ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ทอผ้าไหม

โดย : นางดวงจันทร์ สะแกทอง วันที่ : 2017-08-30-15:10:13

ที่อยู่ : 71 หมู่ที่ 3 ต.หัวเรือ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ผ้าไหมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า  และสืบทอดภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย ไม่เพียงแต่จะเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเท่านั้น หากแต่บนผืนผ้าแต่ละชนิดแต่ละประเภท ยังบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี      ทั้งจากลวดลายที่คิดค้นด้วยภูมิปัญญาสืบทอดต่อกันมาและสีของผ้าที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า ผ้าไหม ยังเป็นอาภรณ์ที่เชิดชูบุคลิกภาพของผู้สวมใส่ให้สง่างาม สร้างความน่าเชื่อถือได้อย่างน่าประหลาดใจ เดิมนิยมใช้เป็นผ้าสำหรับสตรี และให้บุตรหลานนุ่งห่มในประเพณีบวชนาค และด้วย ความสวยงามแบบกลมกลืนของสีผ้า ทำให้สามารถดัดแปลง ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแบบต่าง ๆ ได้มากมาย จึงได้รับความสนใจจากเหล่าข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนทั่วไป     ซึ่งราษฎรในชุมชนมีความภูมิใจที่ได้สืบสานงานศิลปะบนผืนผ้า ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาสืบต่อกันมา เป็นมรดกอันทรงคุณค่าที่คนในชุมชนไม่ควรลืมเลือน  ผ้าไหม ไม่เพียงแต่จะใช้สวมใส่เป็นอาภรณ์ปกปิดร่างกายได้เท่านั้น ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น  กระเป๋า  พวงกุญแจ  ผ้าพันคอ  หรือแม้แต่ ที่ใส่ซองจดหมาย  เเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีการสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมมาแต่ครั้งโบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมมัดหมี่  หรือผ้าไหม   พื้นเรียบ นอกจากนี้ ยังได้มีมติคัดเลือกให้ผ้าไหมลายดอกข่า  เป็นผ้าลายเอกลักษณ์ประจำหมู่บ้าน อีกด้วย

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้าไหม ได้แก่ หนอนไหมและใบหม่อน กระด้งเลี้ยงไหมและมุ้ง    ครอบ พวงสาวไหม  อักกวักไหม ไน กง(อุปกรณ์ปั่นไหม)  เหล่ง หลักเผีย  ด่าง  สีเคมีย้อมผ้าและอุปกรณ์ย้อมไหม   โฮงมัดหมี่ และกี่ทอผ้า  กระสวย  ฟืม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

เริ่มแรก

เริ่มจาก รับตัวไหมจากฝักไหม 7 วัน ตัวหนอนในฝักจะเจาะฝักออกมากลายเป็นผีเสื้อไหมหรือตัวบี้ หลังจากนั้นตัวบี้ตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์กัน เมื่อตัวเมียออกไข่แล้ว ตัวบี้ก็ตายไป ไข่จะแตกกลายเป็นตัวหนอนเล็ก ๆ ภายใน 10 วัน จึงเริ่มให้อาหารเลี้ยงหนอนไหมด้วย ใบหม่อน หนอนไหมนี้จะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น ระหว่างเลี้ยงจะต้องมีมุ้งครอบกระด้งเพื่อป้องกันไม่ให้มดและแมลงวันรบกวน เพราะจะทำให้หนอนไหมตายได้ ภายในระยะเวลาประมาณ 1-1.5 เดือน ตัวหนอนจะโตเต็มที่และเริ่มสร้างฝักและผลิตเส้นใยไหมภายในฝักนั้น เมื่อสังเกตเห็น ฝักไหมโตเต็มที่และมีใยไหมพันอยู่บางๆโดยรอบแล้ว ก็นำไปต้มสาวไหมต่อไป โดยมากผู้เลี้ยงจะเก็บฝักไหมที่โตเต็มที่ส่วนหนึ่งไว้ เพื่อให้มันเจาะรูออกมาและขยายพันธุ์ต่อไป

ขั้นที่สอง

 หลังจากหนอนไหมเริ่มสร้างฝัก และอยู่ในฝักเพื่อสร้างใยไหมประมาณ 7 วัน เมื่อฝักโตเต็มที่ก็นำมาต้มเพื่อสาวไหม ไหมฝักใดที่ดักแด้เจาะรูออกมาแล้วกลายเป็นตัวบี้จะใช้ไหมฝักนั้นไม่ได้ เพราะเส้นไหมจะถูกกัดขาดแล้ว จึงต้องเลือกเฉพาะฝักที่ยังไม่ถูกเจาะออกมาเท่านั้น การสาวไหมจะเริ่มจากการใส่ฝักไหมลงไปในน้ำร้อนในหม้อที่ต้มด้วยไฟอ่อน ๆ ฝักไหมจะลอยขึ้น ขณะต้มจะใช้ไม้หีบคอยเกลี่ยไหมให้ใยไหมหลุดออกจากฝักเข้าไปในไม้หีบต่อเข้าไปยังพวงสาวไหม และสาวออกให้ไหมเป็นเส้นยาวโดยระวังไม่ให้ไหมขาดออกจากกัน ฝักไหมที่ สาวไหมออกจนหมดแล้ว จะเหลือเป็นเปลือกสีขาวบาง ๆ ซึ่งมีดักแด้อยู่ข้างใน ซึ่งดักแด้นี้สามารถนำมากินได้

ขั้นที่สาม

เป็นการเหล่งไหม คือ การทำให้ไหมเป็นปอยหลังจากสาวไหมได้ไหมเป็นเส้นแล้ว โดยใช้เครื่องเหล่งไหมที่มีลักษณะเป็นวงล้อมีที่จับให้วงล้อหมุน ระหว่างทำไหมในกะละมังจะใส่ดินกลบลงไป เพื่อไม่ให้ไหมฟูขึ้นมาพร้อมกัน และเมื่อรวมไหมได้เป็นกลุ่มแล้ว ก็จะมัดเป็นปอย

ขั้นที่สี่

คือการฟอกไหม โดยใช้ด่างกัดไหมให้กลายเป็นสีขาว เพื่อให้สะดวกต่อการย้อมสีและทำให้สีย้อมติดไหมได้ทนนาน วิธีทำคือต้มน้ำผสมด่าง แช่ไหมลงไปกัดให้เป็นสีขาว คอยคนให้ทั่วเพื่อให้สีเท่ากัน เสร็จแล้วนำขึ้นล้างน้ำและผึ่งให้แห้ง

ขั้นที่ห้า

คือ การแก่งไหม (แกว่งไหม) โดยทำให้เส้นไหมมีขนาดเล็กลงและมีความเหนียวมากขึ้น ทำโดยนำไหมร้อยเข้าใส่ในไน ปั่นไหมไปตามไน โดยให้เส้นไหมก่อนเข้าไนร้อยรูอยู่ในถ้วยอีแปะใส่น้ำรองไว้ เป็นการรีดให้ไหมมีขนาดเล็กลง

ขั้นที่หก

คือ การค้นหูก โดยใช้อุปกรณ์ “หลักเผีย” เป็นการเตรียมไหมทำให้เป็นเส้นยาวพอดีกับขนาดของฟืม พร้อมที่จะนำไปทอ โดยใช้เฉพาะไหมยืน

ขั้นที่เจ็ด

เป็นขั้นตอนการมัดหมี่ ซึ่งเป็นการกำหนดลวดลายของผ้าก่อนจะนำไปย้อม ทำโดยนำไหมที่ฟอกแล้วมาขึงกับโฮงมัดหมี่ (อุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ไหมยึดเพื่อมัดลาย) เมื่อนำไหมมายึดกับโฮงแล้วก็จะมัดเส้นไหมเป็นลายที่ต้องการด้วยเชือกฟางให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้สีย้อมหลุดเข้าไปติดไหมส่วนที่ไม่ต้องการ

ขั้นที่แปด

คือการย้อมสีตามต้องการ โดยย้อมจากสีอ่อนสุดไปยังสีเข้ม ใช้สีเคมี (สีเยอรมัน) ในการย้อม ในอดีตเมื่อยังไม่มีสีย้อมผ้า จะใช้สีแดงจากครั่งเป็นตัวย้อม ซึ่งเฉดสีธรรมชาตินี้มีไม่มากนักและหลุดได้ง่าย ปัจจุบันจึงนิยมใช้สีเคมีย้อมผ้าด้วยการละลายสีย้อมลงในน้ำอุ่น แล้วนำไหมที่ฟอกล้างสะอาดจุ่มลงในน้ำย้อมขยำให้ทั่ว ค่อย ๆ เร่งความร้อนขึ้นจนเดือด หมั่นพลิกไหมกลับไปมาเพื่อกันสีด่าง ใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที แล้วนำไหมขึ้น ล้างให้สะอาด และผึ่งให้แห้ง

ขั้นที่เก้า

คือ การกวกหมี่ เป็นการแบ่งไหมจากปอยใหญ่ให้เป็นปอยเล็ก โดยใช้กง(อุปกรณ์ปั่นไหม) มาต่อกับอัก      พันไหมจากกงให้ลงมาอยู่ที่อัก เพื่อให้ได้ไหมที่เป็นปอยเล็กลง หลังจากนั้นให้แยกส่วนที่จะทอเป็นลายออกจากส่วนที่จะต่อกับไหมยืน และนำไหมที่จะทอใหม่มาพันต่อกับส่วนของด้ายเก่าที่ฟันหวีของกี่ทอผ้า เตรียมเพื่อจะทอต่อไป

ขั้นที่สิบ

เป็นการปั่นไหมโดยเตรียมไหมส่วนที่จะทอเป็นลายให้เป็นหลอดเพื่อนำไปใส่กระสวยให้สามารถทอได้ทันที วิธีทำ คือ นำไหมที่กวักเสร็จแล้วมาใส่ในไนแล้วปั่น พันใส่หลอดสำหรับใส่ในกระสวยทอผ้า แยกเป็นหลอดแล้วเรียงตามลายและร้อยลงเชือกใส่ไว้เพื่อสะดวกในการหยิบใช้เวลาจะนำไปทอนี้ต้องใช้ไหมเรียงตามลำดับของลายไหม ไม่เช่นนั้นลายที่ทอออกมาจะไม่ต่อเนื่องกัน

ขั้นสุดท้าย

คือการทอผ้า หากทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนต่อผืน ในกี่ทอผ้าจะมีไหมยืนขึงพาดอยู่ตามแนวยาว สอดผ่านตามช่องของฟืม ลายผ้าไหมจะเกิดจากลายไหมที่อยู่ในกระสวยตามแนวขวาง เวลาทอจะมีที่เหยียบอยู่ใต้กี่ 2 อัน ใช้ยกไหมยืนขึ้นและขัดลายไหมในกระสวยไปตามแนวขวาง ทำกลับกันไปเรื่อยๆตามลายไหมที่อยู่ในหลอดตามที่ได้กำหนดไว้ เมื่อทอเสร็จแล้วก็ตัดปลายทิ้งให้เหลือชายไว้อยู่ที่ฟันหวี เพื่อให้สามารถต่อเข้ากับไหมที่ต้องการจะทอครั้งต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดมหาสารคาม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา