ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทำบายศรี

โดย : นายบุญส่ง ธานีวรรณ วันที่ : 2017-03-30-16:15:02

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 51 บ้านเชียงขวัญ ม.10 ต.เชียงขวัญ อ.เชียงขวัย จ.ร้อยเอ็ด

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

พิธีสู่ขวัญ  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พิธีบายศรีสู่ขวัญ" เป็นพิธีเก่าแก่ของชาวไทยแทบทุกภาค การทำพิธีอาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักใหญ่ ๆ ยังคงเหมือนกัน ซึ่งพิธีสู่ขวัญนี้จะทำกันได้ในทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี พิธีสู่ขวัญจึงเป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญ ตามความเชื่อที่ว่าคนเราเมื่อเกิดมาในโลกจะมี "ขวัญ" ประจำกายคอยช่วยพิทักษ์รักษาเจ้าของขวัญให้มีความสวัสดี ดังนั้น พิธีสู่ขวัญจึงถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะทำพิธีเรียกขวัญให้มาสถิตอยู่กับตัว พานบายศรีจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมดังกล่าว เหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดแรงบันดาลใจในการทำพานบายศรีคือการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น การทำพานบายศรีนอกจากจะเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนได้อย่างดียิ่ง

วัตถุประสงค์ ->

1.อนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำบายศรี

2.เสริมสร้างอาชีพและรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ใบตอง

อุปกรณ์ ->

1.    ใบตอง (ควรให้ใบตองกล้วยตานี)

2.    พานแว่นฟ้า ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ผูกติดกันไว้ด้วยลวด และรองพื้นพานด้วยโฟม

3.    ภาชนะปากกว้างสำหรับใส่น้ำแช่ใบตอง 2 ใบ

4.    สารส้ม

5.    น้ำมันมะกอก ชนิดสีเหลือง หรือขาว

6.    ไม้ปลายแหลม (ขนาดไม้เสียบลูกชิ้น) ประมาณ 20-30 อัน

7.    ดอกไม้ (ดอกพุด ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ)

8.    กรรไกร สำหรับตัดใบตอง

9.    ลวดเย็บกระดาษ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

          1. การน้ำริ้ว มาประกอบกับพาน ควรเริ่มต้นจากพานใหญ่สุด หรือพานที่วางอยู่ชั้นล่างสุดก่อน โดยการวางให้ริ้วอยู่บนพานให้มีระยะห่างเท่าๆกัน 4 ริ้ว       ( 4 ทิศ ) ซึ่งจะยึดริ้วติดกับพานโดยใช้ไม้ปลายแหลมที่เตรียมไว้แล้ว มากลัด หรือเสียบจากด้านบนของริ้วให้ทะลุไปยึดติดกับโฟมที่รองไว้บนพื้นพาน

          2. การประกอบริ้วกับพานชั้นกลาง และชั้นบนสุด ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่จะต้องให้ริ้วชั้นที่ 2 วางสลับกับริ้วชั้นแรก และริ้วบนพานชั้นบนสุด ก็ให้สลับกับริ้วบนพานชั้นกลาง

          3. การประกอบริ้วกับพานชั้นบนสุด ให้ห่อใบตองเป็นกรวยขนาดใหญ่พอควรวางไว้เป็นแกนกลางของพาน เมื่อวางริ้วทั้ง 4 ริ้วเสร็จแล้ว ให้รวบปลายสุดของริ้วทั้ง 4 เข้าหากัน โดยมีกรวยที่ทำเป็นแกนกลางอยู่ด้านใน แล้วนำใบตองม้วนเป็นกรวยขนาดใหญ่อีกกรวย มาครอบทับยอดทั้ง 4 ของริ้วไว้ ซึ่งจะทำให้พานบายศรีที่ได้ มียอดแหลมที่สวยงามและมั่นคง

          จากนั้นจึงนำใบไม้ (ส่วนใหญ่จะนำใบไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น ใบเงิน ใบทอง ) มาวางรองบนพาน เพื่อปกปิดไม่ให้มองเห็นโฟมที่รองพื้นพาน และนำดอกไม้สีสด เช่น ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกดาวเรือง มาประดับบนพานเพิ่มความสวยงามหรือทำมาลัย สวมบนยอด หรือทำเป็นอุบะร้อยรอบพานแต่ละชั้น ก็จะเพิ่มสีสัน และความสวยงามให้แก่พานบายศรีมากขึ้น

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ความขยันหมั่นเพียร  การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา การศึกษาจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ นำองค์ความรู้ใหม่ๆผนวกกับภูมิปัญญาดั้งเดิม มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการทักษะการทำบายศรี

ข้อพึงระวัง ->

เมื่อห่อริ้วจนเสร็จในแต่ละริ้วแล้ว จึงนำริ้วที่ได้ลงแช่ในน้ำผสมสารส้มที่เตรียมไว้ประมาณ 20 นาที เพื่อให้ใบตองเข้ารูปทรง อยู่ตัวตามที่ได้พับและห่อ จากนั้น จึงนำไปแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกต่อไป เพื่อให้ริ้วมีความเป็นมันวาว เน้นสีเขียวเข้มของใบตองมากขึ้น และมีกลิ่นหอมในตัวเอง

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา