ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การสานข้อง

โดย : นายสมนึก คุณหวัง วันที่ : 2017-07-24-10:35:39

ที่อยู่ : 130 ม.11 ต.พิชัย

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

          ข้อง  เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยผิวไม้ไผ่ ปากแคบอย่างคอหม้อ มีฝาปิดเปิดได้ เรียกว่า ฝาข้อง ฝาข้องมีชนิดที่ทำด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้เรียกว่า งาแซง ข้องใช้สำหรับใส่ ปลาปู กุ้ง หอย กบ เขียด  ถ้ามีขนาดใหญ่เรียกว่า “ข้องหลวง” ถ้ามีรูปทรงแนวนอนเรียกว่า “ข้องเป็ด”

          การใช้งาน ใช้ใส่ปลา กุ้ง หอย ทุกชนิด ใช้ในเวลาที่ออกหาปลา โดยผูกข้องไว้ที่เอว ถ้าจับปลาที่มีขนาดใหญ่นิยมใช้ข้องเป็ด เพราะปลาไม่ต้องงอตัวอยู่ในข้อง ปลาจะนอนตามความยาวของตัวข้อง จะทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้นาน ถ้าขังปลาด้วยข้องเป็ดแล้วนำไปแช่น้ำที่ไหล ยิ่งจะทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้หลายวัน

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อสานไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน ลดค่าใช้จ่าย

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ไม้ไผ่

อุปกรณ์ ->

-ไม้ไผ่

- มีด

- หวาย (ถ้ามี)

กระบวนการ/ขั้นตอน->

          ขั้นตอนการทำ

          1) จักตอกไม้ไผ่เป็น 2 ขนาด ขนาดที่ 1 ความกว้างประมาณ 0.5 มม. ขนาดที่ 2 ความกว้างประมาณ 0.3 มม. มีข้องตัวแม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปอยู่ข้างใน

          2) เริ่มก่อส่วนก้นใช้ตอกขนาด 0.5 มม. เป็นตอกตัวยืน ใช้ตอกขนาด 0.3 มม. เป็นตอกตัวขวาง สานด้วยลายทาน

          3) เมื่อสานก้นได้ขนาดตามแม่พิมพ์แล้ว จึงพับตอกขึ้นเพื่อสานส่วนลำตัวของข้อง

          4) เมื่อสานขึ้นไปถึงบ่าจะขึ้นเป็นส่วนคอที่ต้องให้คอดกิ่วเข้าไป ให้ถอดแม่พิมพ์ออกก่อนแล้วจึงพับตอกตัวยืนเข้าไปพร้อมกับสานตอกตัวขวางให้รัดคอดเข้าไป

          5) เมื่อได้คอที่คอดกิ่วแล้วให้กลับตอกออกมาให้ปากผายออก แล้วจึงพับตอกที่ปากเพื่อเก็บตอกตัวยืนเสียบซ่อนไว้กับตอกตัวขวางที่ปาก

          6) ที่บ่าข้องใช้หวายทำเป็นหูสำหรับสอดสายผูกเอว

          7) หลังจากนั้นจึงสานงาเพื่อเป็นฝาปิด เริ่มจากการใช้ตอกที่แข็งขดเป็นวงกลมให้เข้าไปในขอบปากของตัวข้อง แล้วจึงใช้ตอกพับกับขอบปากที่เป็นวงกลมนั้นโดยให้ปลายของตอกสอบเข้าหากัน เวลาที่ปิดตอกจะลงลึกไปในตัวของข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่อยู่ในข้องออกมาได้

          8) ถ้าเป็นข้องเป็ดซึ่งเป็นแนวนอน จะเริ่มสานส่วนซ้ายหรือส่วนขวาด้านใดด้านหนึ่งก่อน แล้วพับตอกสานไปตามนอน โดยด้านบนสานให้เป็นตาๆ จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ในข้องได้ เมื่อถึงอีกด้านหนึ่งให้พับตอกขึ้นแล้วสานเป็นส่วนคอและปาก ส่วนฝาปิดทำเช่นเดียวกับฝาข้องธรรมดา

ข้อพึงระวัง ->

          การสาน

          การสาน เป็นขั้นตอนที่ยากและต้องใช้ความละเอียดมากที่สุด เริ่มจากการก่อฐานด้านล่างด้วยเส้นตอกสองชนิด คือ ตอกยืน (ตอก-ตั้ง) และตอกนอน (ตอกสาน) ที่มีขนาดกว้างไม่เท่ากัน  สาเหตุเหตุที่ตอกมีขนาดไม่เท่ากัน เนื่องมาจากเมื่อสานเสร็จจะได้ข้องที่มีฐานใหญ่ และมีคอที่คอดกิ่ว

          การรมควัน

          เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสานเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สวยงาม แก่เครื่องจักสานด้วย   ในส่วนที่ต้องการเสริมเป็นพิเศษได้แก่  ปาก ขา หู การผูกและพันด้วยหวาย  จะเสริมให้เครื่องจักสานเกิดความแข็งแรงสวยงาม

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดลำปาง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา