ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า

โดย : นายประจิต ละอองศรี วันที่ : 2017-03-31-15:04:16

ที่อยู่ : 10/1 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ข้าพเจ้ามีโอกาสไปฝึกอบรมการเพาะเห็ดที่วัดป่าสวนสหธรรม  อำเภอตระการพืชผล  จังหวัดอุบลราชธานี  ประมาณปี 2538  และได้ทำอาชีพการเพาะเห็ดมาเรื่อยๆ  จนเกิดความชำนาญ  ปัจจุบันใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยในการเพาะ เพื่อบริโภคในครัวเรือน  ลดรายจ่าย และยังสามารถสร้างรายได้ในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง

วัตถุประสงค์ ->

­­1.  สร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก

2.  ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 

3.  ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

-  ขี้เลื่อย                             -  ดีเกลือ                             -  รำ                      

-  ถุงพลาสติกทนร้อน               -  คอพลาสติกสำเร็จรูป             -  กากน้ำตาล            

-  แป้งข้าวเหนียว                   -  ปูนขาว                           - ยิปซั่ม                   

-  EM ขนาดบรรจุ ๒๕๐ CC       - ยางวง                             - สำลีฝ้าย

-เชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐาน

อุปกรณ์ ->

-  พลั่ว

- ถังนึ่งเชื้อแบบลูกทุ่ง

- ตะเกียงเขี่ยเชื้อ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการทำก้อนเชื้อเพาะเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้า
                   การทำก้อนเชื้อเพาะเห็ดนางฟ้านั้นจำเป็นต้องหาวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมดังนี้ ได้แก่ขี้เลื่อยยางพาราหรือขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน แต่ในทางปฏิบัตินั้นขี้เลื่อยยางพาราจะให้ผลดีที่สุด จากนั้นก็หาส่วนผสมต่างๆเพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น และสูตรการทำก้อนเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้ามีส่วนผสมหลัก ๆดังนี้ 

- ขี้เลื่อยยางพาราแห้งสนิท 100 กิโลกรัม

-  รำละเอียด 6 – 8 กิโลกรัม

-  ข้าวโพดป่น 3 – 5 กิโลกรัม

-  ปูนยิบซัม 1 กิโลกรัม

-  หินปูนหรือผงชอล์ก 1 กิโลกรัม

-  ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม

-  น้ำ 80 กิโลกรัม

-  EM 1 ลิตร

เมื่อหาส่วนผสมมาครบแล้ว ก็ทำการตากและกองขี้เลื่อยยางพาราไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นค่อยทำการผสมโดยการเติมน้ำลงประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ทดสอบโดยการกำส่วนผสมถ้ามีน้ำซึมตามง่ามมือแสดงว่าการผสมนี้ผสมน้ำมากเกินไปแต่ถ้าเมื่อบีบแล้วขี้เลื่อยแตกเป็น 3 ก้อนแสดงว่าการผสมใช้ได้เรียกว่าพอดีแล้วแต่ถ้าว่าถ้ากำแล้วแบมือออกแล้วขี้เลื่อยจับตัวไม่เป็นก้อนแสดงว่าเติมน้ำน้อยจนเกินไป เมื่อผสมเข้ากันได้ที่แล้วก็ทำการกรอกใส่ถุงเพาะเห็ด ใส่ให้ได้น้ำหนักประมาณ 800 – 900 กรัม หลังจากนั้นก็ทำการรวบปากถุงกระทุ้งกับพื้นให้แน่นพอประมาณหลังจากนั้นก็ทำการใส่คอขวด

 

 

 

 

 

การหยอดเชื้อและบ่มเชื้อเห็ดนางฟ้า

เมื่อทำก้อนเชื้อเสร็จแล้ว เราก็จะนำก้อนเชื้อที่ได้ทำการหยอดเชื้อและบ่มเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าตามลำดับ โดยก่อนอื่นก้อนเชื้อที่ได้นั้นเราก็จะนำมาทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ ถ้ามีหม้อนึ่งความดันอยู่แล้วก็ให้นึ่งที่ความดัน 25 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว โดยทำการนึ่งที่ระยะเวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีหม้อนึ่งความดันอาจใช้หม้อนึ่งจากถังน้ำมัน 200 ลิตร แทนก็ได้ แต่จะต้องทำการนึ่งประมาณ 3 ครั้ง โดยทำการนึ่งที่อุณหภูมิ 100 อาศาเซลเซียส นึ่งที่ระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง และทำการนึ่งทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อผ่านขั้นตอนการนึ่งฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว เราก็จะทำการหยอดเชื้อเห็ดลงสู่ก้อนเชื้อ เชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างควรหยอดเชื้อลงประมาณ 20 – 25 เมล็ด เมื่อหยอดเชื้อลงสู่ก้อนเชื้อเห็ดเสร็จแล้ว ให้ทำการปิดปากถุงก้อนเชื้อให้เรียบร้อย หลังจากทำการหยอดเชื้อลงในก้อนเชื้อเสร็จ เราก็จะทำการบ่มเชื้อเห็ดในอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยการบ่มเชื้อนั้นต้องนำก้อนไปบ่มไว้ที่ระยะเวลาประมาณ 20-25 วัน กรรมวิธีการบ่มก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ต้องเก็บให้เป็นระเบียบ ไม่ถูกแดด ไม่ถูกฝน ลมไม่โกรกไม่มีแมลง ไม่มีหนู อากาศถ่ายเทได้สะดวก

การเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้า

หลังจากที่ได้เราทำการบ่มเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นช่วงระยะเวลาของการเปิดดอกและทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าจะออกดอกเมื่อมีความชื้นสูงพออากาศไม่ร้อนมาก เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยอากาศเย็นตอนกลางคืนก็จะออกดอกได้ดี เทคนิคที่ทำให้ออกดอกสม่ำเสมอและดอกใหญ่สามารถทำได้ดังนี้  เมื่อเก็บดอกเสร็จต้องทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อโดยเขี่ยเศษเห็ดออกให้หมด งดให้น้ำสัก 3 วัน เพื่อให้เชื้อฟักตัวแล้วก็กลับมาให้น้ำอีกตามปกติเห็ดก็จะเกิดเยอะเหมือนเดิมหรือเมื่อเก็บดอกเห็ดเสร็จก็ทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อเหมือนเดิม แล้วรัดปากถุงไม่ให้อากาศเข้าทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 – 3 วัน ให้น้ำปกติหลังจากนั้นก็เปิดปากถุงก็จะเกิดดอกที่สม่ำเสมอเป็นการเหนี่ยวนำให้ออกดอกพร้อมกัน เมื่อเห็ดออกดอกและบานจนได้ขนาดที่ต้องการแล้ว ให้เก็บดอกโดยจับที่โคนดอกทั้งช่อ โยกซ้ายขวา-บนล่าง แล้วดึงออกจากถุงเห็ด ระวังอย่าให้ปากถุงเห็ดบาน ถ้าดอกเห็นโคนขาดติดอยู่ให้แคะออกทิ้งให้สะอาดเพื่อป้องกันการเน่าเสีย เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนอนจากการวางไข่ของแมลงได้ การดูลักษณะดอกเห็ดที่ควรเก็บ คือดอกไม่แก่ หรืออ่อนจนเกินไป ดูที่ขอบดอกยังงุ้มอยู่คือดอกที่เหมาะแก่การเก็บเกี่ยว ถ้าขอบยกขึ้นแสดงว่าแก่แล้ว ดอกเห็ดที่แก่จัด และออกสปอร์เป็นผงขาวด้านหลังดอกเห็ด ต้องรีบเก็บออก เพราะสปอร์จะเป็นตัวชักนำให้แมลงเข้ามาในโรงเรือนเพาะเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าได้

 

 

ข้อพึงระวัง/ข้อเสนอแนะ 

 

ปัญหาที่พบในการเพาะเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้า

เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาในการเพาะเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าออกมาได้ 7 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

1. เชื้อในถุงไม่เดิน 

สาเหตุ ขณะหยอดเชื้อถุงก้อนเชื้อร้อนเกิน เชื้ออ่อนแอเกินไป และลืมหยอดเชื้อ
วิธีแก้ไข ตั้งก้อนเชื้อให้เย็นอย่างน้อย 24 ชั่งโมง คัดเชื้ออ่อนแอทิ้ง ก่อนหยอดเชื้อ ขณะหยอดเชื้อต้องมีสติ และสมาธิแน่นแน่

 

2. หนอนแมลงหวี่กินเส้นใย 
สาเหตุ แมลงหวี่ไข่ไว้ที่ฝาจุกหรือสำลี
วิธีแก้ไข ตรวจสอบสุขภาพอนามัยของโรงเรือน จุก สำลี ต้องนึ่งฆ่าเชื้อ สำลีต้องอุดให้แน่น ปิดกระดาษให้สนิทอย่าให้มีช่อง

3. เชื้อเดิน แต่หยุด มีกลิ่นบูด มีน้ำเมือก มีสีเหลือง เขียว หรือสีดำ 
สาเหตุ มีราหรือแบคทีเรียปนเปื้อน นึ่งฆ่าเชื้อไม่หมด นึ่งฆ่าเชื้อดีแต่กระบวนการลดความร้อนและเปิดหม้อนึ่งไม่ถูกต้อง เชื้อเห็ดที่ใช้ไม่มีคุณภาพ วิธีการหยอดเชื้อไม่ดี บ่มถุงก้อนเชื้อหนาแน่นเกินไปทำให้การระบายอากาศไม่ดี มีคาร์บอนไดออกไซค์มาก
วิธีแก้ไข ให้ทบทวนสาเหตุหลักของการปนเปื้อน ตรวจกระบวนการนึ่ง เรื่อง เวลา อุณหภูมิ จำนวนก้อน ไล่อากาศในหม้อนึ่ง ค่อยๆลดความร้อน อย่าเปิดหม้อนึ่งอย่ารวดเร็ว ตรวจดูจุกสำลีว่าแน่นหรือไม่ ใช้เชื้อเห็ดที่บริสุทธิ์ อบรมวิธีการปลอดเชื้อ และปรับปรุงวิธีทำงาน ห้องบ่มเชื้อควรมีอุณหภูมิ 25 – 30 องศาเซลเซียส ปรับปรุงเรื่องสุขอนามัยฟาร์ม

4. เชื้อเดินเต็มก้อน แต่ไม่ออกดอก
สาเหตุ เชื้อเป็นหมัน เชื้อไม่ดี สภาพแวดล้อมในโรงเรือนไม่เหมาะสม มีสิ่งปนเปื้อน เช่น รา ไร แบคทีเรีย หนอน และมีการใช้สารเคมีมากเกินไป
วิธีแก้ไข จัดหาเชื้อใหม่ จัดสภาพในโรงเรือนให้เหมาะสม จัดสุขอนามัยฟาร์ม แสง อุณหภูมิ ความชื้น การถ่ายเทอากาศ และไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดแมลง

5. เกิดดอกเห็ดแต่ก้านยาวหมวกดอกไม่แผ่ออก
สาเหตุ แสงไม่เพียงพอและมีคาร์บอนไดออกไซค์มากเกินไป
วิธีแก้ไข ปรับแสงให้มากขึ้น จัดให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น

6. เกิดหน่อมากแต่ดอกกลับเติบโตน้อย
สาเหตุ เชื้ออ่อนแอ เงื่อนไขเหมาะแก่การเกิดหน่อ ไม่เหมาะแก่การพัฒนาของดอก ขาดออกซิเจนและแสง อาหารในก้อนเชื้อไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ เชื้อที่ใช้ไม่ดี มีคุณภาพต่ำ มีจุลินทรีย์ต่างๆรบกวน การถ่ายเทอากาศไม่ดี ความชื้นสูงเกินไปและรดน้ำมากเกินไป เกิดจากการใช้สารเคมีในช่วงเปิดดอก
การแก้ไข เปลี่ยนเชื้อใหม่ ปรับเงื่อนไขของการเกิดดอก เพิ่มการถ่ายเทอากาศ เพิ่มช่องแสง
ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบ ใช้เชื้อที่มีอัตราการเดินเส้นใยดี ปรับโรงเรือนไม่ให้เหมาะกับจุลินทรีย์ เพิ่มการถ่ายเทอากาศ ลดความชื้นลง ควรเลิกใช้สารเคมีในช่วงเปิดดอก

7. เกิดดอกเพียงรุ่นเดียวรุ่นต่อไปไม่เกิด
สาเหตุ อาหารในก้อนเชื้อไม่เพียงพอ เกิดการปนเปื้อน การจัดโรงเรือนไม่ดี เชื้อไม่ดี
การแก้ไข ปรับสูตรอาหารใหม่ จัดการเรื่องสุขอนามัยฟาร์ม ปรับเรื่องแสง อุณหภูมิ ความชื้น ขูดลอกผิวส่วนที่ปากถุงออก ปรับปรุงวิธีการจัดการและเอาใจใส่มากขึ้น เปลี่ยนเชื้อใหม่ 

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดระนอง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา