ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทอผ้าไหม

โดย : นางใบ บาททอง วันที่ : 2017-03-29-15:51:36

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 6 บ้านโนนสว่าง ตำบลพรหมสวัสดิ์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ต้องการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับคนรุ่นหลังได้สืบทอดไว้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาและสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนในชุมชน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

วัตถุดิบ
๑. เส้นไหม
๒. สีย้อมไหม(มีทั้งสีธรรมชาติและสีเคมี)
อุปกรณ์ในการย้อมสีไหม
๑. เตา
๒. เหยือกตวงน้ำ
๓. ปรอทวัดความร้อน
๔. หม้อย้อมไหม
๕ ห่วงย้อมไหม
อุปกรณ์ในการเตรียมไหม
๑. อัก
๒. หลา
๓. กง
๔. ไม้คอนอัก
๕. ก้อนพัดไหม
๖. โฮงมัดหมี่
๗. กระบอกไหม
๘. หลักเฟือ
๙. โฮงค้นหมี่
๑๐. หลา ๕ ใน

อุปกรณ์ ->

๑. กี่
๒. ฟืม
๓. กระสวย
๔. เครือหูก
๕. หลอดไหม
๖. ไม้พันฮูก

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การฟอกไหม คือ ตอนแรกไหมดิบ จะเป็นสีส้มเข้ม ก่อนนำมาทอต้อง ทำการแยกไขมันออกจากเส้นไหมเพื่อป้องกัน การย้อมสีไม่ติด โดยต้องต้มน้ำ ให้น้ำเดือด ประมาณ ๘๐ องศาโดยตลอด ใส่สบู่/ซันไลต์ 1 ก้อน ต่อไหม ๑ ก.ก. ใส่ด่างฟอกลงไป๑ ถุง /ไหม ๑ ก.ก. คนให้เข้ากัน ใส่แป้งมันลงไป ๗ ช้อนโต๊ะ /ไหม ๑ ก.ก. คนให้เข้ากันอีกรอบ จากนั้นยกไหมขึ้น-ลง ในหม้อ จนเส้นไหม เป็นสีนวล เส้นฝืด แล้ว นำขึ้นมาแขวนพักไว้เย็น แล้วเอามาล้างน้ำอุ่น ๑ ครั้ง แล้วล้างด้วยน้ำเย็น ๓ ครั้ง นำมาปั้นให้แห้ง แล้วนำผึ่งไว้ในร่ม ให้ไหมแห้งสนิท จึงเก็บไว้สำหรับทอ
2. การกวักไหม คือ การกรอเส้นไหมเข้าหลอดเพื่อเตรียมไว้สำหรับการทำขั้นตอนต่อไปได้ง่าย
3. การกรอใส่หลอด คือ การกรอเส้นไหมเข้าหลอดเพื่อทำเส้นยืน คือเส้นไหมที่ขึงอยู่ในกี่และการเข้ากวักทำเส้นพุ่ง คือ เส้นไหมที่อยู่ในกระสวยใช้เวลาในการกรอเส้นไหมซึ่งทำด้วยมือไม่ใช้เครื่อง เป็นเวลา ๗ วัน
4. การรังไหม หรือตีเหลียวไหม คือ การทำรังไหม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเสียขี้ไหม ในภาษาคนทอผ้า เพื่อให้เส้นไหมเรียบ สวยงาม
5. การพัดไหม คือ เป็นการเรียงเส้นไหม รวมกัน ให้เป็น ใจหรือเครือ เพื่อนำไปย้อมสี แต่ถ้านำเส้นไหมที่จะนำไปมัดหมี่ ไม่ต้องทำขั้นตอนนี้ นำไปค้นมัดหมี่ได้เลย สำหรับการย้อมสีไหมจะต้องเป็นไหมที่นำไปฟอกแล้ว ไปย้อม ในสมัยก่อนนิยมใช้สีจากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันการย้อมด้วยสีธรรมชาติเริ่มหายไป เนื่องจากมีสีวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ ที่หาซื้อง่ายตามร้านขายเส้นไหมหรือผ้าไหม เมื่อละลายน้ำจะแตกตัว ย้อมง่าย สีสดใส ราคาค่อนข้างถูกทนต่อการซักค่อนข้างดี การย้อมด้วยสีธรรมชาติมีข้อดี คือ สีไม่ฉูดฉาด สีอ่อนเย็นตากว่าสีสังเคราะห์จึงทำให้สีของผ้างดงามสัมพันธ์กับรูปแบบของผ้าพื้นเมือง สีธรรมชาติจะติดสีได้ดีในเส้นไหมและฝ้าย วิธีย้อมคือ การคั้นเอาน้ำจากพืชที่ให้สีนั้นๆ ต้มให้เดือด จากนั้นนำไหมชุบน้ำให้เปียกบิดพอหมาด กระตุกให้เส้นไหมเรียงเส้นจึงแช่ในน้ำย้อมสีที่เตรียมไว้ จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งจะได้เส้นไหมที่มีสีตามต้องการ
6. การค้นไหม โดยการเตรียมค้นไหม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
6.1 การเตรียมเส้นไหมพุ่ง การเตรียมเส้นไหมพุ่ง จะเป็นการเตรียมเส้นไหมเพื่อตรียมพร้อมสำหรับการนำไปมัดหมี่โดยใช้เครื่องมือในการการค้นลำหมี่โดยการนำเส้นไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว มาทำการค้นปอยหมี่เพื่อให้ได้ลำหมี่พร้อมสำหรับการไปมัดหมี่ในกระบวนการต่อไป
6.1.1 การมัดหมี่ คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบลายที่เป็นแบบลายโบราณและแบบที่เป็นลายประยุกต์ โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ เช่น ผ้าที่ออกแบบลายไว้มี ๔ สี ต้องทำการมัดย้อม ๔ ครั้ง เป็นต้น
6.2 การเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) โดยการค้นหูกหรือค้นเครือ คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ
7. การสืบไหมหรือการสืบหูก คือ การนำไหมที่ได้จากการค้นไหมเครือ หรือเส้นไหมยืนแล้ว นำเข้ามาต่อกับฟืม ใช้เวลาในการสืบประมาณ ๓ วัน
8. การพันไหม คือ เนื่องจากเส้นไหมที่ค้นและสืบเสร็จเรียบร้อยแล้ว นั้น มีความยาวหลายเมตร เราจำเป็นต้องเก็บพันเส้นไหมที่ยังไม่ทอ ให้เป็นระเบียบ เพื่อสะดวกในการทอ และรักษา
9. การกางหูกไหม คือ ขั้นตอนในการนำหูกไหมที่พร้อมจะทอแล้ว ไปกางบนกี่ เพื่อที่เตรียมการทอผ้าต่อไป
10. การทอผ้าไหม เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะออกมาเป็นผ้าผืน คือการทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นไหม 2 ชุด คือชุดแรกเป็น เส้นไหมยืน จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอ(เครื่องทอ) หรือแกนม้วนด้านยืน อีกชุดหนึ่งคือ เส้นไหมพุ่ง จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉากทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมัดหมี่ไว้

ข้อพึงระวัง ->

-

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา