ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกกล้วยน้ำว้า

โดย : นายสุนันท์ ทองสุข วันที่ : 2017-06-05-13:54:31

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๑๓ บ้านโจดม่วง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลโจดม่วง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

        กล้วยน้ำว้า ที่ใครๆ เห็นอาจจะมองว่าธรรมดา แต่กล้วยมีประโยชน์มากมาย ใช้ได้เกือบทุกส่วน และเหมาะที่จะปลูกมาก เพราะทุกวันนี้ราคากล้วยพุ่งสูงมาก โดยพบว่า ตลาดขายส่ง หวีละ  ๑๗ - 20 บาท ราคาขายปลีก สูงถึงหวีละ  30-๓๕  บาท  และกล้วยมีสารอาหารหลายชนิด มีวิตามินเอ ,บี 1 ,บี 2 ,ซี และไนอะซิน (บี 6) ซึ่งช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของร่างกาย  กล้วยน้ำว้า หนึ่งผล สามารถให้พลังงานได้ ประมาณ  ๑๐๐  แคลอรี่   มีน้ำตาลธรรมชาติ อยู่    3  ชนิด   คือ  ซูโครส  ฟรุคโทส และกลูโครส  มีเส้นใยและกากอาหาร ทำให้ขับถ่ายง่าย   ดังนั้น การส่งเสริมการปลูกกล้วยน้ำว้า ให้สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี  จึงถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ ->

๑. เพื่อบริโภคในครัวเรือน  และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว
๒.  แปรรูปเป็นขนม อาหารว่างเพื่อบริโภค และจำหน่าย

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

     ๑. พันธุ์กล้วยน้ำว้า
     ๒. ปุ๋ยคอก
     ๓. แกลบ

อุปกรณ์ ->

 อุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร  เช่น  มีด จอบ เสียม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเลือกต้นพันธุ์ ข้อเสนอให้เลือกต้นพันธุ์จากการเพาะเนื้อเยื่อ เพราะจะทำให้กล้วยปลอดโรคและออกลูกได้พร้อมกัน
2. การเตรียมดิน โดยการไถดะ ตากดินประมาณหนึ่งเดือน และไถแปรอีกทีตากดินทิ้งไว้ประมาณหนึ่งเดือน
3. ระยะปลูกกล้วยที่เหมาะสมคือ  ๓ x ๓  เมตร และควรขุดหลุม 50x50x50 เซ็นติเมตร เพราะรัศมีของรากกล้วยจะหากินไม่เกิน 50 เซ็นติเมตร  การขุดหลุมขนาดนี้จะทำให้รากกล้วยหากินได้ไกลขึ้น และความลึกของหลุมจะแก้ปัญหาการขึ้นโคนหรือโคนลอย โดยการปลูกครั้งหนึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้ 4-5 ปี  ถ้าขุดหลุมขนาดเล็กและตื้นกว่านี้ จะให้ผลผลิตแค่ปีสองปีก็ต้องรื้อปลูกใหม่
๔.ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกผสมดินประมาณหลุมละ 2 กิโลกรัม รองหนาขึ้นมาประมาณ  30  เซ็นติเมตร แล้วจึงปลูกต้นกล้วยและกลบบริเวณโคนต้นให้แน่น ทำแอ่งดินรอบต้นเพื่อเก็บน้ำรักษาความชื้นของดิน และควรรองก้นหลุมด้วยฟูราดานป้องกันหนอนกอกล้วยประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อหลุม
๕ .ปลูกเสร็จให้รดน้ำทันทีให้ชุ่มชื้นพอเพียง ไม่เช่นนั้นต้นจะเหี่ยวเฉา ใบแห้งและยุบตัว บางต้นตาย บางต้นแตกต้นใหม่ขึ้นแทนทำให้อายุต้นไม่สม่ำเสมอกัน
๖.ในระยะเดือนแรกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และดินต้องชุ่มชื้นเพียงพอ เป็นเดือนที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก  หากเป็นการให้น้ำแบบฝอยหรือมินิสปริงเกลอร์ จะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็ว สามารถสร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดี โอกาสรอดสูงกว่าการลากสายยางรดน้ำ และเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15  หรือ  16-16-16 ประมาณ  100-150 กรัม ต่อต้น  หลังปลูกได้  1 เดือน  และเดือนที่ 2  ส่วนเดือนที่ 3 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน
๗.. เดือนที่ 2 และ 3 ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด ปัญหาคือหญ้าขึ้นคลุมต้น ต้องถากหญ้าบริเวณโคนต้นออกให้หมด
๘. เดือนที่ 4 การเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งความสูงและรอบวงต้นใกล้เคียงปลูกจากหน่อพันธุ์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดต้นปลูกเริ่มแรก ถ้าสูง 15 เซนติเมตร ขึ้นไป จะโตทันกัน ถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ต้นรอดตายทั้งหมด การดูแลทำเช่นเดียวกับการปลูกด้วยหน่อ โดยให้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้นในเดือนที่ 4 และ 5 ส่วนเดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนและงดใส่ปุ๋ยจนกว่าจะแทงปลี ถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้ง จนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยวถึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่
๙  ในช่วง  1-6  เดือนหลังปลูกให้ปาดหน่อที่โผล่ออกมาทิ้งไป พอหลังจากอายุ  6 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 1  พอหน่อที่ 1 อายุ 3 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 2 หลังจากนั้นทุกๆ 3 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 3 และ 4, 5 ตาม โดยหน่อที่ขึ้นมาในช่วงที่ไม่ได้กำหนดให้ปาดทิ้งทั้งหมด ปรากฏว่า เมื่อจะไว้หน่อที่ 5 ต้นแม่ก็สามารถเก็บเกี่ยวเครือกล้วยได้แล้ว ฉะนั้นจะกลายว่ากอนั้นมีต้นกล้วย 4 ต้น ที่อายุห่างกัน 3 เดือน โดยมีหน่อที่ 1 ที่อายุห่าง 6 เดือน ดังนั้น เมื่อใช้ระบบนี้ต่อไปหลายๆ ปีจะทำให้กล้วยน้ำว้าในแปลงมีอายุห่าง 3 เดือน” ซึ่งวิธีการนี้ ทำให้สามารถมีผลผลิตกล้วยน้ำว้าจำหน่ายให้กับพ่อค้าได้ตลอดทั้งปีและสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้เพราะไม่ได้ตัดขายทั้งแปลง
๑๐ .เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 9 กล้วยจะเริ่มแทงปลี การแทงปลีหรือตกเครือจะเร็วหรือช้ากว่าหน่อพันธุ์ ขึ้นอยู่กับขนาดลำต้นปลูกเริ่มแรกและการดูแลรักษา อายุเครือกล้วยจากการแทงปลีจนกระทั่งเก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ  4  เดือน

ข้อพึงระวัง ->

ต้องหมั่นดูแลสม่ำเสมอ เพราะกล้วยเป็นพืชชอบน้ำแต่อย่าให้ชื้นมาก อาจเกิดเชื้อราได้  จึงต้องเปิดรอบโคนต้นให้ถูกแสงแดด  และหมั่นดายหญ้าออกจากโคนต้นอยู่เสมอ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา