ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกพืชผักสวนครัว

โดย : นายนิยม รุ่งเรือง วันที่ : 2017-04-02-22:09:27

ที่อยู่ : 114 ม.10 ต.บักดอง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การปลูกผัก

1. การเลือกสถานที่หรือทำเลปลูกควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่ไกลจากที่พักอาศัยมากนักเพื่อ ความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านการปลูกการดูแลรักษาและสะดวกในการเก็บมา ประกอบอาหารได้ทันทีตามความต้องการ
2. การเลือกประเภทผักสำหรับปลูกชนิดของผักที่จะปลูกควรคำนึงถึงการใช้เนื้อที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดโดยการปลูกผัก มากชนิดที่สุดเพื่อจะได้มีผักไว้บริโภคหลายๆ อย่างควรเลือกชนิดของผักที่เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมและปลูกให้ตรงกับฤดูกาลทั้งนี้ควร พิจารณาเปอร์เซ็นต์ความงอก ของเมล็ดพันธุ์ วันเสื่อมอายุปริมาณหรือน้ำหนัก โดยดูจากสลากข้างกระป๋องหรือ ซองที่บรรจุ เมล็ด พันธุ์ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเมล็ดพันธุ์นั้น ใหม่หรือเสื่อมความงอกแล้ว เวลาวันที่ผลิตถึงวันที่จะซื้อ ถ้ายิ่งนานคุณภาพเมล็ดพันธุ์จะลดลง

ฤดูการปลูกการปลูกผักควรเลือกให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อให้ได้ผักที่มีคุณภาพดี จึงควรพิจารณาเลือกปลูกผัก ดังนี้
ผักที่ควรปลูกในต้นฤดูฝนคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ได้แก่ หอมแบ่ง ผักกาดเขียวกวางตุ้งผักบุ้ง คะน้า พริกต่างๆ มะเขือต่างๆ ผักกาดหัว ผักกาดหอม บวบ มะระฟักเขียว แฟง แตงกวา ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า ถั่วพูผักบุ้งจีน กระเจี้ยบเขียว
ผักที่ควรปลูกปลายฤดูฝนผักใดที่ปลูกต้นฤดูฝนก็ปลูกได้ผลดีในปลายฤดูฝนยิ่งกว่านั้นยังปลูกผักฤดูหนาวได้อีกด้วย เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอกกะหล่ำปม บร็อคโคลี่ ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ แครอท แรดิช ผักชีผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ ข้าวโพดหวาน แตงเทศ แตงโมพริกยักษ์ พริกหยวก ฟักทอง มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย
ผักที่ควรปลูกในฤดูร้อนได้แก่ผักที่ทนร้อนได้ดี และทนความแห้งแล้งพอสมควรถึงแม้ว่าผักเหล่านี้จะทนร้อนและ ความแห้งแล้ง ได้แต่ถ้าจะปลูกในฤดูร้อนผักบางอย่างก็ต้องรดน้ำ เช้า-เย็นต้องพรวนดินแล้วคลุมด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชุ่มชื่นไว้ให้พอ เช่นข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน บวบ มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า แฟง ฟักทองถั่วพู คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักชี (ผักกาดหอมและผักชีนั้นควรทำร่มรำไรให้ด้วย) ผักกาดขาวเล็ก ผักกาดขาวใหญ่ มะเขือมอญ
ผักและพืชบางอย่างที่ควรปลูกไว้รับประทานตลอดปีได้แก่พืชที่ทนทาน ปลูกครั้งเดียวรับประทานได้ตลอดปี เช่น สะระแหน่ผักชีฝรั่ง หอมแบ่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักตำลึง ผักบุ้งไทย กระชาย ข่าตะไคร้ บัวบก มะแว้ง มะเขือพวง พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือต่างๆ

 

 

 

 

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

เทคนิคการปลูกผักสวนครัวชนิดต่างๆ
1. ตระกูลแตงและตระกูลถั่วได้แก่ แตงกวา แตงโม แตงไทย ฟักทอง บวบ น้ำเต้า มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก และถั่วอื่นๆ
– ผักต่าง ๆ เหล่านี้มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ งอกเร็ว เช่น ผักประเภทเลื้อย ถ้าจะปลูกให้ได้ผลดีและดูแลรักษาง่ายควรทำค้าง
– วิธีการปลูก หยอดเมล็ดโดยหยอดในแปลงปลูก หรือภาชนะปลูก หลุมละ 3-5 เมล็ด
– เมื่อเมล็ดงอกมีใบจริง 3-5 ใบ หลังจากนั้นถอนแยกให้เหลือเฉพาะต้นที่แข็งแรง หลุมละ 2 ต้น
– ใส่ปุ๋ยยูเรียหลังเมล็ดงอก 2 อาทิตย์ เมื่อเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12
– ให้น้ำสม่ำเสมอ คอยดูแลกำจัดวัชพืช และแมลงต่าง ๆ
– เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 40-60 วัน หลังหยอดเมล็ด
2. ตระกูลกะหล่ำและผักกาดได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหัว กะหล่ำดอก และบร๊อกโคลี
– ผักตระกูลนี้มีเมล็ดค่อนข้างเล็ก บางชนิดมีราคาแพงมาก เพราะส่วนใหญ่ต้องสั่งเมล็ดมาจากต่างประเทศ
– วิธีปลูก หยอดเมล็ดเป็นหลุมๆ ละ 3-5 เมล็ด ห่างกันหลุมละ 20 เซนติเมตรหรือโรยเมล็ดบางๆ เป็นแถวห่างกันแถวละ 20 เซนติเมตรหลังหยอดเมล็ดหรือโรยเมล็ด 10 วัน หรือเมื่อมีใบจริง 2-3 ใบถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2 ต้น หรือหากโรยเมล็ดเป็นแถวให้ถอนอีกระวังระยะต้นไม่ให้ชิดกันเกินไป
– ใส่ปุ๋ยยูเรียหลังจากถอนแยกหรือทำระยะปลูกแล้ว
– หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 10 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียครั้งที่สอง
– อายุเก็บเกี่ยวผักแต่ละชนิดแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น คะน้า กวางตุ้งเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 30-45 วัน ผักกาดหัว 45-55 วัน ผักกาดขาวปลีเขียวปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-60 วันหลังหยอดเมล็ด
– เมื่อเก็บเกี่ยวไม่ควรถอนผักทั้งต้น เก็บผักให้เหลือใบทิ้งไว้กับต้น 2-3 ใบ ต้นและใบที่เหลือจะสามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้อีก 2-3 ครั้ง
– ข้อควรระวัง ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ผักตระกูลนี้มักมีปัญหาโรคแมลงค่อนข้างมาก ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด
3. ตระกูลพริก มะเขือได้แก่ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง มะเขือเทศ
– ผักตระกูลนี้ควรมีการเพาะกล้าก่อนย้ายลงปลูกในแปลง
– การเพาะกล้า เตรียมดินในกะบะหรือในถุงพลาสติก
– หยอดเมล็ดในถุงเพาะ ถุงละ 3-5 เมล็ด ถ้าเพาะในกะบะเพาะ ควรเว้นระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ระหว่างแถว 10 เซนติเมตร
– เมื่อเมล็ดงอกแล้วมีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงสมบูรณ์ไว้ 2 ต้น
– เมื่อกล้ามีใบจริง 5-6 ใบ หรือหลังเพาะกล้าประมาณ 30 วัน ย้ายกล้าลงแปลงปลูก
– เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ หรือเริ่มเจริญเติบโต ใส่ปุ๋ยยูเรีย 1 ครั้ง
– เมื่อต้นเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 12-24-12

– อายุเก็บเกี่ยว มะเขือเทศประมาณ 50-60 วัน หลังย้ายกล้าและพริก มะเขือ ประมาณ 60-75 วัน หลังย้ายกล้า
4. ตระกูลผักชีและตระกูลผักบุ้งได้แก่ ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง
– ควรนำเมล็ดแช่น้ำก่อนปลูก ถ้าเมล็ดลอยให้ทิ้งไปและนำเมล็ดที่จมน้ำมาเพาะ
– หว่านเมล็ดในแปลง โดยจัดแถวให้ระยะห่างกัน 15-20 เซนติเมตร กลบดินทับบางๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร สำหรับขึ้นฉ่ายไม่ต้องกลบเมล็ดเพราะเมล็ดจะเล็กมากหากเตรียมดินละเอียดเมล็ดจะแทรกตัวลงไปในระหว่างเม็ดดินได้เอง
– ผักบุ้งจะงอกใน 3 วัน ผักชีประมาณ 4-8 วัน และขึ้นฉ่าย 4-7 วัน
– เมื่อกล้างอกมีใบจริง ถอนแยกและพรวนดินให้โปร่งเสมอจนเก็บเกี่ยว
– ผักบุ้งจีนเก็บเกี่ยวได้ภายใน 15-20 วัน ผักชี 45-60 วัน และขึ้นฉ่าย 60-70 วัน
– สำหรับผักชีและขึ้นฉ่ายไม่ชอบแสงแดดจัด อาจปลูกในที่ๆ มีร่มเงาได้ แต่สำหรับผักบุ้งจีน ต้องการแสงแดดตลอดวัน
5. ตระกูลโหระพา กะเพรา แมงลัก และตระกูลผักชีฝรั่งได้แก่ โหระพา กะเพรา แมงลักและผักชีฝรั่ง
– เตรียมดินให้ละเอียด หว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง ใช้ฟางกลบหรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วโรยทับบางๆ รดน้ำตามทันทีด้วยบัวรด น้ำตาถี่
– เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าภายใน 7 วัน
– เมื่อกล้าอายุ 1 เดือน ถอนแยกจัดระยะต้นให้โปร่ง หรือใช้ระยะระหว่างต้น ประมาณ 20-30 เซนติเมตร
– โหระพา กะเพรา แมงลัก เก็บเกี่ยวได้หลังหยอดเมล็ด 45-50 วัน ผักชีฝรั่ง เก็บเกี่ยวได้หลังหยอดเมล็ด 60 วัน
– สำหรับโหระพา กะเพรา และแมงลัก ในระหว่างการเจริญเติบโต ให้หมั่นเด็ดดอกทิ้งเพื่อให้ลำต้นและใบเจริญเติบโตได้เต็มที่
– ผักชีฝรั่ง ตัดใบไปรับประทาน เหลือลำต้นทิ้งไว้จะสามารถเจริญเติบโตได้อีก

 

 

 

 

 

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา