ในระหว่างนี้ให้ควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 25 – 28 องศา หากร้อนเกินไปให้ระบายอากาศเพิ่ม และรดน้ำรอบๆโรงเรือน
วันที่12-จะเริ่มเห็นตุ่มเล็กๆสีขาวๆเกิดขึ้นมากมายบนร้านเห็ดฟาง นั่นคือใยเห็ดฟางเริ่มก่อตัวและกำลังจะพัฒนาเป็นดอกเห็ดฟางต่อไป
วันที่14-16-ดอกเห็ดเริ่มโตและเริ่มเก็บได้แล้ว

ข้อพึงระวัง ->

การเพาะเห็ดฟาง อาจเกิดปัญหาด้านคุณภาพทำให้ได้เห็ดฟางไม่ตรงกับความต้องการของตลาดหรืออาจทำให้ไม่มีดอกเห็ดเกิดขึ้นเลยทำให้ผู้เพาะเห็ดฟางหลายรายเกิดภาวะขาดทุน และเลิกทำอาชีพเพาะเห็ดฟางไปเลยก็มี ดังนั้นการเพาะเห็ดฟางจึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวมีหลายลักษณะดังนี้
1.ดอกเห็ดเกิดเร็วมาก ดอกเห็ดฟางเกิดขึ้นเร็วมากภายใน 4-5วันหลังจากโรยเชื้อเห็ด เกิดจากการนำเชื้อที่มีอายุมาก หรือเชื้อแก่มาทำการเพาะเห็ด ซึ่งผู้เพาะเห็ดควรสังเกตที่ถุงเชื้อเห็ดฟางว่ามีดอกเห็ดเล็กๆเกิดที่ในถุงเพาะเห็ดหรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ควรนำมาเพาะเห็ด นอกจากจะทำให้เกิดดอกเห็ดฟางเร็วแล้วยังทำให้ผลผลิตต่ำ ดอกเห็ดฟางที่ได้ยังมีขนาดเล็กและเบา ฝ่อง่าย ดั้งนั้นผู้เพาะเห็ดควรเลือกเชื้อเห็ดที่เหมาะไม่แก่หรืออ่อนเกินไปมาเพาะเห็ดฟาง จะสังเกตได้จากเส้นใยเห็ดเพิ่งจะเจริญเต็มถุงพอดี ลักษณะเส้นใยขาวหยาบเห็นได้ชัดเจน
2.เห็ดน็อค ซึ่งเกิดจากการที่เส้นใยเห็ดในระยะวันที่ 3-4หลังจากโรยเชื้อเห็ดฟางแล้ว ไม่ยอมรวมตัวตัวกันเป็นดอกเห็ด หรือที่ในกลุ่มผู้ที่นิยมเพาะเห็ดฟางเรียกว่า “เห็ดน็อค” อาจเกิดจาก
-เชื้อใยเห็ดเป็นหมัน เกิดจากขั้นตอนการผลิตเชื้อเห็ด ควรนำเชื้อเห็ดจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้มาเพาะ
-อากาศ ในโรงเรือนเพาะเห็ดไม่บริสุทธิ์มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ควรหาทางระบายอากาศและเพิ่มออกซิเจนเข้าไป
-อุณหภูมิในโรงเรือนเพาะเห็ดสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส ต้องระบายอากาศและรดน้ำตามพื้นและรอบๆโรงเรือนเพื่อให้อุณหภูมิลดลง
-แสงสว่างไม่เพียงพอ การที่เส้นใยจะรวมตัวและเกิดเป็นดอกเห็ดฟางได้นั้นจำเป็นต้องมีแสงสว่างที่เหมาะสม เพื่อให้เส้นใยพัฒนาและก่อตัวขึ้นเป็นดอกเห็ดฟาง ควรเพิ่มแสงสว่างโดยติดหลอดไฟฟ้าเข้าไป เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้โรงเรือนมืดทึบจนเกินไป
3.ดอกเห็ดไม่โต เกิดดอกเห็ดขนาดเล็กเต็มไปหมดแต่ดอกเห็ดแคระแกรนไม่โต มีสาเหตุดังนี้
-เชื้อเห็ดอ่อนแอ เสื่อมคุณภาพเนื่องจากมีการต่อเชื้อเห็ดมาหลายครั้ง 
-โรยเชื้อเห็ดฟางมากเกินไป การโรยเชื้อเห็ดหลายท่านอาจเข้าใจว่าการโรยเชื้อเห็ดฟางมากจะทำให้ผลผลิตมากตามไปด้วย แต่ลัพธ์กลับทำให้เห็ดดอกเล็กและไม่โต ทางแก้คือใช้มือลูบเบาๆให้เหลือดอกเห็ดน้อยลง และการโรยเชื้อครั้งต่อไปให้ลดปริมาณลง
4.ดอกเห็ดฝ่อ เกิดดอกเห็ดเล็กๆแล้วไม่เจริญเติบโตฝ่อตายเสียกลางคัน
-เชื้อเห็ดแก่เกินไป การนำเอาเชื้อเห็ดฟางที่แก่เสื่อมคุณมาเพาะเห็ดฟางทำให้ดอกเห็ดไม่โตและฝ่อตายในที่สุด
-เกิดจากการติดเชื้อโรค ในโรงเรือนเพาะเห็ด จึงควรดูแลและทำความสะอาดโรงเรือนและชั้นวางเห็ดอย่าสม่ำเสมอ
-แมลงเข้ากัดกินเส้นใยเห็ด เนื่องจากโรงเรือนสกปรก
5.ดอกเห็ดโตแต่ไม่ดก 
-เชื้อเห็ดไม่ได้คูณภาพ อ่อนเกินไป หรือมีการถ่ายเชื้อเห็ดมาหลายครั้ง
6.ดอกเห็ดขึ้นไม่สม่ำเสมอทุกชั้นที่โรยเชื้อเห็ด
-อากาศภายในโรงเรือนไม่พอ ควรเจาะรูระบายอากาศเพิ่ม
-ความชื้นในโรงเรือนไม่สม่ำเสมอ ควรปรับความชื้นให้เหมาะสม
7.ผิวดอกเห็ดไม่เรียบ
-อากาศในโรงเรือนไม่เพียงพอมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ควรระบายอากาศออกเป็นระยะๆ เพื่อให้เห็ดได้อากาศบริสุทธิ์
8.ดอกเห็ดเสียหายจากแมลง
-เกิดจากโรงเรือนไม่สะอาดเป็นแหล่งสะสมของแมลง ควรรักษาโรงเรือนให้สะอาดอยู่เสมอ
จะเห็นได้ว่าการเพราะเห็ดฟางไม่ยากอย่างที่คิดกันหากเรียนรู้และทำความเข้าใจปัญหาและอุปสรรคต่างๆก็จะ
สามารถแก้ไขโดยง่าย และได้ผลผลิตตามต้องการ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสกลนคร
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา