ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทอผ้าพื้นเมือง(ผ้าขาวม้า)

โดย : นางวารุณี มูลมานัส วันที่ : 2017-03-25-19:19:09

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๗๙บ้านขวาว หมู่ที่ ๑๖ ตำบลขวาว

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

 ผ้าพื้นบ้าน ผ้าทอด้วยกี่หรือหูกพื้นบ้าน ตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ มักทอด้วยฝ้ายหรือไหม ผ้าพื้นบ้านหรือผ้าทอมือมีกรรมวิธีการทอต่างๆกัน เช่น ทอเรียบๆไม่มีลาย เรียกผ้าพื้น ทอเป็นลวดลายเรียก ผ้ายก ทอเป็นลวดลายด้วยการจก เรียก ผ้าจก ผ้าทอเป็นลวดลายโดยการขิด เรียก ผ้าขิด ทอเป็นลวยลายด้วยการมัดย้อม เรียก ผ้ามัดหมี่ เป็นต้น

เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้หลังจากการทำอาชีพหลักนอกฤดูการเกษตร

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

2. สร้างงาน  สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและกลุ่มสตรีในชุมชน

3.เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวหลังจากฤดูทำนา

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

 ด้ายผ้าฝ้าย
 

อุปกรณ์ ->

๑. ด้ายผ้าฝ้าย
๒. หม้อ
๓. แป้งข้าวจ้าว
๔. น้ำเปล่า
๕. เตาและถ่าน
๖. หลักเฝือ
๗. ฟืม
๘. อัก หรือตะกอปั่นด้าย และไม้คอนอัก
๙. หลา
๑๐. กง
๑๑. กระสวยและแกนกระสวย
๑๒. กี่ หรือ หูก

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๑. ออกแบบลายผ้าขาวม้า โดยทั่วไปการทอผ้าขาวม้าจะนิยมทอกันอยู่ ๒ ลาย คือ ผ้าขาวม้าตาคู่และผ้าขาวม้าตาคี่ ส่วนสีที่เป็นลายนั้นแล้วแต่ผู้ทอจะใช้
๒. เมื่อได้ลายที่ต้องการแล้วก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมด้าย คือ การฆ่าฝ้าย ซึ่งเป็นการทำให้เส้นด้ายที่ทำจากฝ้ายไม่เป็นขนและทำให้เส้นด้ายแข็งขึ้น ซึ่งจะทำให้เส้นด้ายไม่พันกัน การฆ่าฝ้ายมีขั้นตอนคือ เริ่มจากนำน้ำใส่ในหม้อที่เตรียมไว้ประมาณ ๕ ลิตร ต่อแป้งข้าวเจ้า ๑ กิโลกรัม ในอดีตจะใช้ข้าวจ้าวแต่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกจึงใช้แป้งข้าวจ้าวแทน จากนั้นต้มโดยคนให้เข้ากันจนแป้งละลายและนำมาพักไว้ให้เย็น เมื่อน้ำต้มแป้งเย็นแล้วจึงนำด้ายมาแช่และต้องขยำด้ายเพื่อให้แป้งเข้าเคลือบเส้นด้ายทั่วถึงทุกเส้น แช่ทิ้งไว้สักพักจึงนำด้ายไปผึ่งให้แห้งโดยผึ่งในที่ร่มหรือกลางแดดก็ได้ ขั้นตอนการผึ่งนั้นให้ผึ่งกับราวไม้ไผ่เพราะต้องนำด้ายมาสอดกับราวแล้วสะบัดด้ายเพื่อให้ด้ายแตกจากกัน และมีเส้นที่ตรงไม่บิดงอ
๓. ขั้นตอนการเตรียมด้าย นำด้ายที่ผึ่งจนแห้งแล้วมาใส่ในกง ซึ่งกงเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ยาวประมาณ ๑ เมตร ๘ อัน และนำมาผูกโยงเข้ากันด้านละ ๔ อัน ด้วยเชือกและมีแกนกลาง ๑ แกน เพื่อจะกวักด้ายใส่ไว้ในอัก เพื่อเป็นการเตรียมด้ายไว้ใช้ในขั้นตอนต่อไป
๔.ขั้นตอนการเตรียมเครือหรือลายยืนในภาษาอิสานเรียกว่า ค้นหูก การเตรียมลายยืนนั้นจะต้องดูว่าฟืมที่ใช่มีความกว้างเท่าใด ซึ่งถ้าเป็นภาษาอิสานฟืมจะมีหน่วยนับความกว้างเป็น หลบ ฟืมที่ใช้ทอฝ้าขาวม้าจะมีขนาดกว้างต่างกัน ตามขนาดของเส้นด้ายที่ใช้ทอ ถ้าเป็นด้านเส้นใหญ่ จะนิยมใช้ฟืม ๑๐ หลบ ถ้าเป็นด้ายเส้นเล็ก นิยมใช้ ๑๒ ถึง ๑๕ หลบ ฟืมจะมีตาหรือ รู ซึ่ง ๑ รู จะใช้เส้นด้าย ๒ เส้น คือ เส้นขึ้นและเส้นลง การขึ้นเครือจะมีวิธีการคำนวณเส้นด้ายดังนี้
๔ รูฟืม เท่ากับ ๑ ควม หรือ เท่ากับ ๘ เส้นด้าย
๑๐ ควม เท่ากับ ๑ หลบ หรือ เท่ากับ ๘๐ เส้นด้าย
ถ้าเป็นฟืม ๑๐ หลบ เท่ากับ ๑๐๐ ควม หรือ เท่ากับ ๘๐๐ เส้นด้าย
เทคนิคการนับเช่นนี้ถือว่าเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยแท้ซึ่งการการกำหนดลำดับก่อนหลังของลายผ้า สี หรือขนาดความกว้างของตาผ้าขาวม้านั้นชาวบ้านจะนับตามหน่วยข้างต้น
๕. เมื่อเตรียมด้ายลายยืนหรือค้นฮูกได้ตามขนาดความกว้างของฟืมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการในด้ายลายยืนที่เตรียมเสร็จแล้วมาเข้าฟืมหรือภาษาอิสานเรียกว่า สืบหูก ฟืมเป็นอุปกรณ์ในการทอผ้าที่มีส่วนประกอบ คือ ตัวฟืม มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีซี่หลาย ๆ ซี่ตรงกลาง และมีเขาฟืมเพื่อดึงเส้นด้ายลายยืนให้ขึ้นลงขัดกับด้ายลายพุ่งในขั้นตอนการทอ ซึ่งเขาฟืมจะมีจำนวนตามลายว่าเป็นลายด้ายยืนว่าต้องการให้เป็นลายดอกหรือลายขัดธรรมดา ถ้าเป็นลายดอกฟืมจะมี ๔ เขา ถ้าเป็นผ้าขาวม้าจะนิยมใช้ฟืม ๒ เขาซึ่งเป็นลายขัด การสืบหูก คือ การนำเครือหรือด้ายลายยืนต่อเข้ากับด้ายเก่าที่ติดมากับฟืมโดยต่อตามลำดับของลายที่ได้ค้นไว้ที่ละเส้น เมื่อต่อเสร็จครบทุกสันแล้วจึงนำไปขึ้นกี่เพื่อเตรียมทอต่อไป
๖. ต่อไปเป็นการเตรียมด้ายลายพุ่ง มีวิธีการ คือ นำด้ายสีเดียวกันกับลายยืนมาปั้นใส่หลอดของกระสวยให้ได้ขนาดของกระสวย โดยใช้หลาเป็นอุปกรณ์ในการปั่นด้ายออกจากอัก
๗. เมื่อเตรียมเครือหรือด้ายลายยืน และด้ายลายพุ่งเสร็จแล้วก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะทอด้ายจากเส้นให้เป็นผืนผ้าขาวม้า โดยการนำด้ายที่ปั้นใส่หลอดมาใส่กระสวยซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการนำด้ายลายพุ่งให้วิ่งสอดขัดกับด้ายลายยืนกลับไปกลับมาทีละเส้นทีละสีตามลายที่กำหนดไว้ไปเรื่อยๆ จนได้ความยาวตามต้องการ เป็นอันเสร็จขั้นตอน

ข้อพึงระวัง ->

การทอหรือการ ต่ำหูก ในภาษาอิสาน ต้องตึงฟืมเข้าหาตัวในน้ำหนักที่เท่ากันจึงจะทำให้ผ้าที่ออกมามีความเรียบสม่ำเสมอกัน

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา