ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกผักปลอดสาร

โดย : นางสมจิตต์ กาตาสาย วันที่ : 2017-06-13-10:49:33

ที่อยู่ : 172 ม.5 ต.พิชัย

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

นางสมจิตต์  กาตาสาย  เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2505 ปัจจุบันอายุ 55 ปี ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นผู้พัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ มีการสร้างกลุ่มสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ไขปัญหา เป็นผู้นำกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิตพืชปลอดสารพิษ เป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดเรื่องการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่คนในชุมชนมาตลอดระยะเวลากว่า 14 ปี โดยได้รับองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรจากทั้งทางภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น “ทำเกษตรด้วยหัวใจ” ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ซื่อสัตย์ในอาชีพของตนเอง ขยันหมั่นเพียร พึ่งตนเอง แบ่งปัน ชอบช่วยเหลือ และขันอาสาสังคมในทุกๆ ด้านที่ทำได้ เป็นที่รู้จัก ยอมรับของคนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ทำการเกษตรเพื่ออยู่เพื่อกิน มีกินก็มีใช้ตามอัตภาพ ยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น และยั่งยืน

วัตถุประสงค์ ->

พึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1) การเตรียมแปลงปลูก

    เนื่องจากเมล็ดพืชผักส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก มีระบบรากละเอียดอ่อน ถ้าเตรียมดินไม่ดี    ก็อาจมีผลกระทบต่อการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของพืชผักได้  ดังนั้น ก่อนการปลูกพืชจะมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสมเสียก่อน โดยการปล่อยนํ้าให้ท่วมแปลงแล้วปล่อยน้ำออก เพื่อให้นํ้าชะล้างสารเคมีและกำจัดแมลงต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน แล้วทำการไถพลิกหน้าดินตากแดดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อทำลายเชื้อโรคและแมลงศัตรูที่อาศัยอยู่ในดินอีกครั้ง จากนั้นปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้อยู่ในสภาพ ที่เป็นกลาง โดยใช้ปูนขาว  อัตรา 200-300 กิโลกรัม/ไร่ แล้วรดนํ้าตามหลังจากการใส่ปูนขาว นอกจากนี้ควรเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ในอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นพืชผักมีความแข็งแรงสามารถต้านทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้

2) การเตรียมเมล็ดพันธุ์

    ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกควรทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ก่อน ตามขั้นตอนดังนี้

    2.1 คัดแยกเมล็ดพันธุ์ โดยการคัดเมล็ดที่เสีย เมล็ดวัชพืชที่มีอยู่ปะปนและสิ่งเจือปนต่างๆ ออก

    2.2 แช่เมล็ดพันธุ์ในนํ้าอุ่น เป็นเวลาประมาณ  15-30 นาที จะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์และยังกระตุ้นการงอกของเมล็ดอีกด้วย

3) การปลูกผัก

    ก่อนปลูกใช้ผงมวลชีวภาพหรือเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวน 50 กรัม โรยในพื้นที่ปลูก  1 ตารางเมตร หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูกอัตรา 15-25 กรัมต่อต้น จะป้องกันกำจัดโรคโคนเน่ารากเน่า    ที่เกิดจากเชื้อรา

    การเลือกวิธีการปลูก ระยะปลูก ควรปลูกผักให้มีระยะห่างพอสมควร อย่าให้แน่นจนเกินไป เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี เป็นการปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการระบาดของโรค นอกจากนี้ควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ ถ้าพบว่ามีการระบาดของโรคและแมลงควรดำเนินการกำจัดโรคและแมลงที่พบทันที

    การใช้พลาสติกหรือฟางข้าวคลุมแปลงปลูกเป็นการควบคุมปริมาณวัชพืชและเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ได้นาน ทำให้ประหยัดนํ้าที่ใช้รด

4) การให้ธาตุอาหารแก่พืช

    ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดิน ให้ต้นกล้าผักที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงดี ทนต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง และทำให้ผลผลิตดกและสวยงาม

5) การดูแลรักษา

    - ให้พ่นน้ำสะเดาหมักจากเมล็ดสะเดา 700 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยนำเมล็ดสะเดาที่บดละเอียดแล้วใส่ในถุงผ้าขาวบางนำไปแช่น้ำนาน 1-2 วัน เมื่อจะใช้ยกถุงให้น้ำออกจากถุงให้หมด เพื่อให้สารที่อยู่ในสะเดาออกมาให้มากที่สุด จะช่วยป้องกันกำจัดหนอนเพลี้ยต่างๆ และผสมน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ อัตรา 70-80 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร จะป้องกันกำจัดโรคใบจุดใบไหม้ผลเน่าของพืชผักหลายชนิด  โดยพ่นทุก 5-7 วัน

    - กำจัดวัชพืชและดูแลแปลงปลูกให้สะอาดอยู่เสมอ

    - เมื่อเห็นมีแมลงบางชนิดหลงเหลืออยู่ก็ให้ใช้วิธีจับมาทำลาย หรือตัดแต่งกิ่งหรือใบพืชที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทิ้งเสีย ก็จะช่วยลดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชลงได้

    - ไม่ควรปลูกพืชซ้ำที่ ควรหมุนเวียนพืชที่จะปลูกในแต่ละครั้ง

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดลำปาง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา