ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

ปลูกข้าวปลอดสาร

โดย : นายวิรัตน์ ศรีคามเม วันที่ : 2017-03-20-08:26:52

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๑๙๓ หมู่ ๑ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

           เดิมนายวิรัตน์ ศรีคามเม มีอาชีพทำการเกษตรอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำนา ผลผลิตที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าปีไหนฝนดีฝนแล้ง แต่พอได้มาศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ จึงเกิดความสนใจและเริ่มทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายอย่างที่กินได้ พืชผักสวนครัว แบ่งส่วนพื้นที่เพื่อทดลองข้าวปลอดสาร ปรากฏว่าได้ผลดีพอๆ กับการใช้สารเคมี และสิ่งที่ได้แน่นอน คือ ปลอดภัยต่อสุขภาพ และขายก็ได้ราคาดีกว่าข้าวทั่วไป ขณะนี้ก็ขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ชักชวนเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องหันมาลองปลูกข้าวหรือปลูกพืชแบบปลอดสาร และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต จนปัจจุบันในชุมชนเกิดกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์ขึ้น มีทั้งพื้นที่แปลงนาที่ปลูกร่วมกันในกลุ่ม และปลูกในแปลงส่วนตัวแล้วเอาผลผลิตมาขายให้กลุ่ม ซึ่งจะได้ราคาดีกว่าขายท้องตลาดด้วย

วัตถุประสงค์ ->

๑) เพื่อมีข้าวปลอดสารบริโภคในครอบครัว 

๒) เพื่อขายซึ่งราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป  

๓) เพื่อเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนได้หันมาสนใจการปลูกข้าวปลอดสาร เพราะนอกจากดีต่อสุขภาพตนเองแล้วยังขายได้ราคาดีกว่าข้าวที่ปลูกแบบทั่วๆ ไป

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

๑) เมล็ดพันธุ์ข้าว (มีทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว ได้แก่ ข้าวเหนียว กข ๖ ข้าวเหนียวดำ ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าว กข 15 และข้าวไรซ์เบอร์รี่)

2) ปุ๋ยคอก

๓) ปุ๋ยอินทรีย์

๔) น้ำหมักสมุนไพรไล่แมล

อุปกรณ์ ->

๑) เทคโนโลยีที่เหมาะสม ได้แก่ รถไถ รถเกี่ยว

๒) เคียว

๓) ผ้ามุ้งเขียว

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ทำทั้งแบบนาหว่าน และนาดำ **ขอยกตัวอย่างนาหว่าน

๑) ช่วงเดือนมิถุนายน ไถ่รอบแรก เป็นการไถ่กลับตอซังข้าว กลบหญ้า เพื่อเตรียมพื้นที่ 

๒) ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในแปลงนา เป็นการปรับสภาพดิน

๓)  ช่วงเดือนกรกฎาคม ไถ่รอบที่ ๒ หว่านเมล็ดพันธ์ แล้วคลาดให้ดินกลบเมล็ดพันธุ์ที่หว่าน

๔)  ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม พอข้าวเริ่มงอกต้องค่อยดูแลเรื่องน้ำไม่ให้แห้งหรือน้ำท่วมขัง
ต้นข้าวแรกงอก เพราะข้าวจะตาย พอประมาณสัก ๑ เดือน ต้นข้าวเริ่มโต ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้ข้าวโตไวและต้นข้าวงาม

๕)  ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม เมื่อต้นข้าวเริ่มโต ต้องคอยดูแลเรื่องแมลงหากมีก็ใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีด และดูแลเรื่องหญ้าหรือวัชพืชอื่นๆ ถ้ามันมีมากจนเกินกำลังจะถอนได้ ก็ใช้เครื่องตัดหญ้าตัดทั้งต้นข้าวและต้นหญ้าเลย แต่ต้องตัดก่อนที่ข้าวจะตั้งท้อง ต้นข้าวที่ถูกตัดจะงอกต่อยอดขึ้นได้เร็วกว่าหญ้า ช่วงนี้ก็ขังน้ำให้ท่วมต้นหญ้าที่ถูกตัดได้เพื่อให้ต้นหญ้าเน่าในน้ำ เมื่อข้าวงอกต่อยอดขึ้นแล้วโตเต็มที่ และเริ่มตั้งท้อง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกรอบเพื่อบำรุงข้าวที่กำลังตั้งท้อง และต้องดูแลให้มีน้ำขังที่เหมาะสม ไม่ให้แห้งหรือท่วมข้าวตั้งท้อง

๖)  ช่วงเดือนพฤศจิกายน ข้าวออกร่วงและพอเริ่มจะเหลือง ถ้ายังมีน้ำขังอยู่มากก็สามารถระบายน้ำออกได้ เพื่อเตรียมในการเก็บเกี่ยว

๗)  ช่วงเดือนธันวาคม ข้าวเหลืองและแก่เต็มที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยใช้รถเกี่ยวข้าว

๘)  เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จจะต้องตากก่อน โดยไม่มีลานตกที่เป็นลานปูนก็ให้ใช้ผ้ามุ้งรองแล้วตากข้าว ต้องหมั่นพลิกข้าวให้เมล็ดข้าวโดนแดดทั่วถึง ไม่ให้ข้าวมีความชื้นก่อนที่จะเก็บ

๙)  การเก็บหรือคัดเมล็ดพันธุ์ ควรเลือกข้าวที่เมล็ดเต่งตึงมีน้ำหนักดีและควรใช้เคี่ยวเกี่ยวก่อนที่จะใช้รถเกี่ยวแล้วนำไปนวด คัดเอาปริมาณเท่าที่จะใช้ในปีถัดไป

**หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในบางปีได้มีการไถ่แปลงนาหว่านปอเทืองหรือพืชตระกูลถั่ว แล้วไว้ไถกลบ เพื่อเป็นการปรับและบำรุงดิน

ข้อพึงระวัง ->

การดูแลรักษา ต้องอาศัยความอดทน ต้องดูแลเอาใจใส่ที่สำคัญห้ามใช้สารเคมีในการบำรุงรักษา ปริมาณน้ำที่ขังในนาข้าวต้องเหมาะสมกับขนาดของต้นข้าว อย่าให้ท่วมหรืออย่าให้ขาดน้ำนาน

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดมหาสารคาม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา