ความรู้สัมมาชีพชุมชน

นวดแผนโบราณ

โดย : นายเทียบ ขันติวงศ์ วันที่ : 2017-03-24-18:03:21

ที่อยู่ : 51 หมู่ที่ 2 ตำบลตาโกน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การนวดไทยเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่มีมาแต่โบราณ เกิดจากสัญชาตญาณเบื้องต้นของการอยู่รอด เมื่อมีอาการปวดเมื่อยหรือเจ็บป่วยตนเองหรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงมักจะลูบไล้บีบนวดบริเวณดังกล่าว ทำให้อาการปวดเมื่อยลดลง เริ่มแรกๆ ก็เป็นไปโดยมิได้ตั้งใจ ต่อมาเริ่มสังเกตเห็นผลของการบีบนวดในบางจุด หรือบางวิธีที่ได้ผลจึงเก็บไว้เป็นประสบการณ์ และกลายเป็นความรู้ที่สืบทอดกันต่อๆ มา จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ความรู้ที่ได้จึงสะสมจากลักษณะง่ายๆ ไปสู่ความสลับซับซ้อน จนสามารถสร้างเป็นทฤษฎีการนวด จึงกลายมาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีบทบาทบำบัดรักษาอาการและโรคบางอย่าง

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อสร้างอาชีพเสริม

2.เพื่อเพิ่มรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการนวดแผนโบราณขั้นพื้นฐาน-นวดเอวและหลัง

ท่าที่ 1 "ลูบข้างลำตัว"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลัง

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อยผู้นวดใช้มือทั้งสองข้างวางไว้ข้างลำตัวของผู้ถูกนวดบริเวณช่วงเอว ให้นิ้วทั้งสี่อยู่ด้านข้างลำตัว นิ้วหัวแม่มือวางบนแผ่นหลัง ลูบจากเอว ขึ้นไปจนถึงใต้รักแร้ ลูบขึ้นไปอย่างช้า ๆ ออกแรงกดที่มือทั้งสองข้าง ทำสลับไปมาแล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

 

ท่าที่ 2 "ลูบแนวกระดูกสันหลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลัง

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดใช้มือทั้งสองข้างวางลงบนกระดูกสันหลังของผู้ถูกนวดบริเวณก้นกบ ใช้ปลายนิ้วทั้งสี่ (นิ้วหัวแม่มือ) สัมผัสกับส่วนที่นวด ลูบจากก้นกบ ขึ้นไปจนถึงท้ายทอย ลูบขึ้นไปอย่างช้า ๆ ออกแรงกดที่ปลายนิ้วทั้งสี่ทั้งสองข้าง ทำสลับไปมาแล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 3 "ลูบกล้ามเนื้อหลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลัง

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดใช้มือทั้งสองข้างวางลงบนหลังของผู้ถูกนวดบริเวณท้ายทอย ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ใกล้กับแนวกระดูกสันหลังห่างออกมาเล็กน้อย นิ้วทั้วสี่อยู่กลางหลังนิ้วชิดกัน ลูบจากท้ายทอยลงไปจนถึงก้นกบ ลูบลงไปอย่างช้า ๆ ออกแรงกดที่มือทั้งสองข้าง ทำสลับไปมาแล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 4 "คลึงกล้ามเนื้อหลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลัง

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดกางมือทั้งสองข้างออกให้กว้างที่สุด แล้ววางลงบนท้ายทอย ใช้นิ้วหัวแม่มือคลึงจากท้ายทอยลงมาตามแนวกล้ามเนื้อหลังจนถึงก้นกบให้กดน้ำหนักลงที่นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้าง คลึงจากท้ายทอยลงไปจนถึงก้นกบ คลึงลงไปอย่างช้า ๆ  ทำสลับไปมาจากท้ายทอยลงไปจนถึงก้นกบแล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 5 "คลึงแนวกระดูกสันหลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ-หลัง ลดอาการเคล็ดขัดยอกจากการนอนตกหมอน

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดใช้มือทั้งสองข้างวางลงบนท้ายทอย ให้มือทั้งสองตั้งขึ้นนิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน ใช้มือทั้งสองคลึงจากท้ายทอยลงมาตามแนวกระดูกสันหลังจนถึงก้นกบให้ออกแรงกดโดยเหยียดข้อศอกให้ตรง เมื่อถึงก้นกบให้ลดแรงกด คลึงลงไปอย่างช้า ๆ  ทำสลับไปมาจากท้ายทอยลงไปจนถึงก้นกบแล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

 

ท่าที่ 6 "แยกกล้ามเนื้อหลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งสองข้างของกระดูกสันหลัง

ช่วยยึดกล้ามเนื้อและผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลัง

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดวางนิ้วมือทั้งสี่ให้อยู่ที่เอวด้านซ้ายใกล้กระดูกสันหลังบีบกล้ามเนื้อบริเวณเอว โดยใช้นิ้วหัวแม่มือบีบเข้าหานิ้วทั้งสี่ บีบกล้ามเนื้อจากเอวมาจนถึงท้ายทอยตามแนวกระดูกสันหลัง ทำสลับไปมาจากเอวจนไปถึงท้ายทอยแล้วจึงเปลี่ยนไปบีบเอวด้านขวา ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 7 "บิดกล้ามเนื้อปีก"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไหล่และหลัง 

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดวางมือทั้งสองข้างบนกล้ามเนื้อปีกด้านซ้าย โดยให้นิ้วทั้งสี่อยู่ด้านบน นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านล่าง บีบแรง ๆ แล้วบิดกล้ามเนื้อขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วคลายทำสลับกันไป แล้วจึงเปลี่ยนไปบิดกล้ามเนื้อปีกด้านขวาต่อไป ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 8 "ลูบเอว"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณเอวและหลัง  

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดใช้เนินฝ่ามือวางไขว้ให้ข้อมือหันเข้าหากันแล้ววางลงบนสะบักของผู้ถูกนวด ออกแรงกดแล้วลูบไปด้านตรงข้าม กดแล้วลูบกลับมาตำแหน่งเดิม ทำไล่ตั้งแต่บริเวณเอวจนถึงใต้รักแร้ สลับไปมาแล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 9 "บิดเอว"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณท้องและช่วยลดไขมันบริเวณเอว 

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดวางมือทั้งสองข้างลงบนเอวด้านขวาของผู้ถูกนวด โดยให้นิ้วทั้งสี่แยกออกจากนิ้วหัวแม่มือ บีบกล้ามเนื้อบริเวณเอวให้แน่นแล้วบิดกล้ามเนื้อเอวไปมา โดยเริ่มบิดจากส่วนเอวจนถึงสะโพก บิดแล้วคลายทำสลับกันไป แล้วจึงเปลี่ยนไปบิดเอวด้านซ้ายต่อไป ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 10 "ดัดสะโพก"

ช่วยยืดกล้ามเนื้อและผ่อนคลายกล้ามเนื้อสะโพก 

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดใช้มือซ้ายกดลงที่กระดูกสันหลังด้านล่างเอวเล็กน้อย มือขวาจับขาซ้ายของผู้ถูกนวดบริเวณเหนือหัวเข่าเล็กน้อย ให้ขาซ้ายของผู้ถูกนวดพาดลงบนข้อศอกขวาของผู้นวด ให้ดึงต้นขาของผู้ถูกนวดให้เหยียดไปทางด้านหลังและมือซ้ายกดลงที่กระดูกสันหลังด้านล่างเอว โดยให้ขาชี้ขึ้นจนลำตัวช่วงหลังแอ่นขึ้น โดยเริ่มดัดเบา ๆ ก่อนแล้วจึงค่อนเพิ่มแรงดัด ดัดแล้วคลายทำสลับไปมา แล้วจึงเปลี่ยนไปดัดสะโพกด้านขวาต่อไป ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 11 "สับหลังแนวกระดูกสันหลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณหลัง 

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดใช้มือทั้งสองข้างวางลงบนท้ายทอย ให้มือทั้งสิงตั้งขึ้น นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน สันมือด้านนิ้วก้อยสัมผัสกับส่วนที่นวด สับมือทั้งสองข้างสลับกันไป จากท้ายทอยมาที่ไหล่ แล้วย้อนมาที่กลางหลังและให้สับลงมาตามแนวกระดูกสันหลังจนถึงก้นกบ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 12 "สับหลังแนวขวางกระดูกสันหลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณหลัง 

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดใช้มือทั้งสองข้างวางลงบนท้ายทอย ให้มือทั้งสิงตั้งขึ้น นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน สันมือด้านนิ้วก้อยสัมผัสกับส่วนที่นวด สับมือทั้งสองข้างสลับกันไป จากก้นกบมาจนถึงท้ายทอยโดยสับขวางแนวกระดูกสันหลัง แล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

ท่าที่ 13 "ปรบมือที่หลัง"

ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณหลัง 

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนคว่ำหน้าราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนรองใต้หน้าอก กางแขนออกเล็กน้อย ผู้นวดวางมือทั้งสองข้างลงบนไหล่ของผู้ถูกนวด โดยทำมือเป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิด ให้นิ้วทั้งสี่วางชิดกันกับนิ้วหัวแม่มือ ปรบมือบริเวณไหล่ผ่านหลังไปจนถึงก้นกบ ปรบมือสลับไปมา เวลาปรบจะมีเสียงเหมือนเสียงปรบมือ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นท่าต่อไป

 

ท่าที่ 14 "ยืดและดึงหลัง"

ช่วยยืดกล้ามเนื้อและผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังและสะโพก 

• วิธีการนวด ให้ผู้ถูกนวดนอนหงายราบกับพื้นหรือที่นอน ใช้หมอนหนุนรองศีรษะ วางแขนของผู้ถูกนวดขนานกับลำตัว ผู้นวดจับขาทั้งสองข้างของผู้ถูกนวด งอและพับขึ้นมาวางที่บนลำตัวดันเข่าให้ชิดกันมากที่สุด โดยเริ่มกดเบา ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มแรงกด กดแล้วคลายทำสลับไปมาสักครู่

ข้อพึงระวัง ->

  • ในกรณีที่นวดท้อง  ไม่ควรนวดผู้ที่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ  (ไม่เกิน  30  นาที)
  • ไม่นวดอย่างรุนแรงหรือนานเกินไป เพราะอาจเกิดการอักเสบ ฟกซ้ำมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่ค่อยมีกล้ามเนื้อ  เช่น หน้าหู ใกล้กระดูกไหปลาร้า รักแร้ เป็นต้น
  • กรณีผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องระมัดระวังในการนวด ในกรณีเป็นความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดแดงที่ท้องเป็นกระเปาะ ไม่ควรกดท้อง เพราะเสี่ยงต่อการทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ท้องปริตกจนมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้
  • ไม่ควรนวดผู้ที่มีอาการอักเสบติดเชื้อคือ มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวด บวม แดง ร้อน
  • ไม่ควรนวดผู้ที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุใหม่ ๆ ควรได้รับการช่วยเหลือข้างต้น และตรวจวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ  หากเกินความสามารถควรประสานความร่วมมือกับแพทย์แผนปัจจุบัน
  • หากมีการดัดหรือดึงร่วมด้วยจะต้องระวังมาก การดัดหรือดึงที่คออาจทำให้กระดูกคอทับเส้นประสาทได้ การดัดหลังอย่างรุนแรงอาจทำให้มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ ซึ่งหากมีเส้นประสาทอยู่ใกล้จะได้รับอันตรายไปด้วย
  • การเปิดปิดประตูลมไม่ควรกดนานกว่า 45 วินาที และอย่าใช้แรงกดมากเกินไป เพราะอาจทำให้หลอดเลือดช้ำอักเสบ รวมทั้งเส้นประสาทขาดเลือดไปเลี้ยงนานเกินไป ทำให้เกิดอาการชา

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา