ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะเห็ดนางฟ้า

โดย : นางนุกูล มากภักดี วันที่ : 2017-04-16-21:33:44

ที่อยู่ : ๑/๓ หมู่ที่ ๕ ตำบลเชี่ยวเหลียง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การเพาะเห็ดนางฟ้า เป็นการสร้างรายได้ทีดีอย่างหนึ่ง  และเป็นการดำเนินตามรอยเท้าพ่อ ตามพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๙  ทำให้เกิดรายได้ในครัวเรือน และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

วัตถุประสงค์ ->

­­1.  สร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก

2.  ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 

3.  ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

-  ขี้เลื่อย                            -  ดีเกลือ                             -  รำ                      

-  ถุงพลาสติกทนร้อน               -  คอพลาสติกสำเร็จรูป             -  กากน้ำตาล            

-  แป้งข้าวเหนียว                   -  ปูนขาว                           - ยิปซั่ม                   

-  EM ขนาดบรรจุ ๒๕๐ CC       - ยางวง                             - สำลีฝ้าย

-เชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐาน

อุปกรณ์ ->

-  พลั่ว

- ถังนึ่งเชื้อแบบลูกทุ่ง

- ตะเกียงเขี่ยเชื้อ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อเพาะเห็ดนางฟ้า

วิธีการทำก้อนเห็ดนางฟ้า
                   การทำก้อนเชื้อเพาะเห็ดนางฟ้านั้นจำเป็นต้องหาวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมดังนี้ ได้แก่ขี้เลื่อยยางพาราหรือขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน แต่ในทางปฏิบัตินั้นขี้เลื่อยยางพาราจะให้ผลดีที่สุด จากนั้นก็หาส่วนผสมต่างๆเพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น และสูตรการทำก้อนเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้ามีส่วนผสมหลัก ๆดังนี้ 

- ขี้เลื่อยยางพาราแห้งสนิท 100 กิโลกรัม

-  รำละเอียด 6 – 8 กิโลกรัม

-  ข้าวโพดป่น 3 – 5 กิโลกรัม

-  ปูนยิบซัม 1 กิโลกรัม

-  หินปูนหรือผงชอล์ก 1 กิโลกรัม

-  ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม

-  น้ำ 80 กิโลกรัม

-  EM 1 ลิตร

เมื่อหาส่วนผสมมาครบแล้ว ก็ทำการตากและกองขี้เลื่อยยางพาราไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นค่อยทำการผสมโดยการเติมน้ำลงประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ทดสอบโดยการกำส่วนผสมถ้ามีน้ำซึมตามง่ามมือแสดงว่าการผสมนี้ผสมน้ำมากเกินไปแต่ถ้าเมื่อบีบแล้วขี้เลื่อยแตกเป็น 3 ก้อนแสดงว่าการผสมใช้ได้เรียกว่าพอดีแล้วแต่ถ้าว่าถ้ากำแล้วแบมือออกแล้วขี้เลื่อยจับตัวไม่เป็นก้อนแสดงว่าเติมน้ำน้อยจนเกินไป เมื่อผสมเข้ากันได้ที่แล้วก็ทำการกรอกใส่ถุงเพาะเห็ด ใส่ให้ได้น้ำหนักประมาณ 800 – 900 กรัม หลังจากนั้นก็ทำการรวบปากถุงกระทุ้งกับพื้นให้แน่นพอประมาณหลังจากนั้นก็ทำการใส่คอขวด

การหยอดเชื้อและบ่มเชื้อเห็ดนางฟ้า

เมื่อทำก้อนเชื้อเสร็จแล้ว เราก็จะนำก้อนเชื้อที่ได้ทำการหยอดเชื้อและบ่มเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าตามลำดับ โดยก่อนอื่นก้อนเชื้อที่ได้นั้นเราก็จะนำมาทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ ถ้ามีหม้อนึ่งความดันอยู่แล้วก็ให้นึ่งที่ความดัน 25 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว โดยทำการนึ่งที่ระยะเวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีหม้อนึ่งความดันอาจใช้หม้อนึ่งจากถังน้ำมัน 200 ลิตร แทนก็ได้ แต่จะต้องทำการนึ่งประมาณ 3 ครั้ง โดยทำการนึ่งที่อุณหภูมิ 100 อาศาเซลเซียส นึ่งที่ระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง และทำการนึ่งทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อผ่านขั้นตอนการนึ่งฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว เราก็จะทำการหยอดเชื้อเห็ดลงสู่ก้อนเชื้อ เชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างควรหยอดเชื้อลงประมาณ 20 – 25 เมล็ด เมื่อหยอดเชื้อลงสู่ก้อนเชื้อเห็ดเสร็จแล้ว ให้ทำการปิดปากถุงก้อนเชื้อให้เรียบร้อย หลังจากทำการหยอดเชื้อลงในก้อนเชื้อเสร็จ เราก็จะทำการบ่มเชื้อเห็ดในอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยการบ่มเชื้อนั้นต้องนำก้อนไปบ่มไว้ที่ระยะเวลาประมาณ 20-25 วัน กรรมวิธีการบ่มก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ต้องเก็บให้เป็นระเบียบ ไม่ถูกแดด ไม่ถูกฝน ลมไม่โกรกไม่มีแมลง ไม่มีหนู อากาศถ่ายเทได้สะดวก

การเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้า

หลังจากที่ได้เราทำการบ่มเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นช่วงระยะเวลาของการเปิดดอกและทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าจะออกดอกเมื่อมีความชื้นสูงพออากาศไม่ร้อนมาก เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยอากาศเย็นตอนกลางคืนก็จะออกดอกได้ดี เทคนิคที่ทำให้ออกดอกสม่ำเสมอและดอกใหญ่สามารถทำได้ดังนี้  เมื่อเก็บดอกเสร็จต้องทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อโดยเขี่ยเศษเห็ดออกให้หมด งดให้น้ำสัก 3 วัน เพื่อให้เชื้อฟักตัวแล้วก็กลับมาให้น้ำอีกตามปกติเห็ดก็จะเกิดเยอะเหมือนเดิมหรือเมื่อเก็บดอกเห็ดเสร็จก็ทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อเหมือนเดิม แล้วรัดปากถุงไม่ให้อากาศเข้าทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 – 3 วัน ให้น้ำปกติหลังจากนั้นก็เปิดปากถุงก็จะเกิดดอกที่สม่ำเสมอเป็นการเหนี่ยวนำให้ออกดอกพร้อมกัน เมื่อเห็ดออกดอกและบานจนได้ขนาดที่ต้องการแล้ว ให้เก็บดอกโดยจับที่โคนดอกทั้งช่อ โยกซ้ายขวา-บนล่าง แล้วดึงออกจากถุงเห็ด ระวังอย่าให้ปากถุงเห็ดบาน ถ้าดอกเห็นโคนขาดติดอยู่ให้แคะออกทิ้งให้สะอาดเพื่อป้องกันการเน่าเสีย เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนอนจากการวางไข่ของแมลงได้ การดูลักษณะดอกเห็ดที่ควรเก็บ คือดอกไม่แก่ หรืออ่อนจนเกินไป ดูที่ขอบดอกยังงุ้มอยู่คือดอกที่เหมาะแก่การเก็บเกี่ยว ถ้าขอบยกขึ้นแสดงว่าแก่แล้ว ดอกเห็ดที่แก่จัด และออกสปอร์เป็นผงขาวด้านหลังดอกเห็ด ต้องรีบเก็บออก เพราะสปอร์จะเป็นตัวชักนำให้แมลงเข้ามาในโรงเรือนเพาะเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าได้

ข้อพึงระวัง ->

การป้องกันศัตรูเห็ด ควรทำความสะอาดโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ 

          การป้องกันเชื้อราในโรงเรือน  ควรปรับและตากดินให้แห้ง  รวมทั้งใช้ยาพ่นทั้งพื้นดินและอุปกรณ์ การเพาะ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดระนอง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา