ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกคะน้า

โดย : นายสูงศักดิ์ พิมพ์ทอง วันที่ : 2017-03-31-08:55:39

ที่อยู่ : 96 ม.7 ต.บุสูง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ผักเป็นอาหารประจำวันของมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารให้แร่ธาตุวิตามินที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีราคาถูก เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์จากข้อมูลวิจัยกล่าวว่า มนุษย์เราควรบริโภคผักวันละประมาณ 200 กรัม เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุและวิตามินอย่างเพียงพอ การปลุกคะน้าทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้

         2. เพื่อลดการพึ่งพาด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิต และอาหารจากภายนอก

          3.  สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้

          4. เกิดอาชีพในชุมชนความเป็นอิสระในการดำรงชีวิต

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เมล็ดพันธ์ผักคะน้า

อุปกรณ์ ->

          เครื่องมือการเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ  จอบ เสียม  

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเพาะกล้า
1. การเตรียมแปลงเพาะ แปลงเพาะกล้าควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสม
2. การเตรียมดินบนแปลงเพาะกล้า ควรขุดไถพรวนดินอย่างดี ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ย่อยหน้าดิน ให้ละเอียด แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มาก คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว
3. การเพาะ หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง กลบเมล็ดด้วยดินหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วให้หนาประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ
4. การดูแลต้นกล้า ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน ควรดูแลต้นกล้า ถอนต้นที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง หรือเบียดกันแน่นทิ้งไป ผสมสารละลายสตาร์ทเตอร์โวลูชั่นในน้ำแล้วนำไปรด เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ ดูแลป้องกันโรคแมลงที่เกิดขึ้น เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25-30 วัน จึงทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกต่อไป

วิธีการปลูก
การปลูกคะน้านิยมปลูก 2 แบบ คือ
1. แบบหว่านกระจายทั่วแปลง เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดใหญ่ ทำเป็นการค้า
2. แบบแถวเดียว เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดเล็กหรือผักสวนครัว เตรียมดินโดยการใช้แรงงานคนให้น้ำโดยใช้บัวรดน้ำ
ระยะปลูก ควรให้มีระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 20 X 20 เซนติเมตร
การเตรียมแปลงปลูก มีวิธีการดังนี้
1. ขุดดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร
2. ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน
3. นำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วมาใส่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดินเป็นการปรับปรุงสภาพทางกายภาพและเพิ่มความอุดม สมบูรณ์ของดิน
4. พรวนย่อยหน้าดินให้มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะการปลูกแบบหว่านลงในแปลง เพื่อไม่ให้เมล็ดตกลงไปในดิน เพราะจะไม่งอกหรืองอกยากมาก
5. ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม

ในการปลูกคะน้านิยมหว่านเมล็ดลงบนแปลงปลูกโดยตรงมากกว่าย้ายกล้า โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. หว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งผิวแปลงโดยให้เมล็ดห่างกันประมาณ 2-3 เซนติเมตร
2. ใช้ดินผสมหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วหว่านกลบเมล็ดให้หนาประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร เพื่อเก็บรักษาความชื้นและป้องกันเมล็ดถูกน้ำกระแทกกระจาย
3. คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ
4. รดน้ำให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน
5. หลังจากต้นคะน้างอกแล้วประมาณ 20 วัน หรือต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ให้เริ่มถอนแยก โดยเลือกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก ทิ้งระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออกแล้วส่งขายตลาดเป็น ยอดผักได้
6. เมื่อคะน้ามีอายุประมาณ 30 วัน ให้ถอนแยกครั้งที่ 2 ให้เหลือระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตรต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออก แล้วส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้
7. ในการถอนแยกคะน้าแต่ละครั้งควรกำจัดวัชพืชไปด้วย

การให้น้ำ

1. คะน้าต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรปลูกในแหล่งที่มีน้ำอย่างเพียงพอ
2. การให้น้ำให้ใช้ฝักบัวฝอยรดให้ทั่วและให้ชุ่ม ในเวลาเช้าและเย็น

การใส่ปุ๋ย

คะน้าต้องการปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง อาจใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 หรือ 20-11-11 ในอัตราประมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ หลังจากถอนแยกครั้งแรกและหลังจากถอนแยกครั้งที่ 2

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
อายุการเก็บเกี่ยวของคะน้าอยู่ที่ประมาณ 45-55 วันหลังปลูก คะน้าที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือ คะน้าที่มีอายุ 45 วัน แต่คะน้าที่มีอายุ 50-55 วัน เป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนักมากกว่า วิธีการเก็บเกี่ยวคะน้าทำได้ดังนี้
1. ใช้มีดคมๆ ตัดให้ชิดโคนต้น
2. ตัดไล่เป็นหน้ากระดานไปตลอดทั้งแปลง
3. หลังตัดแล้วบางแห่งมัดด้วยเชือกกล้วยมัดละ 5 กิโลกรัม บางแห่งก็บรรจุเข่ง แล้วแต่ความสะดวกในการขนส่ง
การเก็บเกี่ยวคะน้าให้ได้คุณภาพดี รสชาติดี และสะอาด ควรปฏิบัติดังนี้
1. เก็บในเวลาเช้าดีกว่าเวลาบ่าย
2. ใช้มีดเล็กๆ ตัด อย่าเก็บหรือเด็ดด้วยมือ
3. อย่าปล่อยให้ผักแก่เกินไป
4. หลังเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำผักเข้าที่ร่ม วางในที่โปร่งและอากาศเย็น
5. ภาชนะที่บรรจุผักควรสะอาด

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา