ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงโคขุน

โดย : นายสวัสดิ์ เพ็งแจ่ม วันที่ : 2017-03-31-09:15:00

ที่อยู่ : 117 ม.8 ต.บุสูง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

    การเลี้ยงโคขุน หมายถึง การเลี้ยงโคให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับค่าอาหารที่ค่อนข้างดีอย่างเต็มที่ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คือนอกจากจะให้โคกินอาหารหยาบ (หญ้าหรือฟาง) แล้วยังมีการให้กินอาหารข้น (อาหารเสริม) เพิ่มเติมอีกด้วย ทำให้โคเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้เนื้อที่มีคุณภาพดี

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้

         2. เพื่อลดการพึ่งพาด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิต และอาหารจากภายนอก

          3.  สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้

          4. เกิดอาชีพในชุมชนความเป็นอิสระในการดำรงชีวิต

วัตถุดิบ

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

โค อาหาร

อุปกรณ์ ->

โรงเรือน  อ่างน้ำ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ประเภทและธุรกิจการเลี้ยงโคขุน

          1. เลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตลูก ขายให้กับผู้เลี้ยงโคขุน การเลี้ยงโคประเภทนี้ ผู้เลี้ยงจะต้องเลี้ยงแม่โคเพื่อใช้ผสมกับพ่อโคพันธุ์ดี หรือผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อของพ่อโคเนื้อพันธุ์ดี เพื่อผลิตลูกโคเพศผู้ที่มีลักษณะเหมาะสมต่อการขุน ส่วนลูกโคตัวเมียผู้เลี้ยงอาจจะคัดเอาไว้เป็นแม่ทดแทนในฝูงต่อไป

          2. เลี้ยงโคขุน ผู้เลี้ยงจะหาซื้อโครุ่นเพศผู้จากแหล่งต่างๆ มาขุนอาจเป็นการขุนแบบโคมัน ขุนลูกโคอ่อน หรือขุนโคขุนคุณภาพดี

          3. เลี้ยงแม่โคผลิตลูก และขุนเอง เป็นการเลี้ยงที่รวมเอาธุรกิจแบบที่ 1 และ 2 รวมกัน เมื่อมีลูกโคเพศผู้เกิดขึ้นก็จะนำมาขุนส่งโรงฆ่า

วิธีการขุนโคเนื้อ
          วิธีขุนโค แบ่งออกเป็น 2 วิธี ตามการให้อาหารคือ

          1. การขุนด้วยการให้อาหารหยาบเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องได้รับหญ้าสดที่มีคุณภาพดี อาจตัดให้กินหรือปล่อยเลี้ยงในทุ่งหญ้า การขุนวิธีนี้ไม่แตกต่างกับการเลี้ยงโคเนื้อทั่วไปมากนัก จะต้องใช้ระยะเวลานานในการเพิ่มน้ำหนักตัวตามต้องการ อีกทั้งยังได้เนื้อที่ไม่ค่อยมีคุณภาพดีเท่าที่ควร แต่ก็อาจเหมาะสมกับความต้องการของตลาดในท้องถิ่น ซึ่งไม่ต้องการบริโภคเนื้อที่มีคุณภาพสูงมากนัก แลค่าใช้จ่ายในการขุนวิธีนี้ก็ยังต่ำอีกด้วย

          2. การขุนด้วยอาหารหยาบ เสริมด้วยอาหารข้น เป็นธุรกิจการขุนโคที่ต้องลงทุนสูง มุ่งให้ได้เนื้อโคขุนคุณภาพดี ส่งขายให้กับตลาดเนื้อชั้นสูง แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ตามอายุและคุณภาพเนื้อที่ได้ดังนี้ คือ

            2.1 การขุนลูกโคอ่อน เพื่อส่งโรงฆ่าเมื่ออายุน้อย ส่วนใหญ่นิยมใช้ลูกโคนมเพศผู้ เริ่มขุนตั้งแต่ลูกโคอายุ 1 สัปดาห์ หรือหลังจากได้รับนมน้ำเหลืองตามกำหนดแล้ว อาหารที่ใช้ลงทุนจะใช้หางนมผงเป็นหลัก ใช้เวลาขุนจนลูกโคมีอายุประมาณ 6-8 เดือน โคจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้เนื้อที่คุณภาพดี เมื่อส่งโรงฆ่า

            2.2 การขุนโคที่เริ่มขุนเมื่อโคมีอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือมีน้ำหนักประมาณ 200-250 ก.ก. ใช้ระยะเวลาขุนประมาณ 6 เดือน ให้ได้น้ำหนัก 400-450 ก.ก. แล้วส่งโรงฆ่า เป็นรูปแบบการขุนที่นิยมกันแพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่นิยมใช้โคเนื้อลูกผสมที่ทดสอบแล้วว่า มีการเจริญเติบโตดี คุณภาพเนื้อที่ได้จะดีกว่าการขุนในรูปแบบอื่นมาก และเกษตรกรหันมายึดเป็นอาชีพกันมากขึ้นในปัจจุบัน

             2.3 การขุนโคที่มีอายุมาก หรือ โคที่โตเต็มวัยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นโคที่ปลดจากการใช้แรงงาน ซึ่งมีอายุมักจะไม่ต่ำกว่า 5 ปี เป็นการขุนเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อเพียงบางส่วน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มไขมันหุ้มซาก โดยไม่สนใจไขมันแทรกในเนื้อ จะใช้เวลาในการขุนประมาณ 3 เดือน โคที่ได้จากการขุนประเภทนี้ โดยทั่วไปนิยมเรียกกว่า "โคมัน"

การสร้างคอกขุน
          ลักษณะและขนาดของคอกโคขุนย่อมแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพสถานที่และขนาดของกิจการแต่ก็พอจะสรุปหลักการได้ดังนี้

          1. สถานที่

1.1ควรเป็นที่ดอน ระบายน้ำได้ดี หรืออาจจะต้องถมพื้นที่ให้สูงกว่าระดับปกติเพื่อไม่ให้น้ำขังในฤดูฝน

1.2ควรมีทางให้รถบรรทุกเข้าออกได้เพื่อความสะดวกในการนำโคเข้าขุนและส่งตลาด

1.3ควรให้ความยาวของคอกอยู่ทิศตะวันออก-ตะวันตก

1.4วางแผนให้สามารถขยายกิจการได้ในอนาคต

          2. ขนาดของคอก

2.1โรงเรือนอาจะประกอบด้วยคอกขังเดี่ยวหลายๆ คอกตามจำนวนโคที่ต้องการขุน แต่ละคอกควรมีขนาด กว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร

2.3หารต้องการขุนแบบรวมหลายตัวในคอกเดียวกัน พื้นที่คอกไม่ควรน้อยกว่า 8 ตารางเมตร/ตัว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวควรมีหลังคาอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ก็เพียงพอแล้ว ส่วนที่เหลือให้เป็นที่โล่งหรือมีร่มไม้ก็ยิ่งดี

2.3ถ้าพื้นที่ต่อตัวน้อยเกินไป จะมีปัญหาเรื่องพื้นคอกแฉะ แม้กระทั่งฤดูแล้ง แต่ถ้ามากเกินไปก็จะต้องเสียพื้นที่มากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสร้างคอกมากขึ้น

2.4ถ้าจะสร้างหลังคาคลุมพื้นที่คอกทั้งหมดก็ได้ มีข้อดีที่ไม่ทำให้พื้นคอกแฉะในฤดูฟน แต่ก็มีข้อเสียหลายประการคือ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุและโคอาจจะขาดวิตามินดี เพราะไม่มีโอกาสได้รับแสงแดดเลย

          3. พื้นคอก 

3.1พื้นคอกโคขุนสามารถเทคอนกรีตทั้งหมดได้ก็เป็นการดี เพราะจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นคอกเป็นโคลนในฤดูฝนได้ แต่ต้องการประหยัดก็อาจจะเทคอนกรีตเฉพาะพื้นคอกส่วนที่อยู่ใต้หลังคาก็ได้ หากพื้นคอกส่วนใต้หลังคาเป็นดินจะมีปัญหาเรื่องพื้นเป็นโคลน ไม่ว่าจะเป็นฤดูแล้งหรือฤดูฝน

3.2พื้นคอนกรีตหนา 7 ซ.ม. โดยไม่ต้องผูกเหล็ก สามารถรับน้ำหนักโคขุนได้ สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ถ้าต้องการให้รถแทรกเตอร์ (รถไถ) เข้าไปในคอกได้ จำเป็นจะต้องเทคอนกรีตให้หนา 10 ซ.ม. และผูกเหล็กหรือไม้รวกก็ได้

3.3ผิวหน้าของพื้นคอนกรีต ควรทำให้หยาบโดยใช้ไม้กวาดมือเสือครูดให้เป็นรอย และพื้นคอกควรมีความลาดเอียงจากด้านหน้าลงด้านหลังคอกประมาณ 2-4% หรือทำมุมประมาณ 15 องศากับพื้นราบ เพื่อให้น้ำล้างคอกและปัสสาวะไหลลงท้ายคอกได้ง่ายขึ้น ท้ายคอกควรมีร่องน้ำกว้างประมาณ 30 ซ.ม. พื้นรางลาดเอียงไปตามแนวที่ต้องการระบายน้ำออกไป เมื่อพ้นแนวคอกควรทำทางหรือร่องน้ำไห้ไหลไปใช้ในแปลงหญ้าได้ด้วย

3.4พื้นคอกส่วนใหญ่ที่เป็นคอนกรีตใต้หลังคา ควรจะปูด้วยวัสดุที่ซับความชื้นได้ดี ได้แก่ แกลบ ขี้กบ ขี้เลื่อย ฟาง หรือซังข้าวโพด เป็นต้น ข้อดีก็คือทำให้โคไม่ลื่น ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดคอกทุกวัน อีกทั้งมูลโคพร้อมวัสดุรองพื้นนี้นับว่าเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีสำหรับแปลงหญ้า การเปลี่ยนวัสดุรองพื้นคอกควรทำ 1-2 ครั้งต่อเดือน ในฤดูฝนและประมาณ 3 เดือน ต่อครั้งในฤดูแล้ง แกลบ 1 ลูกบาศก์เมตรสามารถปูพื้นคอกได้ 10-12 ตารางเมตร (หนาประมาณ 7 ซ.ม.) หรือแกลบ 1 กระสอบป่าน ใช้ปูพื้นได้ 2 ตารางเมตร พื้นคอกส่วนที่เป็นพื้นดินหรือส่วนที่อยู่นอกหลังคาไม่จำเป็นต้องมีวัสดุรองพื้น

3.5ควรทำบ่ากั้นแกลบไม่ให้ไหลจากส่วนใต้หลังคาคอนกรีตไปยังส่วนที่เป็นพื้นดิน

3.6การปูวัสดุรองพื้นนี้อาจจะไม่จำเป็นเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ผู้เลี้ยงโคขุนบางรายนิยมการล้างทำความสะอาดพื้นคอกทุกวัน ซึ่งได้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่สิ้นเปลืองแรงงานค่อนข้างมาก จากประสบการณ์สรุปว่าในฤดูแล้งควรใช้วิธีปูวัสดุรองพื้น ส่วนในฤดูฝนควรใช้วิธีทำความสะอาดคอกทุกวัน

3.7มีผู้ทดลองใช้ซีเมนต์บล็อคเป็นพื้นคอกโคขุนแทนการเทคอนกรีต ปรากฎว่าไม่สามารถทนน้ำหนักโคได้ แต่ถ้าเป็นซีเมนต์บล๊อคที่สั่งอัดพิเศษโดยใส่ส่วนผสมปูนซีเมนต์ลงไปมากกว่าปกติ จะสามารถใช้ปูเป็นพื้นคอกโคขุนได้

          4. หลังคา

4.1สามารถทำด้วยวัสดุต่างๆ กัน เช่น กระเบื้อง สังกะสี จาก หรือแฝก

4.2ถ้าหลังคามุงด้วยสังกะสีควรให้ชายล่างหลังคาสูงจากพื้นดินประมาณ 250 ซ.ม. มิฉะนั้นจะทำให้อากาศภายในคอกในฤดูร้อนร้อนมาก

4.3ถ้าหลังคามุงจากหรือแฝก ชายล่างของหลังคาควรให้สูงจากพื้นดิน 250 ซ.ม. เช่นกัน ถ้าต่ำกว่านั้นโคจะกัดกินหลังคาได้

          5. เสาคอก

5.1เสาคอกด้านหน้าควรอยู่ในแนวขอบรางอาหารด้านหลัง ไม่ควนเลยออกมาจากขอบรางทั้งด้านภายในรางและภายนอกรางด้านหลัง เพราะจะสะสมสิ่งสกปรก สามารถทำด้วยวัสดุต่างๆ กันเช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ไม้สน เหล็ก แป๊ปน้ำ หรือคอนกรีต

5.2เสาไม้ เสาเหล็ก และแป๊ปน้ำ มักมีปัญหาเรื่องเสาขาดคอดิน ต้องแก้ไขโดยการหล่อคอนกรีตหุ้มโคนเสาสูงจากพื้นดินประมาณ 30 ซ.ม. การหุ้มโคนเสามักจะเกิดปัญหาการแตกร้าวของคอนกรีต ซึ่งสามารถแก้ได้โดยใช้ท่อปล่องส้วมหรือท่อแอสล่อนเป็นปลอกหุ้มภายนอกอีกชั้นหนึ่ง

5.3เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความคงทนถาวรดีมาก แต่มีปัญหาในการกั้นคอกเพราะไม่สามารถตอกตะปูหรือเจาะรูน๊อตได้

5.4เสาไม้สนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว มีอายุใช้งานเพียงประมาณ 1 ปี หรือผ่านเพียง 1 ฤดูฝนเท่านั้น โคนเสาระดับพื้นดินก็จะหักเสาไม้ไผ่ (ไม้ซอ) มีความคงทนกว่าไม้สนเล็กน้อย

5.5การใช้เสาคอนกรีตฝังดิน และโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเล็กน้อย แต่ต่อด้วยเสาไม้นั้น มักจะเกิดปัญหาโคนเสาบริเวณรอยต่อหักเมื่อถูกแรงกระแทกของโค

          6. รั้วกั้นคอก

6.1สามารถทำด้วยวัสดุต่างกันเช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ไม้สน แป๊ปน้ำ เป็นต้น

6.2ไม้สน และไม้ไผ่ มีอายุใช้งานได้ประมาณ 1 ปีเศษ หรือผ่าน 1 ฤดูฝนเท่านั้น

6.3รั้วกั้นคอกรอบนอกควรกั้นอย่างน้อย 4 แนว แนวบนสุดสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 150 ซ.ม. ส่วนรั้วที่แบ่งคอกย่อยภายใน ควรกั้นอย่างน้อย 3 แนว

6.4การกั้นรั้วคอกควรให้ไม้หรือแป๊ปน้ำที่ใช้กั้นอยู่ด้านในของเสาเพราะเมื่อถูกแรงกระแทกจากโค เสาจะได้ช่วยรับแรงไว้

6.5ตาไม้หรือสิ่งแหลมคมในคอกต้องกำจัดออกให้หมด

          7. รางอาหาร

7.1ควรอยู่ด้านหน้าคอก สูงประมาณ 60 ซ.ม. กว้างประมาณ 80-90 ซ.ม. ก่ออิฐฉาบปุนและขัดมัน ขอบรางด้านนอกเป็นแนวตรงดิ่งไม่เอียงเฉียงออกมาหรือลอยสูงจากพื้นทำให้เกิดมุมอับที่สะสมสิ่งสกปรก ขอบรางด้านหน้าสูงกว่าด้านหลังประมาณ 10-20 ซ.ม.

7.2พื้นผิวภายในรางฉาบเรียบโดยด้านล่างของรางทำเป็นแนวโค้งมนไม่มีมุม เจาะรูที่ก้นรางด้านหนึ่งเพื่อให้น้ำระบายออกได้ ท้องรางลาดเทเล็กน้อยไปทางด้านที่มีรูระบายน้ำ

7.3รางอาหารที่แคบเกินไปจะมีปัญหาเรื่องอาหารตกหล่นมากขณะที่โคยืนเคี้ยวอาหาร ปากโคจะยื่นเลยรางอาหารออกมา

7.4การทำรางอาหารเตี้ยมากเกินไป ทำให้โคต้องก้มมากในขณะกินอาหาร แต่ถ้าสูงเกินไปจะมีปัญหาสำหรับโคขนาดเล็ก

7.5โคขุนระยะแรกต้องการรางอาหารยาวประมาณ 50 ซ.ม. ต่อโคขุน 1 ตัว และประมาณ 65 ซ.ม. ในระยะปลาย

          8. อ่างน้ำ

8.1อ่างน้ำควรวางอยู่ในจุดต่ำสุดของคอก หรืออาจจะวางอยู่นอกคอกแล้วทำช่องให้โคโผล่หัวออกไปดื่มน้ำได้

8.2ขนาดของอ่างน้ำสูงประมาณ 60 ซ.ม. กว้าง 80 ซ.ม. ยาว 90 ซ.ม. ก่ออิฐ ฉาบปูนขัดมัน มีรูระบายน้ำด้านล่าง หรืออาจควรคำนวณให้สามารถบรรจุน้ำได้พอเพียงสำหรับโคทุกตัวในคอก โค 1 ตัวดื่มน้ำวันละ 20-30 ลิตร หรือโคขุนที่กินหญ้าสดหรือเปลือกสับปะรดเป็นอาหารหยาบต้องการกินน้ำวันละ 5% น้ำหนักตัว ส่วนโคขุนที่กินฟางหรือหญ้าแห้งเป็นอาหารหยาบต้องการน้ำประมาณวันละ 10% น้ำหนักตัว

          9. มุ้ง ในบริเวณที่มียุง หรือแมลงวันรบกวน มุ้งมีความจำเป็นมาก ข้อดีของมุ้งคือ

 

(1)

ป้องกันการรบกวนและดูดเลือดจากแมลงต่างๆ

 

(2)

ป้องกันแมลงและผีเสื้อตอมตาอันเป็นสาเหตุให้เกิดตาอักเสบและพยาธิในตา

 

(3)

ลดการหกหล่นของอาหาร กล่าวคือ ถ้ามีแมลงมากโคจะแกว่งศีรษะเพื่อไล่แมลงขณะกินอาหาร ทำให้อาหารหกหล่น

               มุ้งที่ใช้เป็นมุ้งไนล่อนสีฟ้าควรเป็นเบอร์ 16 หน้ากว้าง 2.5 เมตร ราคาม้วนละ 350-400 บาท (ยาว 30 เมตร) จะใช้มุ้งตาถี่กว่านี้ (เบอร์ 20) ก็ได้ แต่ราคาแพงขึ้นและทำให้การระบายอากาศในคอกไม่ดีนัก การเย็บมุ้งให้เข้ากับรูปทรงของคอกสามารถเย็บด้วยมือหรือจ้างร้านเย็บผ้าใบก็เป็นการสะดวกในอัตราค่าแรงคิดเป็นม้วนๆ ละ ประมาณ 40 บาท

การคัดเลือกโคเข้าขุน

          โคขุนที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้

 

-

หาซื้อได้ง่าย และราคาถูก

 

-

เลี้ยงง่าย ทนโรค ทนเห็บ โตเร็ว ประสิทธิภาพการใช้อาหารสูง สามารถเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อได้ดี คุณภาพซากดี คือมีเนื้อมาก

 

-

โครงสร้างใหญ่ กระดูกใหญ่โดยดูที่กระดูกแข้ง

 

-

หน้าอกกว้าง โดยดูจากระยะห่างระหว่างโคนขาหน้า โคนขาหน้ามีกล้ามเนื้อนูนเด่น

 

-

ไหล่กว้าง แนวหลังตรง ท้ายไม่ตก สะโพกกว้างและใหญ่ เอวลึกและใหญ่ ซึ่งแสดงว่ากระเพาะใหญ่กินอาหารได้มาก

 

-

ขาสั้นและแข็งแรงสมส่วนกับลำตัว ขาตรงตั้งฉากกับพื้นและอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกันพอสมควร

 

-

กระดูกเชิงกรานและปลายกระดูกก้นกบด้านซ้ายและขวาควรห่างกันมาก ซึ่งแสดงว่าโคมีสะโพกหน้าและยาว

 

-

ลำตัวยาว ไม่ลึกมากนักเพราะส่วนล่างของลำตัวจะมีเนื้อน้อย

 

-

หน้าสั้น ดวงตานูนแจ่มใส รูจมูกกว้าง ปากกว้าง และใหญ่

 

หลักในการพิจารณาจัดหาโคเข้าขุน

          1. พันธุ์โค ในการเลือกซื้อโคเข้ามาขุนควรจะพิจารณาเลือกซื้อพันธุ์โคที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโคขุนด้วย เช่น โคพันธุ์เมืองตลาดชั้นสูงไม่ต้องการเพราะ ซากเล็ก ไขมันแทรกน้อย หน้าตัดเนื้อสันเล็ก พันธุ์โคที่เหมาะสมในการนำมาขุนควรเป็นโคลูกผสมที่มีสายเลือดโคยุโรปอยู่ในช่วง 50-62.5% เพราะพบว่าโคที่มีสายเลือดของโคยุโรปอยู่สูงกว่านี้ จะมีปัญหาในการเลี้ยงในภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พันธุ์โคที่เหมาะสมต่อการขุน ได้แก่ โคลูกผสมบราห์มันXพันธุ์พื้นเมืองXพันธุ์ชาร์โรเล่ส์, บราห์มันXชาร์โรเล่ส์, บราห์มันXพื้นเมือง, บราห์มันXลิมูซีน, ซิมเมนทอล, เดร้าท์มาสเตอร์, บราห์มันXแองกัส (แบงส์กัส) เป็นต้น

          2. เพศโค ลูกโคที่จะนำมาขุนควรเป็นเพศผู้เพราะการเจริญเติบโตและเปอร์เซนต์ซากหลังชำแหละจะสูงกว่าเพศเมีย อีกทั้งราคาก่อนขุนก็ถูกกว่าอีกด้วย ส่วนเหตุผลที่จะต้องตอนลูกโคเพศผู้ก่อนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยง กล่าวคือ หากคอกขุนเป็นคอกขังเดี่ยวก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอน มีการศึกษาพบว่า โครุ่นเพศผู้ไม่ตอน จะมีการเจริญเติบโตสูงกว่าโครุ่นเพศผู้ตอน และมีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงกว่า แต่โคตอนจะมีไขมันแทรกดีกว่า หากตลาดมีความต้องการและให้ราคาดีก็ควรจะตอน ในกรณีที่ต้องเลี้ยงโคขุนในคอกรวมกันและขนาดของโคมีความแตกต่างกัน การตอนจะช่วยลดความคึกคนองของโคที่ใหญ่กว่า ลดการรังแกตัวอื่นลงไปได้

          3. อายุของโค มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาขุน กล่าวคือ ถ้าขุนโคอายุน้อยจะต้องใช้เวลามากกว่าการขุนโคใหญ่ เช่น โคหย่านม ใช้เวลาขุนประมาณ 10 เดือน แต่ถ้าเป็นโคอายุ 1 ปี ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน โคอายุ 1.5 ปี ใช้เวลาขุนประมาณ 6 เดือน โคอายุ 2 ปี ใช้เวลาขุนประมาณ 4 เดือน และโคโตเต็มวัยใช้เวลาขุนประมาณ 3 เดือน ดังนั้น ถ้าตลาดระยะสั้นดีหรือต้องการผลตอบแทนเร็วก็ควรขุนโคใหญ่ แต่ถ้าตลาดระยะยาวดีหรือตลาดยังไม่แน่นอนควรขุนโคเล็ก เพื่อยืดเวลาและโคจะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะประวิงเวลาไม่ได้เพราะระยะหลังๆ ของการขุนโคใหญ่จะโตช้ามาก
            ถ้าผู้เลี้ยงมีประสบการณ์ในการเลี้ยงโคขุนน้อยควรจะขุนโคใหญ่ เพรามีปัญหาในการเลี้ยงดูน้อยกว่าโคเล็ก แต่ถ้าผลิตเนื้อโคขุนส่งตลาดชั้นสูง โคที่ขุนเสร็จแล้วไม่ควรมีอายุเกิน 3 ปี และถ้าผลิต "โคมัน" ส่งตลาดพื้นบ้าน ควรจะเลือกโคเต็มวัยมาขุนเพื่อจะได้มีไขมันมากและสีเหลือง

 

แหล่งที่จะหาซื้อโคมาขุน

          โคที่จะนำมาขุน อาจได้จากโคในคอกของผู้เลี้ยงเอง ซึ่งเลี้ยงแม่ผลิตลูกอยู่แล้ว หรือซื้อลูกโคจากผู้ผลิตลูกโคขาย ในบางท้องที่ซึ่งมีตลาดนัดโค-กระบือ ผู้เลี้ยงโคขุนอาจหาซื้อได้จากตลาดนักต่างๆ การซื้อขายโคมีชีวิตส่วนใหญ่ทำการขายหลังฤดูเก็บเกี่ยว
          สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตลาดนัดค้าสัตว์ได้จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในท้องถิ่น

 

การเตรียมโคก่อนขุน

          ทำความสะอาดคอกที่จะขุน เตรียมที่ให้น้ำ และรางอาหารให้พร้อม นำโคเข้าคอกขุน ถ่ายพยาธิทั้งภายใน-นอก ฉีดวัคซีนตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดให้ทำในพื้นที่นั้นๆ ระยะ 21 วันแรกเป็นระยะให้โคปรับตัวกับการกินอาหารข้น (Pretest) โดยให้อาหารดังนี้

 

วันที่ 1

ให้โคกินอาหารข้น 1 ก.ก. ร่วมกับหญ้าสดหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

 

วันที่ 2

ให้โคกินอาหารข้น 2 ก.ก. ร่วมกับหญ้าสดหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

 

วันที่ 3

ให้โคกินอาหารข้น 3 ก.ก. ร่วมกับหญ้าสดหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

 

วันที่ 4

ให้โคกินอาหารข้น 4 ก.ก. ร่วมกับหญ้าสดหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

 

วันที่ 5

จนถึงวันที่ 21 ให้กินวันละ 4 ก.ก. ร่วมกับหญ้าสดหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

 

วันที่ 22

เป็นวันเริ่มต้นขุน ให้โคกินเต็มที่ ร่วมกับอาหารข้นและอาหารหยาบ

 

 

 

 

 

 

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา