ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

สานหมวกด้วยตอกไม้ไผ่

โดย : นางสาวสุดารัตน์ จี๋บุญมี วันที่ : 2017-04-14-11:18:34

ที่อยู่ : 192 ม.3 ต.ไหล่หิน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

พ่อแม่เป็นคนตำบลไหล่หิน  แต่ย้ายไปอยู่ต่างถิ่น  ตอนนี้พ่อและแม่เสียชีวิตแล้ว  ดิฉันกลับมาอยู่บ้านเกิดของพ่อและแม่  ก่อนหน้านี้อยู่คลองหลวง  จ.ปทุมธานี  ค้าขายไปเรื่อย ๆ  ได้ไปเห็นชาวบ้านตามถิ่นต่าง ๆ บางคนอายุมากแล้วดูแลหลาน  และทำอาชีพหลายๆอย่าง  บางคนก็สานหมวก  เย็บถุงมือ  เย็บถุงเท้า  บางคนก็ทำเป็นอาชีพ  เป็นงานที่ทำอยู่กับบ้าน  ได้ทำงานบ้านไปด้วยไม่ต้องเสียเวลาออกไปทำงานนอกบ้าน

วัตถุประสงค์ ->

อยากทำเป็นกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่  9  พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย

          ดิฉัน  นางสาวสุดารัตน์  จี๋บุญมี  จะเป็นผู้ริเริ่มคิดและทำให้ชุมชนบ้านแม่ฮวกมีรายได้เสริมจากการทำนาเป็นหลัก  หลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วก็ไม่ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่น  ชุมชนก็ไม่เงียบเหงา  ไม่ทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง  ได้พัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง  น่าอยู่  ชุมชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนและได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุไม่เป็นโรคซึมเศร้า ถ้าครอบครัวต่างตนต่างออกไปทำงานต่างถิ่น

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ตอกไม้ไผ่

2. ด้าย

3. ผ้าสำหรับทำขอบและโบ

4. เชือก

อุปกรณ์ ->

1. จักรเย็บผ้า

2. กรรไกร

3.เครื่องรีดตอกที่สานแล้ว

4. เครื่องรีดตอก

5. อ่างสำหรับแช่เส้นตอก

6. บล็อคสำหรับเย็บหมวก

กระบวนการ/ขั้นตอน->

          เริ่มจากการพูดคุยกับผู้มีรายได้น้อย  แสดงความคิดเห็น  วัตถุประสงค์  และรวมกลุ่มกันทำอาชีพจักสานหมวกด้วยไม้ไผ่  ซึ่งเป็นวัสดุหาได้ง่ายราคาไม่แพง  จากนั้นแบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดของสมาชิกแต่ละคน  เช่น  การคัดเลือกขนาดเส้นของตอก  การเหลาตอกให้อ่อนนุ่ม  การสาน  การรีด  การเย็บ  และการตรวจสอบความเรียบร้อย  การดำเนินงานมีขั้นตอนดังนี้

          1. จักตอกไม้ไผ่ให้บาง ๆ  ขนาดหนา  1 มิลลิเมตร  ยาว  60 เซนติเมตร  ขูดผิวไม้ออกให้หมด

          2. นำเส้นตอกไปแช่ในน้ำซาวข้าว  1 คืน  แล้วผึ่งให้แห้งเพื่อป้องกันการเป็นมอด

          3. นำตอกไม้ไผ่มาสานให้ได้  7 เส้น  สานให้ได้ความยาว  12  เมตร ซึ่งก่อนจะทำการสานต้องนำตอกไปแช่น้ำให้อ่อนนุ่มก่อนจึงจะง่ายต่อการสาน

          4. นำตอกไม้ไผ่ที่สานเรียบร้อยแล้วมารีดด้วยเครื่องให้เรียบ

          5. นำมาเย็บประกอบเป็นรูปหมวก  เย็บขอบหมวกด้วยผ้า

          6. ตอกตาไก่  ร้อยเชือกสำหรับผูกหมวก  และติดโบเพื่อความสวยงาม

ข้อพึงระวัง ->

          รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  จะต้องมีการพูดคุยกันทุกสัปดาห์  ทำความเข้าใจกับกลุ่ม  ชุมชนของตนเอง  ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นที่เสนอมา  ทำการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า  และจะต้องพัฒนาฝีมือและรูปแบบสินค้าให้มีความหลากหลาย  ทันสมัย  เพื่อเข้าไปสู่ระบบการแข่งขัน

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดลำปาง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา