ความรู้สัมมาชีพชุมชน

สานแห

โดย : นางดา รินคำ วันที่ : 2017-07-19-16:03:36

ที่อยู่ : 66 ม. 7 ต.สบป้าด

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

แห เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ถักเป็นตาข่ายใช้ทอดแผ่ลงในน้ำ แล้วต้องดึงขึ้นมา เพื่อการยังชีพ หรือประกอบอาชีพของคนชั้นล่างของสังคมที่กล่าวเช่นนี้ เพราะยังไม่เคยเห็นคนชั้นสูงหรือคนชั้นกลางใช้แหเพื่อหาปลาเป็นอาหาร หรือ หาปลาเพื่อการจำหน่ายเป็นประจำ แต่จะเป็นครั้งคราวของบุคคลชั้นดังกล่าวเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลินในยามว่างหรืออาจจะที่บางคน อดีตเคยเป็นชาวบ้านธรรมดาอยู่ตามชนบท ตอนหลังอพยพเข้าสู่ตัวเมืองและเปลี่ยนอาชีพในสังคมเมือง ฐานะดีขึ้น ดังนั้น แหจึงถือเป็นเครื่องมือเพื่อการยังชีพของชาวบ้านฐานะชั้นล่าง หมายถึง ใช้จับปลาเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันและจำหน่ายของชาวบ้าน แหถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่แท้จริง เนื่องจากมีการสืบทอดวิธีการทำแหจากบรรพบุรุษนับมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

          บ้านแม่เกี๋ยง นิยมสานแหเป็นอาชีพเสริมหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้มีรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน และ เมื่อมีโครงการสัมมาชีพชุมชนได้เข้าสนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพสานแหทำให้มีรายได้เพิ่มและสามารถต่อรองราคาจากพ่อค้าคนกลางได้ จึงจัดทำโครงการสานแห

วัตถุประสงค์ ->

         ๑. เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้มากขึ้น

          ๒. เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีแก่คนในชุมชน

          ๓. เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

          ๔. เพื่อเป็นการพัฒนาฝีมือในการทอแหให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

๑.ชนุน(กิม มีลักษณะเป็นไม่ไผ่แบนหนาประมาณ 3-4 ม.ม. กว้าง ๑ นิ้ว ยาง ๘ นิ้ว

หัวแหลมมนประมาณ ๑ ใน ๓ ส่วนของความยาวเจาะทะลุยาวตามส่วน ๑ ใน ๓ มีเดือยตรงกลาง ส่วนท้ายใช้มีดควงให้เป็นตัวยู)

๒.ไม้ไผ่ หรือ ปาน (มีลักษณะการเหลาไม่ไผ่คล้ายไม้บรรทัดยาว ๕-๖ นิ้ว หนาประมาณ ๒-๓ ม.ม. ความกว้างขึ้นอยู่กับตาของแหที่ต้องการ

๓.สีย้อมแห หรือไม่ใช้ก็ได้

อุปกรณ์ ->

1. ด้ายไนลอนสีขาว              

2. ด้ายสานแห หรือ เอ็นสานแห

3.กรรไกร

4.ลูกแห หรือ ลูกโซ่ตะกั่ว

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๑. เริ่มจับแหส่วนบนเรียกว่า จอมแห ไปแขวนให้สูงบริเวณตะปูตามผนังข้างบ้าน ต้นเสา

๒. ก่อจอมแห โดย ตีตะปู 2 ตัวระยะห่างแล้วแต่ความต้องการขนาดของจอมแห แล้วใช้ด้ายพันรอบตะปู ๙ รอบ ผูกหรือมัดไว้ให้แน่น จากนั้นถัก เพื่อความแข็งแรงสวยงามให้เว้นปลายทั้ง ๒ ข้างประมาณข้างละ ๓ ซม. แล้วก็พับครึ่งให้เท่าๆกันมัดไว้ให้แน่น

ถักเพิ่มเพื่อแยกตาแหให้เรียงรอบจอมทั้งหมด 16 ตา

๓.ใช้ชนุนร้อยเชือกไนลอนที่เตรียมไว้ เริ่มถักโดยใช้ไม้กระดานรองเพื่อให้แต่ละช่องตาข่ายมีขนาดเท่ากัน และดึงขณะที่ถักเพื่อให้ตึงตาข่ายจะได้เสมอกัน ขนาดเท่ากัน ถักไปเรื่อยๆตามความยาวของขนาดแห

ดังกล่าวโดยจะขมปมแบบบ่วงสายธนูดังนี้

๑. ใช้ปาน(ไม้ไผ่)สอดเทียบกับตาแห

๒. ดึงด้ายสานแหไว้

๓. ใช้ปลายกิมหรือชนุนเสยด้านสานแหขึ้น แล้วตวัดลงด้านล่าง จะเห็นเป็นห่วง

๔. ใช้ปลายกิมเกี่ยวกับเส้นด้ายสานแหผ่ากลางห่วง

๕. ดึงให้รอดออกไป ใช้นิ้วนางหรือก้อยขึงไว้ ทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ

๔. สานแหได้ตามความต้องการที่ปลายแหให้ร้อยลูกแหด้วยลูกโซ่ตะกั่วเพื่อถ่วงน้ำหนักของแห

๕. ย้อมสีแหจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ เปลือกไม้ประดู่มาต้มเคี่ยวให้แห้ง เอาแหแช่ไว้ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมงแล้วนำเอามาออกตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปแช่น้ำโคลนประมาณ ๑-๓ ชั่วโมง และ ผลตะโกดำ โดยตำให้ละเอียดแล้วหมักน้ำตะโกทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นเอาแหมาตากแห้ง จากนั้นนำแหมาหมักโคลนต่อเพื่อให้สีติดทนนานยืดอายุการใช้งานนาน

๖. การถวงแห ทำโดยนำแหที่ตากแห้งแล้วมาถ่วงน้ำหนักบรรจุน้ำจนเต็ม ด้วยการนำไหใส่ในตัวแหแล้วมัดตีนแหให้จอมมัดกับขอหรือกิ่งไม้ ทิ้งไว้ข้ามคืนโดยประมาณ จากนั้นก็นำแหไปใช้งานได้เลย

ข้อพึงระวัง ->

การสานแหต้องใช้ความชำนาญฉะนั้นต้องฝึกฝนทักษะให้เข้าใจจึงจะสามารถมีแหได้

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดลำปาง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา