ความรู้สัมมาชีพชุมชน

จักสานตะกร้าไม้ไผ่

โดย : นายสมาน วิอาจชัย วันที่ : 2017-03-25-19:43:00

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๕๖ บ้านขวาว หมู่ที่ ๑๕ ตำบลขวาว

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ตะกร้า หรือกะต้าสาน มีประโยชน์ในการใช้สอยเช่นเดียวกับตะกร้าภาคกลาง หรือซ้าภาคเหนือ เป็นภาชนะที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในภาคอีสาน เพราะใช้ใส่ของได้สารพัด และใช้ได้ทั้งการหิ้ว หาบ และคอน ด้วยไม้คาน รูปทรงของตะกร้า หรือกะต้า ต่างไปจากตะกร้าภาคอื่น กะต้าสานด้วยไม้ไผ่ เริ่มสานก้นก่อน ด้วยลายขัด (ลายขัดบี) ตอกคู่ แล้วค่อยๆ สานต่อขึ้นมาด้านข้างของตะกร้า ด้วยลายธรรมดาเรื่อยไปจนถึงปากของตะกร้า ซึ่งจะใช้ตอกเส้นเล็ก เพื่อความแข็งแรงทนทาน ปากหรือขอบตะกร้าจะใช้วิธีเก็บนิม โดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวตะกร้า เสร็จแล้วจะทำหูตะกร้า เพื่อใช้หิ้วหรือหาบ โดยมากจะใช้ไม้ไผ่อีกชิ้นหนึ่ง โค้งเหนือปากตะกร้า แล้วผูกปลายทั้งสองเข้ากับขอบตะกร้า ตะกร้าภาคอีสาน จะมีรูปทรงคล้ายๆ กันเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันเท่านั้น ตะกร้าชนิดนี้จะใช้ได้ทั้งแบบเป็นคู่ และใช้หิ้วเพียงใบเดียว ตั้งแต่ใช้ใส่ผัก ผลไม้ ถ่าน และสิ่งของอื่นๆ ไปจนถึงใช้เป็นเชี่ยนหมาก สำหรับใส่หมาก เรียกว่า "คุหมาก" หรือบางครั้งใช้ชันยา ทำเป็นครุหรือคุ สำหรับตักน้ำก็ได้ ชาวอีสานนิยมใช้กะต้ากันทั่วไป เพราะมีน้ำหนักเบา ทำได้ง่าย ราคาถูกกว่าภาชนะชนิดอื่น

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนให้มีรายได้เพื่อให้พอแก่การใช้จ่าย

เพื่อสร้างเวลาว่างให้เกิดประโยชย์

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้โดยการพึ่งพาตนเองและให้เกิดความยั่งยืน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ไม้ไผ่ ภายในชุมชนที่มีมากมายในหมู่บ้าน

อุปกรณ์ ->

-มีดตอก

-มีดโต้

-เลื่อยโค้ง

-เลื่อยลินดา

-ฆ้อน

-แลคเกอร์

-ทินเนอร์

-แปลงทาสี

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการทำตะกร้า

๑. ตัดไม้ไผ่แก่มาผ่าซีกและผ่าแบ่งเป็นเสี้ยวเล็ก ๆ ขนาดประมาณ ๑ ซม. และอีกส่วนหนึ่งผ่าประมาณ ๑ นิ้ว เพื่อใช้ทำขอบปากตะกร้าและมือจับ

๒. นำแต่ละชิ้นที่ผ่าไว้ ลอกใช้แต่ส่วนเปลือก โดยใช้มีดคม ๆ เหลาหรือขูดเนื้อไม้ออกและเหลือแต่ส่วนเปลือกบาง ๆ และเหนียว

๓. เริ่มต้นสานตะกร้า โดยเริ่มที่ก้นก่อน โดยใช้ส่วนที่แข็งกว่าและหนากว่าสานที่ก้น ความยาวของไม้ตามขนาดของตะกร้า เส้นที่แข็งกว่าสานขึ้นตามแนวตั้ง ความห่างเท่า ๆ กัน ส่วนเส้นไม้ไผ่ที่บาง นิ่ม สานตามขวางชั้นมาเรื่อย ๆ แน่น มีลักษณะเป็นวงกลมแต่ปากตะกร้าจะกว้างกว่าก้นตะกร้า พอได้ขนาดตามต้องการใช้ไม้ไผ่ขนาด ๑ นิ้ว ทำให้เป็นวงกลมและวางไว้ที่ขอบปากตะกร้า ใช้ไม่ไผ่ส่วนที่ตั้งขึ้น พัน หรือ บิดลงไปด้านล่าง สานลงไปประมาณ ๑ นิ้ว จนแน่นไม่หลุด ตัดเศษที่เหลือทิ้ง ตกแต่งให้สวยงาม

๔. ใส่หูหรือที่หิ้ว ซึ่งทำจากไม้ไผ่และโค้งงอได้ ใช้เชือกหรือหวายพันให้แน่น หรือใช้เชือกที่เป็นสีพันที่มือจับจนมิด นำไปใช้งานหรือขายได้

๕. หากต้องการเก็บไว้ใช้งานได้นาน ทาเล็กเกอร์เคลือบไม้ไผ่ทั้งด้านในและด้านนอก แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง

ข้อพึงระวัง ->

ต้องหาไม้ไผ่แก่เพื่อจะไม่ให้ขึ้นรา มอดไม้เจาะ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา