ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

เห็ดฟาง”จากทะลายปาล์ม

โดย : นายสัมพันธ์ ทองบุญชู วันที่ : 2017-03-28-11:19:59

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 4 ตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เบอร์โทร 0971469586

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การเพาะเห็ดฟางสามารถใช้วัสดุเพาะได้หลายชนิด  เช่น เปลือกถั่วเขียว กาก มันสำปะหลัง  ผักตบชวา  ชานอ้อย  ขี้เลื่อยไม้ยางพารา  และทะลายปาล์มน้ำมัน ก็เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่นิยมใช้มากโดยเฉพาะในภาคใต้ หาได้ง่าย จึงทดลองนำทะลายปาล์มมาเพาะเห็ดฟางดู และก็ได้ผลจริงๆ    เพราะทะลาย ปาล์มสามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ดี ไม่แพ้กับการเพาะด้วยฟางข้าว” และที่สำคัญ ที่สุดได้มีการนำทะลายปาล์มมาเพาะเห็ดในสวนยางพารา เป็นการใช้ พื้นที่ที่มีอยู่มาให้เกิดประโยชน์ และเป็นการเกื้อกูลกันของพืช ได้ผล ประโยชน์ร่วมกันระหว่างยางพาราและเห็ดด้วย เพราะต้นยางพาราสามารถสร้างร่ม เงาและแสงแดงรำไรช่วยให้เห็ดเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และเมื่อเห็ดหมดดอก ทะลาย ปาล์มก็จะกลายมาเป็นอาหารอย่างดีให้กับต้นยางพาราด้วย

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้ครอบครัว

2. เพื่อเป็นการนำวัตถุดิบมาแปรรูปสร้างมูลค่า

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ทะลายปาล์ม

2. เชื้อเห็ดฟาง หรือเห็ดอื่น ๆ ที่ต้องการ

อุปกรณ์ ->

๑. ผ้าพลาสติกความยาว ม้วนละ 70 เมตร

๒. ไม้ไผ่ สำหรับขึงผ้าพลาสติก

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. นำทะลายปาล์มมากองรวม ล้อมกันเป็นวงกลม โดยจะฉีดน้ำ 2 วันต่อหนึ่งครั้ง คลุมด้วยผ้าพลาสติก รอประมาณ 3-7 วัน (เพื่อให้ทะลายปาล์มชุ่มน้ำ) นำเอามาใช้ได้

2. เตรียมพื้นที่โดยการถางหญ้ารอบ ๆ สวนยางออก จะใช้พื้นที่ระหว่างต้นยางในการเพาะเห็ด ซึ่งการเพาะเห็ดจะต้องใช้พื้นที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากปลูกในพื้นที่โล่งมาก แดดส่องจ้า ต้องมีการกรองแสงด้วย

3. นำทะลายปาล์มมาวางเป็นร่องตามช่องว่างของต้นยาง ความยาวประมาณ 5 เมตร ฉีดน้ำลงบนทะลายปาล์ม เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก

4. โรยเชื้อเห็ด ลงบนร่องที่เตรียมไว้ โดย 1 ร่อง ใช้เชื้อ 3 ก้อน โรยเชื้อก้อนละ 1 เมตร

5. รอประมาณ 3 วัน ขึ้นโคลงไม้ไผ่ เป็นแนวไว้สำหรับขึงผ้าพลาสติก ประมาณ 4-5 โคลง โค้งเป็นแนวยาว

6. คลุมผ้าพลาสติกตามแนวโคลงไม้ไผ่ 1 ร่อง ใช้ผ้าพลาสติกประมาณ 7 เมตร

7. รอประมาณ 7 – 9 วัน เห็ดก็จะงอก สามารถเก็บไปขายได้

การดูแลรักษา :

การระบายความร้อน หลังจากเพาะเห็ดแล้ว 4-5 วัน ให้เปิดชายผ้าพลาสติกออกบ้างเพื่อระบายความร้อนออกจากกองเห็ดบ้าง เพราะถ้าอากาศร้อนเกินไปเส้นใยเห็ดจะไม่รวมตัวเป็นดอก นอกจากช่วยระบายความร้อนแล้วยังเป็นการเพิ่มอากาศให้กับเห็ดอีกด้วย

การให้น้ำ :

พยายามให้ความชื้นแก่กองเห็ดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง พยายามพ่นน้ำให้เป็นฝอยลงบนกองเห็ดพอชุ่มชื้น

การเก็บเกี่ยว :

เมื่อดอกเห็ดโตพอได้ขนาดที่ตลาดต้องการจึงเริ่มเก็บ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ดอกบานเพราะจะทำให้ราคาเสียได้ การเก็บดอกเห็ด จะเก็บได้หลังจากเพาะเห็ดแล้ว 7 วัน ขึ้นอยู่กับความร้อนและฤดูกาล ในฤดูร้อนและฤดูฝนจะเก็บเห็ดได้เร็ว แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวจะเก็บได้ช้า เห็ดจะออกดีในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม และควรเลือกเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่ตูม จะทำให้ได้เห็ดที่มีคุณภาพดี

วิธีการเก็บดอกเห็ด :

ให้ใช้นิ้วชี้กดดอกเห็ดแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้นเบาๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมาโดยง่าย ถ้าดอกเห็ดออกเป็นกลุ่มให้สังเกตดูว่าในกลุ่มนั้นมีดอกโตพอประมาณที่จะเก็บ ได้มากกว่าดอกขนาดเล็กก็ควรเก็บได้เลยทั้งกลุ่ม และขณะเก็บดอกเห็ดไม่ควรกระทบกระเทือนดอกที่ยังเก็บไม่ได้เพราะอาจทำให้ดอก เห็ดอื่นช้ำและฝ่อได้ เมื่อเก็บเห็ดออกมาแล้ว ต้องตัดแต่งเอาเศษวัสดุที่ติดมาออก เพื่อความสวยงาม แล้วจึงใส่ภาชนะนำส่งขายต่อไปเพื่อให้ได้ราคาดี

ข้อพึงระวัง ->

น้ำที่ใช้รดเห็ดจะต้องเป็นน้ำจืด ไม่มีคลอรีนเจือปน ไม่เป็นน้ำกร่อย น้ำเค็ม ระวังน้ำเค็มไม่สามารถจะใช้รดเห็ดได้ เพราะเห็ดจะไม่ออกดอก

รูปประกอบ -> image1

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดระนอง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา